ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) นำร่องใช้แอพพลิเคชั่น Traffy Fondue ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อสื่อสารเรื่องปัญหาของเมือง ระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประชาชนสามารถแจ้งปัญหาที่พบ เช่น ปัญหาความสะอาด, ปัญหาขยะ, ปัญหาทางเท้า, ปัญหาสาธารณูปโภคต่าง ๆ และติดตามสถานะการดำเนินการแกัไขปัญหาของหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ โดยหน่วยงานจะได้รับแจ้งรายงานปัญหาที่มีข้อมูลเพียงพอต่อการดำเนินการ เช่น ภาพถ่าย, ตำแหน่งบนแผนที่ และสามารถให้ข้อมูลสถานการณ์แก้ไขปัญหาแก่ประชาชนได้
พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า แอพพลิเคชั่น Traffy Fondue จัดทำขึ้นเพื่อใช้แก้ปัญหาของเมืองแต่ละเมืองที่มีปัญหาพื้นฐานต่าง ๆ สอดคล้องกับจุดเด่นของ Traffy Fondue ที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งและแก้ปัญหาของเมือง ผ่านทางแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือ เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีระบบแจ้งเตือนสถานะการแก้ปัญหา ถึงผู้รับผิดชอบและผู้ติดตามแบบอัตโนมัติ บริการข้อมูลทางสถิติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การวางแผนงบประมาณและกำลังคนและการทำงานของหน่วยงานของรัฐและเอกชนสามารถตั้งกลุ่มรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาของตนเองได้ เช่น ปัญหาขยะ, ปัญหาทางเท้า, ปัญหาความสะอาด ปัญหาสาธารณูปโภคต่าง ๆ, ปัญหาในการบริหารจัดการคน, ปัญหาในการบริหารจัดการเวลาในการแก้ไขปัญหาแต่ละเรื่องให้แล้วเสร็จ ระหว่างหน่วยงานและประชาชนที่อยู่ภายในเมืองแต่ละพื้นที่ได้มีการรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วร่วมกันหาทางแก้ปัญหา ต่อมาทางคณะผู้วิจัยได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้สามารถใช้งานในพื้นที่อุตสาหกรรมที่ต้องการบริหารจัดการพื้นที่ให้มีความสมาร์ท ยกระดับการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามนโยบายภาครัฐ ในอนาคตอยากให้มีการนำแอพพลิเคชั่น Traffy Fondue ไปใช้ทั่วถึงครอบคลุมทั่วประเทศ
แอพพลิเคชั่น Traffy Fondue แจ้งปัญหาที่พบช่วยแก้ปัญหาได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยอาวุโสทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า แอพพลิเคชั่น Traffy Fondueได้รับเงินทุนวิจัยสนับสนุนการดำเนินการสร้างจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยดีอีต้องการให้ทางเนคเทคคิดวิธีจัดการการจัดเก็บขยะทั้งเปียกและแห้งในพื้นที่นำร่องที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแจ้งเข้ามาว่าพื้นที่ไหนมีขยะมาก ขยะน้อย บริเวณใดบ้าง เพื่อให้มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ไปจัดเก็บให้สะอาดเรียบร้อย และเมื่อมีการใช้ไปสักระยะหนึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนและมีการเรียกร้องให้เปิดการแจ้งปัญหาเรื่องอื่น ๆ ตามมาเช่น ปัญหาการจราจร, ปัญหาไฟฟ้าดับ, ปัญหาน้ำประปาไม่ไหล ไหลน้อย
โดยในช่วงแรกของการจัดทำแอพพลิเคชั่นนี้ได้ให้บริการประชาชนสำหรับสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ แต่พบปัญหาการโหลดแอพพลิเคชั่นของผู้สูงอายุที่ยังไม่เข้าใจ โหลดยาก ดังนั้นคณะผู้วิจัยพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ให้สามารถใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น Line ได้ ทั้งระบบแอนดรอยด์และไอโอเอส แจ้งปัญหาที่พบที่ต้องการให้ช่วยแก้ปัญหาได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นนี้
“เมื่อประชาชนมีช่องทางในการแจ้งปัญหาดังกล่าวแล้ว เขาก็มีการแจ้งข้อร้องเรียนปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาสายไฟไม่เป็นระเบียบกีดขวางทางจราจร, ปัญหาถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ, ปัญหาน้ำขังพื้นผิวถนน,ปัญหาเพื่อนบ้าน ปัญหาอื่นๆที่พบเห็นที่เป็นผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม และติดตามผลการแก้ไขปัญหาได้” ดร.วสันต์ กล่าว
ในส่วนของการใช้งานนั้น ผู้ใช้งานโหลดแอพพลิเคชั่น Traffy Fondue แล้ว เข้าสู่ระบบ ถ่ายภาพ ระบุประเภทปัญหา แจ้งรายงานปัญหา จากนั้นหน่วยงานผู้ดูแลได้รับแจ้งเตือนปัญหา รับเรื่อง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมดำเนินการแก้ไขและเมื่อแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนนั้นแล้วเสร็จ ผู้ใช้งานจะได้รับแจ้งเตือนสถานะการแก้ปัญหาของหน่วยงานผู้ดูแลภายใน 24 ชั่วโมงโดยในขณะนี้มีหน่วยงานที่นำไปใช้แล้ว ได้แก่ เทศบาล อบต. เอกชนต่าง ๆ กว่า 234 หน่วยงานที่เข้ามาลงทะเบียน เช่น เทศบาลแม่ฮ่องสอน, เทศบาลท่าโขลง, เทศบาลนครรังสิต และนิคมอุตสาหกรรมนวนคร
ส่วนในอนาคตกำลังพัฒนาแอพพลิเคชั่น Traffy Fonde ให้ใช้งานได้หลากหลายภาษาขึ้น เนื่องจากในชุมชน ในนิคมอุตสาหกรรมมีผู้ที่อยู่อาศัยหลากหลายสัญชาติสื่อสารหลากหลายภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่นและภาษาฝรั่งเศส โดยจะรวบรวมข้อมูลปัญหาร้องเรียนเข้ามาไว้ในดาต้าเซ็นเตอร์ของแต่ละพื้นที่ที่นำไปใช้รายงานแก่ผู้บริหารที่ดูแลพื้นที่ของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นรายวัน รายเดือน และรายปี เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆให้ตอบโจทย์การอยู่รวมกันในเมืองนั้น ๆ
นิคมฯ นวนครนำแอพพลิเคชั่น Traffy Fondue ใช้บริหารจัดการพื้นที่
สุทธิพร จันทวานิช กรรมการผู้จัดการและรักษาการตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการด้านสาธารณูปโภค บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ปัจจุบันอายุครบ 48 ปี เป็นบริษัทพัฒนาที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมและเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ประกอบการ สาธารณูปโภคต่าง ๆ มี 2 พื้นที่ดูแลด้วยกัน ประกอบด้วยบริเวณคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี บนพื้นกว่า 6,500 ไร่ โดยในปี พ.ศ. 2548 ได้ขยายธุรกิจและจัดตั้งโครงการ เขตประกอบอุตสาหกรรมนวนคร นครราชสีมา ที่อำเภอเนินสูง จังหวัดนครราชสีมา บนเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ ปัจจุบันเขตประกอบอุตสาหกรรมนวนครเป็นที่ยอมรับของนักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีบริษัทอยู่ภายในโครงการมากกว่า 200บริษัท โดยบริเวณคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีก่อนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554 นั้นมีคนเข้ามาอยู่อาศัยประมาณ 300,000 คน หลังจากน้ำท่วมก็มีคนอพยพไปอยู่ที่อื่นจนปัจจุบันนี้เหลือประมาณ 150,000 คน เป็นคนทำงานประจำอยู่ 85,000 คน ที่เหลือเป็นคนทำงานไม่ประจำ พักอาศัยอีกประมาณ 65,000 คน ส่วนพื้นที่เขตประกอบอุตสาหกรรมนวนคร นครราชสีมา จะเป็นพื้นที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมล้วนไม่มีที่พักอาศัยสำหรับผู้ประกอบการแต่อย่างใด
สำหรับทั้ง 2 พื้นที่ เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา คณะผู้บริหารได้มีนโยบายในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมนวนครให้เป็น นวนครสมาร์ทซิตี้เชื่อมโยงความเป็นอยู่ในแง่มุมต่าง ๆทั้งการทำงานภาคอุตสาหกรรม ทำให้เป็นพื้นที่สมาร์ทซิตี้ มีพื้นที่พัฒนาให้คนที่เข้ามาอยู่มีความสะดวกสบาย ด้วยการนำหลักวิศวกรรมการก่อสร้าง วิศวกรรมการจัดการพื้นที่ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ เข้ามาบริหารจัดการภายในเพื่อเอื้ออำนวยการทำธุรกิจ การอยู่อาศัยแบบบูรณาการรับฟังปัญหาร่วมกัน เช่น การแก้ปัญหาเรื่องสายสื่อสารที่รกรุงรังภายใน ขณะนี้จัดการไปแล้วกว่า 80 % โดยติดตั้ง Wi-Fi สำหรับให้บริการภายในแก่ทุก ๆพื้นที่ครอบคลุมทั้งบริการฟรีและแบบจ่ายรายเดือนตามราคาที่เหมาะสมในการใช้งานของรูปแบบสถานประกอบการ ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภคต่าง ๆภายในนวนครอย่างครบวงจร
“เมื่อประมาณ 6 เดือนที่ผ่านมาทาง เนคเทค ได้ติดต่อเข้ามาเพื่อนำเสนอแอพพลิเคชั่น Traffy Fondue ซึ่งเป็นระบบแจ้งซ่อมบริการและบริหารจัดการปัญหาเมือง ตอบโจทย์การบริหารจัดการเมืองตรงตามนโยบายที่เราต้องการ จึงได้มีการนำมาทดลองใช้ โดยทำงานผ่าน Line Bot มีกรุ๊ปไลน์ของบริษัทที่หัวหน้างานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบรับเรื่องร้องเรียนปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาขยะ, ปัญหาน้ำประปาที่อาจจะมีความต้องการในพื้นที่ตามจุดต่าง ๆ ไม่เพียงพอก็จะมีการร้องเรียนเข้าในโดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง, ปัญหาท่อแตก, ปัญหาทางเท้าชำรุด, ปัญหาเสาไฟฟ้าหักโค่น ปัญหาการบำบัดตามเสียตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ในแต่ละวันเรามีความสามารถในการบำบัดได้ 45,000 คิวต่อวัน และอื่น ๆ แล้วเร่งแก้ไข จากที่อดีตใช้ระบบแมนนวลในการทำงานจดปัญหา รับโทรศัพท์ การประสานงาน ก็ใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 วันกว่าจะเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ แต่เมื่อนำแอพพลิเคชั่น Traffy Fondue มาใช้สามารถรับเรื่องร้องเรียนเข้ามาแก้ไขแล้วเสร็จเพียง 1 วันเท่านั้น นอกจากนี้แล้วเรายังได้นำเสนอแอพพลิเคชั่น Traffy Fondue นี้แก่ผู้ประกอบการภายในนวนครเข้ามาร่วมด้วยเฉพาะหัวหน้างานประมาณ 426 คน เพื่อที่จะได้ช่วยกันดูแลทุก ๆ ปัญหาของครอบครัวนวนครอย่างดีที่สุด” สุทธิพร กล่าว