สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เจาะลึกงบลงทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (ววน.) 24,645 ล้านบาท พร้อมต่อยอดสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ ด้าน “สมคิด” จี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เร่งถกมหาวิทยาลัยทุกสัปดาห์ ขับเคลื่อนแผนงานสู่ชุมชนอย่างแท้จริง ขณะที่แผนการอุดมศึกษา ผ่านฉลุย เคาะกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาฯ 10,250 ล้านบาท พร้อมแต่งตั้ง รศ. ศักรินทร์ ภูมิรัตน เป็นประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้านการอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
กรุงเทพฯ – 8 มกราคม 2563) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะเลขานุการและดูแลงานวิชาการสภานโยบาย จัดการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม พร้อมด้วย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำหน้าที่รองประธานที่ประชุม ซึ่งมีกรรมการสภานโยบายฯ ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1-2 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14
ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินการตามแผนด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในปีพ.ศ.2563 ตามที่ได้นำเสนอมานั้น ถือเป็นแผนงานที่ดี แต่จะไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้เลยหากขาดความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน/ชุมชน ภาคมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ซึ่งปัจจุบันมีการทำงานกันแบบต่างคนต่างทำ แต่การจะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือ และสร้างให้เกิดความต้องการของแต่ละภาคส่วนร่วมกันเพื่อเชื่อมต่อให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม
“ประเทศไทยขาดการบริหารงานช่วงรอยต่อ เราต้องเชื่อมให้ติด เรามีบุคลากร มีโครงการที่ดี แต่ต้องไปเสียบปลั๊กเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องทำงานกับมหาวิทยาลัยให้มากกว่านี้ เพื่อเชื่อมต่อไปยังโครงการต่าง ๆ ทั้ง เกษตรชุมชน ท่องเที่ยว เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ฯลฯ เช่น มจธ. เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็ต้องไปเชื่อมโยงให้ตรงกับโครงการเพื่อต่อยอด หรือเรามี ธกส. เป็นศูนย์กลางของชุมชน เราก็ต้องประสานฐานข้อมูลเกษตรกร เพื่อนำนวัตกรรมลงไปช่วยยกระดับ เพื่อขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้มาตรฐานระดับสากล รวมถึงยังสามารถเชื่อมกับโครงการเมืองรองน่าเที่ยวได้ เรามีเด็กปี 3 ปี 4 ที่สามารถพัฒนาไปสู่บุคลากรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน โดยใช้บุคลากรเหล่านี้ลงไปสำรวจวิจัย ไปออกแบบและช่วยเหลือตามความถนัด เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดเป็นรูปธรรม ทั้งนี้การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต้องสร้างให้เกิดความต้องการร่วมกัน มีการพูดคุยเชิญคนเกี่ยวข้องมาหารือถึงทิศทางที่จะมุ่งไปด้วยกัน เสนอให้เรียกหารือกันทุกสัปดาห์ กับ อธิการบดี และคณบดี ทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศซึ่งต้องมาช่วยกัน หมดสมัยแล้วที่จะมาวิจัยแข่งกัน วันนี้เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนประเทศ” ดร. สมคิด กล่าว
ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในภาพรวมได้รับความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรในกรอบวงเงินรวม 24,645 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้วิเคราะห์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีด้าน ววน. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในกรอบวงเงินเบื้องต้นรวม 24,645 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณตามผลที่จะได้รับ (Output) 5 ด้าน ซึ่งอยู่ภายใต้ 4 แพลตฟอร์มยุทธศาสตร์ อววน. คือ 1. ด้าน Frontier Research and Basic research ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 3,518 ล้านบาท คิดเป็น 14% ของงบประมาณด้าน ววน. ทั้งหมด 2. ด้านการพัฒนากำลังคน ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 3,453 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14% 3. ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัย จัดสรรงบประมาณ จำนวน 3,970 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16% 4. ด้านการแก้โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายสังคม จัดสรรงบประมาณ จำนวน 6,760 ล้านบาท คิดเป็น 27% และ 5. ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 6,887 ล้านบาท หรือคิดเป็น 28%
การลงทุนด้าน ววน. ไม่ใช่เป็นเพียงการผลิตความรู้ หรือนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา แต่ยังมีความคาดหวังในการใช้กลไกและผลจากการลงทุนด้าน ววน. ในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้าน ทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการสร้าง Innovative SMEs จำนวน 5,000 ราย สร้าง Tech Enterprises 100 ราย เกิดการจ้างงาน 100,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) ของภาคเอกชน 80,000 ล้านบาท รวมถึงคนในชุมชนได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต 3,000,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี ด้านการพัฒนา Startup และระบบนิเวศนวัตกรรม เกิด Startup ที่จัดตั้งใหม่และอยู่รอดเกิน 3 ปี จำนวน 330 ราย/ปี และเพิ่มเป็น 1,000 ราย ในปีพ.ศ.2565 ด้านชุมชนนวัตกรรม เกิดอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจฐานราก และมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 ชุมชนมีขีดความสามารถในการจัดการตนเอง 500 ตำบล/ปี สร้างนักวิจัยชาวบ้านและนวัตกรชาวบ้าน 1,000 คน/ปี ผู้มีรายได้น้อย ในกลุ่ม 40% จากล่างสุด มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 อย่างทั่วถึง อย่างน้อย 20,000 คน ด้านการแก้ปัญหาท้าทายของสังคม สามาถลดปัญหาคุณภาพอากาศ (PM 2.5) ลดปริมาณขยะและขยะพลาสติก 10% ต่อปี ลดอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และระบบนิเวศชายฝั่ง 10% ลดค่าใช้จ่ายของรัฐในการดูแลผู้สูงวัย 60,000 ล้านบาท
ดร. กิติพงศ์ กล่าวว่า สำหรับการลงทุนด้าน ววน. ในการพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ คาดว่าจำนวนนักวิจัยและพัฒนาจะเพิ่มเป็น 30 คนต่อประชากร 100 คน มีกำลังคนรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เพียงพอ สัดส่วนบัณฑิต/ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่มีทักษะตรงตามความต้องการของแรงงาน ไม่ต่ำกว่า 70% รวมถึงเกิดการพัฒนาทักษะความรู้ความเข้าใจของเยาวชนและประชาชนด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การลทุนด้านการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) และการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) คาดว่าจะเกิด Deep-tech Startups จากการวิจัยขั้นแนวหน้าอย่างน้อย 5 ราย เกิดเครือข่ายนักวิจัยไทยที่มีส่วนร่วมใน Global Frontier Research Value Chain หรือได้รับทุนวิจัยจากทุนสำคัญของโลก อย่างน้อย 10 โครงการ เกิดองค์ความรู้และกระบวนทัศน์ใหม่ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างความเข้าใจทางสังคม อย่างน้อย 3 เรื่อง ตลอดจนเกิดกำลังคนระดับสูงรองรับอุตสาหกรรมอนาคต
ในส่วนของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยที่สำคัญ คาดว่าจะเกิดเทคโนโลยีต้นแบบ และความสามารถในการประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างน้อย 5 ต้นแบบ มูลค่าการลงทุนของบริษัทที่มาใช้โครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเป็น 2 เท่าใน 5 ปี และเกิดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีพร้อมใช้ถูกนำไปสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์อย่างน้อย 10 เรื่อง ซึ่งการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ข้างต้น จะเน้นการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในรูปแบบ Consortium ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน/ชุมชน ภาคมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัย และพันธมิตรต่างประเทศ (Quadruple Helix)
“อีกหนึ่งไฮไลท์ของการประชุมคือ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบหลักการ (ร่าง) แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 และ (ร่าง) กรอบวงเงินงบประมาณเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ จำนวน 10,250 ล้านบาท โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แต่งตั้งรองศาสตราจารย์ ศักรินทร์ ภูมิรัตน เป็นประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้านการอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564” ดร. กิติพงค์ กล่าวทิ้งท้าย