กรุงเทพฯ : กระทรวงพลังงาน และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการกำหนดกรอบทิศทางและการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน เพื่อร่วมกำหนดกรอบนโยบายและทิศทางงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีพลังงานส่งเสริมการใช้พลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน ตามแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 20 ปี รวม 5 แผน ประกอบด้วย แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ
สุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ในครั้งนี้คาดว่าจะได้ประโยชน์ร่วมกันใน การกำหนดกรอบการวิจัยเรื่องพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน ตามแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 20 ปี รวม 5 แผน ประกอบด้วย แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการทำงานที่จะเป็นก้าวที่สำคัญที่จะผลักดันการทำงานร่วมกันให้เป็นประโยชน์ส่งต่อสู่จากรุ่นต่อรุ่นเพื่อให้มีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ในราคาที่จับต้องได้และเป็นธรรมกับทุกๆคน โดยกระทรวงพลังงานจะนำงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่มีอยู่ให้การสนับสนุนเพื่อสร้างโอกาสให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านพลังงานจากความร่วมมือในครั้งนี้ร่วมกัน
ด้าน นศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว.มีนักวิจัยและองค์ความรู้ด้านพลังงานที่สั่งสมมาหลายปีจากศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งจะนำมาร่วมทำงานกับกระทรวงพลังงาน เพื่อให้เกิดงานวิจัยที่มุ่งเป้าที่เป็นประโยชน์ด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้ ใช้ได้จริงและเป็นการสร้างโอกาสที่เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองในอนาคตต่อไป
กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน สอดรับกับแนวทางของกระทรวงพลังงานในการเตรียมพร้อมรับมือในยุคดิจิทัล 4D+1E คือ 1. DIGITALIZATION เช่น การพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการพลังงานแบบอัจฉริยะ 2. DECARBONIZATION การลดคาร์บอน ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่มีปล่อยคาร์บอนน้อยลง 3. DECENTRALIZATION การพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รองรับการกระจายศูนย์สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ 4.DE-REGULATION การผ่อนปรนกฎระเบียบ การเปิด Sandbox ให้เกิดการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมด้านพลังงาน ส่งเสริมให้เกิด Start up ด้านพลังงาน และ 5. ELECTRIFICATION เช่น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่าสำหรับกรอบการทำงานทิศทางงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีพลังงานเบื้องต้น ได้แก่ เรื่องของพลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานจากชีวมวลต่างๆ, ระบบกักเก็บพลังงาน, การจัดการพลังงาน, การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการขับเคลื่อนวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งจะนำผลงานวิจัยที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองกระทรวงและขยายสู่หลายงานอื่นๆของประเทศ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประเทศ ที่สำคัญจะเป็นแหล่งงานวิจัยและองค์ความรู้ด้านพลังงานที่สำคัญยิ่งของประทศในอนาคตสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดจากงานที่วิจัยที่มีอยู่เพื่อลดการใช้เงินทุนเริ่มต้นการวิจัย ลดระยะเวลาในการวิจัยและที่สำคัญลดการพึ่งพางานวิจัยจากต่างประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย