บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือขนถ่ายตู้สินค้า ท่า A2, A3, C1&C2 และท่าเทียบเรือชุด D ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เผยความสำเร็จในการบันทึกสถิติขนถ่ายตู้สินค้าผ่านท่าเทียบเรือของบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท สะสม 40 ล้าน TEU ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 นับตั้งแต่เปิดดำเนินงาน ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ. 2545 พร้อมตั้งเป้ามีตู้สินค้าผ่านท่าเรือของ ฮัทชิสัน พอร์ท 50 ล้าน TEU ในอนาคต
มร. สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า บริษัทฯ ประกอบกิจการเปิดท่าเทียบเรือ A2 ในประเทศไทย ที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 130 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ท่าเรือที่มีที่ตั้งที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และได้ขยายท่าเรือรองรับเพิ่มขึ้นในแต่ละปีจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองรับการดำเนินธุรกิจทางเรือ โดยในปีพ.ศ. 2549 ได้เปิดให้บริการท่าเทียบเรือ A3 ในปี พ.ศ. 2550 เปิดให้บริการท่าเทียบเรือ C1&C2 ในปี พ.ศ. 2559 เริ่มการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ชุด D และปี พ.ศ. 2562 เปิดให้บริการท่าเทียบเรือ ชุด D ปี พ.ศ. 2565 ซึ่งครบรอบ 20 ปี ในการดำเนินธุรกิจท่าเทียบเรือในประเทศไทย ทำให้มียอดสะสมขนถ่ายตู้สินค้าผ่านท่าเทียบเรือของฮัทชิสัน พอร์ทในเดือนกันยายน 2566 ผ่านท่า รวมกว่า 40 ล้าน TEU โดยความร่วมมือของพนักงานทุกคนของบริษัทฯในการทำงานที่มุ่งมั่นจนบรรลุเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่บริษัทวางเอาไว้ตลอด 20 ปี ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติที่นำมาใช้งานร่วมกับพนักงาน เพื่อให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย และรวดเร็วในการทำงาน เช่น เครนและรถลากตู้สินค้าถูกเปลี่ยนไปเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด โดยระบบเครนยกสินค้านั้นปัจจุบันจะไม่มีการส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นไปบังคับที่ด้านบนแล้ว โดยทำการเปลี่ยนมาเป็นบังคับการทำงานจากระยะไกล พนักงานขนส่งตู้สินค้าจากเรือสามารถบังคับการทำงานจากห้องควบคุมในอาคารผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ส่วนรถลากตู้สินค้านั้นก็ได้มีการเปลี่ยนไปใช้รถแบบที่ไม่มีคนขับแล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งสามารถขนเคลื่อนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ โดยใช้คำสั่งแบบอัตโนมัติจากห้อควบคุมสั่งให้ไปรับตู้สินค้าและกำหนดพื้นที่ปลายทาง ตัวรถลากตู้สินค้าก็จะสามารถทำงานได้เองหรือในกรณีจำเป็นจะสามารถควบคุมผ่านห้องปฏิบัติการไปพร้อมๆกันช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและทำงานต่อเนื่องไม่ติดขัดในช่วงที่มีตู้ขนส่งสินค้ามาพร้อมๆกันในหลายๆท่าเรือของบริษัทฯ
นอกจากนี้บริษัทฯได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการออกเอกสารสำคัญต่างๆ สำหรับการนำออกสินค้าจากท่าเทียบเรือไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมดแล้ว ซึ่งนอกจากเอกสารที่จำเป็นต่อกระบวนการศุลกากรต่างๆ แล้วปัจจุบันงานด้านเอกสารอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับลูกค้าหรือบริษัทขนส่งสินค้าจะถูกเปลี่ยนสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย
“ปัจจุบันบริษัทฯกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาส่วนที่เหลือของท่าเทียบเรือชุด D รองรับการจราจรของเรือขนส่งสินค้าให้ได้มากขึ้น ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถรับการขนส่งสินค้าจากเรือขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้มากขึ้น โดยปัจจุบันปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือของประเทศไทยนั้น หากเปรียบเทียบเฉพาะภายในบริเวณของท่าเทียบเรือแหลมฉบัง การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ มีปริมาณสินค้าที่มากับตู้สินค้าทางเรือมากที่สุดอยู่ที่ประมาณ 40% และหากเทียบในประเทศปริมาณสินค้าที่ผ่านเข้าออกในพื้นที่ของบริษัทฯเป็นอันดับ 2 ที่ 30% และในอนาคต บริษัทฯ ตั้งเป้าจะดำเนินธุรกิจมีตู้สินค้าผ่านท่าเรือของ ฮัทชิสัน พอร์ท 50 ล้าน TEU ให้ได้ตามแผนธุรกิจที่วางไว้” มร. สตีเฟ้นท์ กล่าวทิ้งท้าย