สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขและเครือข่าย ร่วมแถลงการณ์บริหารจัดการและให้วัคซีน COVID-19 ของประเทศไทยอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเชื่อมั่นและลดความกังวลแก่ประชาชน
โดยวัคซีนล็อตแรก 200,000 โดสจากซิโนแวคจะนำเข้ามาในประเทศไทยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 และทำการฉีดให้กับประชาชนใน 10 จังหวัดนำร่องตามแผนของรัฐบาลในเดือนมีนาคม พ.ศ.2564
ทั้งนี้จะมีระบบในการติดตามและศึกษาวิจัยให้มั่นใจว่าประชาชนมีความปลอดภัยภายหลังได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 แล้ว
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อว.และสธ. มีการทำงานร่วมกันมาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทย เพื่อให้การตรวจเชื้อ ควบคุมพื้นที่เกิดเชื้อลดลง รวมทั้งศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับวัคซีนที่มีการคินค้นได้จากต่างประเทศที่จะนำเข้ามาฉีดให้กับคนไทยว่ามีความปลอดภัยเหมาะสมกับประชาชนในกลุ่มใดบ้างมาอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของ อว.โดย วช.ได้เข้าไปมีส่วนสนับสนุนทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ประมวลสถานการณ์ COVID-19 ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศรายงานสู่สาธารณชนทุกๆวัน ดูแลทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่ง อว.มีโรงเรียนแพทย์อยู่ประมาณ 20 กว่าแห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีบุคลากรทางการแพทย์ อาจารย์แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญช่วยดูแลผู้ป่วยผู้ติดเชื้อ COVID-19 มาโดยตลอดตั้งแต่เกิดการติดเชื้อและระบาดขึ้นและการวิจัยพัฒนางานวิจัย COVID-19 รองรับในทุกๆเรื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความกังวลของประชาชนที่ติดเชื้อและยังไม่ติดเชื้อว่าจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่ดีมาฉีดให้กับทุกๆคนได้ตามแผนการดำเนินการของรัฐบาลอย่างแน่นอน
“ขณะนี้รัฐบาลได้มีการสั่งนำเข้าวัคซีนมาจากบริษัทซิโนแวคเบื้องต้น 200,000 โดสจะถึงประเทศไทยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เวลาประมาณ 10.00 น. ซึ่งจะมีการรับวัคซีนดังกล่าวแล้วนำไปตรวจว่ามีประสิทธิภาพตรงตามที่มีการทำการสั่งซื้อหรือไม่และเมื่อได้รับผลตรวจรับแล้วจะทำการกระจายฉีดให้กับ 10 จังหวัดนำร่องตามแผนของรัฐบาลได้ในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ.2564 นี้” ปลัดกระทรวง อว.กล่าว
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนทั่วโลกในขณะนี้ทำการฉีดไปแล้วมากกว่า 200 ล้านโดส ภายในเวลา 2 เดือนเศษๆ ตั้งแต่มีการเริ่มฉีดเข็มแรกอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2563 แยกเป็น 100 ล้านเข็มหลังใช้เวลาในการฉีดเร็วขึ้นกว่า 3 เท่าในการฉีดใน 100 ล้านเข็มแรก เนื่องจากต้องมีการศึกษาผลข้างเคียงของวัคซีนแต่ละชนิดที่ฉีด ประสิทธิภาพและภูมิคุ้มกันของผู้ที่รับวัคซีนจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดควบคู่ไปด้วย เนื่องจากวัคซีน COVID-19 เป็นเรื่องใหม่ที่ทั่วโลกต้องมีงานวิจัยทางวิชาการมารองรับทุกๆการฉีดวัคซีนแต่ละชนิดด้วย
จากการรายงานทางวิชาการที่ทำการเก็บข้อมูลการฉีดวัคซีนพบว่า วัคซีนที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้มีประสิทธิภาพที่สูงมากเมื่อฉีดไปแล้วช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ผลของวัคซีนที่ฉีดไปแล้ว อัตราการเจ็บป่วยลดลง ถ้าป่วยก็ป่วยลดลง ลดการเสียชีวิตอย่างน่าทึ่งวัคซีนที่ใช้แล้วปลอดภัย
สำหรับผลข้างเคียงที่พบจะเป็นเรื่องปกติเหมือนเราฉีดวัคซีนทั่วไป เช่น อ่อนเพลียและเจ็บที่บริเวณจุดฉีดวัคซีนและอาการต่างๆเหหล่านี้จะหายไปในระยะเวลาไม่นาน ที่สำคัญไม่มีผู้เสียชีวิตโดยตรงจากวัคซีน ทั้งนี้ผู้ที่เสียชีวิตภายหลังจากการฉีดวัคซีนเกิดจากการมีโรคประจำตัวมากกว่า
ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่าสำหรับวัคซีนที่ทดสอบตอนนี้ออกแบบให้ฉีด 2 เข็ม ซึ่งมีข่าวดีคือเมื่อฉีดเข็มแรกไปแล้วได้ผลดี การยืดเวลาในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 อาจจะยืดเวลาได้มากขึ้นไม่จำเป็นต้องฉีดห่างจากเข็มแรกภายใน 2
สัปดาห์ ซึ่งจะต้อทำการเก็บข้อมูลและวิจัยต่อไป
“วัคซีนที่ทดสอบนั้นทุกงานวิจัยพยายามที่จะทดสอบให้ได้ผลที่ดีที่สุด ซึ่งวัคซีนที่มีการจัดเก็บในขณะนี้ทนกว่าที่ประเมินเอาไว้ เช่น บางชนิดต้องเก็บในอุณหภูมิที่ติดลบ ขนส่งต้องตามกำหนดเวลา แต่เมื่อทำการทดลองใช้จริงพบว่ามีบ้างที่จัดเก็บขนส่งไม่ตามที่กำหนดประสิทธิภาพของวัคซีนก็ยังใช้ได้ผลที่ดีเช่นกัน ซึ่งจะต้องมีการเก็บข้อมูลและทำการวิจัยต่อไปอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของข้อกังวลเกี่ยวกับ COVID-19 ในบางสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์แอฟริกาใต้ การใช้วัคซีนป้องกันไม่ได้ผลที่ดีมากนัก จะต้องมีการติดตามผลลัพธ์การใช้วัคซีนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน” ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงข้อจำกัดในการฉีด COVID-19 ว่า มีทั้งข้อจำกัดทางวิชาการ ข้อจำกัดการวิจัยที่ทดสอบ ในส่วนของวัคซีนชิโนแวคที่ได้ทำการศึกษาและมีรายงานทางวิชาการรองรับพบว่าคนสูงอายุมากกว่า 60 ปี ไม่ควรได้รับการฉีดแต่หากจำเป็นต้องฉีดก็ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่ทำการรักษาตามความเหมาะสม นอกจากนี้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีและหญิงตั้งครรภ์ ก็ยังไม่ควรได้รับการพิจาณาให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคเช่นกัน
สำหรับแผนการฉีดวัคซีน 63 ล้านโดสของรัฐบาลในปีพ.ศ.2564 นี้ มี 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม พ.ศ. 2564 จำนวน 2 ล้านโดส ให้บริการผ่านสถานบริการทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความพร้อมของแพทย์และห้องฉุกเฉินไว้อย่างเพียงพอ ประมาณ 1,000 แห่ง พร้อมให้การช่วยเหลือในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์หลังจากการได้รับวัคซีน ในพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร, กรุงเทพ, นนทบุรี ปทุมธานี, สมุทรปราการ, ระยอง, ชลบุรี, จันทบุรี, ตราด และ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งยังพบผู้ติดเชื้อ โดยจะพิจารณาตามลำดับพื้นที่และความสำคัญของการระบาด
ส่วนระยะที่ 2 ในช่วงเดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2564 จำนวน 61 ล้านโดส เมื่อมีวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยจะฉีดให้แก่ประชาชนทั่วไป, ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์, ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน, ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ, นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ และแรงงานในภาคอุตสาหกรรม, กลุ่มเป้าหมายในระยะที่ 1, บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ เป็นต้น
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่าในส่วนเพิ่มเติมจาก 63 ล้านโดสนั้นจะมีการพิจารณาตามความเหมาะสมในอนาคตคาดว่าในช่วงเดอืนกรกฎาคม พ.ศ.2564 จะมีการพิจารณาอีกครั้งเนื่องจากในขณะนั้นคาดว่าวัคซีนจะกระจายครอบคลุมทั่วโลกและมีมากพอสำหรับทุกๆคน รวมทั้งมีการทำรายงานการวิจัยร่วมกับนักวิชาการ อว. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายทางการแพทย์อื่นๆควบคู่กันไปเพื่อให้วัคซีนที่ใช้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและทั่วถึงเพียงพอสำหรับคนไทยทุกคน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า จากการระบาดของ COVID-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 111 ล้านคนทั่วโลกและมีผู้เสียชีวิตกว่า 2.4 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยง ได้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ณ ปัจจุบันนี้ โดยหลากหลายทั่วโลกได้พยายามคิดค้นหาวัคซีนที่จะยับยั้งป้องกันเชื้อ COVID-19 และประสบความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนบ้างแล้ว และได้ทำการทดลองฉีดให้กับผู้คนในประเทศตนเอง เช่นในสหรัฐอเมริกา โดยมีงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับวัคซีน COVID-19 รองรับ ซึ่งวัคซีนแต่ละชนิดอาจจะมีประสิทธิภาพและผลการยับยั้งเชื้อที่แตกต่างกัน
ดังนั้นการที่แต่ละประเทศมีงานวิจัยของตนเองเกี่ยวกับวัคซีน COVID-19 รองรับจะช่วยให้การเลือกชนิดของวัคซีนมาทำการฉีดแก่ประชาชนในประเทศแล้วเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด นับเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง
สำหรับประเทศไทยทางนักวิจัยวช. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์และเครือข่าย ร่วมทำการศึกษาวัคซีน COVID-19 ภายใต้แผนงานวิจัยเรื่อง “การบริหารจัดการโครงการวิจัยวัคซีนและประเมินประสิทธิผลเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย” ใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ด้านนโยบาย และระบบสุขภาพ 2. ด้านประสิทธิผล และภูมิคุ้มกัน 3. ด้านการบริหารแผนงาน 4. ด้านการประกัน ควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัย 5. ด้านการสื่อสาร และ6. ด้าน New Variants โดยมี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์เป็นผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย ในรูปแบบ Director ซึ่งจะทำหน้าที่สำคัญในการกำกับทิศทางและเป้าหมายของโครงการให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ และนำผลงานวิจัยที่ได้มาใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายและบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิผล ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเสียชีวิตจาก COVID-19
เบื้องต้นในขณะนี้มีการศึกษาวิจัยวัคซีน 2 ชนิดที่กำลังจะนำมาใช้ฉีดในประเทศไทยได้แก่ วัคซีนซิโนแวคและวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา และในอนาคตจะมีวัคซีนชนิดอื่นๆนำเข้ามาฉีดตามความเหมาะสมต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อยากให้ทุกคนสบายใจมั่นใจและอย่ากลัวการฉีดวัคซีน เพราะมีการทดสอบวัคซีนจำนวนมากในหลายประเทศมาก่อนที่จำนวนมากใช้จริงในคนหลายๆประเทศทั่วโลกแล้วพบว่าผลที่ได้มีประสิทธิภาพที่ดีจริง อาจจะมีอาการแพ้บ้าง มีอาการข้างเคียง แต่ก็ยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากวัคซีนเลยสักราย มีเพียงที่เสียชีวิตจากโรคประจำตัวเท่านั้น
“สำหรับคนไทยที่กลัวอาการข้างเคียงของวัคซีนซิโนแวค ที่กำลังจะเข้ามาฉีดในประเทศไทยนี้ ก็ขอให้สบายใจได้ ขอให้มั่นใจและฉีดวัคซีน เพื่อลดการติดเชื้อ และแพร่กระจายเชื้อในประเทศจากนี้ต่อไป” ศ.นพ.ยง กล่าว