กรุงเทพฯ – 9 มกราคม2567 : เพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานใน พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการขับเคลื่อนให้สถาบันอุดมศึกษาไทยให้ได้รับการรับรองจาก Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) ของสหรัฐอเมริกา ภายในปี 2568 ระหว่างกระทรวง อว. และสถาบันอุดมศึกษา 16 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวม 56 หลักสูตร เพื่อยกระดับมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ของไทยให้เทียบเคียงกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และผู้ดูแลหลักสูตร เข้าร่วมงาน ณ ห้อง Ballroom A โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพฯ
เพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงอว. กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงอว. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาไทยให้ได้รับการรับรองมาตรฐานหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ (ABET) ของสหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ปี 2558 โดยร่วมมือกับสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (ATPAC) ในการส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาไทยให้ได้รับการรับรองจาก ABET ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การประชุมวิชาการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการรับรองตามมาตรฐานของ ABET การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการเตรียมความพร้อมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อฝึกเขียนรายงานการศึกษาตนเอง การตรวจรายงานการศึกษาตนเอง และการทดลองประเมิน (Mock Visit) อย่างต่อเนื่อง โดยการดำเนินโครงการระยะที่ 1 ประสบความสำเร็จมีผลงานอย่างเป็นรูปธรรม มีหลักสูตรด้านวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 9 หลักสูตร จาก 4 มหาวิทยาลัยนำร่อง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
สำหรับโครงการ ABET ระยะที่ 2 มี 16 สถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อมและประสงค์ขอรับการรับรองหลักสูตรจาก ABET ภายในปี 2568 รวม 56 หลักสูตร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความเป็นสากลของอุดมศึกษาไทยนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นการยกระดับบุคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับและเป็นการขยายโอกาสในการสร้างความร่วมมือ ตลอดจนประโยชน์ทางด้านวิชาชีพในอนาคตของนักศึกษาไทย