องค์การวินร็อค เปิดตัวโครงการ RIAN พร้อมจับมือ 5 หน่วยงาน หนุนเกษตรกร 30,000 รายเข้าถึงนวัตกรรมเท่าทันภูมิอากาศ ในปี 2570


กรุงเทพฯ – 21 มิถุนายน 2566 องค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล โดยกระทรวงการเกษตร รัฐบาลสหรัฐอเมริกา เปิดตัวโครงการเครือข่ายนวัตกรรมด้านการเกษตรประจำภูมิภาค (Regional Agriculture Innovation Network – RAIN) หรือโครงการเรน เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้งานนวัตกรรมเท่าทันภูมิอากาศ (Climate Smart Innovations : CSI) เพิ่มผลผลิต ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และขยายการค้าขายในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการสร้างศูนย์นวัตกรรมด้านภูมิอากาศ พร้อมลงนามความร่วมมือกับ 5 พันธมิตรไทยและต่างชาติ เดินหน้านวัตกรรมด้านเกษตร โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)  เป็น 1 ในพันธมิตรที่จะมีความร่วมมือด้าน “สนับสนุนการขยายผลนวัตกรรมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มีส่วนช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและเพิ่มโอกาสเชิงพาณิชย์

ในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก เกว็นโดลิน คาร์ดโน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยวิลเลียม สปาร์คส์ ผู้อำนวยการโครงการ RAIN ดร.เจือจันทร์ ตั้งเติมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคโครงการ RAIN ผู้บริหารจากทั้ง 5 หน่วยงานที่ร่วม MOU ได้แก่  ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  และ ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)   ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว

วิลเลียม สปาร์กส์ ผู้อำนวยการโครงการ RAIN กล่าวว่า  โครงการเรนมุ่งเน้นการทำงานกับพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ลำไย ทุเรียน มะพร้าว และมังคุด และยังสนับสนุนการริเริ่มศูนย์นวัตกรรมด้านภูมิอากาศนานาชาติสำหรับภาคการเกษตร แห่งแรกที่จะจัดตั้งขึ้นนอกประเทศสหรัฐอเมริกา โดยที่ศูนย์นวัตกรรมฯ ดังกล่าว จะได้มีการแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องการเกษตรและการป่าไม้เท่าทันภูมิอากาศ และยังมีส่วนช่วยในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศในระดับโลกด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ภายในปี พ.ศ. 2570 โครงการเรนจะทำการส่งเสริมให้เกษตรกรจำนวน 30,000 คน ได้มีการนำนวัตกรรมเท่าทันภูมิอากาศ 30 ชนิด ซึ่งจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าได้ปริมาณ 76,000 ตัน

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน (ซ้าย) ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน (ซ้าย) ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)

ภายในงานยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างองค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล และพันธมิตรที่มีความโดดเด่นทั้งไทยและต่างชาติจำนวนทั้งสิ้น 5 องค์กร ได้แก่  1) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อสนับสนุนการขยายผลนวัตกรรมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มีส่วนช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและเพิ่มโอกาสเชิงพาณิชย์  2) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เพื่อส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเท่าทันภูมิอากาศเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และขยายโอกาสทางการขาย 3) บริษัท ซีพีเอส อะกริ จำกัด เพื่อขยายการใช้งานและการบูรณาการของข้อมูลด้านภูมิอากาศในเทคโนโลยีด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ผลิตข้าว มันสำปะหลัง และพืชสวน 4) บริษัท ฮาร์มเลส ฮาร์เวสต์ จำกัด  เพื่อขยายการนำแนวทางการเกษตรฟื้นฟูและเท่าทันภูมิอากาศสำหรับภาคการผลิตและการแปรรูปมะพร้าวที่ส่งผลดีต่อทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม และ5) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการวิจัยและบัณฑิตศึกษาด้านการเกษตร (SEARCA)   เพื่อเร่งให้การเกิดเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานโดยผ่านนวัตกรรมด้านการเกษตรและการขยายผลเทคโนโลยีเท่าทันภูมิอากาศที่จะช่วยเพิ่มผลผลิต ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และขยายโอกาสทางการขาย

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยถึงประเด็นความร่วมมือครั้งนี้ว่า สวทช. โดยไบโอเทค ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลสำหรับประเทศลุ่มน้ำโขง มาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกพันธุ์ (Marker Assisted Selection; MAS) มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในปัจจุบันของประเทศในเขตลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว (Rice Gene Discovery Unit)  หน่วยวิจัยร่วมระหว่าง ไบโอเทค สวทช. และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น กรมการข้าว มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี Department of Agricultural Research หรือ DAR จากเมียนมา National Agriculture and Forestry Research Institute หรือ NAFRI จาก สปป.ลาว โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สวทช. และ Generation Challenge Program ในการจัดฝึกอบรมภาคปฏิบัติที่สถานที่วิจัยเพื่อพัฒนาบุคลากรและการทำงานวิจัยร่วมกัน ตลอดจนให้ทุนการศึกษาทั้งระดับปริญญาโท และปริญญาเอก เพื่อให้นักศึกษาและนักวิจัยนำเอาความรู้และเทคโนโลยีกลับไปปรับปรุงพันธุ์ข้าวของประเทศตัวเองต่อไป

สวทช. ได้ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนพัฒนางานวิจัยด้านมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่งานวิจัยต้นน้ำ เช่น เทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์สะอาด เช่น ระบบการสร้างต้นพันธุ์มันสำปะหลังสายพันธุ์ไทยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การพัฒนาแนวทางการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากต้นพันธุ์ปลอดโรคอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี Mini Stem Cutting และการพัฒนาต้นแบบชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ Strip Test สำหรับตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง เป็นต้น งานวิจัยกลางน้ำ เช่น การวิเคราะห์ฐานข้อมูลค่ามาตรฐานกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรการผลิตของอุตสาหกรรมแป้งมันสาปะหลังไทย และงานวิจัยปลายน้ำ เช่น ต้นแบบผลิตภัณฑ์ช้อน ส้อม และมีดไบโอพลาสติก ต้นแบบวัสดุทดแทนไม้ธรรมชาติจากเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่มันสำปะหลัง และพัฒนากระบวนการผลิตฟลาวมันสำปะหลังระดับอุตสาหกรรมจากมันสำปะหลังชนิดขมที่มีปริมาณไซยาไนด์สูง พร้อมกันนี้ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฟลาวมันสำปะหลังให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง ได้แก่ บริษัท ชอไชยวัฒน์อุตสาหกรรม จำกัด ภายใต้แบรนด์ Sava) และ บริษัท อุบลซันฟลาวเวอร์ จำกัด (UBS) ภายใต้แบรนด์ Tasuko

นอกจากนี้ สวทช. โดยเนคเทค ยังมีทีมวิจัยด้านการเกษตรประมาณ 30 คนที่วิจัยและพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อช่วยสนับสนุนเกษตรกรปัจจุบัน Smart Farm หลายแห่งได้เริ่มมีการใช้เทคโนโลยี IoT Internet of Things) ติดตั้งเซ็นเซอร์ และจัดทำระบบวัดค่าแสดงผล รวมไปถึงการสร้างระบบควบคุมผ่าน Smart Device เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถบริหารจัดการ และเฝ้าดูสถานการณ์รอบ ๆ แปลงเพาะปลูกได้ ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าว เช่น Agri-Map ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก  โดยแพลตฟอร์มเป็นเสมือนมือขวาของเกษตรกร เพื่อช่วยบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลทางภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สภาพพื้นดิน แหล่งน้ำ อากาศ และสามารถนำมาวิเคราะห์หาพืชที่นำมาทดแทนในแปลงของเกษตรกรได้ จัดทำฐานข้อมูลของการเกษตรโครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย ทำให้เกิดความเข้าใจถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโต และปริมาณของผลผลิต ได้แก่ ปริมาณ สัดส่วน และช่วงเวลาของธาตุอาหารที่พืชต้องการ ของแต่ละสายพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไป สภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อศักยภาพการเติบโต ปริมาณน้ำตามความต้องการของต้นพืช ข้อจำกัดเหล่านี้สามารถใช้ข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ใช้ในการวางแผน บริหารจัดการ เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตได้ ซึ่งสามารถใช้งานได้ผ่านทางแอปพลิเคชันมือถือและบนเว็บไซต์


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save