เมื่อเร็วๆ นี้ ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน และ คณะกรรมการบริหาร ให้การต้อนรับ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคณะ ณ ห้องประชุมหอการค้าไทย-จีนอาคารไทยซี.ซี. ชั้น 9 โดยทั้งสองหน่วยงานได้หารือแลกเปลี่ยนความเห็นและแบ่งปันข้อมูล ประเด็นต่างๆ เช่น การขี้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว การอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจในประเทศไทย เช่น การขอใบอนุญาตทำงาน การนำเข้าปุ๋ยเคมีภัณฑ์ และการร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ เป็นต้นไป
ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย หลัง COVID-19 นอกจากนี้ประเทศจีน ยังเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย เป็นเวลา 9 ปี ติดต่อกัน สำหรับการค้าระหว่างไทยและจีน ช่วง 4 แรกของปีนี้ (มกราคม-เมษายน 2565) มีมูลค่า 34,574 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.90% การส่งออก ขยายตัว 0.88% ส่วนการนำเข้าขยายตัว 14.94% ประเทศไทยจึงเป็นฝ่ายขาดดุลการกับจีน
โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน 2565 การส่งออกของไทยไปจีนหดตัว 7.2% ซึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการ Zero COVID ของจีน และคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในเดือนต่อมา
ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า หากพิจารณาการค้าระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน แล้วประเทศไทยอยู่ในอันดับ 3 รองจากอันดับ 1 คือ เวียดนาม และอันดับ 2 คือ มาเลเซีย ส่วนการลงทุนของจีนในอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับ 6 โดยอันดับ 1 คือ สิงคโปร์ อันดับ 2 อินโดนีเซีย อันดับ 3 มาเลเซีย อันดับ 4 เวียดนาม และอันดับ 5 ลาว
“ทั้งหอการค้าไทย-จีน และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะสามารถร่วมมือผลักดันกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันการส่งออกไปจีนให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยลดการขาดดุลการค้ากับจีน พร้อมทั้งดึงดูดการลงทุนของจีนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย” ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
ด้านสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการศึกษาวิจัยการลงทุนของจีนในประเทศไทย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับสถานทูตจีน เพื่อจะได้ทราบถึงปัจจัยสำคัญของนักลงทุนจีนในการที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย คาดว่าผลการศึกษานี้แล้วเสร็จ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ในการกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่อไป
พร้อมกันนี้ สนั่น ยังได้เชิญชวนบริษัทจีนขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย สามาถส่งผู้บริหารเข้าร่วมอบรม “หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านองค์ความรู้และความร่วมมือทางธุรกิจจีน (Top Executive Program on China Business Insights and Network : TEPCIAN) รุ่นที่ 2” เปิดโอกาสให้ผู้บริหารของบริษัทจีนเหล่านั้น ได้เข้ามาเรียนรู้แบ่งปันประสบการณ์และเสริมสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจไทยและผู้บริหารจากหน่วยงานราชการต่างๆ