กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ชี้แจงความคืบหน้าการเจรจาด้านการค้า การลงทุนของไทยกับซาอุดีอาระเบีย ยันการค้า การลงทุนพุ่ง พร้อมแนะธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมเตรียมความพร้อม เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยและซาอุดีอาระเบียมาอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างวันที่ 27 – 31 สิงหาคม 2565 เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ได้เดินทางไปซาอุดีอาระเบียพร้อมภาคเอกชนกว่า 130 ราย เพื่อหารือกับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนประจำซาอุดีอาระเบีย ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการค้า การลงทุน และเจรจาหาลู่ทางขยายการนำเข้าสินค้าไทยให้เพิ่มขึ้น
การเดินทางในครั้งนี้ เกรียงไกร ในฐานะผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) การจัดตั้ง Joint Business Council (JBC) กับ The Federation of Saudi Chambers of Commerce (FSCC) เพื่อส่งเสริมการขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร อุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจบริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องในตลาดซาอุดีอาระเบีย และสนับสนุนการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาทางการค้า ซึ่งคาดการณ์ว่าสามารถทำการค้าร่วมกัน และซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่มีการลงนามจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย
นาวา จันทนสุรคน กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กล่าวภายในงานแถลงข่าวดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมว่า หลังจากที่ได้มีการลงนามความร่วมมือ ขณะนี้ซาอุดีอาระเบียต้องการดึงนักลงทุนจากทั่วโลกและนักลงทุนจากไทยไปร่วมโครงการ Saudi Vision 2030 ที่ตั้งเป้าหมายจะนำพาซาอุดีอาระเบียไปสู่อนาคตใหม่ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม กับนโยบายในการสร้างเมืองใหม่ที่มีชื่อว่า นีอุม NEOM (Saudi Arabia Smart City) เมืองไฮเทคแห่งอนาคต เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมัน และเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ โดยประเทศซาอุดีอาระเบีย พิจารณาว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถสูงในหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง อาหารและเกษตร จึงได้ชักชวนอุตสาหกรรมเหล่านี้จากไทยให้ไปลงทุนในซาอุดีอาระเบีย
ซาอุดีอาระเบียถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 17 ของไทยในตลาดโลกและเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของตะวันออกกลาง จากข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ปี 2566 ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พบว่ามูลค่าสินค้าส่งออก 15 อันดับแรกของไทยไปซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์ 214.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 36.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลิตภัณฑ์ยาง 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 22.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเครื่องจักรกล ส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 22.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 13.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และส่วนประกอบ 7.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้าว 4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เคมีภัณฑ์ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ 3.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 3.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว 3.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาหารสัตว์เลี้ยง 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม (2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ 2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการค้า 1,805.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 64%YoY และมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 407.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 62.3%YoY
“การส่งออกสินค้าอาหารของไทยก็มีแนวโน้มเติมโตได้สูง เพราะไทยถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก โดยเฉพาะอาหารฮาลาล ซึ่งมีความได้เปรียบทั้งด้านโลจิสติกส์และมีสินค้าที่มีความหลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ผมเชื่อมั่นว่าคนไทยสนใจดึงนักลงทุนจากซาอุดีอาระเบียมาลงทุนที่ไทยทั้งการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคการผลิตอื่นๆ ด้วยเช่นกัน นักธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมจึงควรถือโอกาสนี้เตรียมความพร้อม เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน” นาวา กล่าว
หน่วยงานทั่วไปด้านสถิติของซาอุดีอาระเบีย (GASTAT) เปิดเผยว่า เมื่อเดือนเมษายน 2566 เศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโต8.7% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในกลุ่มประเทศ G20
นอกจากนี้ สังคมซาอุดีอาระเบียกำลังเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่เริ่มหันมานิยมบริโภคอาหารปรุงสำเร็จและสนใจสินค้าแฟชั่น โอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะลงทุนในซาอุดีอาระเบีย คงหนีไม่พ้นสินค้าจำพวกอาหารปรุงสำเร็จ เครื่องสำอาง อัญมณี และภาคการท่องเที่ยวและสุขภาพ ขณะเดียวกัน ซาอุดีอาระเบีย ก็กำลังเร่งลงทุนในไทยเป็นจำนวนเงินกว่า 300,000 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การแพทย์ น้ำมัน และปิโตรเคมีในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่สะท้อนเศรษฐกิจในซาอุดีอาระเบีย และโอกาสการลงทุนของไทยในอนาคต