สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) ร่วมกับ เครือข่ายโปรแกรม ITAP สถาบันไทย-เยอรมัน จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Alibaba Smart Logistics and Lean Management for Manufacturing” ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ ICT for SME เพื่อให้ความรู้ด้าน ICT (Information and Communication Technology) ดิจิทัล และการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 และเพิ่มศักยภาพด้านระบบอัตโนมัติ สร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมใน 3 จังหวัด ในเขตพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง
คาดอีก 5 ปีไทยต้องการหุ่นยนต์ 3,000-4,000 ตัว ทดแทนแรงงานด้านโลจิสติกส์
สพ.สนัด วงศ์ทวีทอง รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Alibaba Smart Logistics and Lean Management for Manufacturing” ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการ ICT for SME ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ในการใช้ซอฟต์แวร์บริหารจัดการ สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) เพื่อให้ความรู้ด้าน ICT ดิจิทัล และการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 แก่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 180 คนใน 3 จังหวัดของพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง
โดยโครงการมีกิจกรรมสู่ผู้ประกอบการไทยในหลากหลายช่องทาง ได้แก่ การอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ให้ใช้ซอฟต์แวร์และนวัตกรรมพัฒนากระบวนการผลิตและลดต้นทุน การนำเสนอโซลูชั่นของพาร์ทเนอร์แก่ผู้ประกอบการให้สามารถนำเทคโนโลยีไปปรับใช้เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการผลิต และการสร้างเครือข่ายให้ผู้ประกอบการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเกิดเป็นพันธมิตรและเครือข่ายร่วมกัน ซึ่งกลไกเหล่านี้จะช่วยให้เอกชนไทยสามารถยกระดับความสามารถการแข่งขันด้านเทคโนโลยี และพัฒนาองค์กรให้เจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนแข่งขันได้ในตลาดอาเซียนและตลาดอื่น ๆ ทั่วโลก
ปัจจุบันต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยคิดเป็น 18% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด คลังสินค้าส่วนใหญ่ยังอยู่ระดับระบบเครื่องจักรกลและระบบกึ่งอัตโนมัติที่ยังคงใช้พนักงานควบคุมบ้าง โดยมีคลังสินค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มพัฒนาเข้าสู่ระบบกึ่งอัตโนมัติมากขึ้น คาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าประเทศไทยต้องการหุ่นยนต์อย่างน้อย 3,000-4,000 ตัวเพื่อทดแทนแรงงานด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะที่มาจากวุฒิการศึกษาระดับ ปวช.-ปวส. ซึ่งมีจำนนวนลดน้อยลงมาก ขณะที่ต้นทุนโลจิสติกส์ของมาเลเซียและสิงคโปร์อยู่ต่ำกว่า 10%
“การเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ของหุ่นยนต์ เนื่องจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์มีการผลิตหุ่นยนต์ขนาดเล็กใช้งานเองจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์จากผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจภายในประเทศเขามาโดยตลอด เพราะเขาตระหนักและเตรียมรับมือถึงสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของแรงงานและเทคโนโลยีมากกว่าประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยเพิ่งตระหนักและเตรียมความพร้อมรับมือเรื่องปัญหาแรงงานและเทคโนโลยีนั้นยังไม่สายเกินแก้ หากทุก ๆ ภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ปัญหา เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะสามารถคลี่คลายลงได้” รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย กล่าว
ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อัตโนมัติ ตอบโจทย์การทำงานทันตามที่กำหนด
อนุชิต นาคกล่อม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ็นเซอร์นิกส์ จำกัด กล่าวว่า การใช้งานระบบอัตโนมัติและระบบคลังสินค้าอัจฉริยะของภาคเอกชน ทั้งในส่วนผู้ประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมไทยรายใหญ่ ๆ ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมามีการปรับตัวหันมาใช้ระบบอัตโนมัติและระบบคลังสินค้าอัตโนมัติมากขึ้น เนื่องจากปัญหาแรงงานขาดแคลน ต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้น อีกทั้งประสิทธิภาพของพนักงานที่ทำงานมีความผิดพลาด (Error) มากกว่าการใช้ระบบอัตโนมัติ มีลากิจ และลาป่วยบ่อยครั้ง ทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานส่งสินค้าเกิดความล่าช้า จึงต้องหาเครื่องมืออัตโนมัติ หาหุ่นยนต์อัตโนมัติรูปแบบที่เหมาะสมในแต่ละส่วนหาเข้ามาใช้เพื่อให้ทำงานเสร็จตามกำหนด ซึ่งระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เป็นอุปกรณ์ที่สามารถตอบโจทย์การทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดได้เพราะหุ่นยนต์สามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ทำงานหนักหรือแบกของหนักได้ ไม่มีอาการปวดเมื่อยหรือป่วย และมีความปลอดภัยสูง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตอื่น ๆ ได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวใช้งานระบบอัตโนมัติและระบบคลังสินค้าอัจฉริยะทั้งหมดได้นั้นต้องมีระยะเวลาดำเนินการและแผนรองรับ การประเมินผลการทำงานให้เกิดผลสำเร็จอย่างต่อเนื่องและทางภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรจะมีผู้เชี่ยวชาญ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโซลูชั่นการจัดการบริหารพื้นที่ทำงานในส่วนต่าง ๆ ระบบซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้ในการทำงาน หุ่นยนต์อัตโนมัติรูปแบบต่าง ๆ มีผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งมาดำเนินการติดตามอัพเดตการทำงานให้อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งควรมีการเยี่ยมชมโรงงานที่มีการติดตั้งระบบอัตโนมัติและคลังสินค้าอัตโนมัติให้เห็นถึงข้อดีและประสิทธิภาพของจริงจะได้เห็นภาพการทำงานได้อย่างชัดเจนขึ้น และควรมีแหล่งเงินทุนสำหรับให้ผู้ประกอบการ SME ที่มีเงินทุนไม่มากให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปเลือกซื้อระบบอัตโนมัติหรือปรับแต่งคลังสินค้าให้มีความยืดหยุ่น สนใจเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะเข้ามาพัฒนา อัพเกรด คลังสินค้าของท่านให้ตอบสนองลูกค้าได้มากที่สุด เพื่อรับความเปลี่ยนแปลงการทำงานในอนาคตในทุก ๆ รูปแบบ
อาลีบาบานำหุ่นยนต์เข้ามาร่วมทำงานกับมนุษย์ ลดค่าใช้จ่ายคน – ยกน้ำหนักได้มากถึง 1 ตัน
Sebastain Leung ผู้อำนวยการโครงการ MAX STORAGE ENGINEERING (HK) COMPANY กล่าวว่า ปัจจุบันอาลีบาบาได้นำหุ่นยนต์เข้ามาร่วมทำงานกับมนุษย์มากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านทรัพยากรบุคคลและเพื่อให้การทำงานเกิดความคล่องตัว ทำงานได้ 24 ชั่วโมงต่อวัน โดยจุดเด่นของหุ่นยนต์ดังกล่าวอยู่ที่ ความสามารถในการยกน้ำหนักได้มากถึง 1 ตัน เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง 1.5 เมตรต่อวินาที ทำงานได้ 8 ชั่วโมง ต่อการบรรจุแบตเตอรี่ 1 ครั้ง การนำมาใช้งานนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ งานคลัง และงานโลจิสติกส์ ในส่วนของงานคลัง จะนำมาใช้ทำหน้าที่ตรวจรับสต็อกสินค้าที่นำไปส่งยังคลังสินค้า การนำสินค้าเก็บยังชั้นวางของ และในส่วนของโลจิสติกส์ จะนำไปใช้ในการห่อบรรจุภัณฑ์ ติดป้ายนำส่ง และนำสินค้าขึ้นสายพานลำเลียงไปยังรถบรรทุก โดยมีพนักงานควบคุมด้วยซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ผ่านระบบ WiFi ทำให้สามารถช่วยในการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร หรือ ERP (Enterprise Resource Planning) เพื่อให้ข้อมูลต่อฝ่ายการผลิต การจัดเตรียมวัตถุดิบ และการเติมสินค้า ซึ่งจะเพิ่มความเร็วในทุกกระบวนการเพื่อจัดส่งสินค้าไปยังปลายทางได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าระบบอัตโนมัติต่าง ๆรวมทั้งการนำหุ่นยนต์มาใช้งานนั้นยังมีไม่มากนักแต่เชื่อว่าในอนาคตจะเพิ่มขึ้นในแต่ละธุรกิจ
ITAP พร้อมให้คำปรึกษาผู้ประกอบการในการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม
บัณฑิต บุญมี ผู้จัดการเครือข่ายโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) เครือข่ายสถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวว่า ITAP ได้ดำเนินงานช่วยเหลือให้คำแนะนำถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบคลังสินค้าอัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ซึ่งจะนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ผู้ประกอบการจะนำระบบอัตโนมัติและระบบคลังสินค้าอัตโนมัติไปใช้ในโรงงาน ในภาคธุรกิจต่าง ๆ เช่น พัฒนาการการหยิบจับสินค้า พัฒนาการระบบเครื่องจักรกล การใช้สายพานลำเลียง การใช้ระบบบรรจุหีบห่อและติดฉลากอัตโนมัติ พัฒนาการระบบกึ่งอัตโนมัติที่ยังคงใช้มนุษย์ควบคุม การใช้ระบบอัตโนมัติในการเก็บและเรียงสินค้าจาก ชั้นวางสินค้า และพัฒนาการระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นพัฒนาการสูงสุดของคลังสินค้า อาทิ การใช้หุ่นยนต์ในกิจกรรมต่าง ๆ ของคลังสินค้า เช่น การจัดเรียงสินค้าบนพาเลท การเคลื่อนย้ายสินค้าขึ้น-ลงจากรถบรรทุก การบรรจุหีบห่อ รวมถึงการบริหารจัดการและการควบคุมระบบต่าง ๆ ในคลังสินค้า
การใช้หุ่นยนต์ในคลังสินค้าสามารถประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจที่หลากหลาย เช่น E-commerce, ยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์ มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการที่ยังไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องปรับตัวนำระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานในธุรกิจ ในโรงงาน
“ตรงนี้อยากให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ หากธุรกิจของท่านอยู่ในตลาดการค้าและคู่ค้าต้องการความรวดเร็ว ความแม่นยำในการจัดส่งสินค้าและบริการต่าง ๆ ควรมีการจัดการเรื่องระบบภายในของคลังสินค้า ระบบอัตโนมัติต่าง ๆให้มีการเชื่อมโยง มีความคล่องตัว อาจจะเริ่มปรับเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม งบประมาณในการลงทุนมีเพียงพอแค่ไหน ไม่จำเป็นต้องปรับครั้งเดียว ระบบไหนที่ยังดีอยู่ก็คงเอาไว้ แต่ระบบไหนที่ควรปรับแก้ไขก็ควรเร่งดำเนินการ หากมีข้อสงสัยทาง ITAP ยินดีส่งผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาตลอดการดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป” ผู้จัดการเครือข่ายโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) กล่าว
ระบบลีน – ระบบโลจิสติกส์ ช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง
การุญ นิจนานานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีแอลเอ็ม โซลูชั่น จำกัด กล่าวว่า ระบบลีนและระบบโลจิสติกส์ที่ดีเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง สิ่งที่บริษัทฯ ต้องปรับปรุง ไม่เพียงแค่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเท่านั้น แต่ยังต้องการระบบซอฟต์แวร์การจัดการที่ชาญฉลาด มีความเหมาะสมกับธุรกิจแต่ละประเภทที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน รวมถึงสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็ว เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ ที่สำคัญมีอัตราการสูญเสียทรัพยากรน้อยที่สุด นอกจากนี้เพื่อให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด การจัดสรรพื้นที่ การบริหารและวางแผนจัดสรรบุคลากร การจัดการเวลา มีความคิดริเริ่มในการเปลี่ยนแปลง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยอมรับคำแนะนำทั้งจากคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ช่วยกันทำงาน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนนำระบบลีนและระบบโลจิสติกส์มาใช้ โดยผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณรองรับให้ต่อเนื่องและเหมาะสมด้วย อีกทั้งควรสนับสนุนพนักงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านระบบลีนและระบบโลจิสติกส์ให้เข้าร่วมอบรมสัมมนาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆแล้วนำกลับมาพัฒนาถ่ายทอดแก่ผู้ร่วมงานภายในสถานประกอบการนั้น ๆ ด้วย
สำหรับการกลยุทธ์ในการลดต้นทุนด้านการขนส่งโลจิสติกส์มีหลากหลายรูปแบบผู้ประกอบการสามารถเลือกนำไปใช้ได้ตามความต้องการที่เหมาะสมกับธุรกิจ เช่น สถานที่ขนส่งต้องชัดเจนว่าจะขนส่งจากที่ใดไปที่ใด สถานที่จัดเก็บสินค้าจะต้องเพียงพอเพื่อรองรับปริมาณสินค้าคงคลังนั้น ๆ เพื่อให้การบริหารต้นทุนของสถานที่จัดเก็บสินค้าและต้นทุนการเคลื่อนย้ายสินค้าไม่สูงจนเกินไป