คุณปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือบีไอจี “คิด รู้ทำ ให้ได้ผลดีที่สุด กับงานและเรื่องที่สำคัญในชีวิต”


บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี ผู้นำนวัตกรรมอุตสาหกรรมก๊าซครบวงจรในประเทศไทยก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2530 โดยการร่วมทุนระหว่างผู้ถือหุ้นชาวไทย นำโดย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท Air Products and Chemicals, Inc. ผู้นำด้านก๊าซอุตสาหกรรมและเคมีภัณฑ์ระดับโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในปี พ.ศ. 2561 นี้ บีไอจีครบ 30 ปี ของการก่อตั้งบริษัทฯ ภายใต้การบริหารงานของ คุณปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ ลูกหม้อคนสำคัญที่ร่วมงานกับบีไอจีมากกว่า 20 ปี พร้อมนำความรู้สามารถที่มีอยู่นำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน

ปิยบุตร จารุเพ็ญ

เลือกเรียนวิศวกรรมเคมี หวังทำงานที่นิคมฯ มาบตาพุด

คุณปิยบุตร จารุเพ็ญ เล่าให้ฟังว่า สมัยสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรีเมื่อปี พ.ศ. 2531 ได้ตัดสินใจเลือกเพียง 2 อันดับเท่านั้น โดยเลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอันดับอันแรก และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอันดับที่สอง และสามารถสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ในที่สุด ขณะที่ศึกษาในชั้นปีที่ 2ได้ตัดสินใจเลือกเรียนสาขาวิศวกรรมเคมี ด้วยเห็นว่าเวลานั้นมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดตามนโยบายของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า มีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์เพื่อชักชวนนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนและค้าขายในประเทศไทย จึงคิดว่าหากเลือกเรียนวิศวกรรมเคมีก็จะได้มีโอกาสไปทำงานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

สั่งสมประสบการณ์การทำงาน -เรียนต่อ MBA ก่อนทำงานที่บีไอจีในปี’40 จนถึงปัจจุบัน

หลังจากเรียนจบปริญญาตรีภายในเวลา 4 ปี คุณปิยบุตร เริ่มต้นทำงานแรกที่บริษัท โยโกกาวา (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่ง Software Engineer ใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ประมาณหนึ่งปีจึงเกิดแนวคิดในการทำธุรกิจมากยิ่งขึ้น จึงตัดสินใจไปศึกษาต่อด้านการบริหารธุรกิจ (M.B.A.) ที่มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นอิลลินอยส์ เมือง คาร์บอนเดล ประเทศสหรัฐอเมริกา ปีพ.ศ. 2537-2538 หลังจากเรียนจบกลับมาเมืองไทยในช่วงปี พ.ศ.2538 เข้าสู่ปีพ.ศ.2539 ได้ทำงานในตำแหน่งวิศวกรที่บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ทำงานได้ประมาณปีเศษๆ จึงย้ายงานมาทำงานที่บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือบีไอจีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน

“อาจเพราะเพิ่งเป็นเด็กจบใหม่อายุตอนนั้นประมาณ 25-26 ปี ก็รู้สึกว่าอยากได้อะไรใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต อยากได้ระบบอยากได้สวัสดิการ อยากได้อะไรที่เด็กจบใหม่อยากได้ ที่เชลล์เขามีระบบ มีโครงสร้างกระบวนการการทำงาน มีสวัสดิการที่ดีนะ แต่ผมอยากใช้ความรู้ความสามารถที่เรียนมาทั้งสองด้าน ทั้งด้านวิศวกรรมเคมีและด้านบริหาร ทำประโยชน์อะไรได้มากกว่านี้ และบังเอิญเรามีเพื่อนที่ทำงานอยู่ที่บีไอจีด้วย ผมก็ไม่รู้หรอกตอนแรกว่าบริษัทบีไอจีนี้ทำอะไรบ้าง รู้แต่ว่าจะได้ทำงานกับฝรั่ง ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน ได้ใช้ภาษา ได้ไปทำงานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอย่างที่ตั้งใจไว้ เลยตัดสินใจลาออกจากเชลล์มาอยู่ที่บีไอจี”

เจรจาขอเงินคืน 50 ล้านกับลูกค้าระดับ MD บทพิสูจน์ความสามารถพนักงานวัย 26 ปี

คุณปิยบุตร เปิดใจว่า การเริ่มต้นทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจที่บีไอจีนั้น ทำให้ได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ มากมายผ่านการทำงานที่หลากหลาย ที่สำคัญการมีหัวหน้างานเป็นชาวต่างชาติเขาจะเป็นโค้ชสอนงานมากกว่าสั่งให้ทำงานเหมือนอย่างหัวหน้าที่เป็นคนไทย ในช่วงที่เข้ามาทำงานที่บีไอจีใหม่ ๆ มีกรณีลูกค้ารายหนึ่งที่เราส่งใบแจ้งหนี้หรือใบ Invoice ต่ำกว่ายอดจริง 50 ล้านบาท หัวหน้างานที่เป็นชาวต่างชาติก็ให้เราไปเป็นคนเจรจากับทางลูกค้า ซึ่งลูกค้าก็ส่งกรรมการผู้จัดการมาเลย ทำให้ผมรู้สึกว่าทำไมความรับผิดชอบของเรามากขนาดนี้ แต่มองในทางกลับกัน เราก็กลับมานั่งคิดว่าการที่เงิน 50 ล้านบาทอยู่ในมือเรานี้ถือว่าได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้าอย่างยิ่ง และแน่นอนว่าไม่มีลูกค้ารายใดยอมให้เราแจ้งหนี้เพิ่ม จึงต้องเจรจาต่อรองให้สามารถนำเงินส่วนนี้คืนกลับมาให้ได้

“ตอนนั้นที่หัวหน้าให้ผมไปเจรจาแจ้งลูกค้าเรื่องเอกสารวางบิล Invoice ที่เรียกเก็บพลาดไป 500 ล้านบาท ตอนนั้นผมคิดเพียงว่าถ้าเจรจาต่อรองได้มาใกล้เคียง 50 ล้านบาทก็ถือว่าดีที่สุดแล้ว เพราะการเจรจาครั้งนั้นผมอายุ 26 จบใหม่ ๆ เลยในการได้รับมอบหมายงานให้ไปทวงเงินคืนจากลูกค้า ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทที่มีอายุ 50 ปี ซึ่งในสังคมไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้วการเอาเด็กอายุ 26 ไปทวงเงิน 50 ล้านบาทจากคนอายุ 50 ดูแล้วไม่เหมาะสม ถ้าเราไปถึงปุ๊บเปิดฉากขึ้นมา พี่จ่าย เงินมา 500 ล้านบาทก็จบ ลูกค้าเขาคงไม่จ่ายคืนแน่นอน ผมจึงต้องเรียนรู้เทคนิค หาวิธี หากลยุทธ์ในการเจรจาว่าต้องทำอย่างไรบ้าง หากมีความรู้ไม่พอเราจะต้องไปหาองค์ความรู้เหล่านั้นมาจากที่ไหนได้บ้าง พยายามหาเหตุผลให้ลูกค้าเชื่อให้ได้ว่าเขาควรจะจ่ายเงิน 50 ล้านบาทคืนแก่บีไอจีตามสัญญาที่ได้ตกลงทำไว้ตั้งแต่แรก

หลังจากนั้นคุณปิยบุตรก็ได้ย้ายสายงานจากมาในฝ่ายการตลาด ทำให้ได้ออกไปพบปะลูกค้ามากขึ้น เรียนรู้การทำงาน เรียนรู้ลูกค้า และปรับตัวตามสายงาน ทำงานอยู่ในฝ่ายนี้ประมาณ 5 ปี และในปี พ.ศ.2546 ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจพาณิชย์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2551 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจนถึงปัจจุบัน

คุณปิยบุตร จารุเพ็ญ

นำหลักการมาปรับใช้ในการทำงานหลายด้านโดยเฉพาะเรื่องคน

คุณปิยบุตร กล่าวว่า ในการทำงานได้นำหลักการ สมัยเรียนที่วิศวกรรมศาสตร์มาปรับใช้ในการทำงาน หลากหลายด้าน เพราะการเรียนวิศวกรรมศาสตร์คือ หลักการ เป็นการใช้เหตุและผล ทั้งนี้พื้นฐานของวิศวกรคือนำสิ่งที่คนอื่นคิดค้นมาแล้ว มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ส่วนใหญ่ โดยต่อยอดจากวิทยาศาสตร์ เพราะวิศวกรรม กับวิทยาศาสตร์ต่างกันอยู่เล็กน้อย แต่ไม่มีใครด้อยไปกว่าใคร วิทยาศาสตร์จะเป็นคนคิด เช่น คิดสารตัวนี้ออกมา คิดวิชาการเหล่านี้ออกมา แต่วิศวกรรมเอาความคิดตรงนั้นมาต่อยอดใช้ให้เกิดประโยชน์และทำให้ได้ผล

“เช่นเดียวกัน เราสามารถนำหลักการมาปรับใช้ในเรื่องทรัพยากรมนุษย์ หรือพูดง่ายๆ คือ เรื่องคน หลายๆท่านนึกว่าการบริหารทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องสามัญสำนึก แต่จริงๆเราต้องศึกษาและนำหลักการบริหารคนโดยเฉพาะเทรนด์ใหม่ๆมาใช้ ไม่ใช่แค่ใช้สามัญสำนึกอย่างเดียว ตอนนี้ผมใช้เวลาในเรื่องคนในบริษัทเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะผมจะให้ความสำคัญเรื่องคนมาก ส่วนอีก 40 เปอร์เซ็นต์จะเป็นเรื่องธุรกิจ เพราะหลังจากที่เราทำเรื่องคนอย่างจริงจังมาสัก 4-5 ปี เราเห็นผลลัพธ์เรื่องความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตขององค์กรดีมาก ทำให้เรามองเห็นว่าการลงทุนเรื่องคนนั้นได้ผลลัพธ์ยั่งยืนอย่างแท้จริง ส่วนตัวแล้วเราก็ชอบเรื่องคนด้วย ผมค่อนข้างที่จะชอบอ่านหนังสือเรื่องคนมากแล้วนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานบริหารคน”

คิด รู้ทำ ให้ได้ผลดีที่สุดกับทุก ๆ เรื่องสำคัญในชีวิต

สำหรับกลยุทธ์ในการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จนั้น คุณปิยบุตร เล่าว่าจะทำหน้าที่ทุกอย่างให้ดีที่สุดด้วยความสามารถที่มีทั้งหมดทุ่มเทให้การทำงานซึ่ง ดีที่สุด นั้นคือ คิด รู้ ทำ ให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด ซึ่งก็ใช้ได้กับกับทุก ๆ เรื่องที่เราจะทำให้เกิด โดยโฟกัสตรงจุดแข็งที่ได้เปรียบในการแข่งขัน แล้วก็ทำอย่างที่วางแผนตามขั้นตอนเอาไว้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะออกมาอย่างที่ตั้งใจไว้
“ผมตั้งใจทุกวันว่าอยากจะทำงานให้ดีที่สุด (Best) ผมต้องคิดว่าผมจะวางแผนอย่างไรให้ดีที่สุด จะต้องรู้อะไรให้ดีที่สุด และทำอะไรก่อนอะไรหลังให้ดีที่สุด เพื่อฝากที่ดีที่สุดสำหรับบีไอจี แต่เมื่อเราลงมือทำงานนั้นผมคงทำคนเดียวไม่ได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในบริษัทฯ ซึ่งการร่วมทำงานแต่ละเรื่องในปัจจุบันมีความท้าทายมากเพราะความหลากหลายของคนทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งตอนนี้บีไอจีได้ขยายงานไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในประเทศพม่า เวียดนามมากขึ้น ถือเป็นเรื่องของความท้าทายในการทำงานกับคนที่ต้องเรียนรู้และใช้ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันให้ได้ในความหลากหลายนี้”

โฟกัสธุรกิจ 3 เรื่องหลักบนระบบดิจิทัล รับนโยบาย Thailand 4.0

คุณปิยบุตร กล่าวถึงการนำนโยบาย Thailand 4.0 มาปรับในบีไอจีว่า ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการวางนโยบาย Thailand 4.0 นั้นทางบีไอจีได้นำระบบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Thailand 4.0 มาใช้อยู่แล้ว บีไอจีมีกระบวนการผลิต การขนส่ง มีใช้ตัวเซ็นเซอร์และตัววัด มีมิเตอร์ส่งค่าต่างๆผ่านสัญญาณดิจิทัลมายังหน้าจอคอนโทรลทุกอย่างเพื่อช่วยตรวจวัดควบคุมคุณภาพ อำนวยความสะดวกในการทำงาน

“Thailand 4.0 นี้จะล้อไปกับ Industry 4.0 ซึ่งเน้นสองเรื่อง คือเน้นเรื่องคุณค่ากับความสะดวกสบาย ซึ่งความสะดวกสบายที่ว่านี้ก็คือระบบดิจิทัลนี้เอง ผมก็เลยนำทั้งสองเรื่องมา เอาคุณค่ามาพิจารณาก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมเมืองไทยที่มีมาบตาพุดและอิสเทิร์นซีบอร์ดตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เราอยู่บนพื้นฐานของ Mass Production เราอาศัยทรัพยากรของเรา อาศัยแรงงานที่ถูก เราก็ผลิตตามต่างชาติที่เขาออเดอร์มาโดยตลอด แต่จากนี้ไป เราทำการผลิตจำนวนมากๆให้มีต้นทุนถูกๆนั้น ทำไม่ได้แล้ว ไปสู้เมียนมา ไปสู้กัมพูชา ไปสู้ลาวไม่ได้แล้ว ภาคอุตสาหกรรมเราต้องไปในทิศทางที่ทำน้อยได้มาก ตามทิศทางของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ท่านได้พูดเอาไว้ อุตสาหกรรมไทยรับจ้างทำการผลิต OEM รับจ้างทำมาก ได้กำไรนิดเดียว เพราะไปแข่งกันลดราคา แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยกำลังจะพลิกไปเป็นทำน้อยได้มาก ซึ่งการจะทำน้อยได้มากนั้น ต้องไปกับซัพพลายเชนทั้งระบบ โดยเน้นความแตกต่างอย่างมีคุณค่า ทั้งซัพพลายเชนจึงต้องเสริมกันและกันในเรื่องความแตกต่างอย่างมีคุณค่า หรือ Value สำหรับเรื่อง Value นั้น ทางบีไอจีโฟกัสไปใน 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ ทำให้สินค้าของเราไปเพิ่มประสิทธิผล หรือ Productivity ในระบบซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เรื่องที่ 2 คือทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมใช้พลังงานน้อยลง และเรื่องสุดท้ายคือทำอย่างไรให้ระบบซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน”

ก้าวสู่องค์กรที่ยั่งยืนภายใต้แนวคิด “เติบใหญ่ไปด้วยกัน”

การปรับองค์กรให้ไปสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืนนั้น คุณปิยบุตร กล่าวว่า ทางบีไอจีได้ทำตามหลักปรัชญาของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นในการสนับสนุนให้พันธกิจและธุรกิจของคู่ค้า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเราเองหรือธุรกิจที่เราไปรับจ้างบริหารได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนภายใต้แนวคิด “เติบใหญ่ไปด้วยกัน” โดยเน้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4 ส่วน ได้แก่ 1) ลูกค้า 2) พนักงานในองค์กร 3) คนที่เขาเอาเงินมาลงทุนกับบีไอจีหรือผู้ถือหุ้น และ 4) สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ สังคม ชุมชน

ในส่วนของความยั่งยืนนั้น บีไอจี ได้รับรางวัล Thailand Energy Award จากกรมพัฒนาและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยเราได้รณรงค์และให้แนวทางพนักงานทุกคนในการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการดูแลเรื่องการใช้พลังงานของบริษัท รวมถึง เรื่องความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพ นอกจากนี้ยังมอบรางวัลให้กับพนักงานที่มีการริเริ่มโครงการเกี่ยวกับการประหยัดพลังงานหรือลดต้นทุนดีเด่นประจำเดือนทุก ๆ เดือนด้วย

บีไอจีครบรอบ 30 ปีในปี ’61 จัดทำโครงการ “The King is still alive”

ในปี พ.ศ. 2561 ครบ 30 ปี ของการก่อตั้งบริษัทบีไอจี คุณปิยบุตรและผู้บริหารมีแนวคิดจัดทำโครงการ “The King is still alive” ขึ้น โดยจัดทำโครงการให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ธุรกิจของบีไอจี โดยโครงการที่จัดทำขึ้นนั้น เราจะเน้น 3 ด้าน คือ 1) เรื่องสุขภาพ ที่เราได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลที่เรา Supply ออกซิเจนเหลว 2) กลุ่มพลังงาน และ3) เรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เราจะเชิญพนักงานมีส่วนร่วมในการประกวดโครงการและคัดเลือกผู้ชนะมาร่วมขับเคลื่อนโครงการร่วมกับทางบริษัทต่อไป

คิดเป็นระบบ- ใช้ชีวิตแบบถ่อมตัว บนหลัก “Think West Life East”

ในส่วนของปรัชญาในการดำเนินชีวิต คุณปิยบุตร จะใช้หลัก “Think West Life East” คือ คิดเป็นระบบ คิดเป็นกลยุทธ์แบบชาวยุโรป อเมริกา แต่ใช้ชีวิตแบบชาวเอเชียที่ถ่อมตัว มีการเอื้ออาทรผสมผสานในการดำเนินชีวิตและทำงาน

“เวลามีปัญหา อุปสรรค หรือความท้าทาย ผมมักจะโฟกัสโดย มุ่งเน้นเรื่องที่สำคัญ 5 อันดับ พยายามคิดเป็นระบบโดยมองที่ปัญหานั้นว่ามีวิธีการแก้ไขหรือแนวทางอย่างไร พยายามไปดูปัญหาที่เกิดด้วยตนเองหรือไปขอคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ พยายามมอง คิดในแง่บวกเพราะทุกปัญหาคือโอกาสในการทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ถ้าไม่มีปัญหา บริษัทคงไม่ต้องมีเรา พยายามโฟกัสในสิ่งที่ควบคุมได้ ที่สำคัญคือการหาความรู้ในการแก้ปัญหาโดยผมมักจะใช้การอ่านหนังสือทั้งแนวธรรมะ แนวธุรกิจ และแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งจะช่วยให้มีทางออกได้ ผมคิดว่าการอ่านหนังสือ เป็นทางลัดที่ดี เพราะมีคนเขียนแนวทาง หลักการ ความรู้มาให้เราอ่านแล้ว อยู่ที่เราว่าเราอ่านแล้วจะเอามาใช้หรือเปล่าเท่านั้นเอง” คุณปิยบุตร กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา : Engineering Today No 168 November -December 2018


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save