กรุงเทพฯ – 13 มีนาคม 2563 : สภาวิศวกร ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุ “โรงแรมรัชดา ซิตี้” ซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 6 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เกิดทรุดตัวและพังถล่มระหว่างรื้อถอน บริเวณชั้น 6 ของอาคาร เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563 เพื่อหาแนวทางในการป้องกันการเหตุซ้ำในอนาคต
ศ. ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า จากเหตุการณ์โรงแรมรัชดา ซิตี้ ซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 6 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เกิดทรุดตัวและพังถล่มบริเวณชั้น6 ของอาคารที่มีความสูงทั้งหมด 11 ชั้น และได้ทำการรื้อถอนไปแล้ว 4 ชั้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมานั้น ทางสภาวิศวกร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตห้วยขวางได้เข้าตรวจสอบพื้นที่จริง เนื่องจากอาคารดังกล่าวเข้าข่ายวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ตามกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550 เนื่องจากเป็นการรื้อถอนอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป และเข้าข่ายเป็นอาคารสาธารณะ ดังนั้น การรื้อถอนต้องได้รับใบอนุญาตรื้อถอนจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และจะต้องมีวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกร เป็นผู้ออกแบบและควบคุมงานรื้อถอนอาคาร ตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542
โดยเบื้องต้นจากการสอบถามผู้ควบคุมงานทราบว่า ในวันเกิดเหตุบริเวณชั้น 6 รถแบคโฮที่จอดรอรถเครนเพื่อเข้ามายกลงสู่ชั้นล่างได้เกิดร่วงหล่นลงมาพร้อมกับพื้นตัวตึกชั้นดังกล่าวลงมาที่บริเวณชั้น 4 ทับร่างของผู้เสียชีวิต จากนั้น อาคารได้ทรุดลงมาทับอีกครั้ง ซึ่งจากการสอบถามและตั้งข้อสันนิษฐานเหตุการณ์ดังกล่าว อาจเป็นไปได้ว่า การรื้อถอนอาจจะไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิศวกรรม, ความเชี่ยวชาญของผู้ควบคุมการรื้อถอนมีองค์ความรู้และได้รื้อถอนตามแบบแผนทางวิศวกรรมหรือไม่ อีกทั้งเครื่องจักรที่นำไปรื้อถอนมีน้ำหนักมากอาจจะทำให้บริเวณพื้นตึกในแต่ละชั้นไม่สามารถที่จะรับน้ำหนักได้ และในระหว่างที่ทำการขุดหรือเจาะเพื่อรื้อถอนด้วยรถแบคโฮอาจจะมีแรงสั่นสะเทือนทำให้ตัวตึกค่อย ๆ ทรุดสะสมและพังลงมาในที่สุด
“มีแผนดำเนินการรื้อถอนเป็นขั้นตอนหรือไม่ ว่าจะรื้อถอนสกัดพื้น สกัดคาน เสา และอื่น ๆ ตรงจุดไหนก่อนและหลัง คนงานจะเข้าไปในจุดรื้อถอนได้ต้องสวมใส่ชุดที่ป้องกัน เช่น สวมหมวกทุกครั้ง พร้อมทั้งสวมรองเท้าสำหรับการทำงานก่อสร้าง ไม่ใช่จะใส่รองเท้าอะไรเข้าพื้นที่ก็ได้ ต้องไม่ประมาทและตระหนักให้มาก เพราะตามหลักการรื้อถอนตึกนั้นจะต้องแผนการรื้อถอนที่ชัดเจนตามแบบแปลนของตัวตึกซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งองค์ความรู้ของคนงานที่ทำการรื้อตึกเองได้มีประสบการณ์ทำงานรื้อตึกมามากน้อยแค่ไหน การป้องกันความเสี่ยงมีแผนรอบด้านเคร่งครัดแค่ไหน เพราะการรื้อถอนตึกไม่ง่ายเช่นเดียวกับการสร้างตึก ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์ตึกถล่ม อาคารทรุดในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครจะมีให้เห็นซ้ำรอยอีก” นายกสภาวิศวกร กล่าว
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว สภาวิศวกร วสท. สภาวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เตรียมเดินหน้าตั้งคณะทำงานร่วม สู่การถอดบทเรียนในการรื้อถอนโครงสร้างตึกเก่า อาคารก่อสร้างใหม่ที่ทั้งอยู่ระหว่างก่อสร้าง อาคารใหม่ให้มีมาตรฐานและปลอดภัยตามหลักวิศวกรรม เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ด้าน เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา และประธานคณะกรรมการภัยพิบัติ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า การรื้อถอนอาคารและตึกต่าง ๆ ต้องมีความใส่ใจ ไม่ประมาท คำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิต ทรัพย์สินทั้งคนงานที่ทำการรื้อถอน วิศวกรที่ควบคุมงาน และมีพื้นฐานทางวิศวกรรมเป็นหลัก ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเบื้องต้นสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากความประมาทของผู้ควบคุมงานและจุดเสี่ยงที่มองไม่เห็นคือ รอยการรื้อถอนที่สะสมของตัวอาคารที่อยู่ระหว่างทำการรื้อถอนไปก่อนหน้านี้ อาจจะส่งผลให้บริเวณที่จอดรถแบคโฮทรุดและพังลงมาได้ ซึ่งจะต้องทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงรอบด้านอีกครั้งหนึ่ง และจะต้องไปตรวจสอบว่าแผนการรื้อถอนนั้นมีลำดับขั้นตอนตามหลักวิศวกรหรือไม่ เพราะหากรื้อถอนผิดอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้
สำหรับอาคารดังกล่าว ตั้งอยู่ในพื้นที่ซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 6 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ แบ่งเป็น 2 อาคาร อาคารที่ 1 สูง 2 ชั้น เป็นสโมสรและได้รื้อถอนไปหมดแล้ว จุดเกิดเหตุอยู่ในอาคารที่ 2 เป็นส่วนของที่พักความสูง 11 ชั้นรวมดาดฟ้า และได้ทำการรื้อถอนไปแล้ว 4 ชั้น เหลือที่จะต้องรื้อถอนอีก 7 ชั้น ขณะนี้สำนักงานเขตห้วยขวางได้นำเอกสารทางราชการปิดประกาศบริเวณด้านหน้าทางเข้าพื้นที่รื้อถอนอาคารดังกล่าว แจ้งให้เจ้าของอาคารทราบเพื่อให้ทำการหยุดการรื้อถอนอาคารไว้ชั่วคราว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม เป็นต้นไป