กรุงเทพฯ – 18 กุมภาพันธ์ 2565 : สภาวิศวกร จับมือ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เตรียมจัดตั้ง “คณะทำงาน” ร่วมวิเคราะห์สาเหตุความเสียหายและแนวทางปฏิบัติโดยละเอียด เพื่อลดความเสี่ยงของการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต พร้อมวางแผนจัดอบรมให้คำแนะนำเพื่อเพิ่มความมั่นคงในการออกแบบและติดตั้งนั่งร้านภายในโครงการก่อสร้างเร็วๆ นี้
โดยเบื้องต้นจากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างมีการออกแบบและติดตั้งนั่งร้านตามมาตรฐาน โดยใช้เทคโนโลยี Ring–Lock Scaffolding ที่ช่วยยึดข้อต่อส่วนต่างๆ ของนั่งร้านได้อย่างมั่นคงปลอดภัย และมีวิศวกรคุมงานที่ถือใบอนุญาตฯ ถูกต้องตาม พรบ.วิศวกร พ.ศ. 2542
รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า จากกรณีโครงสร้างค้ำยัน ซึ่งเป็นโครงสร้างชั่วคราวสำหรับรองรับแบบหล่อคอนกรีตภายในโครงการก่อสร้าง ONE BANGKOK ถนนพระราม 4 พังถล่ม สภาวิศวกร ได้ร่วมมือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ดำเนินการจัดตั้ง “คณะทำงาน” ร่วมวิเคราะห์สาเหตุความเสียหายโดยละเอียด เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันเหตุล่วงหน้าเพื่อลดความเสี่ยงของการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต พร้อมกันนี้ ยังมีแผนดำเนินการจัดอบรมให้คำแนะนำเพื่อเพิ่มความมั่นคงในการออกแบบและติดตั้งนั่งร้านภายในโครงการก่อสร้างเร็วๆ นี้
“สภาวิศวกร มีหน้าที่กำกับดูแล การดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมให้ถูกต้องตามมาตรฐานและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรม สภาวิศวกร มีขั้นตอน กระบวนการ และวิธีการในการไต่สวนวิศวกรที่เกี่ยวข้อง หากปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือตามจรรยาบรรณการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมนั้นแล้ว ทางสภาวิศวกรจะดำเนินการลงโทษตามบทกำหนดโทษแก่ผู้กระทำความผิดต่อไป” นายกสภาวิศวกร กล่าว
รองศาสตราจารย์ เอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอาคารถล่ม สภาวิศวกร กล่าวว่า จากการที่สภาวิศวกร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง และ วสท. ซึ่งเบื้องต้นพบว่าบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้มีการออกแบบและติดตั้งนั่งร้านตามมาตรฐาน มีการใช้เทคโนโลยีระบบนั่งร้านคํ้ายันลิ่มล็อค (Ring–Lock Scaffolding) ที่ช่วยยึดข้อต่อส่วนต่างๆ ของนั่งร้านได้อย่างมั่นคงปลอดภัย และถือเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ในวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างในปัจจุบัน พบว่ามีวิศวกรคุมงานที่ถือใบอนุญาตฯ ถูกต้องตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 ซึ่งภายหลังเกิดเหตุได้รับการประสานงานจากสำนักงานควบคุมอาคาร กรุงเทพมหานคร ทำการกั้นพื้นที่ก่อสร้างห้ามบุคคลภายนอกเข้าบริเวณดังกล่าวและร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมดำเนินการรื้อถอนโครงสร้างที่เสียหายตามมาตรฐานที่กรมโยธาฯ กำหนดตามลำดับ ก่อนเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบโครงสร้างอาคาร เสนอมาตรการแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อสร้างความมั่นใจและจะได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างต่อ
“นั่งร้านโดยทั่วไป จะเรียกว่า “นั่งร้านญี่ปุ่น” ที่มีลักษณะแคบด้านหนึ่งและกว้างอีกด้านหนึ่ง ทำให้มีความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกที่ไม่เท่ากัน อีกทั้งมีโครงสร้างนั่งร้านเหล็กเพื่อรองรับการเทพื้นคอนกรีต กรณีเกิดการโก่งตัวของขานั่งร้านในลักษณะ Out of Plane Buckling อาจจะทำให้รับน้ำหนักได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น แนวทางในการเสริมค้ำยัน จะต้องคำนวณแรงด้านข้าง 5-10% ของน้ำหนักอาคาร โดยใส่ Bracing เข้าไปตามระนาบเพิ่มเติม” รองศาสตราจารย์ เอนก กล่าว
อย่างไรก็ตาม มาตรฐานความปลอดภัยของนั่งร้าน จะต้องเป็นไปตามอัตราส่วนความปลอดภัยตามคู่มือของกรมโยธาธิการและผังเมือง อาทิ ต้องมีความคงทนแข็งแรงและได้มาตรฐาน มีการยึดโยงข้อต่อที่ครบถ้วน มีคานหรือเสารับน้ำหนักบรรทุกที่ผ่านการคำนวณตามมาตรฐานการออกแบบ
สินิทธิ์ บุญสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงมาตรฐานการติดตั้งนั่งร้านในงานก่อสร้างตามคู่มือของกรมโยธาธิการและผังเมืองว่า นั่งร้านและค้ำยันที่ใช้รับน้ำหนักส่วนต่างๆ ของอาคาร สำหรับการก่อสร้างอาคารสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป หรือที่มีความสูงของนั่งร้านและค้ำยันตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป หรือที่ใช้ก่อสร้างอาคารประเภทที่ใช้พื้นไร้คาน ผู้ดำเนินการต้องยื่นแผนผังบริเวณแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณของนั่งร้านและค้ำยัน ซึ่งออกแบบและคำนวณโดยผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรต่อเจ้าหนักงานท้องถิ่นเพื่อเป็นหลักฐานก่อน จึงจะก่อสร้างนั่งร้านและค้ำยันดังกล่าวได้
จีระศักดิ์ ปราชญ์โกสินทร์ เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น วสท. ได้ศึกษาสาเหตุและวิเคราะห์ด้านวิศวกรรมเชิงลึกอย่างละเอียดต่อไป เพื่อทำให้ทราบสาเหตุที่แท้จริงและสามารถนำมาเป็นบทเรียนให้ทุกฝ่ายได้ทบทวนขั้นตอนวิธีการก่อสร้างว่าจะต้องปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร
วสท.ได้จัดทำมาตรฐานการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองจากสภาวิศวกร เพื่อใช้งานเป็นแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดประสิทธิผลต่อบุคคล และวงการวิศวกรรมไทย ได้แก่ มาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง เล่ม 1 ความปลอดภัยในเรื่องการจัดการทั่วไป และ มาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง เล่ม 2 ความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือและเครื่องจักร
“วสท. เป็นส่วนหนึ่งในสถาบันวิชาการด้านวิชาชีพวิศวกรรมที่มีหน้าที่ในการจัดทำมาตรฐานในการปฏิบัติงานวิชาชีพวิศวกรรมที่มีผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน และสังคม รวมทั้ง มีนโยบายส่งเสริมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามหลักวิชาการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อเกิดความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย” จีระศักดิ์ กล่าว