สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ทีมนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสงลุยดอยแม่ฮ่องสอนสำรวจแปลงปลูกกาแฟใต้ต้นอบเชย พร้อมวางแผนนำเมล็ดกาแฟไปพิสูจน์สมบัติที่โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน อีกทั้งเล็งพัฒนาเครื่องคั่วกาแฟเพื่อให้คงสารสำคัญ และร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟกับชุมชน
แม่ฮ่องสอน : ระวีวรรณ เลิศสุขสมบัติ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจองค์กร สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมคณะนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสงของสถาบันฯ เดินทางไปยังแปลงปลูกกาแฟบ้านดูลาเปอร์ ละอูบ ต.ห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมี กรัณย์พล แสงทอง ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (สาขาแม่ฮ่องสอน) กรมป่าไม้ และคณะให้ข้อมูลการส่งเสริมการปลูกกาแฟภายใต้โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ระวีวรรณ เลิศสุขสมบัติ กล่าวว่า การปลูกกาแฟบ้านดูลาเปอร์ ละอูบ เป็นการปลูกกาแฟบนภูเขาที่ระดับความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล และปลูกอยู่ใต้ต้นอบเชยซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่ ส่งผลให้กาแฟที่ได้ให้กลิ่นเฉพาะแตกต่างจากพื้นที่อื่น รสชาติละมุน และเข้มข้น แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ถึงความแตกต่างของกาแฟบนดอยของหมู่บ้านแห่งนี้กับกาแฟในพื้นที่อื่น ซึ่งสถาบันฯ จะช่วยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์ของกาแฟ
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสงของสถาบันฯ ยังได้ศึกษาเครื่องคั่วกาแฟของหมู่บ้านดูลาเปอร์ ละอูบ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบควบคุมสำหรับเครื่องคั่วกาแฟที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และปัจจัยอื่น ๆ เพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟที่มีปริมาณคาเฟอีนสูง และคงเอกลักษณ์ของกาแฟในพื้นที่ พร้อมทั้งช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์กาแฟให้แก่ชุมชนอีกด้วย