สกสว.ขานรับ UN ร่วมรณรงค์อนุรักษ์น้ำ ท่ามกลาง Climate Change


กรุงเทพฯ – 23 มีนาคม 2563 : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมทีมวิจัยการบริหารจัดการน้ำขานรับนโยบายองค์การสหประชาชาติ (UN) รณรงค์เชิญชวนชาวไทยร่วมกันอนุรักษ์น้ำและความตระหนักในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีวิชาการและเป็นระบบ ภายใต้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมโลกผ่าน ‘น้ำ’ เนื่องในโอกาสวันน้ำโลกประจำปี 2563

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม การบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ให้ผลค่อนข้างชัดเจนว่า วิกฤติการณ์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้การแปรปรวนของวงจรน้ำมีมากขึ้น ลดความสามารถในการทำนายของปริมาณน้ำที่ใช้ได้ ความต้องการใช้น้ำ และส่งผลต่อคุณภาพน้ำ เกิดการขยายสภาพการขาดแคลนน้ำ จนมีผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก ในบางพื้นที่ยังส่งผลต่อการเกิดสภาพภูมิอากาศสุดโต่ง รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล จนกล่าวได้ว่าเราสามารถรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้จากการเปลี่ยนแปลงของวงจรน้ำ

จากรายงานการพัฒนาน้ำของโลกประจำปี ค.ศ. 2020 ขององค์การสหประชาชาติ เรื่อง “น้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งออกสู่สาธารณชนในวันที่ 23 มีนาคม 2563 ได้สรุปไว้ว่าสภาพภูมิอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงและจะเปลี่ยนแปลงต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อสังคมผ่าน “น้ำ” โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลต่อปริมาณการใช้งานได้ของน้ำทั้งปริมาณและคุณภาพ อันเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เป็นภาวะคุกคามต่อสิทธิมนุษยชนพื้นฐานต่อการเข้าถึงน้ำและสุขาภิบาลของประชากรโลกจำนวนมาก การปรับเปลี่ยนของวงจรน้ำยังส่งผลต่อความเสี่ยงการการผลิตพลังงาน ความมั่นคงด้านอาหาร สุขภาพของมนุษย์ การพัฒนาเศรษฐกิจและการลดความจน ซึ่งจะทำให้การบรรลุต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีความยากลำบากมากขึ้น

เนื่องในวันน้ำโลกปีนี้ (22 มีนาคม) องค์การสหประชาชาติได้เน้นย้ำให้มีการกำหนดนโยบายและการวางแผนแบบบูรณการทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค การตัดสินใจที่ยากขึ้นในการจัดสรรน้ำแก่ผู้ใช้ภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมการลดและปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายจากสภาพภูมิอากาศ องค์การสหประชาชาติจึงเรียกร้องต่อประชาคมโลกให้ร่วมมือดังนี้ 1) ปฏิบัติการทันที เพื่อร่วมกับควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส 2) พิจารณาน้ำเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ 3) ปรับปรุงการดำเนินการบริหารจัดการน้ำ 4) ปรับตัวด้วยความร่วมมือแบบข้ามพรมแดน 5) ปรับแนวความคิดด้านการเงิน

ด้านองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ก็ได้เรียกร้องให้มีการปรับตัวด้านน้ำจากผลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อป้องกันสุขภาพและชีวิต ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และเรียกร้องให้ทุกคนมีบทบาทโดยไม่รีรอ ด้วยการ “เรียนรู้ แลกเปลี่ยน และกำหนดบทบาท” ในการนำเรื่องน้ำเข้าเป็นประเด็นหลักของแผนปฏิบัติการหาคำตอบด้านน้ำและสุขาภิบาล กำหนดบทบาทตนเองที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และเข้าร่วมกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์เพื่อการจัดการน้ำในอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์เพื่อการจัดการน้ำในอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยในระยะที่ผ่านมา รศ. ดร.สุจริต กล่าวว่าได้มีการจัดระบบการวางแผนภายใต้แผนแม่บทของยุทธศาสตร์ซาติ และ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เริ่มบูรณาการการวางแผนด้านน้ำในระดับต่าง ๆ และมีมาตรการรับมือต่อความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการบริหารน้ำระดับชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในพื้นที่ ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณของประเทศ ที่จะต้องพัฒนาหาแหล่งทุนที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจากภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศในโอกาสต่อไป เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำ การเพิ่มผลิตผลด้านน้ำ ภายใต้การมีส่วนร่วมและธรรมาภิบาลที่ดี

ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาทั้งด้านนโยบายด้านน้ำ การพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับชุมชน ฯลฯ มาโดยตลอด สกสว.เห็นว่ายังจำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อการรับมืออย่างมีสติ มีวิชาการ และมีระบบ ตามข้อเรียกร้องของสหประชาชาติ โดยสกสว.มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยทางด้านการบริหารจัดการน้ำต่อไป โดยเฉพาะแผนงานวิจัยด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติ การวางแผน การดำเนินการด้านน้ำ การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางน้ำทั้งในระดับประเทศและชุมชน การเตรียมตัวรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งพร้อมเข้าร่วมการเผยแพร่ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ได้ ผ่านการจัดเวทีแสดงผลงาน เผยแพร่ แนวคิดจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ” รศ. ดร.สุจริต กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save