สกพอ. สอศ. EECi เนคเทค สวทช, จัดแข่งขัน “IoT Hackathon 2022” ครั้งที่ 3 พัฒนาทักษะด้าน IIoT ตอบโจทย์อุตฯ ในEEC


สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) จัดการแข่งขัน “IoT Hackathon 2022” ครั้งที่ 3 Gen R (Data Analytics for ERP-Integrated Factory 4.0) ในโครงการ “การพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) แบบเข้มข้นสำหรับการพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-21 ธันวาคม พ.ศ.2565 ระยะเวลา 36 ชั่วโมง ด้วยโจทย์จริงจากโรงงาน ซึ่งนักศึกษาอาชีวศึกษาต้องใช้ทักษะและองค์ความรู้ที่เรียนมาและฝึกอบรมมาใช้ในการแก้โจทย์เสมือนอยู่หน้างานจริงในสถานประกอบการอุตสาหกรรมให้ได้

 

พัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง

รองรับความต้องการภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะผู้อำนวยการ EECi  กล่าวว่า การจัดการแข่งขันในครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) ให้แก่บุคลากรด้านอาชีวศึกษา การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจ 4 ด้านของ สวทช. โดย สวทช. และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญมากในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวิสัยทัศน์และกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ดังนั้น สวทช. โดยการสนับสนุนจาก สกพอ. และในฐานะผู้รับผิดชอบในการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi จึงได้เข้ามาดำเนินงานด้านการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นทั้งในด้านการเตรียมบุคลากรขั้นพื้นฐานให้มีความสนใจในการเข้าสู่เส้นทางอาชีพนักวิจัยและนักเทคโนโลยีในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนา EECi ให้เป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ

“สวทช.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการการแข่งขันนี้จะช่วยเพิ่มองค์ความรู้ ลับองค์ความรู้และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละสถานการณ์ในหน้างานที่จะเกิดขึ้นจริงแก่ผู้ร่วมการแข่งขันจากผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ก่อนการแข่งขัน รวมทั้งตัวนักศึกษาที่มาร่วมแข่งขันจะได้มีโอกาสเห็นภาพการทำงานจริงในโรงงานภาคอุตสาหกรรมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ได้มีโอกาสคัดเลือกนักศึกษาไปร่วมแข่งขันต่อไป

 

เฟ้นหานักศึกษาที่มีองค์ความรู้

ต่อยอดสู่การทำงานจริงในภาคอุตสาหกรรม

ดร.อภิชาต ทองอยู่  ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลาการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า การแข่งขันในครั้งนี้เพื่อเฟ้นหานักศึกษาที่มีองค์ความรู้เพื่อต่อยอดนำองค์ความรู้ไปสู่การทำงานจริงในภาคอุตสาหกรรมในอนาคต  ซึ่งประเทศไทยยังขาดแคลนอยู่จำนวนมาก จึงอยากให้นักศึกษา อาจารย์และผู้เข้าร่วมได้พยายามใช้องค์ความรู้ความสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเป็นทีม พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการเข้าร่วมการแข่งขันไปปรับใช้เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของตนเอง รวมทั้งให้อาจารย์ไปปรับใช้ในการเรียนการสอน การทำงานจริงในอนาคตเพื่อช่วยกันสร้างบุคลากรที่มีความรู้สู่ตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น ประเทศไทยจะได้ไม่ต้องสูญเสียโอกาสในการแข่งขันและต้องนำเข้าแรงานจากต่างประเทศอีก

ในอนาคตในพื้นที่ EEC จะมีการขยายฐานองค์ความรู้นอกจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคการเกษตรที่เป็นหัวใจหลักอาชีพหลักของคนในพื้นที่ด้วยการร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัยและภาคประชาชน

 

ถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะภาคปฏิบัติด้านเทคโนโลยี IoT และ IIoT

ให้นศ.ปวส.ในพื้นที่ EEC

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) กล่าวว่าการแข่งขัน IoT Hackathon Gen R ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เป็นการแข่งขันที่ส่งเสริมทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) สำหรับเด็กอาชีวศึกษาระดับ ปวส. ดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนจากเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะภาคปฏิบัติที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และ Industrial Internet of Things (IIoT)  ผ่านกิจกรรมการอบรมครูและนักศึกษาระดับ ปวส. ของสถาบันอาชีวศึกษาในเขต โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งเน้นนักศึกษาระดับ ปวส. ชั้นปีที่ 1 ที่ต้องไปฝึกงานในสถานประกอบการในปีถัดไป เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ที่ได้ในโครงการไปประยุกต์ใช้ในสถานประกอบการ ดังนั้นหลักสูตรและวิธีการอบรมจึงเน้นการเรียนรู้แบบ Outcome-Based Learning หรือการเรียนรู้ที่มีเป้าหมายเป็นรูปธรรม แทนการเรียนรู้องค์ความรู้พื้นฐานแบบครอบจักรวาลแบบเผื่อให้เลือกใช้ มีการวัดผลผู้เรียนแบบเป็นระยะ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนสามารถ “ทำได้ ทำเป็น”ก่อนส่งผู้เรียนเข้าสู่การฝึกงานแบบ Work-Based Integration ในภาคอุตสาหกรรม โดยโครงการฯ จะติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพื่อนำผลตอบรับมาปรับปรุงวิธีการและเนื้อหาการอบรมในปีต่อไป

 

มุ่งเน้นให้ผู้แข่งขันผ่านการอบรม IIoT ขั้นสูงและประยุกต์ใช้เครื่องมือ

ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ EEC

สำหรับการแข่งขันจะเสมือนทำงานจริงอยู่หน้างานจริงตามโจทย์ที่ผู้ประกอบการและคณะกรรมการร่วมกันคัดเลือก โดยโจทย์ปีนี้มุ่งเน้นให้ผู้เข้าแข่งขันทุกท่านได้ผ่านการอบรม IIoT ขั้นสูงและการประยุกต์ใช้เครื่องมือต่างๆ มาแข่งขันเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ EEC ไม่ว่าจะเป็น Maintenance, Process Line Monitoring, Quality Control, ERP ด้วย API ที่เรากำหนดและทักษะของการเป็น Developer เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อ ระหว่าง OT (Operational Technology) และ IT (Information technology) ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นของการพัฒนาเป็น Factory 4.0

“ดังนั้นนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขันในครั้งนี้ ทางโครงการฯ ได้คัดเลือกแล้วว่ามีทักษะความสามารถตามวัตถุประสงค์ของโครงการ การแข่งขัน IoT Hackathon จึงถือเป็นกิจกรรมเตรียมความพร้อม เพื่อฝึกฝนการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาครั้งสุดท้ายก่อนเข้าฝึกงานในภาคอุตสาหกรรม”   ดร.ชัย กล่าว

จับมือพันธมิตร  2 ฝ่าย ช่วยกันพัฒนาหลักสูตร IoT และ IIoT

สร้างกำลังคนตอบโจทย์ความต้องการอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง

ดร.ชัย กล่าวว่า ในปีนี้โครงการฯ ยังได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรอีก 2 ฝ่ายคือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาในเขต EEC 16 แห่ง และ บริษัทผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่ ได้ช่วยกันพัฒนาหลักสูตร IoT และ IIoT ที่จะนำไปบูรณาการเข้ากับวิชาต่างๆ ในวิทยาลัยอาชีวศึกษา เพื่อให้สามารถสร้างกำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง ที่ผ่านมาทางโครงการฯได้รับทุนสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยในปี พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นปีแรกได้จัดทำหลักสูตรพื้นฐาน Internet of Things & IoT Training Kits จัดอบรมออนไลน์ ให้แก่อาจารย์ 30 คน มุ่งเน้นให้ครูเป็น Train the Trainer และนักศึกษา 71 คน มีนักศึกษาผ่านการคัดเลือกเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ จำนวน 38 คน ปีที่ 2 ปี พ.ศ. 2565 ทางโครงการฯ ได้พัฒนาหลักสูตรที่สามารถบูรณาการกับภาคอุตสาหกรรม เช่น Maintenance, Process Line Monitoring, Quality Control อีกทั้งยังเสริมเรื่องการใช้งาน API และเพิ่มทักษะของ Developer โดยมีนักศึกษาสมัครเข้าร่วมการอบรม IoT พื้นฐาน 107 คน และผ่านการคัดเลือกให้อบรม IIoT ขั้นสูง 75 คน ผ่านการคัดเลือกฝึกงานในสถานประกอบการ จำนวน 41 คน และในปีที่ 3 ปี พ.ศ.2566  ทางโครงการฯ ได้ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร IoT และ IIoT ที่มีความเหมาะสมกับการพัฒนาเด็กอาชีวศึกษาเข้าไปทำงานกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม โดยในปีนี้มีนักศึกษาที่ผ่านการอบรมพื้นฐาน เข้ารวม 245 คน ผ่านการคัดเลือกให้อบรม IIoT ขั้นสูง 69 คน คัดเลือกรอบสุดท้ายเพื่อเข้าร่วมแข่งขัน และให้สถานประกอบการมาคัดเลือก 48 คน

 

เผยผลการดำเนินโครงการในช่วง3 ปี

มีบริษัทรับนักศึกษาเข้าทำงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในส่วนผลการตอบรับจากการดำเนินโครงการ 3 ปี ที่ผ่านมา วิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่ EEC เริ่มนำหลักสูตร IoT Fundamentals เข้าไปสอนในสาขาต่างๆ ของวิทยาลัย และจากการติดตามผลการฝึกงานของนักศึกษาที่ผ่านมา มีสัดส่วนของนักศึกษาที่บริษัทเข้ารับทำงานต่อกว่า 54% ในปีที่ 1  และ 76% ในปีที่ 2 และปี 3 นี้จะมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจะร่วมมาออกบูธ เพื่อรับนักศึกษาเข้าฝึกงานไม่ต่ำกว่า 15 บริษัท ทางโครงการฯ จึงได้จัดเตรียมชุดอุปกรณ์ฝึกอบรมทางด้าน Industrial IoT เพื่อส่งมอบให้วิทยาลัยที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นระยะเวลาต่อเนื่องของโครงการฯไม่น้อยกว่า 70%

สำหรับการพัฒนาเสริมทักษะต่อไปในอนาคตนั้น ทางเนคเทค จะปรับองค์ความรู้เพิ่มผู้เชี่ยวชาญให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพิ่มองค์ความรู้ใหม่ๆที่น่าสนใจ เช่น  ดิจิทัลเทคโนโลยีต่างๆ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม และยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งขยายการพัฒนาทักษะองค์ความรู้แก่นักศึกษาอาชีวศึกษาในพื้นที่อื่นๆนอกจาก EEC เพิ่มเติมเพื่อสร้างเครือข่ายและสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งเป็นบุคลากร ซึ่งพร้อมขับเคลื่อนทำงานพัฒนาประเทศไทยตามนโยบายรัฐบาล

 

โครงการฯ ช่วยพัฒนาองค์ความรู้

และสร้างบุคลากรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

ปิยวัฒน์ จอมสถาน หัวหน้าโครงการพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) แบบเข้มข้นสำหรับการพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา กล่าวว่า ใน2 ปีที่ผ่านมาของโครงการฯนอกจากได้พัฒนาองค์ความรู้และสร้างบุคลากรเข้าสู่อาชีพภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นแล้ว โครงการฯ นี้ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะ สร้างโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมเลือกค้นเข้าสู่งานได้ตรงงานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ใช้เครื่องมือที่ทันสมัยที่คิดค้นจากนักวิจัย และสถาบันการศึกษาต่างๆที่ส่งนักศึกษาเข้าร่วมจะได้มีโอกาสนำเครื่องมืออุปกรณ์ที่ได้จากโครงการฯ นี้ไปถ่ายทอดให้นักศึกษาได้ใช้งานอีกด้วย นอกจากนี้การมีโครงการฯ นี้ทำให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่มีความมุ่งมั่นเตรียมความพร้อมที่จะคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมในแต่ละปีเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

นำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการฯ

ต่อยอดการเรียนและทำงานในอนาคต

อชิรญา สมใจ นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) กล่าวว่า การเรียนการสอนในห้องเรียนกับการสอนรู้ในโครงการฯนี้มีความแตกต่างกัน การได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากเครื่องมือจริง จากผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมถ่ายทอดในการเข้าร่วมโครงการฯนี้ทำให้เห็นการทำงานจริง การแก้ปัญหาโจทย์การทำงานจริงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันเป็นทีมนำความรู้ของแต่ละคนมาช่วยแก้โจทย์ปัญหา ขั้นตอนการทำงานเป็นทีมที่ต้องมีความละเอียดและรอบคอบมากขึ้น หลังจากการเข้าร่วมในครั้งนี้ หากได้รางวัลจะนำรางวัลไปมอบให้ที่บ้านและที่วิทยาลัยฯ ที่ช่วยสนับสนุนการเรียนมาตลอด และจะนำองค์ความรู้ตลอดการเข้าร่วมโครงการฯไปต่อยอดไปใช้ศึกษาต่อและใช้ทำงานจริงในอนาคต


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save