จากคำสั่งของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่อง การปิดสถานที่ก่อสร้าง ตามประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ได้ประกาศให้ปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงานทั้งภายในภายนอกสถานที่ก่อสร้าง รวมทั้งให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นเวลา 1 เดือนหรือ 30 วัน ทำให้การก่อสร้างต้องหยุดลงทันที ส่งผลกระทบต่อธุรกิจก่อสร้างในประเทศไทยได้รับผลกระทบในวงกว้าง เนื่องจากในกรุงเทพมหานครมีแคมป์คนงานที่อยู่ในไซต์งานประมาณ 120 แห่งและแคมป์คนงานที่อยู่นอกไซต์ประมาณ 480 แห่ง ทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ 400,000 ล้านบาทในแต่ละเดือน ไม่รวมซัพพลายเออร์ หากการก่อสร้างเกิดความล่าช้า
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ในฐานะสมาคมด้านวิชาชีพได้พิจารณาเห็นถึงความไม่ปลอดภัยและผลเสียที่อาจเกิดต่อเนื่องตามมาจากการประกาศหยุดก่อสร้างโครงการต่างๆ เนื่องจากงานก่อสร้างประเภท ปั้นจั่นหอสูง (Power Crane) งานทำฐานราก งานทดสอบเสาเข็ม งานก่อสร้างชั้นใต้ดิน งานกำแพงกั้น งานพื้นคอนกรีตอัดแรง (Post Tension) งานนั่งร้านค้ำยันชั่วคราว (Temporary Shoring) งานดันท่อหลอด (Pipe Jacking) ที่ดันใต้ดิน หรือบางงานจะต้องวางระบบงานก่อนหยุดก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของโครงสร้างได้
การหยุดงานก่อสร้างยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ ต่อเมื่อถึงเวลาที่ภาครัฐอนุญาตให้ก่อสร้างต่อไป อาจจะต้องประสบปัญหาทางด้านวิศวกรรมอย่างมาก วสท. จึงขอเสนอแนวทางเพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณาผ่อนปรน หรือบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปิดสถานที่ก่อสร้างบนพื้นฐานความปลอดภัย ควบคู่กับควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 เป็นสำคัญ
วสท.เผยหยุดก่อสร้างส่งผลกระทบต่อไซต์งานกว่า 600 แห่ง สูญเสียรายได้ 400,000 ล้านบาท/เดือน
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า วสท.รับทราบอยู่แล้วว่ามีมาตรการของภาครัฐที่จะป้องกันแก้ไขปัญหาเรื่อง COVID-19 ในหลายๆคลัสเตอร์ที่ผ่านมา และล่าสุดที่พบการติดเชื้อในแคมป์คนงานก่อสร้าง และรัฐบาลได้มีการออกประกาศปิดสถานที่ก่อสร้าง แคมป์คนงานและไซต์งานก่อสร้างนั้นส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างอย่างยิ่งทั้งในไซต์งานประมาณ 120 แห่งและแคมป์คนงานที่อยู่นอกไซต์งานก่อสร้างประมาณ 480 แห่งทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร คาดว่าจะทำให้สูญเสียรายได้จากการก่อสร้างประมาณ 400,000 ล้านบาทต่อเดือน ไม่รวมค่าใช้จ่ายของซัพพลายเออร์ หากการก่อสร้างเกิดความล่าช้า ซึ่งวสท.ได้มีปรึกษาขอความอนุเคราะห์ผ่อนปรนการปฏิบัติงานก่อสร้างไม่ให้หยุดการก่อสร้างลงทันทีกับทางสำนักงานโยธาธิการ กรุงเทพมหานครเพราะจะทำให้งานก่อสร้างทั้งผู้ประกอบการเจ้าของโครงการ ที่ปรึกษาโครงการ วิศวกรผู้ควบคุมงานทุกระดับและคนงานก่อสร้างกว่า 80,000 คน แบ่งเป็นคนงานก่อสร้างชาวต่างชาติประมาณ 46,000 คนและคนไทยอีกกว่า 34,000 คน ได้รับผลกระทบ
วสท.เสนอรัฐผ่อนปรนงานก่อสร้างที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อความปลอดภัยของโครงสร้าง
วสท. จึงขอเสนอให้รัฐบาลและทางกรุงเทพมหานครผ่อนปรนการก่อสร้างในงานหลักที่ควรให้มีการดำเนินงานต่อเนื่องเพื่อความปลอดภัย เช่น ปั้นจั่นหอสูง (Power Crane) เพราะบางไซต์งานวางขึ้นไปยังไม่ได้ยึดฐานปั้นจั่นให้ครบ ต้องหยุดการดำเนินงานเสียก่อน รวมทั้งงานทำฐานราก งานทดสอบเสาเข็ม งานก่อสร้างชั้นใต้ดิน งานกำแพงกั้นดิน เป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ฝนตกลงไปในฐานรากไม่ได้จะทำให้ดินอ่อนทรุดได้ ซึ่งต้องทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 14 วัน จึงเสร็จในแต่ละไซต์งาน เพราะถ้าบริเวณที่ก่อสร้างเกิดทรุดและพังขึ้นมาก็จะส่งผลต่อพื้นที่รอบๆออกไปสู่ชุมชนรอบข้างที่บริเวณที่ก่อสร้างด้วย งานพื้นคอนกรีตอัดแรง (Post Tension) พร้อมจะดึงลวดให้รับแรงอัดไม่ให้วัสดุก่อสร้างปลิวออกนอกพื้นที่ในชั้นก่อสร้างสูงๆที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ งานนั่งร้านค้ำยันชั่วคราว (Temporary Shoring) ถ้าเกิดน็อตหลุดจะทำอย่างไรหากค้ำยันพังถล่มลง งานดันท่อหลอด (Pipe Jacking) ที่ดันใต้ดิน เวลาขับรถผ่าน ทิ้งไว้ 3-5 วันก็อุดตันแล้วทำต่อไม่ได้ ต้องขุดทำใหม่แล้วซ่อมพื้นที่บริเวณที่ขุด หากมีการกลับมาก่อสร้างอีกครั้ง หรือเวลาฝนตกช่วงฤดูฝนในช่วงนี้จะเกิดปัญหาน้ำขังส่งผลต่อการจราจรในบริเวณก่อสร้างได้และงานก่อสร้างเบ็ดเตล็ด ซึ่งเก็บเอกสารเอาไปทำงานข้างนอกต่อจากการที่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เข้าทำงานในไซต์งานนั้นๆต่อ คาดว่าจะใช้คนงานไม่เกิน 15 คน โดยคนงาน 15 คนที่เข้าไปดำเนินการทำงานเบ็ดเตล็ดนั้นควรได้รับการฉีดซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็มเพราะงานบางประเภท ต้องให้เจ้าของงานที่ทำหน้าที่ไปตรวจสอบเอกสารเองโดยเฉพาะเรื่องบัญชีก่อสร้าง การวางบิล ที่เกี่ยวข้องกับส่วนงานอื่นๆที่ไม่ใช่แค่การก่อสร้างจากซัพพลายเออร์ เป็นต้น
วสท.แนะนำแนวทางปฏิบัติในงานก่อสร้างควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19
ดร.ธเนศ ได้แนะนำแนวทางปฏิบัติในงานก่อสร้างว่า 1.กรณีคนงานอยู่ในไซต์แคมป์ก่อสร้าง สามารถทำการ Bubble and Seal ได้ แล้ว Swab 100% ของคนงานจำนวน 2 ครั้ง ใน 14 วันและที่สำคัญต้องจัดให้มีการฉีดวัคซีนเมื่อมีวัคซีนและเมื่อถึงเวลาครบตามกำหนดการปิดแคมป์ไซต์ก่อสร้าง 2. ในกรณีคนงานอยู่นอกไซต์ก่อสร้าง การดูแลควรกระทำ 2 ลักษณะคือ การ Bubble and Seal แล้ว Swab คนงาน 100% จำนวน 2 ครั้ง ใน 14 วันและเน้นให้มีการฉีดวัคซีนทั้งหมดด้วย และคัดคนงานก่อสร้างที่มีความจำเป็นเหมาะสมกับการทำงานก่อสร้างไป-กลับ ไซต์ก่อสร้างกับแคมป์ หรือจัดที่พักให้เลยในบริเวณไซต์งานก่อสร้าง ทำการ Swab 100% ของคนงานจำนวน 2 ครั้ง ใน 14 วันและเน้นให้มีการฉีดวัคซีนทั้งหมดด้วย และ3.ให้หน่วยงานก่อสร้างแต่ละแห่งที่มีความจำเป็นในการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อความปลอดภัยขอให้เจ้าหน้าที่แต่ละเขตพื้นที่เข้าร่วมตรวจควบคุมตามความเหมาะสมในแต่ละวันร่วมกับวิศวกรที่ปรึกษาและวิศวกรกรควบคุมงานก่อสร้างในแต่ละโครงการร่วมกันเพื่อประเมินความเสี่ยงจะให้ดำเนินการก่อสร้างต่อหรือยุติการก่อสร้างแต่ละโครงการเป็นกรณีไป ซึ่งวสท.ยินดีที่จะส่งบุคลากร วิศวกรร่วมทำงานกับภาครัฐอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเพื่อให้งานก่อสร้างสามารถกลับมาดำเนินต่อไป
นอกจากนี้ ในส่วนของก่อสร้างในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะงานที่ต้องทำต่อเนื่อง งานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย รวมถึงเรื่องสัญญาก่อสร้าง สัญญาการว่าจ้างบริษัทรายย่อยที่จะมีผลตามมาอีกมาก ต้องมีการพิจารณาผ่อนปรนอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีไป
วอนรัฐอนุโลมผ่อนปรนเปิดโครงการก่อสร้างบางแห่งที่ตรวจไม่พบเชื้อ COVID-19
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า การปิดสถานที่ก่อสร้างเป็นการกระทำที่กระทันหันในเวลาที่จำกัด ทำให้ผู้ประกอบการก่อสร้างไม่สามารถเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งจะต้องมีการวางระบบงาน เก็บงานที่จะส่งผลอันตรายต่อโครงสร้างของสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะฐานราก การคุมงานที่ต้องให้วิศวกรที่ชำนาญงานเข้าไปตรวจสอบทุกๆวัน หากทางรัฐบาลสั่งปิดทันทีแล้วไม่ให้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่เลยเกรงว่าอาจจะส่งผลกระทบที่ไม่คาดคิดได้ เช่น บางโครงการนั้น เตรียมผูกเหล็กผู้คานเตรียมพร้อมที่จะเทคอนกรีต ในวันนี้หรือพรุ่งนี้ไซต์ก่อสร้างถูกสั่งปิดทันที สิ่งที่เสียหายตามมา เหล็กที่ผูกเสร็จ แล้วทิ้งไว้วางไว้โดนฝน ในช่วงนี้แล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง 30วันข้างหน้า ฝนอาจจะตกทุกวัน จะทำอย่างไรได้บ้าง เหล็กที่มัดไว้ วางเอาไว้แม้จะวางคลุมไว้แล้วหากมีน้ำท่วมขังจากฝนตกอาจจะเสียหายเป็นสนิมไม่สามารถใช้งานให้มีคุณภาพเช่นเดิมได้ หรือนั่งร้านค้ำยันอาจจะเสียหาย ทรุดหรือถล่มลงมา เพราะไม่มีใครสามารถที่จะคาดเดาสภาพดินฟ้าอากาศ ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาได้ในแต่ละพื้นที่
หากมีพายุจะตกมากระทันหันในพื้นที่ช่วงเวลาปิดการก่อสร้าง ไม่มีใครทราบได้เลยว่าการก่อสร้างที่ดำเนินการไปแล้วจะได้รับผลกระทบส่วนใดอย่างไรบ้าง ต้องรอให้ครบกำหนดปิดการก่อสร้างก่อนจึงจะเข้าทำการสำรวจความเสียหายได้ เป็นต้น
“จึงอยากให้รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการสั่งปิดโครงการก่อสร้างแคมป์ไซต์งานก่อสร้าง 30 วันใหม่ โดยส่งเจ้าหน้าที่ชำนาญงานลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับ วสท.และอื่นๆ พื้นที่ไหนอนุโลมได้ก็ควรอนุโลม แคมป์ไซต์งานก่อสร้างใดตรวจคัดกรองแรงงานแล้วไม่พบการติดเชื้อ 14 วันก็ควรเปิดให้มีงานก่อสร้างต่อไปได้ เพราะโครงการก่อสร้างที่รัฐบาลสั่งปิด 30 วัน นั้นทำให้ผู้ประกอบการเจ้าของโครงการ ผู้รับเหมางานต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ทราบว่าความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้หน่วยงานใดจะรับผิดชอบชดใช้ให้ได้บ้าง” รศ.สิริวัฒน์ กล่าว
แนะนำเทคโนโลยี Wrist Band ระบุตัวตนแรงงานก่อสร้าง
รศ.เอนก ศิริพานิชกร ที่ปรึกษากรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ในอนาคตอยากให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้างใช้เทคโนโลยี Wrist Band ที่ระบุตัวตนแรงงานก่อสร้างทุกประเภทในไซต์แคมป์งานก่อสร้าง รวมทั้ง วิศวกรผู้ควบคุมงาน วิศวกรที่ปรึกษาและอื่นๆที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ไซต์งานเพื่อที่จะเช็ครายชื่อ เช็คการทำงาน เช็คระบบอุณหภูมิของร่างกาย และเช็คสถานะการเดินทางออกจากแคมป์ไซต์งานก่อสร้างว่าในแต่ละวันไปที่ไหนมาบ้าง เพื่อที่จะติดตามตัวได้หากเกิดการระบาดของเชื้อชนิดอื่นๆ ที่สำคัญจะได้สร้างความมั่นใจให้ภาครัฐในการที่จะเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างในแต่ละแห่งว่ามีการยกระดับการควบคุมเข้มข้นหลังสถานการณ์ COVID-19
“ในส่วนของผลกระทบจากการสั่งปิดการก่อสร้างทันที 1 เดือนหรือ 30 วันนั้น อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐร่วมกับ หน่วยงานท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร วสท.และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องมีการเข้าตรวจสอบพื้นที่ไซต์งานแต่ละแห่งเพื่อที่จะได้ทราบว่าไซต์งานใดไม่เกิดปัญหา COVID-19 ก็ควรอนุเคราะห์ให้มีการทำการเปิดได้ หลังจากการตรวจสอบ ตรวจเชื้อกักตัวคนงานครบ 14 วันแล้ว และไซต์งานใดที่มีการทำการก่อสร้างที่มีความเสี่ยง เช่น บริเวณใดที่ก่อสร้างยังไม่ครบขั้นตอน ก็ทำให้ครบหรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุไว้เบื้องต้น เพื่อให้มีโครงสร้างชั่วคราวคงเหลือน้อยที่สุดและควรคำนึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลักในการก่อสร้าง” รศ.เอนก กล่าว
สำหรับมาตรการทุกอย่างที่ วสท.และหน่วยงานต่างๆที่จะเข้าไปตรวจสอบนั้น วสท.ได้ดำเนินการไปตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตามที่ภาครัฐได้กำหนดไว้อย่างเข้มงวด บุคลากรที่จะเข้าไปทำงานจะเป็นผู้ที่ได้การฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มและมีความชำนาญในเนื้องานด้านวิศวกรก่อสร้างอย่างแท้จริงมั่นใจได้
รัฐเดินหน้าปลดล็อกงานก่อสร้าง 4 ประเภทในเขตกทม.-ปริมณฑลให้ก่อสร้างได้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 (ศปก.ศบค.) ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) หรือ ศบค. เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติในหลักการการให้อนุญาตสำหรับการก่อสร้างโครงการก่อสร้างบางประเภท และเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีที่มีความจำเป็นโดยเสนอขอให้มีการผ่อนคลายข้อกำหนดฉบับที่ 25 กรณีคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างบางประเภท ได้แก่
1.โครงการก่อสร้างซึ่งหากหยุดก่อสร้างในทันที หรือการดำเนินการล่าช้าอาจก่อให้เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้างด้านวิศวกรรมจนยากต่อการแก้ไข หรือเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา หรือ ชุมชนโดยรอบโครงการก่อสร้างนั้น เช่น โครงการก่อสร้างใต้ดินที่มีความลึก การก่อสร้างชั้นใต้ดินที่ยังไม่ได้เทปูนปิดล้อม
2.การก่อสร้างชั่วคราวซึ่งหยุดการก่อสร้างในทันที หรือดำเนินการล่าช้าจะได้รับความเสียหายจนเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา หรือชุมชนโดยรอบโครงการดังกล่าว เช่น นั่งร้าน และแบบรอการเทปูน โดยเฉพาะแผ่นพื้นที่
3.การก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการจราจร เช่น ไฟสัญญาณจราจร แบร์ริเออร์กั้นช่องจราจร แผ่นเหล็กปิดงานก่อสร้างบนผิวจราจร
4.การก่อสร้างในสถานที่ก่อสร้างที่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อCOVID -19 และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือ สถานที่ก่อสร้างอื่น ๆ ที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพิจารณาขอผ่อนคลายคำสั่งเคลื่อนย้ายแรงงานประเภทก่อสร้างจากสถานที่พักชั่วคราว ทั้งกรณีการข้ามเขตจังหวัด หรือภายในเขตจังหวัด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคติดเชื้อCOVID -19 เช่น การรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรค การตรวจสุขภาพ การตรวจวินิจฉัยและการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ ให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการโรคติดต่อเป็นผู้พิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้างที่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ประเภทข้างต้นในเขตพื้นที่ของตนเองเป็นกรณีไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุม ศปก.ศบค.ได้พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้ว และได้ให้ความเห็นชอบในหลักการ ขณะเดียวกัน มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข ดังนี้ เห็นสมควรให้ผ่อนคลายคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการบางประเภทตามที่ กทม.เสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการที่แรงงานก่อสร้างนั้นได้รับวัคซีนแล้ว โดยสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างนั้นได้ ขณะเดียวกัน เห็นสมควรให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้พิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้างที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นรายๆ ไป และขอให้ กทม.และจังหวัดปริมณฑลกำกับติดตามการดำเนินการก่อสร้างโครงการที่มีความจำเป็นตามที่ได้รับการผ่อนคลายให้ดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
กรณีการก่อสร้างขนาดเล็กที่ไม่ถูกห้ามตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ถ้าผู้ว่าฯ กทม.หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่า หากปล่อยให้การก่อสร้างแล้วอาจเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ขอให้ใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานที่ก่อสร้างหรือหยุดการก่อสร้างได้ตามอำนาจ
นอกจากนี้ ให้ทาง กทม.และจังหวัดปริมณฑลทำการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้เข้าใจมาตรการตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ที่ไม่ห้ามการก่อสร้างโครงการขนาดเล็กซึ่งไม่มีการเคลื่อนย้ายแรงจำนวนมากอันเป็นเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของโรค และให้จัดช่องทางสำหรับประชาชนหรือผู้ประกอบการในการที่จะสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินการตามคำสั่งตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ด้วย
ทั้งนี้ เมื่อ ศปก.ศบค.เสนอขอให้พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ ผอ.ศบค. แล้ว จึงได้ลงนามเห็นชอบมาตรการผ่อนคลายดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมาแล้ว