สำนักรับรองระบบคุณภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบใบรองรองมาตรฐานการท่องเที่ยวแก่ 13 หน่วยงานภาครัฐใน 16 แหล่งท่องเที่ยว ที่ผ่านการตรวจประเมินรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานท่องเที่ยวไทย มาตรฐานคุณภาพกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวและมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว, การอนุรักษ์ทรัพยากรและการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวตามเกณฑ์ของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวใช้สถานประกอบการที่มีมาตรฐาน เสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยและยกระดับการท่องเที่ยวของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า สำนักรับรองระบบคุณภาพ วว. ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยตรวจสอบมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยกับ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และได้ยื่นขอรับรองระบบงาน ISO/IEC 17065 ในฐานะหน่วยรับรองมาตรฐานท่องเที่ยวไทย จากสำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยตรวจประเมินและให้การรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานท่องเที่ยวไทย มาตรฐานคุณภาพกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว และมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว โดยเกณฑ์มาตรฐานได้ผ่านกระบวนการจัดทำตามหลักเกณฑ์และกรอบแนวคิดด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จาก กรมการท่องเที่ยว
ที่ผ่านมา สำนักรับรองระบบคุณภาพ วว. ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการทั่วประเทศ โดยผู้ตรวจประเมินจะตรวจการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องและเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมการท่องเที่ยว ใน 3 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย 1.ความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว มุ่งเน้นศักยภาพที่ส่งผลถึงการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยว รวมถึงกระบวนการและกิจกรรมต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากศักยภาพทางกายภาพ และการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวและความปลอดภัย, ความหลากหลายและต่อเนื่องของกิจกรรมการท่องเที่ยว, ศักยภาพการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน, ความเหมาะสมด้านที่ตั้งที่เกี่ยวข้องและการจัดการความปลอดภัย, 2.การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มุ่งเน้นการจัดการด้านการอนุรักษ์และคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวขึ้นกับมาตรฐานแต่ละประเภท เช่น ความเป็นเอกลักษณ์, ความสมบูรณ์, ความสวยงาม, ความมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ, ความผูกพันต่อท้องถิ่นที่มีกระบวนการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยว, การรักษาสภาพและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว การใช้ประโยชน์พื้นที่ เป็นต้น และ 3.การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว มุ่งเน้นการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ความเหมาะสมด้านที่ตั้ง, ศักยภาพการพัฒนาการท่องเที่ยวจากปัจจัยภายนอกและภายในพื้นที่, ความเหมาะสมของสิ่งอำนวยความสะดวก, การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว, การบริหารจัดการด้านบริการและสาธารณูปโภค, การบริหารจัดการด้านกิจกรรมการท่องเที่ยวและการบริหารจัดการให้ความรู้และการสร้างจิตสำนึก ชุมชนมีส่วนร่วมและมีรายได้อย่างยั่งยืน
13 หน่วยงานที่ได้รับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย จากสำนักรับรองระบบคุณภาพ วว.
สำหรับ 13 หน่วยงานภาครัฐที่ได้รับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย จาก สำนักรับรองระบบคุณภาพ วว. ใน 16 แหล่งท่องเที่ยว ประกอบด้วย
- อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จังหวัดกระบี่ ได้รับมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติประเภทเกาะ ระดับดีเยี่ยม
- อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จังหวัดกระบี่ ได้รับมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตก ระดับดีเยี่ยม
- อุทยานแห่งชาติหาดวนกร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทชายหาด ระดับดีเยี่ยม
- อุทยานแห่งชาติแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประเภทธรณีสัณฐาน ระดับดีเยี่ยม
- อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จังหวัดชัยภูมิ ได้รับมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประเภทธรณีสัณฐาน ระดับดีเยี่ยม
- อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี ได้รับมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตก ระดับดีเยี่ยม
- อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตก ระดับดีเยี่ยม
- อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทถ้ำ ระดับดีเยี่ยม
- อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตก ระดับดีเยี่ยม
- อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ได้รับมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตก ระดับดีมาก
- อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ระดับดีเยี่ยมบริเวณ ยอดดอยอินทนนท์ และ ระดับดีมาก บริเวณ เส้นทางอ่างกาเนื่องจากมีพื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมไปท่องเที่ยวตลอดทั้งปี
- อุทยานแห่งชาติแม่จริม จังหวัดน่านน่าน ได้รับคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ระดับปานกลาง
- อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประเภทน้ำพุร้อนธรรมชาติ ระดับดีเยี่ยม
- สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ หรือศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง ได้รับมาตรฐานการจัดกิจกรรมปางช้างเพื่อการท่องเที่ยว ประเภทที่มีการแสดง ระดับดีเยี่ยม
- อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง ได้รับมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติประเภทน้ำตก ระดับดีเยี่ยม
- อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จ.ลำปาง ได้รับมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ระดับดี
การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวหลังสถานการณ์ COVID-19
บุญเสริม ขันแก้ว ผู้อำนวยการกองพัฒนาการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมีการปิดแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กว่า 155 แห่ง ซึ่งในหลายๆแหล่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเข้าไปท่องเที่ยวในแต่ละปีจำนวนมากทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่สถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลง สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติได้ค่อยทยอยทำการเปิดให้เข้าท่องเที่ยวได้ตามปกติ แต่มีความเข้มงวดในการจำกัดนักเที่ยงเที่ยวเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆมากขึ้น เพื่อลดจำนวนแออัดของนักท่องเที่ยวและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 ที่ยังไม่มีวัคซีนรักษาตามนโยบายของรัฐบาล
“ดังนั้นหากนักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์จะเข้าไปท่องเที่ยวยังสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติของกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืชในขณะนี้ขอให้เข้าไปลงทะเบียนจองเข้าท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆที่ต้องการตามแพลตฟอร์มและเว็บไซต์ของกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ทราบจำนวนนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเข้าท่องเที่ยวในแต่ละวันแล้วนำมาประมวลผลเพื่อที่จะได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่และสรรพกำลังต่างๆในการดูแลเรื่องความปลอดภัย ดูแลธรรมชาติและบริหารจัดการพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆให้เกิดความสดดุลระหว่างนักท่องเที่ยว ธรรมชาติและสัตว์ป่าในแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสมต่อไป” บุญเสริม กล่าว
การที่แหล่งท่องเที่ยวทั้ง 16แห่ง ได้รับใบรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวจากทาง วว. ในครั้งนี้ถือเป็นการการันตีสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของประเทศไทย เพื่อสร้างการยอมรับต่อนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเผยแพร่คุณลักษณะสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆว่ามีความปลอดภัย มีคุณภาพ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกๆคนที่เข้ามาใช้บริการอย่างดีที่สุด