สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั้ง 9 แห่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อประสานงานความร่วมมือด้านการวิจัย โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกัน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) รวมถึงพัฒนาบุคลากรสายวิชาการของทั้ง 18 หน่วยงาน เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ
18 หน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกัน ผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยที่ใช้วทน.ในทิศทางเดียวกัน
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผนวกรวมกับศิลปศาสตร์ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “BCG Economy Model” ซึ่งต้องอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง นำไปใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง
ที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้เร่งผลักดันและระดมสรรพกำลังจากทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) โดยมีมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค ทำหน้าที่เป็น “อว. ส่วนหน้า” ในการประสานความร่วมมือ ทำงานในพื้นที่ร่วมกับทุกจังหวัด นำ BCG Model ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผลงานสำคัญที่เห็นเด่นชัดอย่างเป็นรูปธรรม คือ โครงการ U2T
มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งความร่วมมือของทุกหน่วยงานในวันนี้จะเป็นการสานต่อผลสำเร็จจากโครงการ U2T เพื่อให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างอาชีพให้กับประชาชน ช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ให้มีการเติบโตและรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างยั่งยืน
“สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อประสานงานความร่วมมือด้านการวิจัย โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกัน ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) รวมถึงการพัฒนาบุคลากรสายวิชาการของทั้ง 18 หน่วยงานในวันนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญที่จะได้ร่วมกันการบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งนำศักยภาพของบุคลากรและองค์ความรู้ ตลอดจนทักษะความเชี่ยวชาญต่างๆ ขององค์กรวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของทุกๆหน่วยงาน ผนวกเข้ากับการสนับสนุนจากหน่วยงานสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความแข็งแกร่ง และสามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาและการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน” ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว
ลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อนของหน่วยงาน ร่วมมือส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการด้วยวทน.และนวัตกรรม
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจของทั้ง 18 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง, มหาวิทยาลัย
เกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้มีการประสานความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด สนับสนุนการหาแนวทางการใช้ทรัพยากรของหน่วยงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ การแลกเปลี่ยนข้อมูล ขยายผลและต่อยอดผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
แลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน ลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้วยวิธีบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมมือส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบ
การด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อีกทั้งยังร่วมกันพัฒนาบุคลากรของทั้ง 18 หน่วยงาน เพื่อสร้างศักยภาพบุคลากรบัณฑิตของประเทศ โดยการแลกเปลี่ยนหรือถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการอย่างภายในหน่วยงานเองและถ่ายทอดสู่ภาครัฐและภาคเอกชนที่สนใจในอนาคตต่อไป
วว.ผนึกกำลัง 17 หน่วนงานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทำงานวิจัยใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ระยะเวลา 2 ปี
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว วว. มีความพร้อมในการสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการร่วมกับ 17 หน่วยงานพันธมิตรตลอดการทำงานร่วมกันภายใต้บันทึกความเข้าใจในระยะเวลา 2 ปี จากนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทำงานวิจัยใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อองค์รวมในประเทศ ร่วมคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ตอบโจทย์ความต้องการของภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัยและประชาชนทั่วไป ลดการซ้ำซ้อนของการทำวิจัยร่วมกับทั้ง 17 หน่วยงานที่ร่วมลงนาม นำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปถ่ายทอดเสริมแกร่งให้กับผู้ประกอบการในประเทศทั่วทุกภูมิภาคให้เกิดการนําไปใช้ประโยชน์จริงทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง