วว. จับมือ กยท. ใช้ทรัพยากรด้านวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมยางร่วมกัน หวังเพิ่มมูลค่ายางพารา -ลดก๊าซเรือนกระจก


สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ลงนามความร่วมมือกับ การยางแห่งประเทศไทย  (กยท.) ในโครงการ “ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ด้านการอบรม วิจัย พัฒนาและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”  โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน  3  ปี  เพื่อมุ่งส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกร  สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน  สร้างมูลค่าเพิ่มยางพารา  ร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ณ  สถานีวิจัยลำตะคอง จ.นครราชสีมา

ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.) กล่าวว่า  วว. มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในการบูรณาการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งในด้านการปลูก การเก็บเกี่ยวและการแปรรูป รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง มีผลงานวิจัยระดับประเทศและภูมิภาค  มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการผลิตระดับอุตสาหกรรม  รวมถึงมีความพร้อมของห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน การวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการถึงระดับโรงงานนำทาง 

นอกจากนี้นักวิจัยและบุคลากรของ วว. ยังมีความรู้ ความสามารถ และความมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีผลักดันให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม          

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้มีระยะเวลาในการทำงานร่วมกับ กยท. 3 ปี และ คาดหวังว่าการร่วมกันทำงานระหว่างกันทั้งด้านองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยีและบุคลากรจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม  ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก  การรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกของสวนยางพารา ตลอดจนการแปรรูป สร้างมูลค่ายางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์  เพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางพาราทดแทนยางสังเคราะห์  พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต  ซึ่งจะส่งผลให้มีพื้นที่ปลูกต้นยางพารามากขึ้น  ทำให้เพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  เพิ่มพื้นที่สีเขียว  ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม และมีการส่งเสริมการปลูกพืชเสริม  เช่น  สมุนไพรที่มีความต้องการของตลาดสูง  เพื่อป้อนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมในการนำไปสกัดสารสำคัญและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามที่มีมูลค่าสูง   สร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจในชุมชน   ซึ่งจะช่วยยกระดับทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรของประเทศ  สร้างเศรษฐกิจสีเขียว  ส่งเสริมการยกระดับผลผลิตทางการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา กล่าว

ณกรณ์  ตรรกวิรพัท   ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  กล่าวว่า  กยท. เป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศไทยทั้งระบบอย่างครบวงจร และบทบาทหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การพัฒนางานวิจัยด้านยางพาราให้เกิดนวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา เพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจและตลาด อีกทั้งส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ  

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้จะมีการใช้ทรัพยากรหรือสินทรัพย์ของทั้งสององค์กรร่วมกันในการวิจัยและพัฒนาพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการวิจัยและพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพ  บูรณาการ   สร้างมูลค่าเพิ่ม และความสามารถในการแข่งขันด้านต่างๆ เพื่อลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อนขององค์กร ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกร รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน 

กยท.คาดหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยลดปริมาณการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ช่วยสิ่งแวดล้อมให้ฟื้นฟู และที่สำคัญเกษตรกรสามารถนำไปซื้อขายได้ เป็นการเพิ่มรายได้จากสวนยางอีกทางหนึ่ง ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  โดยโครงการนี้จะนำร่องจะนำสวนยางพาราของ กยท. ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนประมาณ 20,000 ไร่ ใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบศึกษา เพื่อนำข้อมูล  ความรู้ที่ได้ มาถ่ายทอดสู่เกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้ที่สนใจทั่วไป ซึ่งในปี พ.ศ. 2565 กยท. จะขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนยางจะสามารถเพิ่มรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในช่วงก่อนเปิดกรีดได้ ควบคู่กับการลดใช้ปุ๋ยเคมีและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ รวมถึงลดการใช้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต หรือการขนส่ง ที่จะส่งผลก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการที่สร้างความร่วมมือระหว่าง กยท. และ วว.  ในฐานะที่จะเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินโครงการร่วมกันต่อไป อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในอนาคต

ณกรณ์ กล่าว

ดร.ประทีป  วงศ์บัณฑิต  รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า  ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ  วว. เป็นแกนหลักในการดำเนินงานภายใต้โครงการความร่วมมือดังกล่าว  วว.จะดำเนินงานวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมวัสดุ รวมถึงสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน (Shared  Service)  คือ อาคารถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งตั้งอยู่ที่ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. จังหวัดนครราชสีมา เพื่อรองรับการบริการแบบองค์รวม (Total  Solution) ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยงานวิจัย ยกระดับการทดลองผลิตเพื่อทดลองตลาดและการวิเคราะห์ทดสอบวัสดุผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์จากน้ำยางและผลิตภัณฑ์จากยางแห้ง

อีกทั้งยังมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ประกอบการ  ภาครัฐภาคเอกชน  และเกษตรกร ในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ บนพื้นฐานการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

สำหรับการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์  เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราที่จะร่วมกันต่อยอดสร้างมูลค่า เช่น 1.ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น ที่นอนและหมอนยางพาราเพื่อการสุคนธบำบัด ใช้เทคโนโลยีด้านนวัตกรรมวัสดุร่วมกับการใช้กลิ่นที่สกัดจากพืชชนิดต่าง ๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้นอนหลับง่าย ปรับอารมณ์ให้สมดุลและสงบ ช่วยผ่อนคลาย เช่น กลิ่นหญ้าแฝก กลิ่นมะลิ เป็นต้น ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราได้ 3-5 เท่า

แผ่นกันลื่นจากยางพาราสำหรับพรมอเนกประสงค์  ใช้เทคโนโลยีเคลือบยางบนผ้าเพื่อผลิตแผ่นกันลื่น ช่วยให้แผ่นพรมอเนกประสงค์สามารถยึดเกาะกับพื้นได้ดี ไม่ก่อให้เกิดการลื่นล้มได้ง่าย ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราได้มากกว่า 10 เท่า ช่วยลดการนำเข้าแผ่นกันลื่นจากต่างประเทศและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันทางธุรกิจ

     ส่วนเครื่องขึ้นรูปแผ่นเสริมรองเท้าเพื่อสุขภาพ  สำหรับใช้พิมพ์รูปเท้าเฉพาะของแต่ละบุคคล โดยนำน้ำยางพารามาพัฒนาเป็นถุงแบบพิมพ์รอยเท้า เพื่อใช้ในการทำแผ่นเสริมรองเท้าให้เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีลักษณะเท้าไม่เข้ากับมาตรฐานหรือกลุ่มลูกค้าที่ต้องการดูแลสุขภาพและเล่นกีฬา ช่วยส่งเสริมให้เกิดมูลค่าของน้ำยางพาราได้ถึง 10 เท่า มีต้นทุนการผลิตเครื่องถูกกว่าท้องตลาด 75% ทดแทนการนำเข้าที่มีราคาหลายแสนบาทและแผ่นยางปูพื้น ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นไปตาม มอก.2377-2551 ช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์แผ่นยางปูพื้น ปัจจุบันนำผลิตภัณฑ์ไปใช้งานจริงที่โรงพยาบาลวังจันทร์ จังหวัดระยอง เพื่อใช้ฝึกกายภาพสำหรับหัดเดินของผู้ป่วยและพัฒนาการเด็ก ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราได้ 4 เท่า 

2.ผลิตภัณฑ์เพื่อเกษตรกรรม เช่น ถุงมือผ้าเคลือบยาง ซึ่งน้ำยางจะช่วยเพิ่มความทนทานให้แก่ถุงมือ ทำให้ถุงมือผ้าเคลือบยางมีคุณสมบัติป้องกันการบาดคม บาดเฉือน ลดแรงกระแทก กันลื่น นำไปใช้ในงานด้านเกษตรกรรม ประมง ก่อสร้างและอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราได้มากกว่า 10 เท่า และน้ำยาง 1 กิโลกรัมสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือผ้าเคลือบยางได้ถึง 30 คู่ และชุดวัสดุป้องกันการกัดเซาะตลิ่งจากธรรมชาติ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ชั้นป้องกันการกัดเซาะจากบล็อกประสานรูปแบบใหม่ที่ปรับปรุงคุณสมบัติด้วยน้ำยางพาราและชั้นกรองจากผ้าเคลือบน้ำยางพารา สามารถส่งเสริมให้เกิดการสะสมและสร้างชั้นตะกอนดินบนแผ่นวัสดุ ซึ่งพืชสามารถเจริญเติบโดโดยมีรากช่วยยึดโยงเสริมความแข็งแรงให้กับแนวตลิ่งได้ และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราได้ 2-3 เท่า 

3.สิ่งประดิษฐ์และเครื่องจักร เช่น เครื่องชุบเคลือบถุงมือผ้าด้วยยางพาราแบบกึ่งอัตโนมัติ การทำงานของเครื่องมีการเคลื่อนที่แบบวงกลมเป็นจังหวะ โดยจังหวะหยุดการเคลื่อนที่เป็นจังหวะที่ใช้ในการจุ่มสารเคลือบและขั้นตอนการจุ่มน้ำยาง ซึ่งใช้ระยะเวลา 15-20 วินาทีต่อคู่ มีกำลังการผลิต 300 คู่/8 ชั่วโมง 

และ4.ผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้ในการจราจร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางกันกระแทก” จากยางพารา โดยผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างของยางพาราพร้อมการเสริมแรง  ทำให้ผลิตภัณฑ์ยางกันกระแทก มีสมบัติเชิงกลและความยืดหยุ่นสูง  ทนทานต่อสภาพอากาศในสภาวะเร่งการเสื่อมอายุ ป้องกันการขูดขีด และอันตรายจากอุบัติเหตุต่างๆ จากยานพาหนะ ซึ่งยางกันกระแทก สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ประมาณ 3-4 เท่าจากยางพารา อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้สารปิโตรเคมี ซึ่งมีปัญหาด้านการกำจัด ทำลาย และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save