ไทยผนึกกำลัง 6 ประเทศ มุ่งลดขยะพลาสติกในทะเล


ไทยผนึกกำลัง 6 ประเทศ มุ่งลดขยะพลาสติกในทะเล

กรุงเทพฯ – 13 พฤศจิกายน 2562 : ประเทศไทยพร้อม 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ สหภาพยุโรป (EU) และรัฐบาลเยอรมนี ประสานความร่วมมือในการลดขยะพลาสติกและขยะทะเล ผ่านการเปิดตัว “โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล” หวังเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน การลดปริมาณขยะพลาสติกและขยะในทะเล ตามที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์พลาสติกของสหภาพยุโรป โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 80 ท่านจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ณ ห้องประชุมจี ชั้น 1 ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ

โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล

โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล

โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 10 ล้านยูโร ประมาณ 336 ล้านบาท จาก EU และกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ดำเนินงาน โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับ Expertise France (EF) โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งหมด 3 ปี (พฤษภาคม 2562- เมษายน 2565)

ฯพณฯ เอกอัครราชทูต เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

ฯพณฯ เอกอัครราชทูต เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่าปัญหาขยะถือเป็นปัญหานานาชาติ ทุกเดือนมีการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำอย่างไรจึงจะจัดการขยะเหล่านี้ได้ เริ่มจากการกำจัดตั้งแต่ต้นทาง ไปจนถึงปลายทางคือป้องกันไม่ให้หลุดรอดไปสู่ทะเล ดังนั้นการจัดการขยะจึงเป็นเรื่องของทุกคน นับเป็นโอกาสที่มีโครงการนี้ เพื่อให้การจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้สหภาพยุโรปให้ความสำคัญต่อ Circular Economy โดยในปีพ.ศ.2561 ได้ออกกฎระเบียบเกี่ยวกับ Circular Economy และส่งเสริม Circular Economy โดยเฉพาะการผลิตพลาสติกเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ปกป้องสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ ห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว โดยในปีพ.ศ.2573 ให้ใช้วัสดุรีไซเคิล 90% ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการพยายามผลักดันไปสู่ Circular Economy เพื่อให้การจัดการขยะง่ายขึ้น

“การจัดการขยะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป เพราะขยะในทะเลลอยจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศหนึ่ง ดังนั้นขยะทะเลจึงเป็นความร่วมมือแบบไร้พรมแดน ไม่ได้ทำเฉพาะในประเทศ แต่ทำในประเทศต่างๆในอาเซียนและขยายไปประเทศอื่นๆ ทั้งไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จีน และญี่ปุ่น เป็นการทำงานข้ามพรมแดน ซึ่งจะส่งผลดีต่อระยะยาว” เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าว

ตั้งแต่ปีพ.ศ.2563 สหภาพยุโรปจะห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวจากตลาด กระตุ้นให้เกิด Circular Economy ในกทม.ควรทำลักษณะนี้เช่นกัน สิงคโปร์มีนโยบาย Zero Waste มาเลเซียมีแผนจัดการขยะในปีพ.ศ.2561-2563 เวียดนามมีแผนจัดการขยะเช่นกัน ส่วนจีนเน้น Circular Economy มีการลงนามความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ขณะที่ญี่ปุ่นมีการนำ Circular Economy มาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ และใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“การเลิกใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ทำได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและมีนโยบายเบื้องต้นในการขับเคลื่อนให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยส่งต่อความตระหนักจากรุ่นเราไปสู่รุ่นหลาน เพื่อความยั่งยืนในอนาคต” ฯพณฯ เอกอัครราชทูต เปียร์ก้า ตาปิโอลา กล่าว

สำหรับโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ถือเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนและการปฏิบัติงานระดับโลก โดยสหภาพยุโรปมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศไทย จีน อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ในโครงการฯ ด้วยแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียน และยุทธศาสตร์ยุโรปเพื่อจัดการพลาสติก เราจึงพร้อมก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการออกแบบ การใช้ และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติก และเชื่อมั่นว่าเราสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ของแต่ละประเทศร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างกำลังความร่วมมือในการลดขยะพลาสติกลงสู่ทะเล

ฯพณฯ เกออร์ค ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย

ด้าน ฯพณฯ เกออร์ค ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการฯ นี้พยายามลดขยะโดยเฉพาะขยะกระจายไปสู่ทะเล ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคพยายามแก้ไขปัญหานี้ หลายประเทศร่วมมือกันและสหภาพยุโรปด้วย เพื่อปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

ที่ผ่านมามีการประชุม ASEAN Summit ในกทม. จะเห็นได้ว่าไทยมีความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา และจีน ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปมีความสำคัญไม่น้อยกว่าจีนและสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้สหภาพยุโรปมีเทคโนโลยีความก้าวหน้า โดยเฉพาะ Circular Economy อยากให้รัฐบาลฉายภาพและโฟกัสมาที่สหภาพยุโรปมากขึ้น นอกจากในเรื่องเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนามากขึ้น

ในสหภาพยุโรป เยอรมนีถือเป็นประเทศสมาชิกที่มีขนาดใหญ่ มีความพยายามจัดการสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเห็นความสำคัญของขยะทะเล ด้วยเหตุนี้จึงมีการออกกฎหมายมากมาย เช่น การจัดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ให้มีการใช้พลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในปีพ.ศ.2561 เยอรมนีลดการพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวในเยอรมนีจาก 45% เหลือ 20% ในปีพ.ศ.2562 กระทรวงเศรษฐกิจและกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเยอรมนีในส่วนของภาคีฝั่งภาครัฐได้พูดคุยกับผู้ผลิตเพื่อที่จะหากระบวนการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในเยอรมนีทำสำเร็จแล้ว แต่ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ล่าสุดในวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เยอรมนีเริ่มห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวในบางรายการ โดยมีเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการผลิตในรูปแบบอื่นๆ และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการโดยสมัครใจ

สำหรับประเทศไทยถือว่าเริ่มต้นและไปได้ไกลในเรื่องการลดใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว แต่อยากให้มีการพัฒนาในเชิงผลผลิตมากขึ้น มีการตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยที่ภาครัฐจะต้องออกกฎระเบียบ และรับฟัง Feedback จากผู้ประกอบการด้วย เพื่อที่จะได้ออกกฎระเบียบที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ดังนั้นการทำงานด้านพลาสติกจะต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย พลาสติกเข้าสู่ Food Chain มีการปนเปื้อน รวมทั้งการเผาพลาสติก ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ เป็นปัญหาลูกโซ่ เนื่องจากทุกอย่างสัมพันธ์กัน
“อย่างไรก็ตาม พลาสติกมีประโยชน์มากมาย ทั้งทางด้านยาและทางการแพทย์ รวมทั้งอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ จึงพยายามบอกว่า อย่ามองพลาสติกเป็นผู้ร้าย แต่ควรใช้ตามความจำเป็นอย่างเหมาะสมและมีบริหารจัดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ” ฯพณฯ เกออร์ค ชมิดท์ กล่าว

สำหรับโครงการฯ นี้ มีองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการร่วมกับ Expertise France (EF) เน้น Circular Economy ที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไปในแต่ละด้าน เนื่องจาก Circular Economy สามารถตีความได้แตกต่างกัน และทำได้หลายบริบท เช่น Green Procurement ในส่วนของ GIZจัดทำ Green Procurement Guideline ซึ่งหลายองค์กรสามารถนำมาปรับใช้ เช่น สถานทูตเยอรมันก็นำมาใช้ตาม Guideline ส่วนขยะทะเล จะมีองค์ประกอบ เช่น Co – Financing มีการร่วมทุนจากหลายๆ ส่วน นอกจากงบประมาณ ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายองค์กรให้ความรู้อีกด้วย

“ประเทศเยอรมนีมีความร่วมมือกับประเทศไทยมายาวนานและประเทศภาคีอื่น ๆ รวมทั้งเรายังสนับสนุนให้มีการจัดการขยะอย่างยั่งยืนและการนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ทั่วโลก กิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือมากขึ้น ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เราต้องมุ่งเน้นไปที่การหลีกเลี่ยง การรวบรวม การรีไซเคิลและการทิ้งขยะพลาสติกไปพร้อมกัน แทนที่จะปล่อยขยะต่าง ๆ เหล่านี้ลงสู่ทะเล จุดมุ่งหมายที่สำคัญของเราก็คือ พลาสติกจะต้องลดลง ถูกนำกลับมาใช้ซ้ำและรีไซเคิล ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล เราจะสามารถแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกตามเป้าที่เราวางไว้” เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าว

ประลอง ดำรงค์ไทย

ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานความร่วมมือหลักของโครงการฯ กล่าวว่า บางทีเราลึมว่าเราก็มีส่วนการสร้างขยะ การคิดง่ายแต่ทำจริงไม่ใช่เรื่องง่าย ทำอย่างไรให้ประชาชนคิดในทางเดียวกัน คนไทย 7 ล้านคนชอบความสะดวกสบาย ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ในร้านสะดวกซื้อ 7-eleven และห้างสรรพสินค้าทั้ง.47 แห่ง จะงดการให้ถุงพลาสติก ซึ่งทั้งหมดนีคิดเป็น 30% ของถุงพลาสติกหลายล้านใบต่อปี อีก 70% ซึ่งมีจำนวนมหาศาล จะทำอย่างไร เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้มากที่สุด
“จุดเริ่มต้นอยู่ที่พวกเราทุกคนจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิด โดยให้ทุกคนมีจุดหมายเดียวกัน คือ การลดขยะสู่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งทะเลและมหาสมุทร” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว

ในส่วนของภาครัฐ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากและพยายามผลักดันนโยบายออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยกรมควบคุมมลพิษได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ขึ้น ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และห้ามใช้ Microbead และสารออกโซ (Auxo) เมื่อพลาสติกย่อยสลายแล้ว จะเป็น Microplastic หรือพลาสติกที่หุ้มฝาพลาสติก รวมทั้งโฟม ส่วนหลอด มีการใช้หลอดกระดาษมากยิ่งขึ้น ค่อยๆ ห้ามไปทีละรายการ ในปีพ.ศ.2570 จะเลิกใช้พลาสติกที่หนาน้อยกว่า 36 ไมครอนให้ได้100% ส่งผลให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบายของ Roadmap ในประเทศไทยเพิ่มเติม

“เราหวังว่าประเทศไทยจะได้รับองค์ความรู้และการสนับสนุนจากโครงการฯ เพื่อมาดำเนินการกับ Roadmap นี้ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ลดการใช้ถุงพลาสติก ในปีหน้าจะทำงานร่วมกันกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติอก เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตพลาสติก พร้อมทั้งสร้างความตระหนักในระยะยาวว่าคนไทยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้พลาสติก นอกจากนี้จะมีการใช้เครื่องมือในการลดการใช้พลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว

อาวาโร ซุริตา

อาวาโร ซุริตา ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการร่วมกับ Expertise France ชี้แจงขอบเขตการดำเนินงานของโครงการฯ ว่า“โครงการฯ จะให้คำปรึกษาและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งครอบคลุมเรี่องการจัดการขยะพลาสติก การบริโภคและการผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืน การลดปริมาณขยะ ณ แหล่งทิ้งขยะลงสู่ทะเล ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำหรือขยะที่มาจากเรือ นอกจากนี้เรายังสนับสนุนโครงการนำร่อง เพื่อเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ดี และเรามีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

โครงการเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมทีผ่านมา ในช่วง 6 เดือนแรกของโครงการได้มีการประชุมโครงการ มีการระดมความคิด ติดต่อหน่วยงานต่างๆ ศึกษาวิจัยเบื้องต้นและวางแผน Workshop มีทีมงานในแต่ละประเทศ และมี Expertise Team ที่แยกทำงานเฉพาะ ทั้งนี้ตั้งแต่สัปดาห์จะเริ่มทำงานอย่างจริงจัง มีการเลือกพื้นที่ทำ Pilot Project ในแต่ละประเทศ

“ประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมเริ่มตื่นตัวในการใช้พลาสติก หลายประเทศให้ความสำคัญมากขึ้น นับเป็นโอกาสที่ดีในการตีเหล็กในช่วงไฟกำลังร้อน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย Roadmap และ Action Plan ในแต่ละประเทศ เพื่อผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม หลายประเทศยังต้องการองค์ความรู้ และงบประมาณ ซึ่งจะต้องศึกษาเพื่อให้การสนับสนุนในโอกาสต่อไป ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนฯ GIZ กล่าว

ขยะพลาสติก

การที่ประเทศไทยจะห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวในต้นปีหน้า ในเรื่องนี้ GIZ ได้มีการหารือกับกรมควบคุมมลพิษถึงความพยายามในการหาทางเลือกทดแทนการใช้พลาสติก โดยจัด Study Tour ศึกษากระบวนการผลิต เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้งานของผู้บริโภค ขณะเดียวกันให้ผู้ผลิตตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

การร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหามลพิษพลาสติก

พร้อมกันนี้ ได้มีการจัดเวทีเสวนากลุ่มที่เปิดโอกาสให้ตัวแทนของประเทศในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มะ จินจิน ผู้อำนวยการ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศของสมาคมเศรษฐกิจหมุนเวียน (CACE) ประเทศจีน อูจัง โสลิฮิน สิดิก รองผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าและบรรจุภัณฑ์ คณะกรรมการการจัดการขยะ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ ประเทศอินโดนีเซีย เอลิกิโอ อิลเดอฟอนโซ หัวหน้าทีมฟื้นฟูอ่าวมะนิลาของสำนักงานการจัดการสิ่งแวดล้อมประเทศฟิลิปปินส์ วุฒิชัย แก้วกระจ่าง เจ้าหน้าที่อาวุโส กรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทย และเหงียนเลอวินห์ เจ้าหน้าที่กระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศเวียดนามเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การทำงานและการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการกับปัญหาขยะทะเลและลดขยะพลาสติกร่วมกับโครงการฯ

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอ “แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและพลาสติก: การวิเคราะห์ช่องว่างในประเทศสมาชิกอาเซียน”การวิเคราะห์ช่องว่างเป็นผลจากความร่วมมือของสหภาพยุโรปและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในเรื่องปัญหามลพิษพลาสติก ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการจัดการขยะทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save