“คิดต่างอย่างสร้างสรรค์ สร้างงานวิจัยขายได้เชิงพาณิชย์”
หากเอ่ยถึงผลงานวิจัย “บ้านปราชญ์เปรื่อง ด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ แนวคิดบ้านอัจฉริยะแบบใหม่ (New Smart Home Concept)” โดย รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จักและกำลังให้ความสนใจในผลงานวิจัยนี้ ด้วยเป็นผลงานที่สร้างประโยชน์ต่อสาธารณะทำให้การใช้ไฟฟ้าและการตรวจสอบความผิดปกติภายในบ้านปลอดภัย และยังช่วยประหยัดไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากผลงานวิจัยชิ้นนี้แล้ว เส้นทางการศึกษาและการทำงาน รวมทั้งแนวคิดของรศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ มีความ น่าสนใจ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดี ด้านวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวน่าจะช่วยจุดประกายให้เกิดการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างแพร่หลายและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ทำความรู้จัก รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์
รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาจากอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อในระดับปวช.สาขาช่างไฟฟ้าที่วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ ด้วยต้องการเรียนจบแล้วออกมามีอาชีพหารายได้ช่วยเหลือทางบ้าน แต่ขณะที่เรียนเกิดความชอบ ทำให้ได้เกรดที่ดี จึงทำให้ได้โควต้าในระดับปวส.ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา ในปีพ.ศ.2535 หลังจากเรียนจบในระดับปวส.ทางวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมาได้ให้ทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ซึ่งขณะนั้น (มทร.) ธัญบุรี ถือเป็นศูนย์กลางของมหาวิทยาลัยราชมงคลทั้งหมดของประเทศ ด้วยผลการเรียนดี ทำให้ รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาโทวิศวกรรมไฟฟ้าที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีพ.ศ. 2539 ต่อมาในปีพ.ศ.2541 ได้มีโอกาสไปศึกษาในระดับปริญญาโท วิศวกรรมไฟฟ้าอีกใบที่ประเทศแคนาดา และเมื่อสำเร็จการศึกษาได้กลับมาใช้ทุนตามระบบ โดยเป็นอาจารย์สอนที่ มทร. ธัญบุรี จากนั้นในปีพ.ศ.2544 ได้รับทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าที่ประเทศเยอรมนีจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อศึกษาจบในปีพ.ศ.2547 ได้กลับมาเป็นอาจารย์ใช้ทุนที่มทร.ธัญบุรี ในระหว่างทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนนิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรี และปริญญาโทนั้น รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ก็ได้ทำงานวิจัยควบคู่กันไปด้วยโดยเฉพาะด้านไฟฟ้าที่ถนัดจนถึงปัจจุบัน
พัฒนาบ้านปราชญ์เปรื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์เฟส 4 ประหยัดไฟได้ถึง 80-90%
สำหรับผลงานวิจัยเรื่อง “บ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 ปฏิวัติอุตสาหกรรมการใช้ไฟฟ้าและการป้องกันภัย” ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ได้ย้อนรอยถึงที่มาของโครงการฯ ว่า เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาได้มีแนวคิดในการทำวิจัยเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะเรื่องไฟฟ้าเพื่อให้เข้ากับยุคที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ Smart Cityให้หัวข้อวิจัยเรื่อง “บ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 ปฏิวัติอุตสาหกรรมการใช้ไฟฟ้าและการป้องกันภัย” ขึ้น จนกระทั่งได้รับทุนวิจัยจากโครงการขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) โดยนำทุนวิจัยมาต่อยอดเป็นบ้านปราชญ์เปรื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) หรือ แนวคิดบ้านอัจฉริยะแบบใหม่ (New Smart Home Concept) ปัจจุบันได้พัฒนาถึงเฟส 3 คือ พัฒนาให้มีขนาดที่เล็กลงไม่ใหญ่จนเกินไป ใช้งานง่าย มีการจัดการรูปแบบที่ง่าย สามารถที่จะควบคุมได้ ช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ 50-70% โดยได้รับเงินทุนวิจัยเพิ่มเติมอีกจาก สวทช.ในการต่อยอดงานวิจัย และในกลางปีนี้ จะพัฒนาเฟส 4 สามารถประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 80-90%
บ้านปราชญ์เปรื่องคำนวณการใช้ไฟ แยกการใช้ไฟอย่างเป็นระบบ
ในช่วงแรกที่ได้รับทุนจาก กสทช. เพื่อคิดค้นและทดลองระบบเพียงบ้านเดียว แต่เมื่อศึกษาคิดค้นและทำงานอย่างต่อเนื่อง พบว่าควรที่จะสร้างระบบการทำงานในภาพใหญ่ขึ้น โดยผลงานวิจัยบ้านปราชญ์เปรื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีการติดตั้งตู้รวมไฟฟ้าสมองกลอัจฉริยะทำหน้าที่คล้าย CPU (Central Processing Unit) หลักของบ้าน ทำหน้าที่จับตัวคลื่นไฟฟ้าโดยตรง พร้อมควบคุมป้องกัน และจัดการไฟฟ้า ที่จ่ายไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้การใช้ไฟฟ้าปลอดภัยเหนือกว่าบ้านอัจฉริยะ ที่สั่งงานอุปกรณ์ภายในบ้านผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากระบบใหม่นี้จะเพิ่มเรื่องความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้าเข้าไปด้วย โดยตู้รวมไฟฟ้าจะเก็บข้อมูลการใช้พลังงานไว้ในระบบคลาวด์ (Cloud) เพื่อสังเคราะห์ ตรวจจับการใช้ไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้า และระบบยังช่วยตรวจสอบความผิดปกติการใช้ไฟฟ้าได้อีกด้วย คล้ายๆกับกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ จากแนวคิดบ้านหนึ่งหลังซื้อกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ 1 กล่องติดตั้งเฉพาะจุด เมื่อนำไปติดตั้งที่บ้านจะพบว่าจะมีการติดตั้งมากกว่า 1 กล่อง ทำให้การใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเกิน แต่บ้านปราชญ์เปรื่องนี้จะดูแลไฟฟ้าครอบคลุมหมู่บ้าน มีมาตรวัดเป็นตัวคำนวณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมู่บ้าน มีตัวล็อกติดตั้งในกล่องบ้านปราชญ์เปรื่องนี้ ในตัว Home Cloud และมีการจัดการเป็น Home Master ซึ่งจะคำนวณการใช้ไฟฟ้า เพื่อให้ทราบการใช้ไฟฟ้าแต่ละบ้าน การเก็บพลังงานเป็นอย่างไร และมีการรองรับการใช้งานนั้นอย่างไร
“การทำเป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ จะควบคุมทั้งแอร์ และไฟฟ้าในแต่ละจุด หากตู้หนึ่งมีเซอร์กิตเบรกเกอร์ควบคุม 10 จุด ก็จะควบคุมไฟฟ้าที่ใช้เกินในแต่ละจุดตามที่กำหนดได้ โดยระบบจะใช้ AI สังเคราะห์สัญญาณ ประมวลสัญญาณทุก ๆอย่างในบ้าน พยากรณ์ออกมาเป็นการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวันว่าแต่ละจุดใช้ไปเท่าใด เดือนนี้ใช้ไฟฟ้าเกินบ้างหรือไม่อย่างไร ซึ่งระบบจะจัดเก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ แล้วประมวลผลไว้ในระบบเพื่อนำมาใช้ต่อไป
“ที่ใส่คำว่าปราชญ์เปรื่องลงไปนั้น เพราะเป็นสมองกลที่คิดค้นใส่ลงไปในบ้าน ทำให้เกิดบ้านปราชญ์เปรื่องคำนวณการใช้ไฟ แยกการใช้ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ หากต้องการใส่รายละเอียดอื่น ๆเพิ่มเติมลงไปในกล่อง”
คิดต่างอย่างสร้างสรรค์ สร้างงานวิจัยขายได้เชิงพาณิชย์
ขณะนี้มีการนำร่องติดตั้งไปมากกว่า 58 กล่อง ในหมู่บ้านจัดสรร โรงเรียน และสถานที่ราชการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปทุมธานี หากสามารถขยายไปสู่ระดับประเทศจะช่วยให้ประหยัดพลังงานได้อย่างมหาศาล ซึ่งปัจจุบันนี้ได้รับทุนวิจัยจาก สวทช.นำมาต่อยอดในการคิดค้นงานวิจัยนี้ให้ก้าวหน้า เหมาะสำหรับการใช้งานในแต่ละบ้านมากยิ่งขึ้น เพราะบ้านแต่ละหลังมีการใช้ปริมาณไฟฟ้าที่แตกต่างกัน และช่วงการใช้งานที่ต่างกัน
“ผมจะไม่ทำวิจัยเรื่องที่มีอยู่แล้ว ผมจะทำเรื่องใหม่ โดยทำงานวิจัยร่วมกับนักศึกษา อันไหนที่นักศึกษาทำได้ก็ทำไป อันไหนที่นักศึกษาทำไม่ได้ก็จะไปทำร่วมกับบริษัท ส่วนใหญ่งานวิจัยที่ทำจะเป็นงานวิจัยที่ขายได้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศไทยที่จะสร้างงานวิจัยที่ขายได้มาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ เพราะยังขาดองค์ความรู้ ขาดการสนับสนุน และที่สำคัญขาดบุคลากรที่จะมาทำงานวิจัยร่วมกัน”
ตั้งใจทำงาน พร้อมเรียนรู้ สูตรของความสำเร็จ
รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ มองว่าตนเองไม่ใช่นักปรัชญาแต่เป็นคนที่ตั้งใจทำงานหรือทำงานวิจัยใด ๆแล้วต้องทำให้ สำเร็จ โดยพยายามทำในสิ่งที่ยังขาด ขณะเดียวกันก็จะไม่ทำงานตามหลังคนอื่น สมมุติว่ามีโครงการใหม่ๆในองค์กรก็จะกำหนดกลยุทธ์ในการทำงานใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์รวม เพื่อทำให้องค์กรดีขึ้น ก่อนขยายไปสู่ในระดับประเทศ ในการเรียนการสอนนั้นก็เช่นกันค่อยๆสอนร่วมทำงานกับนิสิตนักศึกษาที่พร้อมทำงานเป็นทีมทั้งในห้อง Lab และรายงานผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยต่าง ๆ นอกจากนี้จะพยายามสร้างเครือข่ายในกลุ่มเพื่อนๆที่เรียนด้านวิศวกรรมไฟฟ้ามาด้วยกัน งานวิจัยที่เคยทำร่วมกับสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งเครือข่ายสถาบันไฟฟ้าที่เคยเข้าไปร่วมทำงาน หากมีปัญหา ข้อสงสัยจะได้ขอคำแนะนำปรึกษาได้
“ปัญหานั้นมีมาให้แก้ไขอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในระดับผู้บริหารย่อมจะมีมากกว่าระดับปกติ ผมค่อนข้างโชคดีที่มีทีมงานมีลูกน้องที่ดีที่ร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งนี้สังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบสบาย Comfort Zone วิธีการที่จะทำให้เกิดผ่อนคลายจาก Comfort Zone คือต้องฉีกออกมาจาก Comfort Zone แล้วหาทางทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ ถ้าเราไม่ทำ คนอื่นทำ เราก็จะสูญเสียโอกาสในการพัฒนาตนเอง พัฒนาผลงานให้ตนเอง ทีมงาน มหาวิทยาลัยและประเทศชาติ มีโอกาสในการแข่งขันในทุก ๆเรื่อง และเมื่อประสบความสำเร็จแล้วจะค่อยๆหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทำงานที่ถนัดในเรื่องเดียวกัน ถ้าเป็นอาจารย์ก็แยกออกมาทำอะไรที่ไม่ใช่สอน เช่น ทำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ งานบัญชีผมไม่เคยทำ ผมก็พยายามเรียนรู้ ส่วนงานด้านการเรียนหลักสูตรต่าง ๆคือผมจะลงมือทำแล้วนำมาทำให้คนอื่น ๆดูเป็นตัวอย่างเพื่อที่จะได้นำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม”
นอกจากนี้ยังนำหลัก Logic ในการเรียนวิศวกรรมศาสตร์เรื่องความมีเหตุมีผลมาใช้ในการทำงานและผสมผสานประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาสังเคราะห์ เพื่อใช้ทำงาน การใช้ชีวิต พร้อมทั้งหมั่นหาความรู้เพิ่มเติม สิ่งใดที่รู้จริงอยู่แล้วต้องศึกษาให้รู้ยิ่งขึ้นเพื่อที่จะถ่ายทอดให้คนอื่นๆนำไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่น การที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือ ที่ปรึกษาโครงการวิจัยต่าง ๆ จะมีอุปสรรคตรงที่การเป็นอาจารย์เขาจะให้ความเชื่อถือมั่นใจ หากทำอะไรออกไปเขาจะยอมรับ ฉะนั้นจำเป็นต้องมีการศึกษา คิดค้นจากตำราที่นำมาอ้างอิงงานวิจัยหลายๆครั้ง เพื่อให้ได้ผลสำเร็จที่แท้จริง
แนะรัฐบาลสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์พัฒนาประเทศ สอดรับนโยบาย Thailand 4.0
รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ กล่าวว่า การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management) ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับการทำงานในแต่ละส่วน ถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยพัฒนาบุคลากรรองรับในส่วนงานต่าง ๆ ควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์ของประเทศ พร้อมทั้งนำเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพมาลดค่าใช้จ่ายในการทำงาน สร้างผลิตผลในการทำงาน โดยเฉพาะสินค้าที่ละเอียดอ่อน รองรับช่วงชีวิตสังคมสูงวัย ทั้งนี้ คาดว่าตั้งแต่ปีพ.ศ. 2565 เป็นต้นไป ประเทศไทยและในหลายๆประเทศทั่วโลก จะมีผู้สูงวัยมากขึ้น ดังนั้นการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมสมัยใหม่จะช่วยตอบโจทย์ตลาด และสามารถจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้มากยิ่งขึ้น
ในส่วนของรัฐบาลไทยควรจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ให้มากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์มาช่วยพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้าไปพัฒนาพื้นที่ พัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จะนำไปใช้ เป็นต้น สำหรับการขาดแคลนบุคลากร ไม่ใช่เฉพาะในระดับวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ และนักบริหารเท่านั้น แต่ประเทศไทยยังขาดกำลังคนในระดับช่างเทคนิค ปวช.และปวส. เยอะมาก จึงต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ ซึ่งสูญเสียงบประมาณในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก จึงต้องเร่งหาแนวทางและมาตรการฟื้นฟูส่งเสริมการศึกษาของไทยให้พร้อม
“การเรียนรู้ตลอดชีวิต ทุกคนอาจจะมองว่าศิวิไลซ์ แต่จริงๆไม่ใช่ เพราะในสังคมไทย แยกออกเป็นหลายสังคมมาก จำเป็นต้องมีการจัดการความรู้ให้แต่ละสังคม ให้คนในแต่ละช่วงอายุได้มีโอกาสเรียนรู้ตามความเหมาะสมและสมควร เช่น ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในขณะนี้จบออกมาแล้ว ส่วนใหญ่จะทำงานโรงงานกันเกือบหมด มีน้อยมากที่จะเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย หรือสายอาชีพอื่น ๆ ซึ่งเมื่อเข้าไปทำงานในโรงงานแล้ว มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีโอกาสหรือคิดที่จะศึกษาต่อเพราะไม่มีเวลา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ต้องหาเลี้ยงชีพต้องมีรายได้จึงทำงานก่อนที่จะเรียน อยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลให้การศึกษาทั่วถึงเข้าถึงสำหรับกลุ่มคนในโรงงานและอื่น ๆ โดยปรับเปลี่ยนเป็นการเรียนในระดับที่เรียนที่ไหนก็ได้ เสริมทักษะที่ต้องใช้การประกอบอาชีพอย่างมั่นคง โดยให้มีการเรียนรู้ที่เป็น Transform มีประสบการณ์ ไม่จำกัดว่าจะต้องใช้เวลาจบกี่ปีเหมือนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการเรียนไม่ควรกำหนดว่าจะต้องจบใน 8 ปี ต้องให้เขาจบออกมาไม่ว่าจะเกิน 8 ปี แต่ต้องจบออกมาแบบเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ และยิ่งสมัยนี้เด็กไทยเรียนสายวิทยาศาสตร์น้อยลงทำให้การคิดค้นสิ่งต่าง ๆน้อยลงตามไปด้วย เมื่อเทียบกับในต่างประเทศที่หลายๆประเทศที่มุ่งปลูกฝังการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งอายุ 15 ปี เพื่อใช้ความรู้วิทยาศาสตร์คิดค้นงานวิจัยใหม่ๆ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ เช่น สหภาพยุโรป เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีเด็กที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ เทียบกับด้านบริหารประมาณ 50: 50 ”
จับตาเทรนด์ Smart Home และบทบาทของ AI ในอนาคต
รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ยอมรับว่า ในอนาคตจะมีการนำเทรนด์ Smart Home และ AI มาใช้และปรับเปลี่ยนตามช่วงอายุของบุคลากรในสินค้าแต่ละประเภทมากขึ้น โดยเฉพาะยิ่งประเทศไทยที่มีจำนวนประชากรเข้าสู่วัยสูงอายุมากขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องคิดค้นเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อรองรับผู้สูงอายุมากขึ้น ที่เน้นความปลอดภัย ใช้งานไม่ยุ่งยาก เช่น มีการควบคุมการเปิด-ปิดใช้ไฟฟ้าเฉพาะจุด การใช้ AI ในการดูแลผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยจะต้อง คิดค้นเองไม่ใช่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เพราะจะเป็นการเสียเงินและเสียโอกาสมากกว่าจะได้ประโยชน์
“คนไทยเก่งๆมีเยอะแต่ขาดการสนับสนุน ดังนั้นภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทสนับสนุน ต้องเสริมการเรียนรู้ เพื่อเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียนให้ได้ อีกอย่างที่ประเทศไทยต้องเร่งทำคือ การเอาคนออกจาก Comfort Zone ให้ได้ โดยนำคนเรียนเก่งสอบได้อันดับที่หนึ่ง และอันดับที่สอง ไปเป็นครูหรือนักกฎหมายเพื่อสอนคนรุ่นต่อไปให้มีความรู้ เที่ยงธรรม มีความซื่อสัตย์ในการเรียนและการทำงานพัฒนาประเทศ ส่วนคนที่สอบได้อันดับที่ 3 และอันดับที่ 4 ควรไปเรียนแพทย์ เพราะการทำงานย่อมจะมีคนเก่งในหมู่คนไม่เก่งผสมผสานกัน จะให้มีเก่งทั้งกลุ่มเพื่อมาช่วยกันทำงานทำ Lab คงไม่ได้ ด้วยแต่ละคนมีพื้นฐานความรู้ที่ไม่เท่ากัน มีความเก่งความชำนาญเฉพาะด้านที่ไม่เหมือนกัน การสังเคราะห์ข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลจึงแตกต่างกัน ดังนั้น ต้องสนับสนุนคนให้เรียนรู้รอบด้านเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องคำนึงถึงการทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป” รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ กล่าวทิ้งท้าย
โดย กองบรรณาธิการ