วสท.-สภาวิศวกร-สภาสถาปนิก เสนอนำ “ข้อกำหนดมาตรฐาน BIM Standard ของสภาวิศวกร” ยกร่างเป็นมาตรฐานวิชาชีพของไทย


วสท.-สภาวิศวกร-สภาสถาปนิก เสนอนำ “ข้อกำหนดมาตรฐาน BIM Standard ของสภาวิศวกร” ยกร่างเป็นมาตรฐานวิชาชีพของไทย

ปัจจุบันผู้ประกอบการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยได้นำเทคโนโลยีระบบ Building Information Modeling (BIM) ซึ่งเป็นระบบการก่อสร้างที่สร้างแบบจำลองเสมือนจริงในคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในงานมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการออกแบบ การก่อสร้าง และการพัฒนาโครงการ รวมทั้งช่วยให้ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และลดปัญหาความขัดแย้งของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่มีการกำหนดกรอบการใช้ BIM จากสภาวิชาชีพที่กำกับดูแล ดังนั้น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พร้อมด้วยสภาวิศวกร สภาสภาปนิก สมาคมและเครือข่ายอุตสาหกรรมก่อสร้าง จึงร่วมกันจัดเวทีเสวนาเรื่อง “ข้อกำหนดมาตรฐาน BIM Standard ของสภาวิศวกร” ขึ้น เพื่อเสนอแนวทาง ข้อกำหนดต่างๆ นำไปสู่การยกร่างเป็นมาตรฐานที่จะใช้ในการปฏิบัติวิชาชีพในประเทศไทย นำไปสู่การยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการก่อสร้างระดับสากล

กิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์

เทคโนโลยี BIM เครื่องมือสำคัญในงานก่อสร้างรับยุค Digital Construction

กิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ เหรัญญิกและประธานอนุกรรมการสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์ สภาวิศวกร กล่าวว่า ปัจจุบันการทำงานของวิศวกรก่อสร้าง ผู้ควบคุมงาน สถาปนิก ผู้ออกแบบงานก่อสร้าง ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าของโครงการก่อสร้าง ได้นำเทคโนโลยีระบบ Building Information Modeling (BIM) เข้ามาใช้มากขึ้น จากในอดีตเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมานิยมใช้การออกแบบด้วยแบบพิมพ์เขียวแปลนโครงการต่าง ๆ แบบหยาบ ๆ ก่อนแล้วทำการแก้แบบตามที่ผู้พัฒนาโครงการแต่ละแห่งต้องการ รวมทั้งมีการแก้แบบระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ทำให้เกิดความล่าช้า อีกทั้งการตรวจรับงานต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจ รวมทั้งการรับประกันระบบก่อสร้างโครงสร้างภายในหากเกิดปัญหาการใช้งานขึ้นในอนาคตจะต้องมีวิธีการแก้ไขอย่างไรบ้าง ทำให้โครงการหนึ่ง ๆ กว่าจะผ่านออกมาแล้วใช้งานได้ใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่เมื่อนำระบบ BIM เข้ามาใช้ในการก่อสร้าง ทั้งที่เป็น BIM จากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และในเอเชียด้วยกันช่วยให้การทำงานมีความรวดเร็วขึ้นกว่า 20% เนื่องจากเป็นระบบมาตรฐานที่คำนวณการทำงานทุกอย่างตามข้อมูลจริง ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการก่อสร้างโครงการแต่ละแห่ง มีข้อมูลที่พร้อมให้รายละเอียดแยกการก่อสร้างแต่ละเฟสแต่ละชั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้อิฐ หิน ปูน เหล็ก เทปูนซีเมนต์บริเวณฐานราก เทปูนซีเมนต์ในแต่ละชั้นมีความหนาเท่าใด การก่อสร้างลดพลังงานและก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เป็นต้น

BIM เป็นเครื่องมือก่อสร้างแบบจำลองเสมือนจริงที่เปลี่ยนจากการสร้างแบบบนกระดาษมาสู่เทคโนโลยีดิจิทัลโดยใช้คอมพิวเตอร์ ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ลดต้นทุน มีทางเลือกในการเลือกใช้วัสดุสำหรับก่อสร้างที่หลากหลายขึ้น การประสานงานของผู้ร่วมงานทุกฝ่ายทำงานบนแพลตฟอร์มที่มีข้อมูลเชื่อมโยงถึงกันด้วยโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม บนมาตรฐานที่เป็นสากลและเป็นที่ยอมรับของประเทศต่าง ๆ” กิตติพงษ์ กล่าว

วสท. จับมือ 2 สภาวิชาชีพนำข้อกำหนดมาตรฐาน BIM Standard ของสภาวิศวกร

วสท. จับมือ 2 สภาวิชาชีพนำข้อกำหนดมาตรฐาน BIM Standard ของสภาวิศวกรยกร่างเป็นมาตรฐานวิชาชีพของไทย

แม้ว่า BIM จะเป็นเครื่องมือก่อสร้างสำคัญในการก่อสร้างในปัจจุบัน และผู้ประกอบการในวงการก่อสร้างไทยใช้เทคโนโลยี BIM มาหลายปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรฐาน BIM จากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีข้อกำหนดนโยบาย ข้อกำหนด ข้อบังคับ โมเดลการทำงานที่เป็นแบบแผนมาตรฐานที่ชัดเจน อาจจะมีที่ใช้กันอยู่เฉพาะผู้ประกอบการก่อสร้างต่าง ๆ ในบริษัทตนเอง เนื่องจากชุดคำสั่ง BIM มีราคาต้นทุนสูง และในแต่ละประเภทการใช้งานมีความแตกต่างกับการก่อสร้างในประเทศไทยเมื่อนำมาใช้จะไม่คุ้มทุน

ด้วยเหตุนี้ วสท. สภาวิศวกร และสภาสถาปนิก ร่วมกับสมาคมและเครือข่ายอุตสาหกรรมก่อสร้าง จึงได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาเรื่อง “ข้อกำหนดมาตรฐาน BIM Standard ของสภาวิศวกร” ขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็น เสนอแนวทาง ข้อกำหนดต่าง ๆ นำไปสู่การยกร่างเป็นมาตรฐานที่จะใช้ในการปฏิบัติวิชาชีพ ซึ่งเป็นมาตรฐานของประเทศไทยสู่การยอมรับในวงการก่อสร้างในประเทศไทย ในระดับภูมิภาคอาเซียนและในระดับสากลมากยิ่งขึ้น

เวทีเสวนาเรื่อง “ข้อกำหนดมาตรฐาน BIM Standard ของสภาวิศวกร”

เผย4 ปีมี BIM Standard in the World ประมาณ 116 รายการ

ทรงพล ยมนาค คณะกรรมการ Building Information Modeling Guide สภาสถาปนิก กล่าวว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2562 BIM Standard in the World มีประมาณ 116 รายการที่เป็นมาตรฐานในเรื่องต่าง ๆ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา 47 รายการ ยุโรป 34 รายการ และเอเชีย 35 รายการ ส่วนในประเทศไทยยังไม่มี BIM ที่เป็นมาตรฐานในการก่อสร้างของประเทศประกาศใช้ อาจจะมีบ้างในบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนในการซื้อ BIM จากต่างประเทศมาศึกษาและใช้งานจริงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเพื่อนำมาปรับใช้งานให้มีประสิทธิภาพ เกิดความสะดวก ลดต้นทุน ลดการใช้แรงงาน และบูรณาการทำงานมากขึ้น แต่คาดว่าจากนี้ต่อไปจะมีการใช้ BIM เพิ่มขึ้นอีกหลาย ๆ รายการ เพราะโลกมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในทุก ๆ ด้าน ไม่เว้นแม้แต่วงการก่อสร้าง หากประเทศไทยไม่มีเทคโนโลยี BIM เป็นของตนเองก็จะต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อ BIM จากต่างประเทศมาใช้อย่างต่อเนื่อง

2 ปีที่แล้ว องค์กรวิชาชีพกำหนดรูปแบบ BIM ติดข้อจำกัดเทคโนโลยี-เครื่องมือใช้ควบคุมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

สำหรับในประเทศไทย องค์กรวิชาชีพที่กำกับดูแลผู้ประกอบการก่อสร้าง วิศวกรก่อสร้างได้มีการพูดคุยเพื่อกำหนดรายละเอียดรูปแบบ BIM ขึ้นใช้เองสำหรับวงการก่อสร้างไทยเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่อง เทคโนโลยีและเครื่องมือต่าง ๆ ที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ควบคุมการทำงานให้เป็นมาตรฐานแบบเดียวกัน เช่น แพลตฟอร์ม ซอฟต์แวร์ต่าง ๆควรเป็นแบบเดียวกันทั้งทีมงานเพื่อให้การทำงานสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการรวบรวมรายละเอียดต่าง ๆ ที่ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น 1) แผนการดำเนินการโครงการ Project Execution Plan : PEP) ต้องพัฒนาจากระดับง่ายไปสู่ระดับยาก และต้องทำความเข้าใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เจ้าของโครงการผู้เป็นเจ้าของเงินทุนก่อสร้าง ผู้บริหารทุกฝ่าย รวมไปจนถึงผู้รับเหมาก่อสร้างรายวัน ให้เข้าใจแผนการทำงานเพื่อให้งานสำเร็จตามแผนการดำเนินงานที่วางเอาไว้ 2) วิธีการสร้างแบบจำลองโมเดลในการทำงาน (Modeling Methodology : MM) ร่วมกันร่างการทำงานของแต่ละทีมทั้งเจ้าของโครงการ ผู้รับเหมาก่อสร้าง และอื่น ๆ ปรับจูนการทำงานให้มีความเข้าใจตรงกันพร้อม ๆ กับช่วยกันแก้ปัญหาระหว่างการทำงานจริง 3) ระดับการพัฒนารายละเอียดและกระบวนการทำงาน BIM (Levels of Development : LOD) ให้คนร่วมงานในทีมเข้าใจและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และ 4) การจัดระเบียบข้อมูล (BIM Protocol and Information Organization : P&O) มีการวางแผนการทำงานเป็นขั้นตอน ก่อนและหลัง งานอะไรควรทำก่อนและงานอะไรควรทำหลัง เพื่อลดการสูญเสียทุกรูปแบบ เป็นต้น

“ที่สำคัญคือ ทัศนคติในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ต้องใส่ใจและทำความเข้าใจในรูปแบบการทำงาน และเหตุผลของการปรับเปลี่ยนที่จะมีผลต่อการก่อสร้างในอนาคต เชื่อว่าทุกคนที่ร่วมทำงานอยากเห็นโครงการของตนเองเป็นที่ชื่นชมและใช้บริการโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ ไปชั่วลูกชั่วหลาน รวมทั้งการถ่ายทอดรูปแบบการก่อสร้าง อย่างน้อยคนที่เกี่ยวข้องอ่านแล้วเข้าใจในรายละเอียด BIM ของไทย และพร้อมที่จะส่งต่อและพัฒนาวงการก่อสร้างของไทยให้รุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต ได้มีแบบแผนครอบคลุมทุกมิติมากขึ้น” ทรงพล กล่าว

แนะแต่งตั้ง BIM Manager เพื่อนำเสนอแผนการทำงานก่อนเริ่มต้นทำงานทุกครั้ง

ปณิธิ พรหมสาขา ณ สกลนคร ตัวแทนจากสภาวิศวกร กล่าวว่า ในการทำงานจริง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับเปลี่ยนการทำงานด้านวิศวกรรมแบบเดิมที่ร่างแบบในพิมพ์เขียวแล้วนำไปใช้งานไปพร้อม ๆ กับการแก้แบบระหว่างการทำงาน ให้เปลี่ยนมาใช้ระบบ BIM ที่เป็นแบบจำลองการก่อสร้างจากคอมพิวเตอร์ เพราะการดำเนินการนั้นมีข้อมูลและมีอุปสรรคหลายด้านมาก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายในการทำงานของแต่ละโครงการ แต่ละบริษัท แต่ละผู้ว่าจ้างโครงการไม่เหมือนกัน อีกทั้งทัศนคติและวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรแต่ละแห่งเมื่อมาร่วมทำงานกันจะต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนระบบการทำงาน อาจจะมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละส่วนงานมาร่วมชี้แนะแลกเปลี่ยนการทำงานระหว่างกัน รวมทั้งการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีรูปแบบของแพลตฟอร์ม ซอฟต์แวร์ในการอ่านค่าการเขียนแบบงาน ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นระบบเดียวกันเชื่อมโยงการทำงานให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำงานสามารถเข้าไปตรวจสอบการก่อสร้างในแต่ละขั้นตอนว่าในขณะนี้การทำงานไปถึงขั้นไหนแล้ว มีการทำงานส่วนใดบ้างที่ล่าช้า ผู้ร่วมงานทีมงานไหนรับผิดชอบเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการทำงานทั้งหมด และควรแต่งตั้ง BIM Manager Project เป็นผู้ควบคุมงาน เพื่อเสนอแผนการทำงานก่อนเริ่มต้นทำงานทุกครั้ง ไม่ว่าโครงการก่อสร้างนั้นจะมีมูลค่ากี่หมื่นล้านบาทก็ตาม เพื่อจะได้มีแนวทางในการทำงานที่ชัดเจนในการแบ่งงานและดูแลทุก ๆ ทีมงานไม่ต้องเสียเวลาในการทำงาน ซ่อม แก้ไขงาน และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

“ต้องเข้าใจว่าระบบคอมพิวเตอร์ในทุก ๆซอฟต์แวร์ที่ใช้ย่อมมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ควรที่จะมีทีมงานที่ทำหน้าที่สำรองข้อมูลเป็นระบบ Manual ทำการจดบันทึกข้อมูลการทำงานทำเป็นคู่มือการทำงานทุกขั้นตอนควบคู่กันไปด้วย” ปณิธิ กล่าว

สำหรับค่าใช้จ่ายเรื่องซอฟต์แวร์ในการก่อสร้างในอนาคตนั้นคาดว่าจะมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีการวิวัฒนาการคิดค้นซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ ที่ช่วยสนับสนุนเอื้อให้การก่อสร้างมีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็มีซอฟต์แวร์พื้นฐานหลาย ๆ ตัวจะมีราคาลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจ้าของโครงการที่จะเลือกใช้งานให้ตรงกับวัตถุประสงค์มากที่สุด

ชี้ใช้ BIM ของคนไทยเองลดค่าใช้จ่ายปีละหลายล้านบาท

สุชิน สุขพันธ์ กรรมการจัดทำมาตรฐานรหัสต้นทุนก่อสร้างงานอาคาร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า BIM ที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ล้วนแต่เขียนรูปแบบอ้างอิงตามการใช้งานของประเทศตนเองทั้งสิ้น มีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่จะเขียนเพื่อที่จะเอื้อประโยชน์ในการนำไปใช้ทั้งหมดในประเทศอื่น ๆ แต่หลายส่วนของ BIM ในแต่ละประเทศสามารถนำมาศึกษาและต่อยอดเพื่อสร้าง BIM ของคนไทยเอง ซึ่งต้องมีการนำข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมากในการก่อสร้างมาแยกประเภท แยกวิธีการก่อสร้าง แยกวิธีการจัดการแก้ไขโครงการหลังการส่งมอบและอื่น ๆ ที่สำคัญผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น เจ้าของโครงการ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้รับช่วงต่อในการก่อสร้างต้องนำข้อมูลมาช่วยกัน สร้าง BIM เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันในการทำงานอาจจะต้องใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ควรที่จะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศที่มีวิวัฒนาการก่อสร้างแบบเดียวกับประเทศไทยมาเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินการ หรืออาจจะนำองค์รวมแบบ BIM ที่มีอยู่แล้วในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ที่สอดคล้องกับการก่อสร้างในประเทศไทยมาปรับและทดลองใช้เพื่อเก็บข้อมูลทำการศึกษาจะทำการเก็บข้อมูลความสำคัญต่าง ๆ จากบนลงล่าง หรือทำจากล่างขึ้นบนก็ได้ แล้วเขียน BIM กำหนด สัญลักษณ์การดำเนินการก่อสร้างที่เป็นรูปแบบที่ผู้ประกอบการก่อสร้างของไทยมีความเข้าใจตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบการก่อสร้างแอร์ในอาคารกำหนดให้ชัดเจนลงไปเลยว่า ถ้าอาคารขนาดใหญ่จะต้องใช้แอร์ขนาดเท่าไรต่อพื้นที่กี่ตารางเมตร กำหนดหลอดไฟประหยัดพลังงานในแต่ละชั้นว่าจะมีกี่ดวง กำหนดการขุดเจาะพื้นที่อาคารจอดรถชั้นใต้ดินในกี่เมตรว่าจะมีการใช้ขนาดเหล็ก เทปูนซีเมนต์เท่าใด มีการรับน้ำหนักรถที่จะนำมาจอดขนาดใดบ้าง อาคารโครงการก่อสร้างตั้งแต่กี่ชั้นต้องมีการแจ้งรายละเอียด BIM ที่ใช้อะไรบ้าง ถ้าไม่แจ้งจะมีข้อกำหนดโทษอย่างไรบ้าง มีการติดตั้งเครื่องปั่นไฟกี่ตัว วางไว้บริเวณพื้นที่ส่วนไหน พื้นที่ใช้งานเฉพาะควรมีการออกแบบอย่างไร การติดตั้งอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานรับน้ำหนักได้เท่าไรในแต่ละห้อง ในแต่ละชั้น รวมทั้งทำการประเมินผลการทำงานของแต่ละทีมในการเข้าพื้นที่ก่อสร้างในแต่ละวันเพื่อนำไปปรับปรุง หาข้อยุติปัญหาที่จะเกิดและวางเป้าหมายแก้ปัญหาในวันต่อ ๆ ไปทีละขั้นอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

“เชื่อว่าแต่ละบริษัทก่อสร้างของไทยนั้นมีมาตรฐานการทำงาน BIM เบื้องต้นอยู่บ้างแล้วแต่ยังไม่ได้นำมาแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ซึ่งหากมีการแลกเปลี่ยนรูปแบบ BIM ของแต่ละบริษัทตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ วงการก่อสร้างของไทยจะพัฒนาไปไกลกว่านี้และอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการมีมาตรฐาน BIM สำหรับใช้ในการก่อสร้างในภูมิภาคอาเซียนเพราะคนไทยเก่งและมีข้อมูลการคิดค้นใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการก่อสร้างที่เป็นข้อเสนอแนะและข้อกำหนดต่าง ๆอีกมาก และหากได้ใช้ BIM ของคนไทยเองจะช่วยลดการซื้อ BIM จากต่างประเทศมาใช้ได้ปีละหลายล้านบาท” สุชิน กล่าว

เสริมการเรียนรู้ BIM สำหรับบุคลากรผู้ร่วมทำงาน

ศักดิ์ณรงค์ เดชระพีพงษ์ อุปนายกฝ่ายวิชาการและพัฒนาฝีมือช่าง สมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย กล่าวว่า ประเทศไทยถือว่าเก่งและเชี่ยวชาญในเรื่องการก่อสร้างท ซึ่งได้การยอมรับในภูมิภาคอาเซียน แต่ประเทศไทยยังขาดเครื่องมือ เทคโนโลยีที่ทันสมัยและบุคลากรที่เชี่ยวชาญในงานก่อสร้างมาสานต่องาน รวมทั้งไม่มีการสร้างหรือกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างที่เป็นของคนไทยขึ้นใช้ควบคุมการก่อสร้าง ทำให้เกิดปัญหาผู้รับเหมาละทิ้งงานบ้าง ข่าวอาคารก่อสร้างหลาย ๆ แห่งถล่ม ร้าวสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์ของประชาชนเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องจึงได้มีแนวคิดที่จะวางรากฐานและกำหนดมาตรฐานในการทำงานก่อสร้าง ซึ่งเชื่อว่าแต่ละสภาวิชาชีพที่กำกับดูแลได้มีคู่มือแนะนำในรายละเอียดต่าง ๆ แก่เหล่าสมาชิกแล้ว แต่การที่จะก้าวไปสู่ระดับสากล สร้างมาตรฐานของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับนั้น บุคลากรถือว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถละเลยได้ เพราะเป็นหน้าเป็นตาของประเทศในการสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจในบุคลากรก่อสร้างของไทยในการประกอบธุรกิจก่อสร้าง

จะเห็นได้ว่า ในแต่ละบริษัทมีการจัดอบรมและเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลาย ๆ หน่วยงานมาให้องค์ความรู้เรื่อง BIM สำหรับการก่อสร้างบ้างแล้ว แต่การเรียนรู้ในบริษัทเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เนื่องจากการก่อสร้างในปัจจุบัน จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้จากองค์กรภายนอก จากการทำงานร่วมกับบริษัทอื่น ๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวิธีการทำงาน แลกเปลี่ยนเทคนิคในการใช้เครื่องมือให้เกิดทักษะใหม่ ๆ มีการตั้งชื่อเทคนิคใหม่ๆที่คิดค้นได้ระหว่างการทำงานร่วมกัน ซึ่งควรตั้งชื่อง่าย ๆ ให้จดจำได้ มีสัญลักษณ์และรูปแบบในการอ้างอิงสำหรับใช้ในการทำงานเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์การก่อสร้างในอนาคตร่วมกัน หรืออาจจะส่งบุคลากรของแต่ละบริษัทไปศึกษาเฉพาะเรื่อง BIM ในต่างประเทศ รวมทั้งแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างประเทศที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับด้าน BIM

“ตรงนี้อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือในการแลกเปลี่ยนบุคลากรการศึกษาการทำงาน เนื่องจากหลายๆโครงการภาครัฐด้านการก่อสร้างโดยเฉพาะโครงการ EEC ที่ก่อสร้างอาคาร ระบบโครงสร้างต่าง ๆ จะต้องใช้ BIM มากมาย ซึ่งหากรัฐบาลช่วยเหลือจะทำให้วิศวกรก่อสร้าง ผู้ประกอบการก่อสร้างของไทย และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับความรู้และประโยชน์กลับมาต่อยอดการทำงานในวงการก่อสร้างไทยในอนาคต” ศักดิ์ณรงค์ กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save