องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development: TBCSD) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดเวทีระดมความคิดจากพันธมิตรภาคธุรกิจ เร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เน้นควบคุมต้นเหตุของปัญหามากกว่าแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ตั้งแต่วิกฤตปลายปีไปจนถึงช่วงเดือนมีนาคม 2563 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของประเทศ เช่น ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาขยะพลาสติก และปัญหาอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาทางด้านสังคมสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องระดมความคิดเห็นจากพันธมิตรทางธุรกิจภายใน TBCSD และหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญร่วมดำเนินการหามาตรการแก้ไขในช่วงเวลานี้เพราะในปี พ.ศ. 2562 นี้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมาเร็วมากคือเกิดในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากที่ผ่านมาเคยเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุก ๆ ปี เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนทำให้สภาพอากาศปิด ลมสงบไม่สามารถพัดพาปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สะสมอยู่ให้กระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทำให้ TBCSD และพันธมิตรจากภาคส่วนต่าง ๆ ตระหนักถึงปัญหาพร้อมเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากต้นเหตุมากกว่าไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างจริงจังก่อนที่จะกลายเป็นวิกฤตของประเทศในทุก ๆ พื้นที่ในอนาคต
ที่มาของฝุ่น PM 2.5
ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI ) กล่าวว่า จริงๆ แล้วกรุงเทพฯ มีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่จะมีข้อมูลการตรวจวัดอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2554 เสียอีก เนื่องจากสภาพอากาศในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีแหล่งก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กหลายแหล่ง โดยเฉพาะแหล่งการจราจรขนส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ใช้รถสัญจรทุกประเภทกว่า 10 ล้านคันในทุก ๆ วัน ปล่อยมลพิษจากการใช้เชื้อเพลิงเผาไหม้ที่ไม่ถูกต้องและไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์กรองฝุ่นภายในตัวรถที่ได้มาตรฐานก่อนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนที่มีการจราจรติดหนาแน่นในหลาย ๆ พื้นที่ เช่น สี่แยกอโศก, สามเหลี่ยมดินแดง, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และศูนย์การค้าย่านราชประสงค์ เป็นต้น ส่งผลให้รถที่ใช้เชื้อเพลิงสันดาปไม่บริสุทธิ์ ปล่อยมลพิษต่าง ๆ ออกมา ส่วนหนึ่งมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่สะสมเป็นระยะเวลานานรอเวลาอากาศไม่โปร่งจะรวมตัวจนปิดบังทัศนวิสัยในการมอง การขับขี่ การใช้รถใช้ถนน และการหายใจสูดมลพิษเข้าร่างกาย ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ โรคปอด หอบหืดกำเริบในช่วงเวลาที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
ถัดมาเกิดจากการเผาสิ่งต่าง ๆ ในพื้นที่โล่งจำนวนมาก เช่น เผาเศษที่เหลือจากการเพาะปลูกภาคการเกษตร ซากตอซังข้าว เศษใบไม้ต่าง ๆ และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีอยู่เองตามธรรมชาติในอากาศจากปฏิกิริยาเคมี ที่เกิดจากการเปลี่ยนซัลเฟอร์ไดออกไซด์และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ไปเป็นฝุ่นซัลเฟตและฝุ่นไนเตรท ซึ่งสาเหตุที่กล่าวมาล้วนมีผลรุนแรงมากขึ้นหากเกิดในช่วงที่สภาพอากาศปิดและลมสงบในช่วงปลายปีหรือช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวจะมีค่า PM 2.5 เกินมาตรฐานทุก ๆ ปีเนื่องจากมลพิษทางอากาศและ PM 2.5 ไม่สามารถกระจายออกไปได้ แต่กลับถูกกักไว้ในชั้นบรรยากาศที่ติดกับพื้นดิน จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขจากต้นกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะภาคการขนส่งที่ต้องปรับการจราจรให้ลดความหนาแน่นลงในช่วงวิกฤต รวมทั้งส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลที่มีสารกำมะถันไม่เกิน10 ppm แทนชนิด 50 ppm ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยลดการระบายฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้สูงกว่า 15-20% และเร่งส่งเสริมตามนโยบายของรัฐบาลให้ใช้รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทนรถใช้น้ำมันดีเซลตามประเภทของเครื่องยนต์
“ที่สำคัญควรเร่งปรับเปลี่ยนรถยนต์ทุกประเภทสอดรับมาตรฐานยานยนต์เป็น Euro 6 ที่จะต้องมีการบังคับใช้อย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง นอกจากนี้ควรขยายการจำกัดเวลาให้รถบรรทุกที่มีในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเกิน 90% ที่ใช้เชื้อเพลิงที่ยังก่อมลพิษ ปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน รวมทั้งงดการใช้งานหรือไปปรับเปลี่ยนซ่อมไม่ให้เกิดควันดำก่อนนำมาใช้งาน และห้ามไม่ให้เผาสิ่งต่าง ๆ ในทุก ๆ พื้นที่ในช่วงเวลาที่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย” ดร.สุพัฒน์ กล่าว
ในส่วนของพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 บ่อยๆ เนื่องจากสภาพอากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือจะเกิดประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณเดือนมิถุนายน -กันยายน และภาคใต้ประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน ควรกำหนดแนวทางการดำเนินงานของทุกภาคส่วนรับมือป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างเร่งด่วนในทุก ๆ ด้านเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามเป็นวิกฤตที่ยากจะแก้
รณรงค์ให้รถทุกประเภทหันมาใช้น้ำมัน NGV เลี่ยงนำรถดีเซลเข้าพื้นที่ชั้นในกทม.ที่จราจรคับคั่ง
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ( TEI) กล่าวถึงมาตรการในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ว่า ในระยะเริ่มต้นจะขอความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรภายใน TBCSD ช่วยกันลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ด้วยความสมัครใจ เช่นการเข้ารับการตรวจสภาพและบำรุงรักษารถและเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย เป็นต้น เมื่อทำภายในองค์กรแล้วจะเริ่มกระจายสู่ภายนอก สู่ภาคประชาชน หน่วยงานอื่นๆเพื่อสร้างความตระหนักและร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างจริงจังร่วมกัน
ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในช่วงวิกฤตนั้น จะรณรงค์ให้การใช้รถทุกประเภทหันมาใช้น้ำมัน NGV ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีค่ากำมะถันต่ำไม่เกิน 10 ppm ตามประเภทของเครื่องยนต์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการนำรถดีเซลขับเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯที่มีการจราจรที่หนาแน่น ไม่จอดรถริมถนนเพื่อคืนพื้นที่จราจรไม่ให้ติดสะสมเพราะจะเป็นการเร่งให้เกิดมลพิษฝุ่นละอองในพื้นที่ได้ อีกทั้งการรณรงค์ลดการใช้รถส่วนบุคคลของพนักงานจากทั้ง 40 องค์กรธุรกิจด้วยการจัดรถให้บริการรับส่งพนักงานเพื่ออำนวยความสะดวก การใช้บริการ BTS และ MRT รถประจำทางสาธารณะ ในช่วงฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน และหากจำเป็นที่จะต้องให้พนักงานหยุดงานเพื่อทำงานที่บ้านในช่วงวิกฤตก็จะพิจารณาเป็นช่วงเวลาไป นอกจากนี้จะสร้างช่องทางสื่อออนไลน์ทุกช่องทางถึงผลกระทบต่อมลพิษที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สำหรับภาคประชาชนเพื่อสร้างการรับรู้สร้างความร่วมมือในการลดการก่อมลพิษอย่างถูกต้อง
IRPC พัฒนาน้ำมันดีเซลเกรดยูโร 5 ลดค่าฝุ่นพิษ PM 2.5
นพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า IRPC ซึ่งดำเนินธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมี ได้มีส่วนร่วมในการคิดค้นวิจัยเชื้อเพลิงที่เหมาะสมซึ่งจะมีส่วนช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยลงทุน 4,000 ล้านบาท ดำเนินโครงการผลิตน้ำมันดีเซลเกรดยูโร 5 (Ultra Clean Fuel : UCF) เนื่องจากต้นทุนในการกลั่นให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดมีค่าใช้จ่ายที่สูง ขณะนี้มีเพียง 2 แห่งในประเทศไทยที่สามารถทำได้ ประกอบด้วย โรงกลั่นของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินการได้แล้ว แต่โรงกลั่นอื่น ๆ ยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากต้นทุนการดำเนินการค่อนข้างสูง แต่เชื่อว่าในระยะเวลา 5 ปีหรือในปีพ.ศ. 2571 สามารถทำได้ตามที่รัฐบาลกำหนดไว้
ในส่วนการขนส่งนั้น IRPC มีระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้ผู้ให้บริการขนส่งที่ได้มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยกลุ่ม ปตท. รวมทั้งส่งเสริมคิดค้นรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานในพื้นที่การทำงานของ IRPC เพื่อลดมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นอกจากนี้ทางคณะผู้บริหาร IRPC กำลังทดลองให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือ Work at Home ในพื้นที่ที่พบค่าวิกฤต และพร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนและช่วยเหลือ TBCSD สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ในการร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในสังคมทุก ๆภาคส่วนเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้ลดลงไม่เกินค่าวิกฤต
ส.อ.ท. ให้คำแนะนำสมาชิกกว่า 10,000 ราย ช่วยกันแก้ไขปัญหา PM 2.5
วีระ อัครพุทธิพร กรรมการสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในช่วงต้นปี พ.ศ .2562 ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการพื้นที่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่โรงงานกว่า 85 แห่งเพื่อให้เข้าใจและตระหนักถึงการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้เชื้อเพลิงในการนำมาผลิตที่ได้มาตรฐานไม่ก่อปัญหามลพิษทุกรูปแบบในพื้นที่รอบ ๆที่ตั้งโรงงานการผลิตโดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ในเรื่องการประกอบธุรกิจในโรงงาน การคมนาคมขนส่งผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนซ่อมบำรุงเครื่องจักร อะไหล่ที่เก่า หม้อไอน้ำที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้นเพื่อมุ่งสู่โรงงานเชิงนิเวศ โรงงานสีเขียวในอนาคต เชื่อว่าจะสามารถให้คำแนะนำและให้ข้อมูลที่ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อมของโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท.ที่มีอยู่กว่า 10,000 รายตระหนักและร่วมกันรับผิดชอบการทำงาน การผลิตรับผิดชอบต่อสังคมไม่ก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นส่วนสำคัญในการสะสมกลายเป็นปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
โดย กองบรรณาธิการ