ทีมวิจัย สกสว. สำรวจมรดกโลกสุโขทัย เตรียมนำหลักวิศวกรรมวางแผนอนุรักษ์พื้นที่เร่งด่วน


ทีมวิจัย สกสว. สำรวจมรดกโลกสุโขทัย เตรียมนำหลักวิศวกรรมวางแผนอนุรักษ์พื้นที่เร่งด่วน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สนับสนุนทีมวิจัยลงพื้นที่สำรวจเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เพื่อวางแผนอนุรักษ์และบำรุงรักษาโบราณสถานที่มีผลกระทบตามความสำคัญเร่งด่วน ทั้งเจดีย์เอียง ฐานทรุด และปัญหาการระบายน้ำทำให้น้ำท่วมขัง พร้อมทดสอบวัสดุเดิมและวัสดุทดแทนสำหรับการบูรณะ

รศ. ดร.นคร ภู่วโรดม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิจัยชุดโครงการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานด้วยหลักวิศวกรรม (ระยะที่ 2) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วยคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงพื้นที่สำรวจอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งเป็นมรดกโลกสำคัญของประเทศไทย และประชุมร่วมกับธาดา สังข์ทอง ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ถึงปัญหาสำคัญและพื้นที่วิจัยที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อให้คณะวิจัยเข้าไปสำรวจและวางแผนอนุรักษ์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ

ธาดา สังข์ทอง

ติดตามสำรวจโบราณสถานที่เป็นมรดกโลก จัดทำแผนป้องกันเสื่อมสภาพ รายงานต่อยูเนสโกทุก 4 ปี

ธาดา สังข์ทอง ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กล่าวว่าจะต้องติดตามสำรวจโบราณสถานอันเป็นมรดกโลกและจัดทำแผนป้องกันการเสื่อมสภาพ เพื่อรายงานต่อองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ทุก ๆ 4 ปี ในเบื้องต้นทางอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยมีปัญหาเรื่องระบบน้ำและการระบายน้ำ รวมถึงการป้องกันตลิ่งและตระพังต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการออกแบบและขุดในระดับที่ลึกเกินไปทำให้เกิดการพังทลายในช่วงฤดูฝน โดยการระบายน้ำในเขตโบราณสถานที่มีชาวบ้านครอบครองอยู่อาศัยได้มีการถมดินทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้และเกิดการท่วมขัง ซึ่งปัจจุบันพบว่าฐานของโบราณสถานอยู่ต่ำกว่าชั้นดิน ทั้งนี้ โบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้รับการบูรณะครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496 โดยใช้ปูนซีเมนต์เป็นหลักและส่งผลกระทบต่อโบราณสถานในเวลาต่อมา จึงมีความพยายามที่จะสกัดปูนออกและแทนที่ด้วยปูนหมักเพื่อลดการใช้ซีเมนต์

งานบูรณะส่วนใหญ่ของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

“งานบูรณะส่วนใหญ่ของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเน้นที่การเสริมความมั่นคงเป็นหลัก มากกว่าการขุดค้นเพื่อเก็บข้อมูลทางวิชาการ แต่ปัญหาโครงสร้างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทำให้มีความจำเป็นต้องอาศัยหลักวิชาการด้านวิศวกรรมเข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงการสำรวจใต้ดินว่ามีวัตถุโบราณล้ำค่าอีกหรือไม่ ซึ่งทางอุทยานฯ ยินดีให้ความร่วมมือกับนักวิจัยอย่างเต็มที่เพราะมีประโยชน์ใหญ่หลวงกับอุทยานฯ” ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กล่าว

งานบูรณะส่วนใหญ่ของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

เจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูมวัดมหาธาตุเริ่มเอียงเร่งบูรณะโดยด่วน

สำหรับพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนคือ วัดมหาธาตุ ซึ่งเจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูมเริ่มเอียง แม้ที่ผ่านมาจะมีหลายหน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาเก็บข้อมูลการเอียงของเจดีย์ แต่ก็ไม่ได้ส่งข้อมูลกลับมาให้ทางอุทยานฯ ทราบ เช่นเดียวกับวัดซ่อนข้าวซึ่งยอดเจดีย์ทรงดอกบัวตูมหัก ทางกรมศิลปากรพยายามสร้างใหม่ และส่วนฐานที่รับน้ำหนักไม่ไหวส่งผลให้เจดีย์ทรุดเอียง ทั้งยังอยู่ริมถนนทำให้มีแรงสั่นสะเทือนจากยานพาหนะต่าง ๆ เป็นปัจจัยเร่ง รวมถึงวัดพระพายหลวงที่มีปัญหามากมาหลายสมัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการบูรณะและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับแรงสั่นสะเทือนจากพลุที่จุดในช่วงเทศกาลลอยกระทงว่ามีผลกระทบต่อโบราณสถานหรือไม่ จึงอยากให้คณะวิจัยศึกษาข้อมูลและรายงานผลให้ทราบโดยเน้นเรื่องความซื่อสัตย์ต่อโบราณสถานเป็นสำคัญ เพราะหากมีผลกระทบจริงจะนำไปหารือกับทางจังหวัดสุโขทัยต่อไป

พระอจนะ วัดศรีชุม
พระอจนะ วัดศรีชุม

ด้านคณะวิจัยได้ขอตัวอย่างวัสดุเดิมจากทางอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เพื่อนำไปทดสอบในห้องปฏิบัติการ ขณะเดียวกันก็จะหาวัสดุทดแทนมาทดสอบเพื่อวางแผนเรื่องวัสดุที่จะใช้ในการบูรณะต่อไป ทั้งนี้ วัสดุส่วนใหญ่ที่ใช้ในการก่อสร้างโบราณสถาน ได้แก่ อิฐและศิลาแลง นอกจากนี้ยังมีหินชนวนซึ่งมักพบในโบราณสถานทางด้านทิศใต้ด้วย

นคร ภู่วโรดม

เผยงานวิจัยเชิงวิศวกรรมในอุทยานสุโขทัยมีน้อยมาก เตรียมใช้วิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ วางแผนอนุรักษ์มรดกโลกของไทย

รศ. ดร.นคร ในฐานะหัวหน้าชุดโครงการวิจัย กล่าวว่าโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวารเป็นผลงานอันล้ำเลิศทางสถาปัตยกรรมของไทยในยุคแรก แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาและอารยธรรมที่รุ่งเรืองของประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่งานวิจัยเชิงวิศวกรรมยังปรากฏอยู่น้อยมาก โครงการวิจัยจึงจะมุ่งเน้นพัฒนากระบวนการศึกษาวิจัยให้เหมาะสมและได้ผลอย่างถูกต้องสำหรับงานด้านวิศวกรรม และนำองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นไปประยุกต์ใช้กับการประเมินความมั่นคงของโครงสร้างโบราณสถาน ตลอดจนจัดเก็บข้อมูลทางวิศวกรรม การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ และการวิเคราะห์โบราณสถานด้วยวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ (Finite Element) เพื่อวางแผนอนุรักษ์และบำรุงรักษามรดกโลกของไทยต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save