สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เร่งพัฒนาระบบหุ่นยนต์บนแพลตฟอร์มการควบคุมเพื่อช่วยแพทย์ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 หรือ “FIBO AGAINST COVID-19: FACO” พร้อมติดตั้งที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ เป็นแห่งแรกในช่วงเดือนเมษายน 2563 ก่อนทยอยติดตั้งในโรงพยาบาลแห่งอื่น ยินดีเผยแพร่แบบพิมพ์เขียว Engineering Drawing ซึ่งมีขั้นตอนการควบคุมคุณภาพของระบบหุ่นยนต์ให้เอกชนนำไปต่อยอดสร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศ
ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และผู้ริเริ่มโครงการ “FIBO AGAINST COVID-19: FACO” กล่าวว่า ฟีโบ้ได้เริ่มต้นออกแบบพัฒนาระบบหุ่นยนต์ FACO ประมาณกลางเดือนมีนาคม 2563 โดยนำเอาเทคโนโลยี อุปกรณ์ที่มีในสถาบันฯ มาพัฒนาต่อยอด ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ จนสามารถจัดสร้างต้นแบบหุ่นยนต์ชุดที่หนึ่งสำเร็จและนำเสนอต่อทีมแพทย์เพื่อให้ทดลองใช้งาน ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากหุ่นยนต์มีประสิทธิภาพการทำงานสูง และสั่งการได้สะดวก อีกทั้งมีระบบการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ช่วยลดการทำงานซ้ำซ้อน ทำให้ขณะนี้มีโรงพยาบาลกว่า 20 แห่ง ส่งหนังสือมาถึงสถาบันฯ เพื่อขอติดตั้งระบบหุ่นยนต์ FACO นี้
ระบบหุ่นยนต์ FACO ประกอบขึ้นด้วยหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ต่างกัน 3 รูปแบบ คือ 1. CARVER เป็น Automated Guided Vehicle (AGV) ใช้ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วย พร้อมฟังก์ชั่นฟอกอากาศและฆ่าเชื้อไวรัสตลอดการปฏิบัติงาน ผ่านอุปกรณ์ Hydroxyl Generator 2. SOFA หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ ช่วยให้แพทย์สามารถควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลางให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมาย สามารถแสดงข้อมูลการรักษาหรือผลการตรวจที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบของโรงพยาบาล และสามารถ Video Call สนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยได้แบบ Real-time และ 3. Service Robot หุ่นยนต์บริการเฉพาะจุด สามารถเคลื่อนที่ได้อัตโนมัติโดยการควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลาง ส่งยาและอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษ และผู้ป่วยสามารถพูดกับหุ่นยนต์เพื่อเรียกแพทย์หรือพยาบาลได้ผ่าน Video Call โดยหุ่นยนต์ทั้ง 3 รูปแบบนี้ จัดเก็บข้อมูลบนแพลตฟอร์ม FACO ที่พัฒนาขึ้นโดยฟีโบ้
การพัฒนาระบบหุ่นยนต์ FACO สำเร็จได้ เกิดจากการร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดนฟีโบ้ มจธ.ได้ทำหน้าที่ออกแบบและสร้าง โดยมีบริษัทเอกชนได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาชุดระบบหุ่นยนต์ฯ ประกอบด้วย 1.บริษัท ฟอร์มส์ ซินทรอน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ให้ทุนสนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์มโดยสนับสนุนทั้งในส่วนของงบประมาณและอุปกรณ์ รวม 3 ล้านบาท และ 1 ล้านบาท ตามลำดับ 2. บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริจาคอุปกรณ์ Video Conference/High Definition Camera และ 3. บริษัท ฟอร์มส์ ซินทรอน (ประเทศไทย) จำกัด ส่งทีมนักออกแบบของบริษัทเข้าร่วมในโครงการ FACO โดยร่วมกับทีมวิศวกรและนักวิจัยฟีโบ้ พัฒนาระบบฯ ในฐานะบริษัทผู้มีความชำนาญในแพลตฟอร์ม เพื่อต่อยอดไปเป็น Medical Service Platform
ดร.ชิต กล่าวว่า สำหรับหุ่นยนต์ SOFA (โซ่ฟ้า) มีชื่อเต็มว่า StOry of FIBO Android เป็นหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence (AI) ที่สามารถตอบคำถาม แสดงผล และโต้ตอบกับผู้ใช้งานในเรื่องที่อยู่บนฐานข้อมูล SOFA ถูกสร้างขึ้นมาในโอกาส FIBO ครบรอบก่อตั้ง 25 ปี ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2563 ทำหน้าที่เป็นหุ่นยนต์ประชาสัมพันธ์ เมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 ทีมพัฒนาจึงได้ปรับเพิ่มฟังก์ชันให้ SOFA เป็นผู้ช่วยแพทย์ใช้สื่อสารกับผู้ป่วย ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยจอภาพส่วนที่ติดตั้งบริเวณลำตัวของหุ่นยนต์สามารถใช้แสดงข้อมูลผลการรักษาให้กับผู้ป่วยทราบ ส่วนจอภาพส่วนหัวใช้แสดงภาพของแพทย์จากห้องควบคุมส่วนกลางเพื่อสื่อสารกับผู้ป่วยผ่าน Video Call นอกจากนี้หุ่นยนต์ SOFA ยังมีกล้องถ่ายความร้อน (Thermal Camera) ที่สามารถตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วย และตัวกล้องยังมีความพิเศษที่ให้ภาพความละเอียดสูงขยายได้ถึง 20 เท่า ช่วยให้แพทย์ตรวจประเมินอาการจากสภาพภายนอกของผู้ป่วย เช่น ตาหรือลิ้น ได้จากระยะไกล
ที่ผ่านมามีบุคลากรทางการแพทย์มาเยี่ยมชมการทดสอบระบบหุ่นยนต์ FACO ในสภาพแวดล้อมจำลองเสมือนจริง และพึงพอใจกับรูปแบบการทำงานของระบบหุ่นยนต์ SOFA ประกอบกับที่มีข่าวผลงานประดิษฐ์เผยแพร่ออกไป จึงมีโรงพยาบาลติดต่อขอรับการสนับสนุนระบบหุ่นยนต์จำนวนมาก ซึ่งการเข้าไปติดตั้งระบบหุ่นยนต์ FACO ให้กับโรงพยาบาล ทีมงานของฟีโบ้จะเข้าติดตั้งได้ก็ต่อเมื่อทางโรงพยาบาลจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับรองรับผู้ป่วยให้แล้วเสร็จ (วอร์ดการรักษา) และมีสัญญาณ wifi พร้อมเชื่อมต่อ จากนั้นทีมฟีโบ้ก็จะเข้าไปติดตั้งระบบหุ่นยนต์ให้ เนื่องจากการสั่งการหุ่นยนต์ทุกตัวในระบบ FACO เชื่อมต่อผ่านระบบ wifi หลักของโรงพยาบาล ทำให้การทำงานของหุ่นยนต์มีประสิทธิภาพ โดยโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ เป็นสถานที่แรกที่ทีมติดตั้งระบบหุ่นยนต์ในช่วงปลายเมษายน 2563 และจะทยอยติดตั้งให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ เช่น ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก, โรงพยาบาลตำรวจ, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) จำนวน 4 แห่ง เป็นต้น
ดร.ชิต กล่าวว่า ฟีโบ้ได้วางแผนต่อยอดการทำงานชุดหุ่นยนต์ FACO ในอนาคตไว้ว่า จะนำเทคโนโลยี 5G มาเสริมความสามารถของชุดหุ่นยนต์ FACO โดยพัฒนาแพลตฟอร์มบนคลาวด์ ทำการต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น พัฒนาระบบ Teleconference ระบบบันทึกภาพ ควบคุมบริหารจัดการหุ่นยนต์จากส่วนกลางบนคลาวด์ นอกจากนี้มีแผนพัฒนาระบบ IoT (Internet of Things) กับอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพ เพื่อใช้ในการบันทึกสัญญาณชีพ และจัดทำเป็นระบบวิเคราะห์ด้วย AI ซึ่งจะต่อโดยตรงกับ Genomics Platform ในพื้นที่ EEC เป็นต้น
“เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย ทีมพัฒนาฟีโบ้จะนำเทคโนโลยี 5G 2600 MHz มาเสริมความสามารถให้กับหุ่นยนต์ และข้อมูลส่งผ่านขึ้นคลาวด์ด้วย 5G 26-28 GHz พร้อมกับต่อยอดแพลตฟอร์ม FACO เช่น พัฒนาระบบ Teleconference ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย และระหว่างแพทย์ด้วยกัน เพื่อระดมองค์ความรู้ในการรักษา และการพัฒนาระบบบันทึกภาพ เพื่อใช้ในการวินิจฉัยและบันทึกอาการป่วยและผลการรักษา เป็นต้น” ดร.ชิต กล่าว
ด้วยฟีโบ้มีภารกิจหลักในการเป็นสถาบันวิจัยหุ่นยนต์ชั้นนำที่ต้องสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบหุ่นยนต์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เมื่อความต้องการใช้งานระบบหุ่นยนต์ FACO มีสูง และขยายความต้องการไปทุกภูมิภาค ฟีโบ้จึงได้หารือกับภาครัฐหลายแห่ง เช่น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อจัดงบประมาณและออกมาตรการให้ผู้ประกอบการ System Integration (SI) ที่เป็นบริษัทของคนไทยหลาย ๆ แห่ง ซึ่งรวมตัวกันอยู่แล้วภายใต้ สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (Thai Automation and Robotics Association: TARA) มาร่วมมือกันสร้างระบบหุ่นยนต์ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่มีความจำเป็นต้องใช้งาน
“ฟีโบ้ยินดีเผยแพร่แบบพิมพ์เขียว Engineering Drawing พร้อมการควบคุมคุณภาพของระบบหุ่นยนต์ให้ ซึ่งขั้นตอนนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นขั้นตอนในการสร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของประเทศ ประเทศที่พัฒนาด้านเทคโนโลยีนั้น รัฐบาลเข้าใจเรื่อง Government Procurement และทำกระบวนการเหล่านี้มานานแล้ว จนถือว่าเป็น Crucial Step ของการสร้างเทคโนโลยีของชาติไปสู่ระดับเชิงพาณิชย์ได้ด้วยตนเองในที่สุด” ดร.ชิต กล่าว