สภาวิศวกร จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง “PM 2.5 ฝุ่นทะลุปอดอันตรายถึงตายจริงไหม และการบริหารจัดการคุณภาพน้ำของกรุงเทพมหานคร” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้หลักวิชาการวิศวกรรมที่ถูกต้องแก่สมาชิกและประชาชนทั่วไป พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาที่จริงจังในการตรวจวัดปริมาณอากาศที่เป็นพิษที่มาจากฝุ่น PM 2.5 แล้วรายงานผลอย่างต่อเนื่องให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วถึง ที่สำคัญต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ดร.ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสภาวิศวกร และประธานอนุกรรมการทดสอบความรู้ฯ ระดับสามัญวิศวกร ระดับวุฒิวิศวกร และระดับภาคีวิศวกรพิเศษ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยังเป็นปัญหาในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องและทั่วโลกต่างประสบปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ต่างประเทศมีการดำเนินการเตรียมพร้อมรับมือและงบประมาณในการดูแลเรื่องฝุ่นที่ดีกว่าประเทศไทย จะเห็นได้จากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เริ่มส่งสัญญาณในไทยว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น แต่ภาครัฐยังไม่มีแผนรองรับและแก้ปัญหาที่ชัดเจน ทำได้แค่เพียงแก้ปัญหาเฉพาะกรณีในแต่ละพื้นที่ตามสถานการณ์ ทำให้แนวทางการแก้ปัญหา การรับมือในสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมและได้ผลมากนัก โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งการเพิกเฉยจากภาครัฐซึ่งไม่มีมาตรฐานในการรับมือและการแจ้งเตือนที่แจ้งข้อมูลไม่หมด โดยไม่บ่งชี้แหล่งที่มาของฝุ่น เช่น ข้อมูลรถโดยสารสาธารณะของประเทศไทยที่ไม่ได้มาตรฐาน มีการใช้น้ำมันดีเซลที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศกว่า 74% รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรมกว่า 10% การเผาทุกประเภททั้งการเผาป่า การเผาเศษพืชผลทางการเกษตร การเผาถ่านและการใช้ฟืนในการหุงต้มอีกกว่า 10% และที่เหลือกว่า 5% เป็นกิจกรรมอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ในทุก ๆ พื้นที่จะมากน้อยขึ้นอยู่กับการทำแผนการรับมือและการดูแลสุขภาพของประชาชนเองก่อนที่จะรอความช่วยเหลือทางภาครัฐ
“จริง ๆ แล้วฝุ่น PM 2.5 ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนถึงขั้นเสียชีวิตได้แล้วในปัจจุบัน หากได้รับในปริมาณที่มากเกินและในระยะเวลานาน ๆ อีกทั้งการรักษาก็ทำได้โดยยาก โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง และในหลาย ๆพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดตามดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) หรือ AQI ซึ่งเป็นค่าที่หน่วยงานรัฐบาลใช้ในการสื่อสารกับประชาชนในส่วนของมลพิษทางอากาศ ทั้งนี้ดัชนีของแต่ละประเทศจะมีค่ามาตรฐานที่แตกต่างกัน หากคุณภาพอากาศแย่ลงจะทำให้ดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงขึ้น
ดัชนีคุณภาพอากาศของไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ ใช้สีแสดงระดับกระทบต่อสุขภาพ
สำหรับประเทศไทย ดัชนีคุณภาพอากาศแบ่งเป็น 5 ระดับ ตามเกณฑ์ของกรมควบคุมมลพิษ โดยใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสามารถเข้าดูตรวจสอบพื้นที่ต่าง ๆ ได้ในเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ www.air4thai.pcd.go.th, www.aqnis.pcd.go.th และwww.aqmthai.com โดย ดัชนีคุณภาพอากาศตั้งแต่ 0-25 ใช้สัญลักษณ์สีฟ้า บ่งชี้ว่าคุณภาพอากาศดีมาก เหมาะสำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว ปัจจุบันในกรุงเทพมหานครค่อนข้างที่จะหาคุณภาพอากาศดังกล่าวนี้ได้ยากมาก แต่ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมากในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ภูเขา น้ำตก และทะเลยังมีคุณภาพอากาศแบบนี้อยู่ ทั้งนี้ทุกคนในพื้นที่จะต้องช่วยกันดูแลอนุรักษ์พื้นที่ป่า สภาพแวดล้อมอื่น ๆ รวมทั้งโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ไม่มีการหาวัสดุมาปกปิดระหว่างการก่อสร้าง ดัชนีคุณภาพอากาศตั้งแต่ 26-50 ใช้สัญลักษณ์สีเขียว บ่งชี้ว่าคุณภาพอากาศดี สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ เช่น สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ แต่ต้องมีแผนการรับมือหากพื้นที่มีความเสี่ยงในการเกิดมลพิษจากอากาศด้วย ดัชนีคุณภาพอากาศตั้งแต่ 51-100 ใช้สัญลักษณ์สีเหลือง บ่งชี้ว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ แม้จะยังทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติก็ตาม ยิ่งหากมีอาการไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และรีบพบแพทย์หากมีอาการรุนแรงมากขึ้นเพราะสุขภาพอนามัยและภูมิคุ้มกันของแต่ละคนไม่เท่ากัน ดัชนีคุณภาพอากาศตั้งแต่ 101-200 ใช้สัญลักษณ์สีส้ม บ่งชี้ว่าคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ควรเฝ้าระวังสุขภาพ งดทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกรูปแบบ และควรหาอุปกรณ์ที่จำเป็นสวมใส่หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น หน้ากากอนามัยที่กรองฝุ่นกรองอากาศที่ได้มาตรฐาน และหากมีอาการรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจลำบาก รีบพบแพทย์ทันที ซึ่งในกรุงเทพมหานครกำลังเผชิญอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช้าตรู่และตอนเย็น และ ดัชนีคุณภาพอากาศตั้งแต่ 201 ขึ้นไป ใช้สัญลักษณ์สีแดง บ่งชี้ว่าคุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคนที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง สวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานกรองฝุ่น กรองอากาศตลอดเวลา
“อย่าคิดว่าไม่เป็นไรเพราะหากฝุ่นเข้าไปในร่างกายจะสะสมแล้วทำให้สุขภาพแย่ โดยเฉพาะประชาชนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง เป็นต้น หากมีอาการแน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นแรงผิดปกติในการอยู่ในพื้นที่เสี่ยงนาน ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที” ดร.ประเสริฐ กล่าว
ชี้หลายจังหวัดในภาคเหนือ ค่าฝุ่นพิษเกินจากการเผาของเกษตรกร
ขณะนี้ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพมหานครเพียงพื้นที่เดียวที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 และยากที่จะหาทางแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้นอย่างเป็นระบบ พื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย เช่น จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เริ่มได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเกิดจากการเผาเศษพืชผลหลังทำการเกษตรของเกษตรกร เช่นเดียวกับพื้นที่ทางภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่างได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 จากการเผาเศษพืชผลหลังทำการเกษตรของเกษตรกร เพิ่มปริมาณฝุ่นให้ทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของคนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น แม้จะมีหน่วยงานภาครัฐออกมาตรการห้ามและมีบทลงโทษแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีการลักลอบเผาอยู่จำนวนมาก
นอกจากนี้โครงการก่อสร้างภาครัฐ และอาคารสูงของภาคเอกชน ที่ไม่มีวัสดุปกคลุมขณะทำการก่อสร้าง เช่น ผ้าคลุม ตาข่าย และอื่น ๆ ก่อให้เกิดฝุ่นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองและเผชิญความเสี่ยงปัญหาฝุ่น PM2.5
สภาวิศวกรแนะแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน
ดร.ประเสริฐ กล่าวว่า สภาวิศวกรต้องการเสนอให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณในการดูแลเรื่องฝุ่น PM 2.5 เป็นวาระพิเศษเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน ซึ่งเงินงบประมาณนั้นจะแบ่งสัดส่วนการดูแลในแต่ละพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่นPM 2.5 ทั้งการซื้อหน้ากากอนามัยแจกประชาชน ใช้รถน้ำฉีดพ่นบรรเทาปริมาณฝุ่น ติดตั้งพัดลมตามอาคารสูงในช่วงเวลาเช้า เที่ยง และเย็นตามความเหมาะสม พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของตึกสูงร่วมกันติดตั้งพัดลมขนาดใหญ่ เครื่องพ่นน้ำบรรเทาเรื่องฝุ่น พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นPM 2.5 วัดสภาพอากาศในพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต รวมทั้งติดตั้งในจังหวัดอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ควรพัฒนาระบบ Big Data เพื่อจัดเก็บข้อมูลและนำมาวิเคราะห์ รวมทั้งบริหารความเสี่ยงของพื้นที่ที่เป็นอันตรายทั่วประเทศ จัดเก็บภาษีสำหรับยานยนต์ที่ก่อมลพิษในปริมาณที่สูงขึ้น ยกระดับมาตรฐานรถ EURO 4 สู่มาตรฐาน EURO 5-6 ควบคู่กับการปรับค่ามาตรฐานน้ำมันให้มีคุณภาพ รณรงค์ให้ประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะมากกว่ารถส่วนตัว และรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทที่ตรวจสภาพแล้วไม่ผ่านเกณฑ์ไม่ต้องนำมาให้บริการประชาชนอีกต่อไป
ส่วนพื้นที่อุตสาหกรรมควรส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบให้ถี่ขึ้น ป้องกันฝุ่นและมลพิษทางอากาศทุกรูปแบบ ใช้กฎหมายลงโทษที่รุนแรงให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม นำตัวอย่างประเทศที่มีแผนมีนโยบายดูแลเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่ประสบผลสำเร็จมาปรับใช้ตามความเหมาะสม
“ที่สำคัญควรนำงานวิจัยของนักวิชาการที่มีความชำนาญศึกษาเรื่องฝุ่นทุกประเภทมาร่วมเป็นทีมงานดูแลเรื่องฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นระบบ ซึ่งสภาวิศวกรพร้อมที่จะส่งวิศวกรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญร่วมทำงานกับทุก ๆ หน่วยงานเพื่อช่วยเหลือดูแลให้เป็นประโยชน์ต่อทุก ๆ คนในประเทศ” ดร.ประเสริฐ กล่าว