บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนวิชาการวางผังเมืองโลจิสติกส์ Urban Logistics Planning ในหลักสูตรวิทยาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ขอเผยแพร่เพื่ออาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการจัดการโลจิสติกส์ การอ้างอิงข่าวสารใดเพื่อนำเป็นข้อมูลเชิงวิเคราะห์อย่างเที่ยงตรงเป็นกลางเท่านั้น มิได้ชี้นำเป็นด้านใดด้านหนึ่งต่อการเมืองหรือธุรกิจใดๆ
บทวิพากษ์ส่วนที่ 1. ผังเมืองโลจิสติกส์ กรณีสนามบินหาดใหญ่-เชียงราย
ข่าวที่ 1. ท่าอากาศยานไทยจ่อคิวยุบสนามบินหนี ขาดทุน ข่าวเศรษฐกิจ ไทยรัฐ ฉบับพิมพ์ 28 ตุลาคม 2562
ปัจจุบันสนามบินที่มีอัตราเติบโตดีคือสนามบินที่เป็นจุดศูนย์กลาง ที่ผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อไปยังปลายทางได้หลายที่ ส่วนสนามบินที่เป็นเกตเวย์หรือศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจ ที่ไม่ใช่ศูนย์กลางการเดินทางจะเติบโตได้ไม่ดี ผู้โดยสารและเที่ยวบินเริ่มหดตัวอย่างต่อเนื่อง
“ในอนาคตอีก 5-6 ปี ทอท. มีแผนที่จะยุบสนามบินหาดใหญ่ไปรวมกับสนามบินภูเก็ตแทน ซึ่งขณะนี้ ทอท. มีแผนที่พัฒนาสนามบินภูเก็ตแห่งที่สองอยู่แล้ว เพราะหาดใหญ่ไม่ใช่ฮับการเดินทางเชื่อมต่อ เป็นเพียงศูนย์กลางทางด้านธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น คนเดินทางไปเที่ยวหาดใหญ่ไม่สามารถไปเที่ยวต่อที่อื่นๆ ได้ ทำให้ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติเช่นมาเลเซีย ก็หันไปเที่ยวที่อื่นแทนบินมาหาดใหญ่ ในอนาคต ทอท.อาจจะต้องปรับแผนธุรกิจนำสนามบินหาดใหญ่พัฒนาเป็นธุรกิจอื่นแทนเช่น พื้นที่ให้เช่าจอดเครื่องบิน หรืออื่นๆ”
ส่วนท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) อยู่ในข่ายที่จะต้องยุบเช่นเดียวกัน เพราะผู้โดยสารไม่สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังสนามบินอื่นๆ ได้ ทั้งสาธารณูปโภคโดยรอบพัฒนายังไม่เต็มที่ ทำให้มีคนมาเที่ยวน้อย ส่งผลให้เที่ยวบินเริ่มลดลงด้วย ขณะนี้ ทอท. ต้องปรับแผนลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ สนามบินไหนขาดทุนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเร่งเพิ่มรายได้ด้านอื่นๆ ด้วย นอกเหนือไปจากการให้เช่าสนามบิน
ข่าวที่ 2. รมว.คมนาคม ยัน แค่ข่าวลือ! ยุบสนามบิน “หาดใหญ่-เชียงราย” วันที่ลงข่าว 28 ตุลาคม 2562
การที่บริษัทท่าอากาศยานไทยระบุว่า เตรียมยุบสนามบินหาดใหญ่และเชียงรายที่พบว่ามีรายได้ลดลงนั้น รมว.คมนาคมยืนยันว่าไม่มีมูลความจริง มักมีข้อสงสัยเสมอว่าสายการบินและรถไฟความเร็วสูงนั้น เป็นคู่แข่งหรือสนับสนุนทางธุรกิจอย่างไร สายการบินเป็นการเดินทางระยะไกล+ไกลมาก สามารถผ่านพื้นที่ภูมิศาสตร์ภูเขา ป่าไม้ ทะเลทราย หรือแม่น้ำ ทะเล เกาะแก่งได้ ส่วนรถไฟความเร็วสูงเป็นการเดินทางระยะกลาง+ไกล ที่ต้องวางแนวรางและไม่สามารถข้ามทะเล มหาสมุทรได้ เป็นต้น หากทั้งสอง Mode มีจุดเริ่มต้นและปลายทาง Origin/Destination O/D เดียวกันนั้น มีแนวโน้มว่าจะเป็นคู่แข่งขันกัน เช่นหากจะเดินทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ผู้โดยสารจะตัดสินใจเลือกด้วยการเปรียบเทียบ Mode เช่น ราคาค่าโดยสาร ระยะเวลาเดินทางความสะดวกสบาย การเข้าถึงสถานีต้นทาง-ปลายทาง (สะดวกหรือไม่) โปรโมชั่นพิเศษ เป็นต้น
ดังนั้นรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจึงไม่เป็นคู่แข่งสายการบิน แต่จะเชื่อมการเดินทางระหว่างสนามบินทั้งสาม ผู้โดยสารจะไม่เดินทางไปสนามบินทั้งสามด้วยเครื่องบินแต่จะใช้รถไฟฟ้าแทน เป็นต้น เป็นตรรกะอย่างง่ายๆ ที่ผู้โดยสารวางแผนการเดินทางได้เอง แต่ในโครงการโลจิสติกส์ระดับประเทศและระดับโลกแล้ว จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญการขนส่งโลจิสติกส์และข้อมูลที่ทันสมัยเพื่อวางแผนให้เหมาะสม เพราะเกี่ยวกับกำไรขาดทุนและผลประโยชน์ของประเทศชาติ
ในแผนภูมินี้แสดงว่าหากทั้งสอง Mode มีส่วน ต่อเชื่อมแล้วจะสนับสนุนการเดินทาง เช่น การวางแผน โลจิสติกส์ของ “สนามบินเชียงราย” มีรถไฟความเร็วสูง North-South จาก Kunming ประเทศจีนมุ่งลงมาทางใต้ (สายสีเขียวอ่อน) มาถึง Boten ประเทศลาว ก็สามารถต่อสายการบิน East-West มาลงที่ “สนามบินเชียงราย” (เพราะไม่มีระบบรางข้ามแนวภูเขา East-West) แล้ว ต่อด้วยเส้นทางบกกระจายทั่วภาคเหนือทั้งหมดของประเทศไทยได้สะดวก
การวางแผนโลจิสติกส์ของ “สนามบินหาดใหญ่” นั้นสะดวกกว่าเพราะเป็นสนามบินหลักของภาคใต้เชื่อมกับมาเลเซียและสิงคโปร์ และบินต่อไปภูมิภาคใกล้เคียง เช่น อินโดนีเซีย และเอเชียกลาง ได้สะดวก “สนามบินหาดใหญ่” จะเชื่อมรถไฟความเร็วสูงที่จะส่งวัตถุดิบ-สินค้าและผู้โดยสารจากจีน-อินโดจีนสู่ประเทศมาเลเซีย-สิงคโปร์โดยสะดวก หากย้ายไปสนามบินภูเก็ตที่เป็นเกาะไม่เชื่อมรถไฟความเร็วสูงจะไม่เหมาะสม และสนามบินนั้นเป็น Node ไม่ใช่ Mode ที่เปลี่ยนแปลงได้ การเคลื่อนย้ายจะหมายถึงย้ายบุคลากรและอุปกรณ์การบินที่เคลื่อนย้าย ได้เท่านั้น
“ตามสถิติปริมาณผู้โดยสาร ของสนามบินหาดใหญ่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 พบว่า มีปริมาณผู้โดยสาร 4,028,506 คน ขยายตัวลดลงมากถึง 5.60% มีจำนวนเที่ยวบินรวม 2,027 เที่ยวบินลดลง”
มีข้อเสนอแนะว่าไม่ควร “ยุบสนามบินหาดใหญ่+สนามบินเชียงราย” หรือ “ควรให้เช่าราคาถูกลดการขาดทุน” เพราะด้วยศักยภาพที่สูงสุดในภาคใต้ของ “สนามบินหาดใหญ่” และศักยภาพที่จะสูงมากของ “สนามบินเชียงราย” เมื่อมีรถไฟความเร็วสูง ควรมีการปรับปรุงสนามบินหรือหากจะมีการแปรรูปเป็นเอกชน Privatization เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจของประเทศ อังกฤษแล้ว ควรมีการแข่งขันประกวดราคาให้สัมปทาน และรับพิจารณาผู้เสนอราคาที่สูงสุดจะเกิดประโยชน์ ต่อประเทศชาติได้มาก
บทวิพากษ์ส่วนที่ 2. ท่าอากาศยานนานาชาติภาคตะวันตก
ข่าวโพลชี้คนหนุนสร้าง “สนามบินใหม่นครปฐม” ลดความแออัด 2 แอร์พอร์ตหลัก (15 กันยายน 2562)
นิด้าโพล ออกสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับประเด็น “สนามบินใหม่นครปฐม” พบว่าส่วนใหญ่สนับสนุนให้สร้าง เพื่อลดความแออัด 2 สนามบินหลักของกรุงเทพฯ
• 62.53% ไม่เคยเดินทางด้วยเครื่องบิน 37.47% เคยเดินทางด้วยเครื่องบิน
• 87.84% สนามบินดอนเมือง 59.75% สนามบินสุวรรณภูมิ และ 3.56% สนามบินอื่น
• การสร้างสนามบินนครปฐม 65.28% เห็นด้วย 18.54% ไม่เห็นด้วย
• ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากสนามบิน
a. 37.86% นายทุน นักธุรกิจการบิน
b. 37.00% ชาวนครปฐม
c. 36.61% ประชาชนภาคตะวันตก
d. 30.71% ประเทศไทย
e. 29.69% ท่องเที่ยวภาคตะวันตก
f. 2.12% ไม่มีใครได้ประโยชน์
ในหลักการการสร้างโครงการโลจิสติกส์ขนาดใหญ่เช่นท่าอากาศยานนานาชาตินครปฐมนั้น การทำโพลของนิด้าโพลถือเป็นความทันสมัยตรงต่อกิจกรรมที่น่าสนใจมาก การประชาพิจารณ์จะลดการ ต่อต้านในพื้นที่ และข้อมูลของนิด้าโพลนี้เป็นประโยชน์มากในการพิจารณารูปแบบของการก่อสร้างโครงการต่อไป แบบสำรวจจะช่วยลดผลกระทบของสนามบินต่อชุมชนอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ควรมีการเพิ่มแบบสอบถามถึงลูกค้าตัวจริงของสนามบินนานาชาติประกอบมาด้วย เพราะเมื่อสอบถามถึงการเดินทางด้วยเครื่องบินของประชาชน พบว่าส่วนใหญ่ 62.53% ไม่เคยเดินทางด้วยเครื่องบิน มีเพียง 37.47% ที่เคยเดินทางด้วยเครื่องบิน การสำรวจความต้องการลูกค้าสนามบินก็ควรเป็น “นักท่องเที่ยวไทย-ต่างชาติ หรือผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้า” ด้วย
กรณีสำรวจความคิดเห็นการสร้างสนามบินนครปฐมเป็นการสร้างสนามบินนานาชาติ International Airport แม้เป็นอันดับรองก็ตาม เป็นโลจิสติกส์ระดับ Mega Project ของชาติที่มีงบประมาณมหาศาลและอาจต้องการการกู้เงินหรือการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อการแข่งขันระดับภูมิภาคหรืออาจจะเป็นระดับโลก และที่ตั้งสนามบินใหม่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งของการวางแผนโครงการโลจิสติกส์เส้นทางไกล Long-Distant Logistics Project ที่ต้องการจำนวนผู้โดยสารระดับชาติ-นานาชาติ และปริมาณสินค้านำเข้า-ส่งออกอยู่ในระดับที่จะต้องได้กำไรมาก
ในอดีตสนามบินกำแพงแสน เป็น Location Analysis ที่เหมาะสม เมื่อกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมือง Litchfield ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาวางผังเมืองกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2502 ได้เสนอแนะอย่างชัดเจนว่า สนามบินดอนเมืองที่มีศักยภาพเป็นศูนย์ กลางการบินของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้จะแออัดอย่างรวดเร็ว ภาครัฐจึงต้องจัดหาการสร้างสนามบินแห่งใหม่อย่างเร่งด่วนเป็นที่มาของการวิเคราะห์สำรวจที่ตั้งสนามบินนานาชาติโดยได้หลายแห่ง เช่น หนองงูเห่า บางปะกง ชลบุรี กำแพงแสน ฯลฯ
ส่วนปัจจุบันสนามบินของประเทศไทย ประกอบด้วย 1) สนามบินสุวรรณภูมิ 2) สนามบินดอนเมือง และ 3) สนามบินอู่ตะเภา ที่มีบทบาทที่แตกต่างกันในยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ทางอากาศ แม้ว่าจะยังขาดแคลนสนามบินภาคตะวันตกเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 4 แต่เงื่อนไขและบทบาทของสนามบินอาจเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นการวิเคราะห์ทางผังเมืองและภูมิศาสตร์ รวมทั้งข้อมูลสถิติต่างๆ จากองค์กร หน่วยราชการ และเอกชน ที่จะนำมาเป็นตัวตัดสินใจในการเลือกที่ตั้งสนามบินนานาชาติภาคตะวันตก จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเที่ยงตรงที่ส่งเสริมการแข่งขันโลจิสติกส์การบินระหว่างประเทศที่รุนแรงในภูมิภาคนี้
ข่าว “คมนาคม” ลุยสนามบินนครปฐมปี 2563
จากสถิติการอนุญาตเที่ยวบินเชิงธุรกิจ (Business Aviation) ในลักษณะเช่าเหมาลำ (Charter Fight) พบว่าในปี พ.ศ. 2557- 2558 มีสถิติเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างมากจากจำนวน 155 เที่ยวบินในปี พ.ศ. 2557 เพิ่มเป็น 642 เที่ยวบินในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมถึงเที่ยวบินที่ไม่สามารถทำการบินเข้ามาในประเทศไทยได้ เนื่องจากไม่มีที่จอดอากาศยานหรือได้รับการจัดสรรให้ไปลงจอดที่ท่าอากาศยานที่ไม่ตรงกับความต้องการ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง ท่าอากาศยานรองรับการบินเชิงธุรกิจ (Business Aviation Airport) แห่งใหม่…สถานที่ที่เหมาะสมที่สุดจาก 11 พื้นที่ โดยรอบกรุงเทพฯ พบว่าพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดอยู่ด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ บริเวณอำเภอนครชัยศรีช่วงรอยต่อกับอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม (มติชนออนไลน์, พฤศจิกายน 2562)
หากพิจารณาโครงการสนามบินนครปฐมนี้ที่ห่างสนามบินดอนเมือง 61 กม. เดินทางด้วยรถยนต์ 1 ชั่วโมงกว่า (60 กม./ชม.) จึงเป็นสาธารณูปโภคเพื่อประชาชน ภาคตะวันตกมากกว่าโลจิสติกส์ที่แข่งขันระดับภูมิภาค หรือไม่ และผลนิด้าโพลก็สอบถามประชาชนที่ไม่เคยเดินทางเครื่องบิน 62.53% และเคยเดินทางเครื่องบินบ้าง 37.47% จะเป็นลูกค้าหลักของสนามบินหรือไม่ และทำไมประชาชนไม่เดินทางด้วยรถยนต์มาสนามบินดอนเมืองแทนการสร้างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่งบประมาณมหาศาลหรือขยายสนามบินเดิม
อย่างไรก็ตาม เมื่อยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ทางอากาศของภาครัฐเป็นเช่นนี้แล้ว หลักสูตรวิทยาการจัดการ โลจิสติกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ตอบสนองด้วยการทดลองวางผังเมืองโลจิสติกส์โดยกลุ่มนิสิตที่จะเป็นบุคลากรของชาติในอนาคต โดยตั้งโจทย์ว่า “จงวิเคราะห์หาที่ตั้งที่เหมาะสมของสนามบินโลจิสติกส์ภาคตะวันตกของประเทศไทย” โดยผลลัพธ์จะแตกต่างหรือตรงตามที่ได้กำหนดกันไว้หรือไม่ก็ได้ จึงขอเสนอตัวอย่างและทฤษฎีการหาที่ตั้งของสนามบินภูมิภาคตะวันตกที่ใช้ประกอบ เพื่ออาจเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย
การประเมินตำแหน่งของศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Salomon Smith Barney, 2015)
- Size of Natural Catchment Area พื้นที่มีประชากรอาศัย และพึ่งพาสนามบินนั้น เป็นปัจจัยหลักในการบอกขนาดของตลาด (Market Size) ว่าจะมีโอกาสเป็นศูนย์การบริการทางอากาศ
- Location Relative to Main Traffic มีภูมิศาสตร์ให้บริการการบินชุมชนท้องถิ่น (Local Traffic) และ Point-to-Point Traffic เป็นอย่างดี
- Attractiveness to Connecting Traffic พื้นที่ที่เอื้ออำนวย ต่อ Connecting Traffic เหมาะเป็น Aviation Hub ที่สมบูรณ์มากขึ้น
- Commitment of Airline or Alliance การเป็นพันธมิตรทางการบินในกลุ่มที่แข็งแกร่ง
- Airport Expansion Potential ศักยภาพในการขยายตัวในอนาคต
องค์ประกอบการวางผังเมืองเพื่อส่งเสริมศูนย์กลาง การบินภาคตะวันตก
1. การส่งเสริมการบริหารจัดการท่าอากาศยาน
2. คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในเขตผังเมืองโดยรอบ
3. ประสิทธิภาพการกระจายผู้โดยสารและสินค้า จากท่าอากาศยานสู่พื้นที่เมือง
เกณฑ์และมาตรฐานการวางผังเพื่อส่งเสริมศูนย์กลางการบินภาคตะวันตก
1. ตำแหน่งที่ตั้ง Location
2. ขอบเขตพื้นที่ Scope of the Area
3. การใช้ที่ดิน Land Use
4. สถานภาพทั่วไปของพื้นที่ GIS Layer
5. เส้นทางแสดงปริมาณการจราจรหลายระดับ Traffic Level
เกณฑ์ด้านการจัดทำผังการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
เกณฑ์ในการจัดทำข้อกำหนดด้านอาคารสิ่งปลูกสร้าง
- 1. อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio : FAR)
- 2. อัตราส่วนพื้นที่อาคารปกคลุมดินต่อพื้นที่ดิน (Building Coverage Ratio : BCR)
- 3. อัตราส่วนที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม (Open Space Ratio : OSR)
เกณฑ์ด้านจุดที่ตั้งและพื้นที่ตามแนวเส้นทาง
- ตำแหน่งที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของขั้วความเจริญ (Node
- ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม
- เส้นทางคมนาคมที่เชื่อมระหว่างเมืองหลวงกับเมืองการบิน
- ขนาดของประชากรกับข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์พื้นที่
องค์ประกอบที่ใช้ในการพิจารณาเพื่อกำหนดที่ตั้งของท่าอากาศยาน
- คุณลักษณะทางกายภาพ เป็นพื้นที่ราบไม่ล้อมรอบด้วย ภูเขาสูง ระบายน้ำได้ดี ลักษณะของดินเหมาะสมในการปรับพื้น สนามบินและฐานรากของอาคาร
- พื้นที่การเดินอากาศ มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพทางการบิน ปราศจากสิ่งกีดขวางการเดินอากาศ เช่น ภูเขา ต้นไม้ และอาคารสูง
- สภาพอากาศ ทิศทางลมและควันกับทัศนวิสัยทางการบิน ทิศทางลมที่ชักนำสัตว์ปีกเข้ามาในพื้นที่ พื้นที่ที่ไม่มีลมกรรโชกแรง หมอก และฝนตกมาก
- การใช้ประโยชน์และราคาที่ดิน การตั้งถิ่นฐานไม่หนาแน่น
เพื่อป้องกันผลกระทบจากเสียง มีราคาที่ดินไม่สูงมาก - การเข้าถึงทางภาคพื้นดิน การเข้าถึงสะดวกโดยเฉพาะการ
เดินทางชุมชนเมืองและสนามบิน ไม่ห่างจากเมืองมากนักเพื่อลด การลงทุนขนส่งมวลชน - การใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต วางแผนที่ดินตามทางของ Runway ลดผลกระทบจากเสียง และสามารถขยายตัวได้ดีไม่ต้องซื้อที่ดินที่มีราคาสูง
ปัจจัยเฉพาะ Specific Factors ของการกำหนด ที่ตั้งของท่าอากาศยาน
- บทบาทของสนามบินภูมิภาคตะวันตก
- รถยนต์ในระยะเวลา ระยะทาง 200 กม. (80-120) กม./ชม.
- HSR ในระยะเวลา ระยะทาง 200 กม. (160-250) กม./ชม.
- ระยะทางของสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวขาเข้า
- การคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารขาเข้า
- จำนวนสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวขาเข้า
- จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับนักลงทุน
- ความหนาแน่นประชากรที่เป็นผู้โดยสารขาออก
- ระยะทางเฉลี่ยผู้โดยสารขาออกในรัศมี 100 กม.
- ปริมาณจำนวนผู้โดยสารขาออกในรัศมี 100 กม.
- GDP GPP ของจังหวัดที่ตั้งสนามบิน
- จำนวนสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน
- จำนวนสาธารณูปการที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน
- การมีโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ (ภาครัฐ)
- การมีโอกาสของนักลงทุนต่างชาติ (การกู้เงินภาคเอกชน)
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์บ้างในการหาทำเลที่ตั้งโลจิสติกส์ทางอากาศที่จะเป็นการแข่งขันสร้างรายได้จากภายในและต่างประเทศต่อไป และเนื่องจากโครงการเหล่านี้เป็น Mega Projects ที่มีต้นทุนและผลประโยชน์มหาศาล และหากไม่มีการบริหารควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว อาจจะเกิดจุดอ่อนในผลประโยชน์แอบแฝงของโครงการด้วย ดังนั้นความโปร่งใสความระมัดระวังในการดำเนินการที่จะต้องมีควบคู่ไปกับวิสัยทัศน์และการคาดการณ์ที่ชาญฉลาดเที่ยงตรงของผู้บริหารบ้านเมืองจะทำให้โครงการ Mega Projects เหล่านี้นำพาประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
Source: วารสาร Engineering Today ปีที่ 18 ฉบับที่ 175 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 คอลัมน์ Logistics
โดย รศ. ดร.ระหัตร โรจนประดิษฐ์