สกสว. ติดตามการลดการใช้น้ำ – บริหารจัดการน้ำเสียในโรงงานจ.ชลบุรี 2 แห่ง แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC


สกสว. ติดตามการลดการใช้น้ำ - บริหารจัดการน้ำเสียในโรงงานจ.ชลบุรี 2 แห่ง แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า แผนงานการพัฒนาการพัฒนาระบบการวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC : กรณีศึกษาการจัดการน้ำเสียของโรงงาน และการจัดการผลกระทบของชุมชน จังหวัดชลบุรี ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม การบริหารจัดการน้ำ ที่โรงงานผลิตสีย้อม บริษัท โมเดอร์น ไดสตัฟส์ แอนด์ พิคเมนท์ส จำกัด และโรงงานผลิตถุงยางอนามัย บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) พร้อมรับฟังการบรรยายความคืบหน้าจากชุมชนบ้านบางละมุง ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำเสียและการแก้ไขปัญหา เพื่อบูรณาการการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เป็นธรรมและอย่างมีประสิทธิภาพ

สกสว.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี ลดการใช้น้ำ – นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ให้ได้ 15 %

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม การบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคในสังคมไทยถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหาให้มีน้ำใช้ทั้งช่วงฤดูแล้ง และฤดูฝนให้เพียงพอกับความต้องการของทุก ๆคน อย่ารอให้เกิดวิกฤตแล้วค่อยเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหา จึงจำเป็นต้องมีแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการวิจัยแบบใหม่ ที่สกสว.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการน้ำเพื่อให้เกิดองค์ความรู้และนวัตกรรมให้ประเทศมีทรัพยากรน้ำใช้ในเชิงปริมาณและคุณภาพเพียงพอรองรับการพัฒนาประเทศในทุก ๆภาคส่วน พร้อมทั้งลดการใช้น้ำในภาคการเกษตร ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมและครัวเรือน นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ให้ได้ประมาณ 15 % และเพิ่มปริมาณน้ำให้เขื่อนรวมทั้งแหล่งกักเก็บน้ำให้ได้ประมาณ 85% ภายในระยะเวลา 3 ปี จากนี้

ในขณะนี้ได้นำร่องการทำงานแล้วในพื้นที่โครงการท่อส่งน้ำและบำรุงรักษาทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) สำนักงานชลประทานที่ 4 จังหวัดกำแพงเพชร และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในโรงงานต้นแบบทุกระดับ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ซ้ำประเภทกันเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ โดยนำหลัก 3R (Reduce Reuse Recycle) ควบคู่ไปกับการใช้ IoT (Internet of Things) ในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดระบบการจัดการน้ำแบบอัจฉริยะเก็บข้อมูลการทำงานได้แม่นยำ สะดวก รวดเร็ว มีข้อมูลประเมินความเสี่ยงตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งมีจำนวน โรงงาน 15 แห่งเข้าร่วม ได้แก่ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไดกิ้นคอมเพรสเซอร์อินดัสทรีส์ จำกัด, บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน), บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอส เอส ซี ออยล์ จำกัด, บริษัท ไทยซิลิเกต เคมีคัล จำกัด, บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน), บริษัท โมเดอร์น ไดสตัฟส์ แอนด์ พิคเมนท์ส จำกัด, บริษัท ไทยคิวบิค เทคโนโลยี่ จำกัด, บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทย เอ็นโอเค จำกัด, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขาที่ 12 และบริษัท ไทย เอ็ม เอฟ ซี จำกัด และนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งเข้าร่วม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสวนอุตสาหกรรม เครือสหพัฒน์ ศรีราชา อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

สำหรับการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า แผนงานการพัฒนาระบบการวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC : กรณีศึกษาการจัดการน้ำเสียของโรงงาน และการจัดการผลกระทบของชุมชน จังหวัดชลบุรี ภายในโรงงานผลิตสีย้อม บริษัท โมเดอร์น ไดสตัฟส์ แอนด์ พิคเมนท์ส จำกัด และโรงงานผลิตถุงยางอนามัย บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) จังหวัดชลบุรี เพื่อติดตามการลดการใช้น้ำ และการบริหารจัดการน้ำเสียภายในโรงงานว่ามีความก้าวหน้า มีปัญหาและอุปสรรคอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบตามหลักวิจัยให้เกิดผลสำเร็จสร้างความมั่นคงด้านน้ำรองรับการใช้น้ำในพื้นที่เพื่อนำไปขยายผลต่อในโรงงานอื่น ๆ ในพื้นที่ EEC ต่อไป

รศ. ดร. บัญชา ขวัญยืน

จัดทำแผนศึกษาสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำใน EEC 20 ปี เน้นศึกษา 2 ส่วนหลัก

รศ. ดร. บัญชา ขวัญยืน อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ และหัวหน้ากลุ่มวิจัยแผนงานการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC กล่าวว่า การศึกษาและวิเคราะห์สมดุลน้ำในพื้นที่ EEC มีนักวิจัยร่วมกันทำงานเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่องแต่เพิ่งจะมีการศึกษาวางแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านน้ำบูรณาการทำงานร่วมกับนักวิจัยทุกภาคส่วน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคประชาชนเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2561 ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลกำลังขับเคลื่อนพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ในบริเวณพื้นที่ EEC จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำในปริมาณที่มากจึงมีแผนศึกษา วิเคราะห์น้ำในลักษณะบูรณาการการใช้น้ำใน 4 ภาคส่วนหลักในพื้นที่ ประกอบด้วย ภาคการเกษตร ภาคการอุปโภคบริโภค ภาคการบริการ และภาคอุตสาหกรรรม โดยได้วางแผนการศึกษาไว้ 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561-2580 เน้นการศึกษาใน 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.การประเมินการใช้น้ำ วิเคราะห์การใช้น้ำในอดีตและปัจจุบันเพื่อประเมินภาพรวมในอนาคตให้มีน้ำใช้ทุกภาคส่วนอย่างเพียงพอ รวมทั้งหาแนวทางในการใช้น้ำต้นทุนทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินร่วมกันอย่างมีศักยภาพ และ 2.การคาดการณ์การใช้น้ำในภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมทั้งหานวัตกรรมและเทคโนโลยี งานวิจัยที่จะนำมาใช้ลดการใช้น้ำ พร้อมทั้งนำน้ำจากธรรมชาติ เช่น น้ำฝน มาใช้ในช่วงหน้าแล้ง เป็นต้น รวมทั้งการบำบัดน้ำเสียภายในโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่นำกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ไม่แพง

เผยระยองเริ่มขาดแคลนน้ำ นำน้ำเสียกว่า 600 คิวต่อวัน มาบำบัดรองรับความต้องการของพื้นที่

สำหรับผลการศึกษาแผนงานการศึกษาสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาระบบการวางแผนการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในพื้นที่ EEC นั้นพบว่า ในจังหวัดฉะเชิงเทรามีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรมากกว่า 85% , อุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม11% และอื่น ๆ อีก 4% , จังหวัดชลบุรีใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม 43%, อุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว 31% ภาคการเกษตร 25% และอื่น ๆ อีก 1% และจังหวัดระยองใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม 59%, การเกษตร 28% และอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว 13% แต่เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ช่วงฤดูฝนน้อยลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนลดลง การใช้น้ำเริ่มขาดแคลนหาได้ยาก ในพื้นที่ต้องพึ่งพาน้ำจากบริษัทจัดการน้ำภาคเอกชนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้นทุนน้ำที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตแพง ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ออกสู่ตลาดจึงจำเป็นต้องขยับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน จำเป็นต้องนำน้ำที่บำบัดได้จากกระบวนการบำบัดน้ำเสียในโรงงานที่ร่วมทำงานในพื้นที่ EEC ทดแทนในสัดส่วนที่เหมาะสมอย่างเร่งด่วน เพราะปริมาณน้ำเสียในพื้นที่ปัจจุบันมีกว่า 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หากนำมาบำบัดตามกระบวนการตามหลักวิชาการที่ถูกต้องจะสามารถนำน้ำกลับมาใช้ชดเชยความต้องการใช้น้ำของพื้นที่ได้

“นอกจากนี้ในช่วงหน้าแล้งอยากขอความร่วมมือเกษตรกรในช่วงประกาศของภาครัฐงดเว้นการปลูกข้าว โดยให้เกษตรกรทำตามอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นการบูรณาการจัดการเรื่องน้ำที่ทุกหน่วยงานพยายามร่วมกันทำงานจะไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ หรืออาจจะเกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรในอนาคตได้” รศ.ดร.บัญชา กล่าว

บุญเหลือ อักษรเลิศสวัสดิ์

โมเดอร์น ไดสตัฟส์ฯ เผยเข้าร่วมโครงการบำบัดน้ำเสียประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า 15-20%

บุญเหลือ อักษรเลิศสวัสดิ์ รองประธานกรรมการ บริษัท โมเดอร์น ไดสตัฟส์ แอนด์ พิคเมนท์ส จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ผลิตสีย้อมและเคมีภัณฑ์ส่งสำหรับแก่ลูกค้ากว่า 70 ประเทศทั่วโลก มากว่า 25 ปี โดยผลิตสีทุกประเภทในบริษัทได้ทั้งหมด ประมาณ 84,000 ตันต่อปี ส่งขายยังต่างประเทศประมาณ 80% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าในเอเชียกว่า 69% ที่เหลืออีก 20% จำหน่ายในประเทศ ในกระบวนการผลิตสีนั้นจะต้องใช้ปริมาณน้ำในขั้นตอนการผลิตจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำจากบริษัทเอกชนที่นำเข้ามาทดแทนปริมาณน้ำที่มีอยู่ภายในบริษัทฯ ไม่เพียงพอ โดยในแต่ละปีจะใช้น้ำ151,758 ลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นใช้ในการอุปโภคบริโภคภายในบริษัทฯ 34,988.40 ลูกบาศก์เมตรต่อปี และใช้ในกระบวนการผลิต 117,369.60 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งเมื่อมาคิดคำนวณค่าใช้จ่ายในการจัดการเรื่องน้ำทำให้พบว่างบประมาณในการจัดการเรื่องน้ำในแต่ละปีสูงมาก ทำให้บริษัทฯ พยายามหาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว จนกระทั่งเมื่อประมาณกลางปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา สกสว. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ชักชวนให้เข้าร่วมโครงการ Spearhead พร้อมแนะนำให้มีการขุดบ่อสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง เนื่องจากบริษัทฯ มีพื้นที่ว่างเปล่าจำนวนมากที่ยังไม่ได้ใช้ดำเนินงาน หลังจากที่บริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำได้กว่า 15-20% นอกจากนี้ยังช่วยปลูกจิตสำนึกในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าให้กับพนักงานในบริษัทนำกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันอีกทางหนึ่งด้วย

ปฐมพงศ์ ชูพยัคฆ์

ไทยนิปปอนรับเบอร์ฯ ตั้งเป้าปี’63 ลดการใช้น้ำ นำน้ำเสียที่บำบัดมาใช้ 55%

ด้าน ปฐมพงศ์ ชูพยัคฆ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในแต่ละปี บริษัทฯ ใช้น้ำในการผลิตถุงยางอนามัยจำนวนมากทั้งน้ำประปา น้ำฝนจากธรรมชาติ และซื้อจากภาคเอกชน แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จากการบันทึกข้อมูลการใช้น้ำเมื่อช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 พบว่ามีการใช้น้ำทั้งปี 113,983.00 ลูกบาศก์เมตร โดยน้ำทั้งหมดจะอยู่ในกระบวนการผลิต 20% คิดเป็น 22,797.00 ลูกบาศก์เมตรต่อปี และปริมาณน้ำออกสู่ระบบบำบัดส่วนกลางการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ 80% คิดเป็น 91,188.00 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เมื่อบริษัทฯ เริ่มนำระบบแผนสมดุลน้ำ Water Balance Diagram (WBD) ที่ทางคณะทำงาน Spearhead มาปรับใช้ทำให้สามารถนำน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตมาทดแทนได้กว่า 30-35% แบ่งการใช้น้ำเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก นำไปใช้ในกระบวนการผลิต 64,175.23 ลูกบาศก์เมตร โดยนำไปใช้ในส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย การจุ่ม (Dipping Line) 53,563.28 ลูกบาศก์เมตร, การล้าง (Washing) 3,232.20 ลูกบาศก์เมตร, การผสม (Mixing) 72,000 ลูกบาศก์เมตร, RO 413.19 ลูกบาศก์เมตร และ Chiller Room 6,894.56 ลูกบาศก์เมตร และส่วนที่2. นำน้ำไปใช้ในส่วนอุปโภคบริโภค 49,807.77 ลูกบาศก์เมตร โดยนำไปใช้ในส่วน Canteen 1,214 ลูกบาศก์เมตร และอื่น ๆ 48,593.77 ลูกบาศก์เมตร

“ในปี พ.ศ. 2563 นี้บริษัทฯ ตั้งเป้าว่าจะลดการใช้น้ำและนำน้ำเสียที่บำบัดแล้วมาใช้ให้ได้ประมาณ 55% ส่วนแผนการดำเนินการในอนาคตนั้น ขณะนี้กำลังร่วมกับทีม Spearhead หาแนวทางในการกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งต่อไป” ปฐมพงศ์ กล่าว

ดร.สมนึก จงมีวศิน

เสนอภาครัฐศึกษาและร่วมวิจัยกับภาคประชาชนในพื้นที่ EEC ดูแลวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านชุมชนชาวบางละมุง

ดร.สมนึก จงมีวศิน อาจารย์จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะหัวหน้าโครงการป้องกันและจัดการความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรน้ำ :กรณีศึกษาในพื้นที่ EEC กล่าวว่า เมื่อการพัฒนาเข้าสู่ทุกพื้นที่ย่อมทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรทุกรูปแบบ ไม่เว้นแม้แต่ทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ใน EEC ซึ่งมีชุมชนชาวบางละมุงที่ประกอบอาชีพการประมง เมื่อมีการบำบัดน้ำเสียที่ไม่ถูกต้องตามกระบวนการลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง และท้องทะเลที่ใช้เป็นพื้นที่หาสัตว์น้ำ ประทังชีวิต หรือนำไปขาย ทำให้สมดุลที่เคยมีหายไป ความเป็นอยู่เริ่มเปลี่ยนทั้งวิถีชีวิต การประกอบอาชีพ ทำให้ชาวบ้านเหล่านั้นได้รับผลกระทบ ทั้งยังขาดการดูแลจริงจังจากภาครัฐ ขาดการเข้ามารับรู้ถึงปัญหาและพยายามที่จะหาแนวทางแก้ไขปัญหา แม้ว่าชาวบ้านจะพยายามปรับตัวรับสภาพเมือง สภาพแหล่งอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเข้ามาโดยตลอด แต่ภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐที่ดูแลไม่พยายามที่จะปรับตัวทำให้ความขัดแย้งลุกลามและไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาให้กลับมาสู่สมดุลของการใช้ชีวิตเหมือนเดิมอีกครั้ง สิ่งแวดล้อมก็ถูกทำลายขาดการฟื้นฟูและให้การช่วยเหลือ ปริมาณสัตว์น้ำก็ลดลง

“สำหรับแนวทางในการเสนอแนะต่อภาครัฐในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ อยากให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำการศึกษาและร่วมวิจัยกับภาคประชาชนในพื้นที่ อย่าทำแล้วละทิ้งโครงการ เพราะประชาชน ชาวบ้านที่นี่เขามีรูปแบบการดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านที่น่าสนใจ หากเข้ามาช่วยนำร่องฟื้นฟูได้ก็จะสามารถนำไปปรับใช้เป็นโมเดลในพื้นที่ประมงอื่น ๆในประเทศไทยได้” ดร.สมนึก กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save