ปัจจัยขับเคลื่อนหลักสามประการที่มีผลต่อการสร้างกระแสในระยะยาวในอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่
การเติบโตของประชากรและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืน
1.การเติบโตของประชากร และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
ในขณะนี้มีประชากรประมาณ 8 พันล้านคนอาศัยอยู่บนโลก ถึงแม้ว่าต้องใช้เวลาหลายศตวรรษกว่าจำนวนประชากรโลกจะถึง 2 พันล้านคน แต่ตัวเลขดังกล่าวนั้นจะเพิ่มขึ้นถึง 10 พันล้านคนภายในปี 2593 ซึ่งหมายความว่า ในระยะเวลาไม่ถึง 30 ปี ประชากรโลก จะเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งในสี่ และด้วยสาเหตุนี้ เราจึงต้องเพิ่มแหล่งอาหารที่เรามีอยู่เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด
ในทศวรรษต่อไปจำนวนประชากรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านคน แม้ว่าการวิจัยแสดงให้เห็นว่าประชากรในประเทศไทยจะลดลง 4 ล้านคนภายในปี 2593 ประเทศไทยจะพบกับความเปลี่ยนแปลงทางประชากรที่สำคัญนั่นคือประชากรวัยหนุ่มสาวมีจำนวนลดลงในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น จาก 6.3 ล้านคนเป็น 15.4 ล้านคน ภายในปี 2593 เรียกได้ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
จากผลกระทบของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกส่งผลให้ภายในปี 2593 ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น 70% หากลองนึกภาพถึงปริมาณอาหารจำนวนมหาศาลที่ประเทศไทยจะต้องผลิตและส่งออกทั่วโลก นอกเหนือจากความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นแล้ว ประเทศไทยยังมีโอกาสในการส่งสินค้าออกมากขึ้น แต่หากจำนวนประชากรลดลง ประเทศไทยอาจประสบปัญหาด้านกำลังคน ดังนั้นจึงสามารถคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทในการผลิตพืชผลการเกษตร การทำฟาร์ม และการแปรรูปอาหารจนถึงจุดสิ้นสุดของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เป็นผลให้ผู้ผลิตอาหารสามารถคาดหวังรายได้ที่จะเติบโตอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของประชากร ความต้องการ และราคาผลิตภัณฑ์
อุตสาหกรรมอาหารไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรเพียงอย่างเดียว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและแนวโน้มการใช้ชีวิตยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่าง อาหารที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ ซึ่งกำลังเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นใน
กลุ่มสังคมผู้สูงอายุ นอกจากนี้ พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ในการสรรหาอาหารประเภทต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ หรือตอบสนองความต้องการส่วนตัวบางอย่าง เช่น อาหารเพื่อลดความเครียด ก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
กระบวนการแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัล (Digitalization) ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต เนื่องจากผู้คนมักจะใช้เวลาบนโทรศัพท์มือถือมากกว่าการออกไปข้างนอก ทำให้บริการจัดส่งออนไลน์และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นที่นิยม และในอนาคตเราจะยังเห็นเทรนด์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ
ขยะจากอาหารเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง ในปัจจุบัน 33% ของอาหารทั่วโลกกลายเป็นขยะ
ต้นตอของปัญหานี้อาจเกิดจากการที่อาหารถูกส่งไปผิดที่หรือการส่งอาหารมากเกินความจำเป็น
ประเทศไทยมีการบริโภคอาหารประมาณ 17 ล้านตันต่อปี คิดเป็นขยะที่เกิดจากอาหารประมาณ
79 กิโลกรัมต่อคน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่ามีปริมาณมาก
เช่น ในกรุงเทพฯ มีอาหารมากกว่า 5,000 ตันถูกทิ้งทุกวัน
2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ผลกระทบของขยะที่เกิดจากอาหารมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจาก 26% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดมาจากอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นหลายส่วน: 31%
มาจากปศุสัตว์และการประมง 27% จากการผลิตพืชผล 24% จากการใช้ที่ดิน และ 18% มาจากห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อาทิ การขาดแคลนน้ำ พื้นที่เพาะปลูกที่ลดลง คลื่นความร้อน และโรคทางทะเลที่ลดผลผลิตของการประมง ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้โดยให้คำมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
ภายในปี 2593 โดยใช้วิธีการกำจัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการปลูกป่า และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 นอกจากนั้น การสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น
3.ความยั่งยืน
ปัจจัยที่สามคือความยั่งยืน ซึ่งก็คือความสมดุลระหว่างความต้องการทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจนั่นเอง คำว่าสิ่งแวดล้อมในที่นี้ไม่ใช่แค่การทำให้อุตสาหกรรมของเราปลอดคาร์บอนหรือเป็นกลางทางคาร์บอนเท่านั้น แต่มันคือการสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ที่เรามอบให้กับสังคมของเราโดยการปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
จากการวิเคราะห์ระบบอาหารที่ยั่งยืนและดัชนีความยั่งยืน 65% ของผู้บริโภคทั่วโลกมองหาผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ยั่งยืนและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เมื่อเราลองนำตัวเลขมาเปรียบเทียบดูพบว่า 60% ของผู้บริโภคต้องการซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม และ 54% พยายามซื้อจากแบรนด์ที่ยืนหยัดในประเด็นทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ในประเทศไทย 65% ของผู้บริโภคต้องการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม มีคนไทยเพียง 35% เท่านั้นที่มองหาผลิตภัณฑ์ที่ผลิตอย่างยั่งยืน แต่ 65% และยินดีที่จะจ่ายเพิ่มหากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวลดการใช้พลาสติกและลดเศษอาหาร
ปัจจัยขับเคลื่อนที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอาหาร
ปัจจัยแรกของการขับเคลื่อน ได้แก่ การตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalization)
จะกลายเป็นแนวโน้มสำคัญเมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนไป ในอดีต เราพูดว่า ‘คุณกินอาหารแบบใดเข้าไป ก็บ่งบอกถึงความเป็นตัวคุณ‘ แต่วันนี้ ผู้คนมีแนวโน้มที่จะ ‘กินในสิ่งที่พวกเขาต้องการจะเป็นหรือแสดงออก‘ มากขึ้น เนื่องจากผู้คนหันมาบริโภคตามความต้องการของไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป
“วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู้โรคระบาด” (Health Intelligence) จะสนับสนุนเทรนด์ด้านการตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล เห็นได้จากผลิตภัณฑ์แนะนำการทดสอบโภชนาการให้กับลูกค้าซึ่งต่างจากการตรวจสุขภาพประจำปี การทดสอบวิธีนี้จะบอกว่าคุณต้องบริโภคอาหารอะไรและปริมาณเท่าไหร่ และ ‘เทคโนโลยีครัวอัจฉริยะ (Smart Kitchen/Dining Technologies)’ จะถูกนำมาใช้ในการเชื่อมต่อเครื่องใช้ในบ้าน เช่น เตาอบหรือตู้เย็น เพื่อรวบรวมข้อมูลจากผู้คนและประเมินความต้องการของตลาดเพื่อจัดหาผลิตภัณฑ์เฉพาะให้กับแต่ละบุคคล
ปัจจัยที่สองคือ การส่งอาหาร (Food Delivery) โดยใช้เทคโนโลยี Digital Supply Chain จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งในอนาคตเราอาจได้เห็นโดรนส่งอาหารให้กับลูกค้า ปัจจัยที่สามคือ แหล่งทางเลือก (Alternative Sources) ซึ่งจะมีความสำคัญเนื่องจากอุปสงค์เพิ่มขึ้นในขณะที่อุปทานลดลง ดังนั้นความต้องการแหล่งอาหารทางเลือกจึงเพิ่มขึ้นไปด้วย ปัจจัยถัดมาคือการทำการเกษตรอัจฉริยะ
(Smart Farming) เป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิตโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อวิเคราะห์ว่าควรให้อาหารสัตว์ชนิดใดและจำนวนเท่าใดถึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้มีการนำมาใช้ให้เห็นกันแล้วในฟาร์มปลา ไก่ และหมู ในแง่ของ ขยะอาหารมีเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ในห่วงโซ่อุปทานดิจิทัลเพื่อคาดการณ์ความต้องการและวางแผนการจัดหาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดขยะอาหาร
ปัจจัยสุดท้ายคือ ระบบอาหารที่ยั่งยืนเพื่อธุรกิจอาหารที่โปร่งใส ซึ่งหมายถึงการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่การทำฟาร์มและการป้อนวัตถุดิบในการแปรรูปอาหารไปจนถึงการส่งมอบผลิตภัณฑ์สู่ตลาดและการติดตามแหล่งที่มาของอาหารเพื่อวัดความยั่งยืนและบรรลุเป้าหมาย SDG และ ESG แนวโน้มและเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของเราในอนาคต
โดย มนตรี ตันติถาวร ผู้บริหารระดับสูง และหัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษาด้าน Consumer Business Sector บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด