สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งปฏิเสธไม่ว่าได้ส่วนหนึ่งเป็นผลลัพธ์จากมาตรการ Social Distancing ที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนประชาชนชาวไทยร่วมมือกันในการหยุดยั้งไวรัสนี้ แต่เมื่อใดก็ตามที่มาตรการนี้ลดระดับความเข้มข้นลง นั่นก็หมายถึงว่าประเทศไทยก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้น
ดร. จุฑาทิพ บุญสมบัติ จากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นักวิจัยโครงการสนับสนุนข้อมูลวิจัยเชิงลึกด้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า จากการ ศึกษารวบรวมข้อมูลจากวารสารวิจัยนานาชาติ พบว่า ปัจจุบันมีนักวิจัยทั่วโลกมากกว่า 12 กลุ่ม เริ่มศึกษาการวิเคราะห์น้ำเสียที่ถูกปล่อยทิ้งจากครัวเรือนเพื่อตรวจหาไวรัส COVID -19 ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการประมาณการจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละชุมชน โดยวิธีการวิเคราะห์น้ำเสียจะใช้น้ำจากระบบระบายน้ำทิ้งจากครัวเรือนที่จะส่งต่อไปยังโรงบำบัดน้ำเสีย ซึ่งใช้ในการติดตามเชื้อโรคที่ถูกขับออกมาในปัสสาวะหรืออุจจาระ เช่น เชื้อไวรัส COVID -19 โรงบำบัดน้ำเสียแต่ละแห่งรองรับน้ำเสียจากคนจำนวนมาก ซึ่งการติดตามตรวจสอบน้ำเสียแบบนี้จะทำให้สามารถประมาณการแพร่ระบาดของเชื้อ และมีความแม่นยำกว่าการทดสอบด้วยชุดทดสอบทางคลินิก เพราะการใช้น้ำเสียจะรวมผลจากคนที่ไม่ได้ตรวจเชื้อและมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเข้ามาด้วย ตัวอย่างเช่น กลุ่มวิจัยของ de Roda Husman นักวิจัยด้านโรคติดเชื้อ สถาบันสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ตรวจพบเชื้อ COVID -19 ในปริมาณเล็กน้อย ในน้ำเสียจากสนามบิน Schiphol ในเมือง Tilburg ในเวลาเพียง 4 วัน หลังจากที่ทางการเนเธอร์แลนด์ยืนยันผู้ติดเชื้อรายแรกจากวิธีการตรวจเชื้อทางคลินิก ปัจจุบันกลุ่มวิจัยของ de Roda Husman มีแผนที่จะขยายการตรวจสอบไปยังเมืองใหญ่ ในทั้ง 12 จังหวัดในเนเธอร์แลนด์ รวมถึงอีก 12 แห่งที่ยังไม่มีการยืนยันผู้ป่วยติดเชื้อ
“สำหรับข้อดีของวิธีการประเมินการระบาดของไวรัส COVID -19 จากน้ำเสียครัวเรือน คือตามที่มาตรการ Social Distancing ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นวิธีการที่ดีที่ช่วยลดการระบาดของ COVID -19 แต่เมื่อใดก็ตามที่มาตรการนี้ลดระดับความเข้มงวดลง ก็มีโอกาสกลับมาของการระบาด ดังนั้นการเฝ้าติดตามด้วยการวิเคราะห์น้ำเสียจึงเป็นวิธีการที่ช่วยในการเฝ้าระวังและเพื่อเตือนภัยในกรณีที่การระบาด COVID -19 กลับมาในชุมชน” ดร. จุฑาทิพ กล่าว
เนื่องจากเชื้อไวรัส COVID -19 จะปรากฏในอุจจาระภายใน 3 วัน หลังติดเชื้อ ซึ่งเป็นเวลาที่เร็วกว่าเวลาที่กว่าผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการเข้าข่ายต้องสงสัยแล้วไปรับการการตรวจหาเชื้อทางคลินิค ดังนั้นการเฝ้าติดตามด้วยการวิเคราะห์น้ำเสีย จึงเป็นวิธีการที่ช่วยบ่งชี้สถานการณ์ได้เร็ว ทำให้การออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การระบุได้อย่างรวดเร็วว่ามีผู้ติดเชื้อในชุมชน จะช่วยจำกัดความเสียหายจากการระบาดได้มาก โดยเฉพาะหากมีการระบาดของเชื้อ COVID -19 กลับมาในอนาคตข้างหน้า วิธีการนี้ยังสามารถช่วยในการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการณ์ต่าง ๆ ที่มีในช่วงของการระบาดได้ด้วย
สำหรับการใช้การวิเคราะห์น้ำเสียเพื่อประเมินการระบาดของเชื้อ COVID -19 น่าจะเป็นมาตรการระยะยาวที่ทางรัฐสามารถนำมาใช้ เพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม และประเมิน การระบาดของเชื้อไวรัส COVID -19 ดังนั้นการสนับสนุนงานวิจัย เพื่อหาวิธีการทดสอบที่เหมาะสม ใช้ได้ง่าย และมีประสิทธิภาพ น่าจะเกิดประโยชน์ โดยผลจากการวิจัยนี้ไม่เพียงจะใช้กับสถานการณ์ระบาด COVID -19 แต่ยังอาจจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้สำหรับการติดตาม ประเมิน ด้านสาธารณสุขในเรื่องอื่น ๆ ได้อีกด้วย
อ้างอิงข้อมูล
S. Mallapaty (2020) How Sewage Could Reveal True Scale of Coronavirus Outbreak. Nature. 10.1038/d41586-020-00973-x
Cr ภาพจาก : statnews