นาโนเทค นำนวัตกรรมกรองน้ำด้วยนาโนเทคโนโลยี ช่วยชุมชนบ้านสัก จ.ลำปาง บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ


นาโนเทค นำนวัตกรรมกรองน้ำด้วยนาโนเทคโนโลยี ช่วยชุมชนบ้านสัก จ.ลำปาง บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ดร.ณัฏฐพร พิมพะ หัวหน้าทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม  นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ณ ชุมชนบ้านสัก ต.บ้านเอื้อม อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องการบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำดื่ม น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร แก้ปัญหาด้วยการประยุกต์ใช้สิ่งรอบตัว อาทิ ไส้กรองน้ำจากเซรามิค ของเหลือใช้ในชุมชน หรือเทคโนโลยีการตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างง่ายที่อาศัยพืชใกล้ตัวอย่างต้นกระถิน โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พันธมิตรร่วมโครงการ

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค)

นาโนเทคจับมือ มรภ.ลำปางพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่  จับมือชุมชนแก้ปัญหาน้ำอุปโภคและบริโภคอย่างยั่งยืน

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค)  กล่าวว่า นาโนเทคมีพันธกิจหลักขในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีสู่ความเป็นเลิศ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่อย่าง BCG  (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เรื่อง “น้ำ” ที่นาโนเทคดำเนินการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ การบริหารจัดการและการปรับปรุงคุณภาพน้ำ รวมถึงการออกแบบเทคโนโลยีด้านการกรองและบำบัดต่างๆ โดยจับมือกับพันธมิตรเพื่อบูรณาการร่วมมือในการแก้ปัญหาด้านน้ำ ตอบโจทย์ที่ท้าทายของประเทศ

“การลงพื้นที่ชุมชนบ้านสัก จังหวัดลำปางในครั้งนี้ เป็นการพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่ ซึ่งมุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือของสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น ร่วมกับชุมชนในการแก้ปัญหาน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคเพื่อนำสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ” ดร.วรรณี  กล่าว

ลงพื้นที่ชุมชนบ้านสัก จ.ลำปาง  สร้างนวัตกรรมชุมชนพึ่งพาตนเอง

ลงพื้นที่ชุมชนบ้านสัก จ.ลำปาง สร้างนวัตกรรมชุมชนพึ่งพาตนเอง

ดร.ณัฏฐพร พิมพะ หัวหน้าทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทค สวทช.

ดร.ณัฏฐพร พิมพะ หัวหน้าทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทค สวทช. กล่าวว่า โครงการองค์ความรู้สู่ชุมชน: นวัตกรรมกรองน้ำด้วยนาโนเทคโนโลยีเพื่อการพึ่งตนเองของชุมชนบ้านสัก ต.บ้านเอื้อม อ.เมืองลำปาง จังหวัดลำปาง  เกิดจากการลงพื้นที่ชุมชนบ้านสัก ที่ลำปางเมื่อปี 2563 เป็นการบูรณาการทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงความร่วมมือของพันธมิตรในพื้นที่ เพื่อบริหารจัดการน้ำองค์รวม ทั้งน้ำดื่ม น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร แก้ปัญหาเฉพาะในท้องถิ่น โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 

นาโนเทค นำนวัตกรรมกรองน้ำด้วยนาโนเทคโนโลยี ช่วยชุมชนบ้านสัก จ.ลำปาง บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ

โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การถ่ายทอดองค์ความรู้การวิจัยและพัฒนาวัสดุกรองน้ำอย่างง่าย ต้นทุนต่ำจากวัสดุและภูมิปัญญาในชุมชน รวมทั้งพัฒนาระบบกรองน้ำ วิธีการบำรุงรักษาระบบกรอง และวิธีการตรวจวัดคุณภาพอย่างง่าย ซึ่งเป็นการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมและส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งตนเองตามพระราชดำริ สร้าง “นักพัฒนาคุณภาพน้ำ” ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นักเรียน และผู้ที่สนใจ เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากการอุปโภคและบริโภคน้ำที่มีการปนเปื้อน รวมไปถึงอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลเพื่อรองรับการอุปโภค-บริโภคอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยถ่ายทอดองค์ความรู้การบริหารจัดน้ำเพื่อการเกษตร การจัดการแปลง และเกษตรอินทรีย์โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในชุมชน รวมทั้งการลดการใช้สารเคมีที่ป้องกันปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำและดิน

นักวิจัยนาโนเทคนำอนุภาคนาโนมาติดเศษเซรามิค พัฒนาเป็นวัสดุกรองที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อได้ทดแทนยูวี

นักวิจัยนาโนเทคนำอนุภาคนาโนมาติดเศษเซรามิค

พัฒนาเป็นวัสดุกรองที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อได้ทดแทนยูวี 

ทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. นำโดย ดร.ณัฏฐพร พร้อมด้วยพันธมิตรในพื้นที่อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และชุมชนบ้านสัก เริ่มโครงการด้วยการผสาน 4 โครงการที่นำมาขยายผลใช้งานในพื้นที่ ได้แก่ เทคโนโลยีการพัฒนาวัสดุกรองน้ำจากวัสดุในท้องถิ่น 

ดร.ณัฏฐพร กล่าวว่า ระบบกรองน้ำดื่มสำหรับครัวเรือนอย่างง่าย  เน้นใช้วัสดุที่มีอยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น เศษเซรามิคเหลือทิ้ง ซึ่งเป็นของเหลือจากอุตสาหกรรมในพื้นที่อย่างการทำเครื่องใช้จากเซรามิคที่เผาแล้ว ไม่ได้คุณภาพ   นำผสมกับถ่านชีวภาพ (Biochar)  เพื่อออกแบบไส้กรองอย่างง่าย ต้นทุนต่ำ สำหรับใช้ในครัวเรือน 

“โจทย์ความต้องการใช้งานเครื่องกรองน้ำของคนในชุมชน คือ ต้นทุนต้องต่ำ ไม่ใช้พลังงานไฟฟ้า และเครื่องกรองน้ำอย่างง่ายนี้ สามารถใช้งานได้เหมาะกับพื้นที่และความต้องการคือ คนในชุมชนสามารถเตรียมไส้กรองได้เอง ไม่ต้องหาซื้อ เป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้” ดร.ณัฏฐพร กล่าว

นอกจากนี้ ได้มีการต่อยอดร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง  นำอนุภาคนาโนมาติดเศษเซรามิค  พร้อมพัฒนาเป็นวัสดุกรองที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อได้ ซึ่งได้ทดลองใช้กับระบบกรองในชุมชนบ้านสัก พบว่า วัสดุเคลือบนาโนนั้นสามารถฆ่าเชื้อได้ดี โดยไม่ต้องใช้หลอดยูวี  นับเป็นแนวทางที่มีประโยชน์มาก หากสามารถผลิตได้มากและต้นทุนต่ำ ลดการทิ้งเศษเซรามิคจากการเผา  ซึ่งจากเดิมไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย  ขณะนี้ดร.ณัฏฐพร อยู่ในระหว่างพัฒนาเป็นเรซิน เพื่อช่วยลดการนำเข้าเรซิน  ช่วยประหยัดเงินตราจากต่างประเทศ

 

มรภ.ลำปางนำพืชหาง่าย “ยอดกระถิน” 

มาตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างง่าย  – ทำได้ในชุมชน

มรภ.ลำปางนำพืชหาง่าย “ยอดกระถิน”  มาตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างง่าย  - ทำได้ในชุมชน

นอกจากนี้ เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้านและการบำรุงรักษา และเทคโนโลยีการตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างง่าย เป็นการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมและส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งตนเองตามพระราชดำริ ให้คนในชุมชนสามารถวิเคราะห์คุณภาพน้ำอย่างง่าย ประเมินประสิทธิภาพและบำรุงรักษาระบบกรองได้ด้วยตัวเอง ที่สำคัญ ลดค่าใช้จ่ายด้านวัสดุกรองและการดูแลระบบประปาหมู่บ้านได้อีกด้วย

ผศ.ดร.ณรงค์ คชภักดี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง 

ผศ.ดร.ณรงค์ คชภักดี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

หนึ่งในนั้น คือ “เทคโนโลยีการตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างง่ายที่อาศัยพืชใกล้ตัวอย่างต้นกระถิน”  ในเรื่องนี้  ผศ.ดร.ณรงค์ คชภักดี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง อธิบายว่า  เทคโนโลยีนี้ใช้พืชที่หาได้ง่ายๆ ในชุมชนมาเตรียมเป็นน้ำยาเคมีตรวจวัดปริมาณสารเหล็กในน้ำประปาชุมชน โดยใช้ยอดกระถินซึ่งมีสารมิโมซีน (Mimosine) มาทำเป็นน้ำยา เพื่อตรวจวัดปริมาณเหล็กในน้ำ เนื่องจากมีการค้นพบและตีพิมพ์ใน วารสาร MicroChem (Q1) ว่า สารมิโมซีน เป็นสารสำคัญในการคีเลตกับไอออนของเหล็ก และเปลี่ยนเป็นสีม่วงจนถึงแดงตามปริมาณเหล็กที่ตรวจวัดได้ จึงกลายเป็นการตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างง่ายที่คนในชุมชนสามารถทำได้ โดยนำยอดกระถินมาหั่น ทำเเห้งและบรรจุในถุงชงชา สกัดอย่างง่ายโดยใช้น้ำเปล่า แล้วทำปฏิกิริยากับตัวเทียบมาตรฐานของสารเหล็กไว้สำหรับเทียบกับน้ำตัวอย่าง ถ้ามีสารเหล็กจะเกิดสีม่วงแดงตามปริมาณเหล็กที่พบในน้ำตัวอย่าง สามารถใช้ตรวจติดตามปริมาณเหล็ก และเป็นค่าบ่งชี้เบื้องต้นในการประเมินคุณภาพน้ำได้ดี คนในชุมชนได้เรียนรู้การตรวจวิเคราะห์อย่างง่าย เด็กนักเรียนก็สามารถทำได้ในโรงเรือนด้วย

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีการการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การจัดการแปลงและเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะสนับสนุนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ลดใช้สารเคมีทางการเกษตร อนุรักษ์ไม่ให้มีสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำบาดาล พร้อมอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมให้เพียงพอในช่วงหน้าแล้ง

 

นาโนเทคเตรียมขยายผลบ้านสักโมเดล

ไปยังตำบลบ้านเอื้อมและพื้นที่อื่นในจังหวัดลำปาง

จันทร์วีชา เนาประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านสัก

จันทร์วีชา เนาประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านสัก กล่าวว่า โรงเรียนวัดบ้านสัก เป็นพื้นที่นำร่องของโครงการ โดยเริ่มจากปัญหาของน้ำดื่มน้ำใช้ที่มาจากบ่อน้ำบาดาล  ประกอบกับระบบกรองที่ใช้มานาน ทำให้เกิดตะกอนในท่อส่งน้ำ ส่งผลให้แรงดันน้ำไม่พอ น้ำไหลไม่แรง ส่งผลต่อคุณภาพน้ำดื่มของนักเรียน และเกิดเป็นค่าใช้จ่ายใหม่ที่ต้องจัดซื้อน้ำดื่มแบบบรรจุขวดให้นักเรียนเพิ่ม 

นาโนเทค นำนวัตกรรมกรองน้ำด้วยนาโนเทคโนโลยี ช่วยชุมชนบ้านสัก จ.ลำปาง บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ

“ทางทีมวิจัยเข้ามาช่วยตรวจสอบระบบกรองใหม่  พร้อมปรับเปลี่ยน และประยุกต์ไส้กรอง โดยเติมเซรามิค สารกรอง และเพิ่มหลอดยูวี เพื่อใช้แสงยูวีช่วยฆ่าเชื้อ ทำให้น้ำที่ผ่านระบบกรองดังกล่าว ได้ตามเกณฑ์คุณภาพน้ำดื่ม สามารถดื่มได้   รองรับความต้องการของเด็กนักเรียน 58 คน และครู 10 คน  รวมทั้งหมด 68 คน” จันทร์วีชา  กล่าว

ดร.ณัฏฐพร กล่าวว่า  โครงการนี้ นาโนเทคร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ใช้ระบบกรองน้ำอย่างง่ายๆ  ดำเนินการมา 1 ปี  ประสบความสำเร็จเป็นบ้านสักโมเดลที่พร้อมจะขยายผลบ้านสักโมเดลไปยังตำบลบ้านเอื้อมและพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดลำปาง

เผยนาโนเทค และมรภ.ลำปาง   ช่วยแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำในชุมชนบ้านสักทั้งระบบ

เผยนาโนเทค และมรภ.ลำปาง 

ช่วยแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำในชุมชนบ้านสักทั้งระบบ

นเรศ สร้อยวัน ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านสัก

นเรศ สร้อยวัน ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านสัก กล่าวว่า จากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทำให้โครงการฯ นี้ สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในชุมชนบ้านสักได้เป็นอย่างดี จากเดิมที่ระบบประปาหมู่บ้านไม่เพียงพอต่อการใช้งาน แรงดันน้ำไม่พอ ทำให้น้ำไหลอ่อน ในขณะเดียวกัน เมื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำ ก็พบว่า มีค่าสนิมเหล็กปนอยู่บ้าง สามารถใช้อุปโภคได้ แต่บริโภคไม่ได้ เมื่อทีมวิจัยจากนาโนเทค สวทช. และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ตั้งแต่ระบบกรอง ระบบท่อส่ง การตรวจวัดคุณภาพน้ำ ในแบบที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ทำให้ความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตของคนในชุมชนดียิ่งขึ้น 

นอกจากทีมวิจัยจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำในชุมชนแล้ว ยังเป็นการพัฒนาทักษะของคนในชุมชน ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำ ไม่ว่าจะเป็นกรรมการหมู่บ้าน นายช่าง รวมถึงนักเรียน ให้สามารถเรียนรู้วิธีการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ฝึกการสังเกต และเก็บข้อมูล ที่จะนำไปสู่การเป็นนักพัฒนาคุณภาพน้ำ ดูแลและอนุรักษ์แหล่งน้ำดื่ม น้ำใช้ในชุมชนต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save