สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และพันธมิตรประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอส เอ็น ซี จำกัด (มหาชน) บริษัท อัลโต้เทค โกลบอล จำกัด บริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด และ บริษัท ซินเนอร์ยี เทคโนโลยี จำกัด ร่วมสนับสนุน จัดการแข่งขัน “IoT Hackathon 2024 ครั้งที่ 4” ภายใต้โจทย์ Industrial AIoT Applications for Competitive & Smart Manufacturing ภายใต้ “โครงการขยายผลหลักสูตร Internet of Things, Industrial IoT และการประมวลผลเครื่องจักรด้วย AI สําหรับสถาบันอาชีวศึกษา” เพื่อนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมมาประยุกต์ใช้ในการแข่งขัน เตรียมความพร้อมนักศึกษาสู่การฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการ และเสริมทักษะ Soft Skill ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นของกำลังคนในระดับอาชีวศึกษาให้มีความรู้ความสามารถนำไปใช้ในการพัฒนากระบวนการที่เกี่ยวข้องตอบสนองการพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัลผ่านการตอบรับโจทย์จากภาคอุตสาหกรรมและตลาดการค้าต่างๆ โดยนำองค์ความรู้แบบ Outcome-Based Learning และทักษะที่ผ่านการอบรมมาใช้แก้ไขปัญหา เพื่อจะมั่นใจว่า “ทำได้ ทำเป็น”ก่อนเข้าสู่การทำงานจริงในสถานประกอบการ นำร่องพื้นที่ภาคตะวันออก (EEC) และขยายสู่พื้นที่อื่นๆในประเทศต่อไป
ดร.วุฒิ ด่านกิตติกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงาน เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) กล่าวว่า การจัดการแข่งขัน IoT Hackathon 2024 ในครั้งนี้เป็นกิจกรรมในการพัฒนากำลังคน เสริมทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) และการประมวลผลเครื่องจักร ด้วย AI ให้แก่บุคลากรด้านอาชีวศึกษา ซึ่งการดำเนินงานด้านการพัฒนากำลังคนและพัฒนาฝีมือขั้นสูง ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจ 5 ด้านของ EECi สวทช. คือ การเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาของอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้กำลังคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายเกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่และต่อยอดพัฒนาทักษะที่มีอยู่ให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้นให้อยู่ในระดับที่ตลาดแรงงานในปัจจุบันต้องการ เช่น ด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า เมคคาทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ อีกทั้งยังให้การสนับสนุนด้านการพัฒนากำลังคนในระยะกลางและระยะยาวให้กำลังคนด้านอาชีวศึกษาที่ขาดแคลนในสาขาต่างๆมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเองตามเป้าหมายการพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาของประเทศไทย เช่น การจัดให้มีทุนการศึกษาจากภาครัฐ หลักสูตรด้านอุตสาหกรรมในระดับบัณฑิตศึกษา และหลักสูตรสองปริญญา โปรแกรมฝึกงานนักวิจัยหลังปริญญาเอก โปรแกรมการพบปะกับ ผู้เชี่ยวชาญที่มีความชํานาญระดับสูง และศาสตราจารย์ และการจัด การศึกษาในแนว STEM Education เป็นต้น
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เนคเทค ได้ดำเนินโครงการ “ขยายผลหลักสูตร Internet of Things, Industrial IoT และการประมวลผลเครื่องจักรด้วย AI สำหรับสถาบันอาชีว-ศึกษา” หรือที่เรียกว่าพัฒนากำลังคนลับคมเด็ก Gen R อย่างต่อเนื่อง โครงการนี้ถือเป็นการต่อยอดจากโครงการที่ได้ดำเนินการมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564-2566 โดยตั้งเป้าหมายมุ่งพัฒนาวิทยาลัยต้นแบบที่มีความพร้อมทางด้านกำลังคน เทคโนโลยี องค์ความรู้ ความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยี Internet of Things, Industrial IoT และ AI ผลลัพธ์ที่เกิดจากการดำเนินโครงการในปี พ.ศ. 2564-2566 คือ หลักสูตรและคู่มือการสอนที่สามารถสร้างบุคลากรด้าน Industrial IoT ได้แก่ หลักสูตร Internet of Things และ Industrial IoT ประยุกต์เป็นหลักสูตรที่สมบูรณ์แบบขึ้นในปัจจุบัน อีกทั้งได้เพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหาหลักสูตรด้วยการนำเอาองค์ความรู้ทางด้าน AI มาผนวกใช้งานร่วมกับ IoT จึงเกิดเป็นเทคโนโลยี AIoT (Artificial Intelligence: Internet of Things) เป็นเทคโนโลยีและองค์ ความรู้ที่สำคัญในการพัฒนา Factory 4.0 ของประเทศไทยให้มีความทันสมัยก้าวหน้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทัดเทียมการผลิตในระดับสากล
สำหรับความโดดเด่นของโครงการฯ ที่ดำเนินการพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 คือ มากกว่า 80% ของผู้เข้าร่วมโครงการในปี พ.ศ. 2564 – 2565ได้เข้าทำงานจริงในสถานประกอบการ ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ในด้านยานยนต์ พลาสติก และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และปีพ.ศ. 2566 นักศึกษายังอยู่ในระหว่างการศึกษาและฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการ นอกจากการพัฒนากำลังคนภาคอุตสาหกรรม ผลผลิตสำคัญอีกอย่างหนึ่งจากโครงการฯ คือ หลักสูตรคู่มือการสอน และชุดอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนด้าน Industrial IoT ที่สามารถประยุกต์สอนได้ใน 6 สาขาวิชา ได้แก่ ช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เมคคาทรอนิกส์ เทคนิคคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นสาขาวิชาเป้าหมายของโครงการฯ
ในการจัดการแข่งขันในครั้งที่ 4 นี้ ได้มีพันธมิตรภาคเอกชนร่วมสนับสนุนจัดการแข่งขัน ประกอบด้วย การแข่งขันในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอส เอ็น ซี จำกัด (มหาชน) บริษัท อัลโต้เทค โกลบอล จำกัด บริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด และ บริษัท ซินเนอร์ยี เทคโนโลยี จำกัด ส่วนการขยายการแข่งขันให้นักศึกษาในระดับอาชีวศึกษาเข้ามาร่วมโครงการมากขึ้นในพื้นที่ EEC และส่วนอื่นๆนั้นกำลังศึกษาความพร้อมและการพันธมิตรกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ นี้ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ เพื่อสร้างกำลังคนด้านอาชีวศึกษาที่ประเทศขาดแคลนในแต่ละปีจำนวนมาก
ปิยวัฒน์ จอมสถาน หัวหน้าโครงการจากกลุ่มวิจัยไอโอทีและระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม (IIARG) และนักวิจัยจากทีมระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS) กล่าวว่า การแข่งขัน “ IoT Hackathon 2024 ครั้งที่ 4” ภายใต้โจทย์ Industrial AIoT Applications for Competitive & Smart Manufacturing ได้จำลองสถานการณ์การแข่งขันให้เสมือนทำงานจริงอยู่หน้างาน ที่มุ่งเน้นให้ผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านการอบรมนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับเครื่องมือต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาที่มาจากโจทย์ของภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น โจทย์ด้าน OEE Production Monitoring Power Management Maintenance Warehouse Management Quality Control การคำนวณหาค่า ERP การบำรุงรักษา Motor การทำระบบ ANDON และการทำ Monitoring Room นอกจากนี้ได้เพิ่มโจทย์เกี่ยวกับ Industrial Edge & AI เข้ามา โดยเนคเทคสนับสนุน Daysie Platform ให้ผู้เข้าแข่งขันได้ใช้งานในการจัดการและวิเคราะห์ชุดข้อมูลของโรงงานจริง นำไปสร้างเป็น Dashboard และ Analytics Report โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ได้ผ่านการอบรม การทดสอบ และผ่านเกณฑ์การคัดเลือกแล้วว่ามี ทักษะความสามารถตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการพัฒนากำลังคนระดับอาชีวศึกษาต่อยอดความรู้จากห้องเรียน รู้เวทีการแข่งขันได้สัมผัสเครื่องมือของจริง แก้โจทย์การทำงานจากโจทย์ของการแข่งขันตามเวลาที่กำหนด ระยะเวลา 36 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม พ.ศ.2567 ณ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เพื่อชิงเงินรางวัลรวม 70,000 บาท ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ 30,000 บาท รองชนะเลิศ 20,000 บาท รองชนะเลิศอันดับสอง 10,000 บาท และรางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัลๆ ละ 5,000 บาท
สำหรับนักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ จำนวน 41 คน และอาจารย์ที่ปรึกษา 8 คน รวมทั้งสิ้น 49 คน จาก 6 วิทยาลัย ได้แก่ 1.วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จังหวัดชลบุรี นักศึกษาที่ร่วมแข่งขัน 12 คน 2. วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี จังหวัดชลบุรี นักศึกษาที่ร่วมแข่งขัน 3 คน 3.วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) จังหวัดชลบุรี นักศึกษาที่ร่วมแข่งขัน 13 คน 4.วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย จังหวัดระยอง นักศึกษาที่ร่วมแข่งขัน 4 คน 5.วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และนักศึกษาที่ร่วมแข่งขัน 4 คน 6.วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี จังหวัดระยอง นักศึกษาที่ร่วมแข่งขัน 5 คน นอกจากนี้ในวันสุดท้ายของการแข่งขัน คือวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2567 จะมีสถานประกอบการเข้าร่วมจัดบูธโชว์ในนิทรรศการ Job Fair เปิดโอกาสให้สถานประกอบการ และผู้เข้าร่วมแข่งขันได้จับคู่เพื่อเลือกรับน้อง ๆ เข้าไปฝึกปฏิบัติงาน ในสถานประกอบการ โดยโครงการฯ จะมีการติดตามผลการฝึกปฏิบัติงาน ซึ่งมีอัตราการรับน้องๆ นักศึกษา เข้าทำงานทันทีหลังฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการ รวมไปถึงผู้เข้าร่วมโครงการฯ จบการศึกษา ทางโครงการฯ ยังคงติดตามการมีงานทำของผู้เข้าร่วมต่อไปในอนาคต
นนทวิทย์ มีแสง นักศึกษาสาขาวิศวกรรมเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า การผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันโครงการฯ นี้รู้สึกดีใจและจะได้ทราบถึงศักยภาพของตัวเองที่ได้เรียนในห้องเรียนแล้วนำมาใช้แก้โจทย์ในการแข่งขันร่วมกับเพื่อนๆที่มาจากหลากหลายสถาบันการศึกษา การแก้โจทย์จะต้องอาศัยองค์ความรู้ เทคนิคต่างๆ การจัดการเซ็ตระบบเครื่องมือสร้างฐานข้อมูลเชื่อมระบบโปรแกรมให้แก้ไขโจทย์หัวข้อแข่งขันอย่างเหมาะสมและถูกต้องและการทำงานเป็นทีม ช่วยแก้โจทย์ให้เกิดผลสำเร็จให้ได้ หากได้รับรางวัลนอกจากจะแบ่งกับเพื่อนร่วมทีมแล้วจะนำไปเป็นทุนการศึกษาใช้ในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น
กุลสรา แตงท้าว นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย จังหวัดระยอง กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นและดีใจที่ได้รับการคัดเลือกร่วมแข่งขันในครั้งนี้ แม้ว่าจะไม่ได้เรียนในระดับอาชีวศึกษามาตั้งแต่แรกเพราะเพิ่งเปลี่ยนการเรียนจากสายสามัญในระดับมัธยมศึกษามาเป็นสายอาชีวศึกษาก็มั่นใจว่าจากการเรียนและศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม อีกทั้งมีเพื่อนๆในทีมที่เป็นกำลังใจ จะช่วยให้การแข่งขันในครั้งนี้ช่วยกันแก้โจทย์ได้ ส่วนรางวัลนั้นหากได้ก็จะนำแบ่งให้กับเพื่อนร่วมทีมและนำไปใช้เป็นทุนศึกษาต่อ หากไม่ได้ก็ไม่เสียใจเพราะการได้รับการคัดเลือกร่วมการแข่งขันถือเป็นประสบการณ์ที่ดีได้ร่วมแข่งขันกับเพื่อน ๆต่างสถาบันการศึกษา ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ได้ร่วมกันแก้ไขโจทย์ของกิจกรรมในโครงการในครั้งนี้
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นที่น้อง ๆ เยาวชนอาชีวศึกษาสามารถทำความเข้าใจโจทย์ และสามารถพัฒนาผลงานที่มีคุณภาพในเวลาที่จำกัดเพียง 36 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามสำหรับการแข่งขัน สิ่งที่สำคัญไปมากกว่าชัยชนะ และ รางวัล คือ ความรู้ ประสบการณ์ การแก้ไขปัญหา การทำงานภายใต้ความกดดันทั้งระยะเวลา ความง่วง อ่อนล้าของร่างกาย และมิตรภาพจากการทำงานต่างวิทยาลัยที่น้อง ๆ ได้รับ ถึงแม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่เชื่อว่าประสบการณ์จากการแข่งขันในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในโลกอุตสาหกรรม
ปิยวัฒน์ จอมสถาน หัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงความพิเศษของการแข่งขันในปีนี้ว่า ได้เพิ่มโจทย์เกี่ยวกับ Industrial Edge & AI โดยจำลองสถานการณ์ว่า Machine Vision ที่ใช้คัดแยกสินค้าในโรงงานเสีย น้อง ๆ จึงต้องเทรนด์ AI ด้วย Daisy Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสร้าง Edge & AI แอปพลิเคชัน โดยเนคเทค เพื่อใช้คัดแยกสินค้า และตรวจสอบค่าความถูกต้องของ AIระหว่างการแข่งขันผู้เข้าแข่งขันจะต้องพบเจออุปสรรคต่าง ๆ ที่จำลองจากโรงงานจริง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการดึงข้อมูลจาก PCL เครื่องจักรหยุดทำงานที่ส่งผลให้โปรดักชันแพลนมีปัญหา ฯลฯ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการแข่งขันได้จัดให้มีระยะเวลาในการปรึกษาพี่ ๆ จากทีมวิจัยระบบไซเบอร์กายภาพ (CPS) ได้ตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้
ภายหลังจากสิ้นสุดเวลาการแข่งขัน 36 ชั่วโมงผู้เข้าแข่งขันทุกทีมจะต้องนำเสนอการทำงานแก่คณะกรรมการ โดยคณะกรรมการจะพิจารณาผลงานใน 3 ส่วน ได้แก่ 1) เทคโนโลยี ได้แก่ การจัดทำ Dashboard การดึงและแสดงข้อมูลของโรงงาน การคำนวณและวิเคราะห์ข้อมูลดิบของโรงงาน การวิเคราะห์ค่า ERP และการควบคุมคุณภาพด้วย AI การคำนวณและวิเคราะห์ค่า Monitoring Room 2) การออกแบบ ได้แก่ การเลือกใช้เครื่องมือพัฒนาสำหรับ Dashboard และข้อมูล ERP การจัดวาง-ความสวยงามของ Dashboard และข้อมูล ERP 3) การนำเสนอผลงานด้วย Presentationและการตอบคำถามกรรมการ
นศ.อาชีวฯ โชว์สกิล Data & AI คว้ารางวัลในเวที IoT Hackathon 2024
ตอบโจทย์อุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC
สำหรับผลการแข่งขัน IoT Hackathon 2024 รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ ทีม Teletubbies สมาชิก ประกอบด้วย ปรินทร์วิชญ์ ใหม่อินทร์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ชนสรณ์ บุญมาก วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ พิริยะ มังคะรัตน์ วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม ศุภวิชญ์ หลักเมฆ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และฐิติพันธ์ เหล่าอารีย์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท ได้แก่ ทีม แชมป์ (Champ) สมาชิกในทีม ได้แก่ ชาญเมธา บ่างสมบูรณ์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ วิษณุ ชื่นรส วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ จักรพงษ์ หวานเสนาะ วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี ศักดิ์สิทธิ์ ละครเขต วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และพิพัฒน์ ธีรภัทรไพศาล วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท ได้แก่ ทีมอร่อยไม่ซ้ำ จำสูตรไม่ได้ สมาชิกในทีม ได้แก่ ธนานพ ยศฐาศักดิ์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ อธิพัชร์ ภูรีเรืองโรจน์ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สุวิชา เลิศวิวัฒน์เกษม วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย วรเวช เกตุวัตถา วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ และกันต์ชิสา สนโศรก วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี
ทีม Family Cookie คว้ารางวัลชมเชย
ปิดท้ายด้วย รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัลทีมละ 5,000 บาท ได้แก่ ทีม Family Cookieสมาชิกในทีม ได้แก่ ฐิติกร กรรณมณี วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม ชยณัฐ เสือพุฒวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เสฏฐวุฒิ นารายณ์วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ สิทธินนท์ สกุลวรภัทรวิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย และอนุพงษ์ วันทา วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี และทีม All for ONE สมาชิก ได้แก่ นนธวิทย์ มีแสง วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ วุฒิพงศ์ ว่องไว วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม อภิสิทธิ์ พูลเวช วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และกิตติทัต ทิพสอน วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์
ทีม All for ONEคว้ารางวัลชมเชย