ศาลายา นครปฐม: คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัว 3 นวัตกรรม ได้แก่ หุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ Doctosight สำหรับวินิจฉัยและรักษาผ่านระบบโทรเวช ช่วยให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องเข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ, ถุงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในการป้องกันโรคติดเชื้อและสารเคมี สำหรับใช้ขนย้ายผู้ป่วยที่ได้รับสารเคมี สารกัมมันตรังสีและพื้นที่ประสบโรคระบาดป้องกันการแพร่ระบาดสู่พื้นที่อื่นๆ และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI :Aftificial Intelligence) ช่วยคัดกรองข่าวปลอมในเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรนา เพื่อเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้องและยับยั้งข่าวปลอมที่ถูกแชร์บนโลกออนไลน์
ม.มหิดลพัฒนานวัตกรรมหุ่นแพทย์ Doctosight วินิจฉัย-รักษาผ่าน Telemedecine
รศ. ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในหลายพื้นที่ทำให้การรักษาโรคเกิดความล่าช้า ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกในการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ในพื้นที่ห่างไกลทำให้รักษาอาการป่วยของประชาชนในพื้นทีี่ประสบเหตุไม่ได้ผล โดยเฉพาะโรคระบาดไวรัสโคโรนาที่เกิดขึ้น
ดังนั้นคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาแบ่งเบาภาระแพทย์ พยาบาล ตลอดจนมุ่งพัฒนายกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยพัฒนา 2 นวัตกรรมสำหรับใช้ทางการแพทย์ ได้แก่
1. นวัตกรรมหุ่นแพทย์อัจฉริยะ Doctosight
สำหรับการวินิจฉัยและรักษาผ่านระบบโทรเวช (Telemedecine) ช่วยให้แพทย์และบุคลากรไม่ต้องเข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
จุดเด่นของหุ่นยนต์นี้สามารถทำงานร่วมกันได้มากกว่า 1 ตัวเพื่อตอบสนองคำสั่ง ในการตรวจสอบข้อมูลการทำงานในเชิงดิจิทัลในรูปแบบของการทำงานหุ่นยนต์ เช่น เวลาการบังคับของผู้ใช้งาน การระบุตำแหน่งหุ่นยนต์ที่มากกว่าหนึ่งตัวในระบบควบคุม ทั้งนี้ หุ่นยนต์ทั้งหมดในระบบนั้นจะมีหน้าที่ในการรับส่งของมูลระหว่างกันเพื่อทำการอัพเดตสถานะ การทำงานภายในโรงพยาบาลและสามารถควบคุมได้ผ่านแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาและออกแบบขึ้น โดยระบบควบคุมหุ่นยนต์แบบสั่งการพิกัดตำแหน่งเป้าหมายหุ่นยนต์ได้มากกว่า 1ตัวในระบบปฏิบัติการและระบบนำทางอัตโนมัติภายในสภาพแวดล้อมที่กำหนด
ต่อมาเป็นระบบควบคุมหุ่นยนต์ทางไกลแบบกึ่งอัตโนมัติสำหรับหุ่นยนต์มากกว่า 1 ตัวในระบบปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังมีระบบติดตามการทำงานของหุ่นยนต์มากกว่า 1 ตัวภายในระบบปฏิบัติการ และระบบผสานงานข้อมูลพื้นฐานของหุ่นยนต์มากกว่า1ตัวในระบบปฏิบัติการ เช่น การอัพเดทสิ่งกีดขวางหรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ระบบยังสามารถถูกพัฒนาต่อยอดในด้านของระบบโลจิสติกส์ภายในโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการทำงานของการแพทย์ทางไกลและระบบหุ่นยนต์ ส่งผลให้โรงพยาบาลสามารถวางแผนให้ตัวหุ่นยนต์ทำงานเป็นกิจวัตร ภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนดได้โดยไม่ต้องใช้คนควบคุม
ทั้งนี้ระบบจะอาศัยแพทย์หรือพยาบาลเฉพาะตอนที่ให้คำปรึกษากับคนไข้ผ่านตัวหุ่นยนต์ ซึ่งช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์ พยาบาล เช่น วัดชีพจร วัดความดันเลือด วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น
ทดลองใช้งานจริงที่รพ.มหิดล เตรียมพัฒนาเวอร์ชั่น 2ใช้งานที่ศิริราช-รามาธิบดี
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวว่า ส่วนกลางของตัวหุ่นยนต์ออกแบบเป็นช่องเก็บของ ทั้งช่วยลำเลียงยาและวัสดุไปยังคนไข้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพที่โรงพยาบาลจะได้รับผ่านหุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกัน โดยการติดต่อสื่อสารของหุ่นยนต์กับตัวผู้ใช้งาน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงการใช้งานของหุ่นยนต์ได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยทำให้อยู่ในรูปแบบแอพลิเคชั่น ซึ่งสามารถดาวน์โหลด และเข้ารหัสกับตัวหุ่นยนต์และควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ผ่านระบบติดต่อไร้สาย ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย และยังสามารถแสดงผลจากตัวหุ่นยนต์ได้เสมือนอยู่ในสเตชั่นควบคุมหุ่นยนต์
ปัจจุบันนำไปทดลองใช้งานจริงแล้วที่โรงพยาบาลมหิดล ส่วนในอนาคตกำลังอยู่ระหว่างพัฒนาในเวอร์ชั่นที่สอง เพื่อนำไปใช้งานที่โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลรามาธิบดี
2. นวัตกรรมถุงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยป้องกันเชื้อโรคและ สารเคมี
นวัตกรรมถุงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในการป้องกันเชื้อโรคและสารเคมี ปลอดภัยต่อผู้ที่ช่วยเหลือ ช่วยขนย้ายผู้ป่วยในสถานการณ์อุบัติภัยโรคระบาด สารเคมีหรือสารกัมมันตรังสี เนื่องจากสามารถส่งผลอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก กรณีไวรัสโคโรนา ผู้ติดเชื้อสามารถส่งผ่านเชื้อไปยังแพทย์พยาบาลหรือผู้ที่ช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว หากต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจากจุดอันตรายไปยังที่ที่ปลอดภัย ถุงสำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนี้มีคุณสมบัติป้องกันไม่ให้อากาศด้านในไหลสู่ด้านนอกเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีหรือสิ่งปนเปื้อนในถุงไปสู่ภายนอกถุง
หลักการป้องกันการไหลออกของอากาศภายในถุงคือการทำให้ความดัน (Pressure) นั้นมีน้อยกว่าภายนอกถุง แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ถุงเคลื่อนย้ายแบบ Negative Pressure Bag : NPB (ในรูปถุงสีใส) สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น โดยเก็บอากาศภายในเพื่อป้องกันอากาศออก ซึ่งถุง NPB จะปรับความดันอากาศต่ำกว่าภายนอกทำให้อากาศจากภายนอกไหลเข้าสู่ด้านใน ทำให้เชื้อต่างๆ จะอยู่ภายในถุงไม่แพร่กระจายออกไป โดยอากาศบริสุทธิ์จะไหลผ่านรูอากาศ และถูกดักจับด้วยฟิลเตอร์ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคผ่านออกไปยังถุงได้ และถุงแบบ Positive Pressure Bag : PPB (ในรูปถุงสีเขียว) สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ไม่มีเชื้อในพื้นที่ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยถ่ายเทอากาศออกไปด้านนอก
ทั้งนี้ถุง PPB ใช้ในสถานการณ์ที่สิ่งแวดล้อมรอบด้านเป็นพิษ จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในถุงที่ปลอดภัย และปรับความดันภายในถุงให้เป็นบวก ดังนั้นอากาศภายนอกจะไม่สามารถเข้าด้านในได้ โดยอากาศภายนอกนั้นจะถูก Feed ให้กับผู้ป่วยในถุงโดยผ่านไส้กรองเพื่อให้อากาศบริสุทธิ์
ส่วนวัสดุห่อหุ้มโครงสร้างถุง เป็นวัสดุพลาสติกทางการแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่ในการห่อหุ้มและป้องกันไม่ให้อากาศด้านในไหลออกสู่ด้านนอก โดยวัสดุห่อหุ้มนั้นจะแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนผ้าใบห่อหุ้มด้านล่างและส่วนพลาสติกใสในการห่อหุ้มตัวโครงสร้างด้านบนทั้งหมด
สำหรับถุงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมีขนาดมาตรฐาน ประมาณ 60 x 200 x 70 เซนติเมตร มีที่จับสามารถขนย้ายผู้ป่วยได้สะดวก ปลอดภัยและติดตั้งระบบกรองและถ่ายเทอากาศ รวมถึงปรับความดัน นอกจากนี้ ยังมีช่องทางที่เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยที่อยู่ด้านในได้
3. AI ใช้คัดกรองข่าวปลอมการระบาดไวรัสโคโรนา
ด้าน ดร.สุเมธ ยืนยง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการคิดค้นระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ใช้คัดกรองข่าวปลอมในเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรนา กล่าวว่า ทีมงานวิจัยได้ร่วมกันคิดค้นระบบ AI คัดกรองข่าวปลอมในเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อการเสพข่าวบนสื่อออนไลน์ ที่มีข่าวปลอมปะปนจนนำไปสู่ความวิตกกังวลและหวาดหวั่นในการดำรงชีวิตของคนในสังคม
ทั้งนี้การนำเสนอข่าวปลอมเป็นพฤติกรรมหนึ่งที่ทำให้เกิดยอด Like และ Share ให้แก่เจ้าของเพจเป็นอย่างดี เพื่อความถูกต้องของผู้รับสาร รัฐบาลได้มีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือ Anti-Fake News Center Thailand ขึ้น เพื่อเผยแพร่ข่าวสารที่มีข้อเท็จจริง และสร้างความถูกต้องแก่ประชาชน ซึ่งทีมวิจัยคาดว่าการทำระบบ AI คัดข่าวกรองนี้จะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือนเพื่อนำไปใช้งานจริงต่อไป