ที่ประชุมสภานโยบายฯ เห็นชอบแยกบพข.-บพท.-บพค. ออกจาก สอวช. เน้นเพิ่มการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมจากภาคเอกชนให้ได้ 2% ของ GDP ในปี 2570


ที่ประชุมสภานโยบายฯ เห็นชอบแยกบพข.-บพท.-บพค. ออกจาก สอวช. เน้นเพิ่มการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมจากภาคเอกชนให้ได้ 2% ของ GDP ในปี 2570

สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จัดการประชุม ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมี ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นรองประธาน พร้อมด้วยรัฐมนตรี ผู้บริหารจากกระทรวงฯ หน่วยงานต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม

ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธาน
ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธาน

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์  รัฐมนตรีอว. รองประธาน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีอว. รองประธาน

ระเบียบวาระที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือการพิจารณาข้อเสนอการจัดระบบการบริหารและจัดการทุนด้านวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และ (ร่าง) ข้อเสนอรูปแบบการแยกหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านออกจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการสภานโยบายฯ เปิดเผยว่า การจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้าน ภายใต้ร่มนิติบุคคลของ สอวช. เกิดขึ้นจากการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ สภานโยบายฯ จึงได้จัดตั้งหน่วยงานให้ทุนขึ้น 3 หน่วย ประกอบด้วย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ซึ่งตามข้อบังคับคณะกรรมการอำนวยการ สอวช. มีการกำหนดให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ จัดทำกรอบการประเมินและการแยกหน่วยบริหารและจัดการทุนออกจาก สอวช. ไปเป็นหน่วยงานที่เหมาะสมภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินงานมาครบ 2 ปีแล้ว จึงต้องเตรียมการที่จะแยกตัวออกไปและเตรียมความพร้อม ภายในระยะเวลา 3 ปีตามที่กำหนดไว้

 

ในการแยกทั้ง 3 หน่วยงานออกมา ได้มีการศึกษาวิเคราะห์และหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ข้อสรุปออกมาเป็นหลักการชี้นำ (Guiding Principle) ในการออกแบบระบบการบริหารและจัดการทุนของประเทศ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ให้เกิดประโยชน์และเห็นเป็นที่ประจักษ์ เกิดผลสัมฤทธิ์ตามกรอบนโยบายยุทธศาสตร์ อววน. ที่สภานโยบายฯ ได้กำหนดไว้ เน้นการส่งมอบผลลัพธ์ตามโจทย์ที่ประเทศต้องการ รวมถึงการเปิดให้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ผู้ใช้ประโยชน์ และบุคลากรรุ่นใหม่ๆ เข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการหรือดำเนินการ และให้มีปฏิสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย ภาคนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดผล ที่สำคัญจะช่วยปิดช่องว่างของระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในขณะนี้ได้ ด้วยการเพิ่มการลงทุนวิจัยและนวัตกรรม การส่งเสริมภาคเอกชนให้ลงทุน โดยใช้งบประมาณของรัฐเข้าไปเป็นคานงัดกับงบวิจัยและนวัตกรรมของภาคเอกชน

การจัดตั้งหน่วยงานใหม่นี้จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยจะเป็นหน่วยงานให้ทุนที่จะจัดให้มีขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วยงานชัดเจนขึ้น โดยเสนอให้รวมทั้ง 3 หน่วยบริหารจัดการทุนเฉพาะด้านข้างต้น เป็นองค์การมหาชน ซึ่งขอบเขตงานจะเข้ามาเติมเต็มในส่วนการทำ Translational Research ทำให้ความรู้หรืองานวิจัยสามารถออกไปสู่เชิงพาณิชย์และสร้างให้เกิดผู้ประกอบการได้ โดยหน่วยงานนี้จะรับผิดชอบการวิจัยและนวัตกรรม ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และการพัฒนาเชิงพื้นที่ ในด้านความสำคัญ คือเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการขับเคลื่อนให้บรรลุผลตามเป้าหมายยุทธศาสตร์และแผน อววน. ของประเทศ ช่วยเติมเต็มเรื่องการให้ทุนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เน้นเรื่องความสามารถในการแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบ รวมถึงการจะช่วยเป็นคานงัดงบวิจัยของรัฐให้เกิดการเพิ่มการลงทุนของภาคเอกชน

สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ คือการเพิ่มการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมจากภาคเอกชน รวมถึงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมให้สูงขึ้น ตามเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี ให้ได้ 2% ในปีพ.ศ.2570 อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย พัฒนาให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเพิ่มศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการใช้กระบวนการการวิจัยและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ และสร้างขีดความสามารถการบริหารจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าให้กับประเทศ รองรับอุตสาหกรรมอนาคต เพื่อสร้างกลไกในการขับเคลื่อน รองรับการเติบโตของประเทศในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาข้อเสนอฯ ดังกล่าว ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการข้อเสนอการแยกหน่วยบริหารจัดการทุนเฉพาะด้านออกจาก สอวช. พร้อมได้มอบหมายให้ สอวช. จัดทำพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้น และจัดทำข้อเสนอตามแบบการขอจัดตั้งองค์การมหาชน เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยให้ สอวช. ดำเนินงานควบคู่ไปกับการรายงานผลการดำเนินงานและความคืบหน้าให้ที่ประชุมสภานโยบายฯ ทราบเป็นระยะ ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าว ที่ประชุมได้เน้นย้ำในเรื่องการตั้งชื่อหน่วยงานให้ชัดเจน กระชับและจดจำได้ง่าย ส่วนการกำหนดพันธกิจ วัตถุประสงค์ของหน่วยงานต้องมีความครอบคลุม ทั้งในเรื่องของบทบาทและความสัมพันธ์กับหน่วยงานให้ทุนอื่นๆ ในระบบเดียวกัน ด้านโครงสร้างและการบริหารงานของหน่วยงาน ต้องแยกบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารและอนุกรรมการแต่ละส่วนของหน่วยงานให้ชัดเจน รวมถึงเมื่อรวมกันเป็นองค์การมหาชนแล้ว ต้องจัดการการจัดสรรทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และควรเตรียมหน่วยงานให้มีความคล่องตัว มีความพร้อมในการตั้งหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะการให้ทุนกับภาคเอกชนโดยตรง เพราะเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในประเทศอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่ง สอวช. จะนำข้อเสนอแนะและประเด็นสำคัญที่ได้จากที่ประชุมข้างต้นไปเพิ่มเติมให้การจัดทำระเบียบและการดำเนินงานส่วนต่างๆ ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) รายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564: การฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ สอวช. จัดทำขึ้น เพื่อรายงานขีดความสามารถด้าน อววน. ของประเทศ โดยชี้ให้เห็นตัวอย่างการดำเนินงานนำศักยภาพด้าน อววน. ไปแก้ปัญหาสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รวมถึงการแก้ไขปัญหาสังคม และสร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรมให้ประเทศด้วย ซึ่งจะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรายงานถึงการดำเนินงานต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save