สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติประกาศรายชื่อ 13 องค์กรไทยคุณภาพประจำปี 2562 โดยในมี 2 องค์กรที่ผ่านเกณฑ์ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award :TQA) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกลุ่มบริษัททรู และธนาคารอาคารสงเคราะห์
ขณะที่ 3 องค์กรผ่านเกณฑ์ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านการปฏิบัติการ (Thailand Quality Class Plus : Operation) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ฟีนอล บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), ธนาคารออมสิน และบริษัท จีซี โลจิสติกส์ โซลูชั่น จำกัด และ 8 องค์กรที่ผ่านเกณฑ์ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class: TQC) ได้แก่ การประปานครหลวง, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ : บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ซึ่งหน่วยงานทั้ง 13 องค์กรจะเข้ารับรางวัลในงานพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ประจำปี 2562 โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้อง Grand Hall ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
เผยปี’62 มี 13 องค์กรที่ผ่านเกณฑ์ และ 2 องค์กรคว้ารางวัล TQA
ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ส่งผลต่อการขับเคลื่อนและพัฒนารากฐานทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยท้าทายอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้แต่ละภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ จำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของแต่ละองค์กร กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกระทรวงที่กำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดทิศทางและความสามารถในการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม โดยมีกรอบแนวคิด ทฤษฎี รวมทั้งนโยบายต่างประเทศ ยกระดับผู้ประกอบการทุกระดับให้สร้างสรรค์สินค้าตามตลาดสากลและมีจิตวิญญาณในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของตนเอง โดยเฉพาะการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายทางการค้า ทางด้านอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 พร้อมทั้งได้ริเริ่มให้มีการมอบรางวัลให้แก่ภาคอุตสาหกรรมดีเด่น เพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นเครื่องการันตีคุณภาพของสถานประกอบการแต่ละแห่ง ผ่านสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งได้ร่วมทำงานกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศึกษาแนวทางในการดำเนินการจัดตั้งรางวัลคุณภาพแห่งชาติขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539
ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) หรือสภาพัฒน์ ได้บรรจุรางวัลคุณภาพแห่งชาติไว้ในแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 เป็นต้นมา ซึ่งรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ถือเป็นรางวัลระดับโลก (World Class) เนื่องจากมีพื้นฐานทางด้านเทคนิคและกระบวนการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (Malcolm Baldrige National Quality Award : BNQA) ซึ่งเป็นต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ประเทศต่าง ๆ หลายประเทศทั่วโลกนำไปประยุกต์ใช้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
โดยในปี พ.ศ. 2562 มีทั้งสิ้น 13 องค์กรที่ผ่านเกณฑ์ และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่มี 2 องค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกลุ่มบริษัททรู และธนาคารอาคารสงเคราะห์, 3 องค์กรที่ด้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านการปฏิบัติการ (Thailand Quality Class Plus : Operation) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ฟีนอล บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), ธนาคารออมสิน และบริษัท จีซี โลจิสติกส์ โซลูชั่น จำกัด และ 8 องค์กรที่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) ได้แก่ การประปานครหลวง, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ : บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้ง 13 องค์กรจะเข้ารับรางวัลในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
แย้มรางวัลปี’63 เน้นเรื่องการใช้งาน Big Data ขับเคลื่อนองค์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับในประเทศไทยมีองค์กรบริษัทชั้นนำมากมายที่ได้รับรางวัล ซึ่งสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดการประกาศรางวัลต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 18 แล้วจวบจนปัจจุบัน และองค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลและได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานเพื่อประเมินตามเกณฑ์ของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ เพื่อสู่องค์กรความเป็นเลิศใน 7 ด้าน ประกอบด้วย หมวดที่ 1 การนำองค์กร (Leadership), กลยุทธ์ (Strategy) หมวดที่ 2 ลูกค้า (Customers) หมวดที่ 3 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ (Measurementหมวดที่ 4 Analysis, and Knowledge Management) หมวดที่ 5 บุคลากร (Workforce) หมวดที่ 6 การปฏิบัติการ (Operations) และหมวดที่ 7 ผลลัพธ์ (Results) ซึ่งรางวัลคุณภาพแห่งชาตินี้ไม่แบ่งประเภทและไม่จำกัดจำนวนรางวัล โดยองค์กรที่มีคะแนนผลการตรวจประเมินสูงกว่า 650 คะแนนจะได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ส่วนองค์กรที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว แต่สูงกว่า 350 คะแนนจะได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC)
สำหรับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านลูกค้า บุคลากร การปฏิบัติการ หรือนวัตกรรม (Thailand Quality Class Plus : TQA Plus) จะมอบรางวัลนี้ให้กับองค์กรที่มีคะแนนรวม 450 คะแนนขึ้นไป เพื่อมอบรางวัลใหม่ 4 รางวัล คือ TQA Plus : Customers, TQA Plus : People, TQA Plus : Operation และ TQA Plus : Innovation
“ส่วนรางวัลในปี พ.ศ. 2563 นั้น ทางคณะกรรมการจะเน้นเรื่องการใช้งาน Big Data และการขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้นในทุก ๆ ด้านเพื่อให้แต่ละองค์กรขับเคลื่อนได้ดีเท่าที่ควรเป็น, รู้ว่าขณะนี้องค์กรควรปรับแนวทางการดำเนินงานอย่างไรในการรับมือสถานการณ์ปัญหาและวิกฤตต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ, มีโครงสร้างและการบูรณาการระบบการทำงานระหว่างบุคลากรรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่ไม่เกิดปัญหาในการทำงาน พร้อมทั้งมีคำแนะนำจากองค์กรที่ประสบความสำเร็จได้รับรางวัลมาร่วมถ่ายทอดสู่องค์กรที่เพิ่งเข้าร่วมหรือเข้าร่วมแล้วแต่ยังไม่ได้รับรางวัล เช่น การศึกษารูปแบบการดำเนินธุรกิจภายในองค์กร เพื่อกระตุ้นการสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศระหว่างองค์กรต่าง ๆ สร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจว่ารางวัลคุณภาพนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ส่งต่อการเรียนรู้เป็นเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมของไทยบนพื้นฐานเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มีความแข็งแกร่งและแข็งแรงสู้ทุกวิกฤตได้ ที่สำคัญ ทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องเดียวกันในทิศทางการดำเนินงานที่จะร่วมพัฒนาในแต่ละส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตามแนวนโยบายรัฐบาลในแต่ละยุคสมัยอย่างลงตัว ซึ่งในระยะเวลา 18 ปีที่เริ่มดำเนินการจัดมอบรางวัลนี้ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติได้ฝึกฝนอบรมพนักงานจากองค์กรต่าง ๆ 454 องค์กร เข้าร่วมเกณฑ์พิจารณารางวัลนี้แล้วกว่า 50,000 คน” ดร.พานิช กล่าว
รางวัลคุณภาพแห่งชาติจทำให้เกิดผลิตภาพในทุกภาคส่วนให้องค์กรไทยนแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติในแต่ละหมวดจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับการประเมินตนเองขององค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจะต้องทำให้ผลิตภาพเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรางวัลคุณภาพแห่งชาติได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อให้องค์กรไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญสามารถนำไปใช้ได้กับองค์กรทุกประเภท ทุกขนาด และทุกภาคส่วน ช่วยให้องค์กรสามารถปรับปรุงกระบวนการ ขีดความสามารถและผลลัพธ์ ผ่านระบบการพัฒนาและประเมินผลต่างๆ รวมทั้งงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่นำมาใช้ในการประเมิน สามารถยกระดับผลิตภาพของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน สังคมและประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องบุคลากรของในแต่ละองค์กรที่ต้องมีการปรับตัวตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ต้องข้ามสายงานและทำความเข้าใจการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Big Data และการนำ Feedback Report ที่ได้จากส่วนต่าง ๆ ขององค์กรมาประชุม หารือ วิเคราะห์ในสายงานเพื่อนำเสนอต่อการประชุมระดับผู้บริหารสูงสุด เพื่อให้รู้จุดแข็งและจุดอ่อนของการทำงาน เพื่อที่จะปรับแก้ไขให้มีการพัฒนาที่ดีขึ้น