บริษัท ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอชพีอี ผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระดับโลก เปิดเผยว่า บริษัท ทนา กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้บริหารแบรนด์ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น ฟูจิ, ร้านข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่น โคโค่ อิฉิบันยะ, ร้านอาหารชอบ นู้ดเดิ้ลแอนไรซ์ และผลิตภัณฑ์ฟูจิชะ กรีนที ได้นำโซลูชันอินฟราสตรัคเจอร์ของ เอชพีอี ทั้งเซิร์ฟเวอร์ และสตอเรจ เเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้า
ปัจจุบันธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม (Food & Beverage: F&B) เป็นธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลเข้ามาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ผ่านมา หลายองค์กรได้เริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อให้ยังคงสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
ธีระ วงศ์พัฒนาสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทนา กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ระบบไอที มีความสำคัญกับธุรกิจ F&B มาโดยตลอด แต่ในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบกับธุรกิจในกลุ่มนี้อยู่พอสมควร เริ่มจากในเรื่องของนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่นในเรื่องของ e-payment ที่มีวิธีการรับชำระเงินในรูปแบบใหม่เข้ามา ทำให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัวตามไป ถัดมาเป็นเรื่องของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ต้องมีการเชื่อมโยงเทคโนโลยีเข้ากับแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการ Delivery Platform มากขึ้น
ทั้งนี้บริษัท ทนา กรุ๊ป มีธุรกิจที่หลากหลาย โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักของบริษัทฯ ที่มีมากกว่า 100 สาขาในประเทศไทย และรวมถึงร้านอาหารที่อยู่ในต่างประเทศ ระบบไอทีจำเป็นอย่างยิ่งที่เข้ามามีบทบาทในการรองรับการทำงาน ทั้งในแง่ของการนำมาวิเคราะห์ลูกค้า จัดทำระบบลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) การบริหารจัดการต้นทุนสินค้า รวมถึงการบริหารข้อมูลการขายที่ในแต่ละเดือนมีมากกว่า 10 ล้านรายการ เป็นต้น
ธีระ กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้ตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากทางเอชพีอี อันประกอบด้วยโซลูชั่นด้านเซิร์ฟเวอร์ และสตอเรจ เป็นโซลูชันที่นำมาใช้เพื่อทดแทนของเดิม โดยเฉพาะยิ่งนำมาใช้เพื่อการจัดการข้อมูลลูกค้าของบริษัทผ่านทางระบบไอทีขององค์กร
“ข้อดีที่เราตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของทางเอชพีอี เป็นเพราะปัจจัยในหลายๆ อย่าง นอกจากจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงแล้ว ทางเอชพีอียังนำเสนอในส่วนของวิธีการบริหารจัดการด้านการเงินโดยแทนที่จะเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียว (CAPEX) แต่ปรับเปลี่ยนเป็นแบบทยอยจ่ายได้ (OPEX) สามารถแบ่งจ่ายต่อเดือนได้ เป็นการมอบความยืดหยุ่นให้กับบริษัท รวมถึงการให้บริการที่มีลักษณะแบบ Proactive มีทีมงานที่พร้อมให้บริการตลอดเวลา” ธีระ กล่าวทิ้งท้าย