เชื่อเหลือเกินว่า ผู้ที่เข้าชมงาน ACT FORUM ’20 Design + Built งานประชุมนานาชาติทางสถาปัตยกรรมและแสดงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ซึ่งจัดขึ้นโดย สภาสถาปนิกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ บูธหมายเลข B305 อาคารชาเลนเจอร์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี จะต้องทึ่งกับการปฏิวัติการก่อผนัง ด้วยบล็อก Lay &Go ที่ใช้หุ่นยนต์ทำแทนคนได้ เป็นครั้งแรกในโลกอย่างง่ายดายและรวดเร็ว โดยไม่ต้องมีชั้นปูนก่อ ถือเป็นการปฏิวัติการก่อสร้างของไทยครั้งใหญ่ในอนาคต หากค่าจ้างแรงงานสูงและหายาก
ทั้งนี้บล็อก Lay &Go ดังกล่าวเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาของรศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และผศ.ดร.ไพจิตร ผาวัน ซึ่งใช้เวลายาวนานกว่า 10 ปี จนกระทั่งได้แบบ Version 20 ที่สามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยบริษัท VT Innovative Alliance หรือ VTIA ภายใต้การวางระบบการผลิตแบบใหม่ให้สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง (Automation) ของ ดร.ชโลธร โลทารักษ์พงศ์ คีย์แมนคนสำคัญ ซึ่งดูแลและรับผิดชอบไลน์การผลิต
กว่าจะพัฒนาเป็นบล็อก Lay &Go Version 20
เพื่อผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม
ดร.ชโลธร โลทารักษ์พงศ์ Co-founder และกรรมการผู้จัดการบริษัท VT Innovative Alliance หรือ VTIA กล่าวถึง จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมบล็อก Lay &Go ว่าเกิดจากแนวคิดของตน ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเรียนที่ประเทศอังกฤษของดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค บุตรชายของรศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ได้เดินทางไปประเทศเมียนมา โดยล่องเรือเห็นบ้านของชาวเมียนมาที่ยังใช้ระบบเก่า จึงเกิดแนวคิดที่จะนำบล็อก Lay &Go ซึ่ง รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ประธานกรรมการบริษัท วิศวกรรมที่ปรึกษาต่อตระกูล ยมนาคและคณะ จำกัด (TACE) และผศ.ดร.ไพจิตร ผาวัน ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Construction Management, Project Supervision and Inspection, Quantitative Survey ร่วมวิจัยพัฒนาและออกแบบระบบกำแพงขึ้นเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว มาใช้ในประเทศเมียนมา ซึ่งขณะนั้นมีโปรเจ็กต์ก่อสร้างตึกจำนวน 10 ตึก แต่เนื่องจากติดปัญหาที่ความไม่แน่นอนของกฎระเบียบในประเทศเมียนมาที่ปรับเปลี่ยนไปมาอยู่บ่อยครั้ง สุดท้ายจึงต้องพับโครงการ
จากนั้นดร.ชโลธร ได้หันมามองตลาดในไทย เบื้องต้นได้มีการพูดคุยให้รศ.ดร.ต่อตระกูล และผศ.ดร.ไพจิตร พัฒนาระบบกำแพงแบบนี้ขึ้นมาใหม่ โดยดร.ชโลธร ซึ่งมีประสบการณ์ในธุรกิจโรงงานการ์เมนท์ของครอบครัวจะรับหน้าที่เป็นผู้ดูแล การออกแบบและพัฒนาระบบการผลิตระดับอุตสาหกรรม (Mass Production) รศ.ดร.ต่อตระกูล และผศ.ดร.ไพจิตร จึงได้พัฒนาเป็นบล็อก Lay &Go Version 20 เพื่อผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม โดยเริ่มต้นได้จัดทำเป็น Lab Scale จัดทำเป็น Batch เล็กๆ แล้วเริ่มทดลองออกแบบ Pilot Line และนำไปทดลองใช้ที่โรงเรียนนานาชาติ Bangkok Prep จากนั้นได้มีปรับปรุงพัฒนาจนสามารถออกแบบระบบ Line Production และผลิตบล็อกในระดับ Mass Production ได้
“ทางรศ.ดร.ต่อตระกูลได้ทำ Prototype แล้วไปทดลองก่อที่โรงเรียนนานาชาติ Bangkok Prep กันเอง โดยผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องนี้ ซึ่งใช้เวลาเร็วมาก เนื่องจากระบบนี้ต้องก่อน้ำปูนแล้วประสาน ในตอนแรกจะพบปัญหาว่าก่อน้ำปูนไปแล้ว น้ำไหลออกจากช่อง จึงต้องเปลี่ยน Shape ให้ล็อกกันพอดี ทำให้ประกอบได้เร็วและง่าย เพราะมี Shape ที่ล็อกเข้าหากันได้ง่าย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้ช่างก่อที่มีฝีมือ” ดร.ชโลธร กล่าว
จัดตั้งบริษัท VTIA ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท
ตั้งเป้าเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมก่อสร้าง
ในปี พ.ศ.2561 ดร.ชโลธร ได้จัดตั้งบริษัท VT Innovative Alliance (VTIA) ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยมีคู่ค้า (Partner) ประกอบด้วย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผศ.ดร.ไพจิตร ผาวัน และ ดร.ชโลธร โลทารักษ์พงศ์ และครอบครัว โดย VTIA มีพันธกิจและเป้าหมายที่จะเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมก่อสร้าง ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ของทีมวิศวกรและสถาปนิกที่มีมากกว่า 30 ปี รวมทั้งการศึกษาวิจัยนวัตกรรมการก่อสร้างจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ และความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการก่อสร้าง
ลงทุนวางระบบ Conveyor System กว่า 10 ล้านบาท
ลดแรงงานคน 50% – เพิ่มกำลังการผลิต
ดร.ชโลธร กล่าวว่า จากการศึกษาระบบผลิตบล็อกมวลเบาในประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นบริษัทมหาชนก็ตาม ค่อนข้างเป็นแบบ Manual ที่เห็นกันทั่วไป คือ มีบล็อกที่อยู่กับพื้น แล้วเทปูนลงไปในแบบ จากนั้นรอให้แห้งถึงค่อยแกะออกแล้วตัด ซึ่งระบบนี้ช้าและใช้เวลานานมาก ในเวลา 1 วันทำได้เพียง 2 รอบ อีกทั้งยังใช้แรงงานคนเยอะ ผลิตออกมาได้น้อย เราจึงวางผังระบบการผลิตให้เป็นระบบอุตสาหกรรมผลิตต่อเนื่อง โดยใช้วิธีการเหมือนรถ วิ่งเป็น Conveyor System ให้โมลด์เคลื่อนที่ตามสายพาน ไปเติมปูน จุดตัดต่างๆ
“ในฐานะที่ผมจบด้านวัสดุศาสตร์ ระดับปริญญาตรีจาก Imperial College London และระดับปริญญาเอก จาก University of Oxford ทำให้สามารถเข้าใจวัตถุดิบ อย่างเช่นการแข็งตัวของส่วนผสมปูนมีเฟสไหนบ้าง จะต้องตัดเมื่อไหร่ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการผลิต” ดร.ชโลธร กล่าว
การนำระบบ Conveyor System ช่วยลดการใช้แรงงานคน เดิมทีใช้แรงงานคน 30 คน เหลือเพียง 15 คน ขณะเดียวกัน กำลังการผลิตต่อตารางเมตรก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
“ถ้าเป็นระบบเก่า ด้วยพื้นที่ไลน์การผลิตที่มี น่าจะผลิตบล็อกได้ 300-400 ก้อนต่อวัน แต่ตอนนี้เราผลิตได้ประมาณ 4,000-5000 ก้อนต่อวัน เทียบกับพื้นที่ขนาดเดียวกัน กำลังการผลิต 1.2 แสนก้อนต่อเดือน โดยใช้เงินลงทุนวางระบบ Conveyor System หลาย 10 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องจักรหลักๆ จากญี่ปุ่น เยอรมนี รวมทั้งไทยด้วย ระบบนี้ถือว่าใหม่ในวงการก่อสร้างโดยเฉพาะในประเทศไทย” ดร.ชโลธร กล่าว
ขณะนี้ไลน์การผลิตยังเป็น Semi -Automation ซึ่งมีบางจุดที่เป็น Manual เช่น ส่วนประกอบฝา และการล้างโมลด์ ก่อนที่จะพัฒนาให้เป็น Automation เพื่อให้เป็น Full Automation มากขึ้นโดยในปีพ.ศ. 2564 ดร.ชโลธร ได้เตรียมสั่งเครื่องจักรมาเติมเต็มระบบ Automation เช่น เครื่องประกอบตัวโมลด์ ระบบล้างต่างๆ ซึ่งหากสามารถพัฒนาเป็น Full Automation แล้ว จำนวนพนักงานจะเหลือเพียง 7-8 คน กำลังการผลิตก็จะเพิ่มขึ้น และทำงานได้ทั้งหมด 3 กะ
“หากมองในแง่ของ Industry ไลน์การผลิตของเราขยับจาก Industry 3.0 มาเป็น Industry 4.0 เป็นนวัตกรรมการผลิตที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีหน้าจอมอนิเตอร์ให้วิศวกรคอยควบคุม เนื่องจากการทำงานของระบบไม่ยุ่งยาก” ดร.ชโลธร กล่าว
จัดทำแบบ 3D ให้ผู้รับเหมา
ได้ทราบถึงวิธีการก่อทุกโปรเจ็กต์
สำหรับนวัตกรรมบล็อก Lay & Go ผ่านการทดสอบความแข็งแรงโดยวิธี British Standard มี Soft Body Impact โดยนำเอากระสอบทราย 50 กิโลกรัมมาชนที่กำแพง เพื่อทดสอบว่ากำแพงยุบหรือไม่ ซึ่งบล็อก Lay
& Go ผ่านตามมาตรฐาน อีกทั้งยังได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับบล็อกกำแพง จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม
เนื่องจากบล็อก Lay &Go เป็นนวัตกรรมที่ใหม่มาก สิ่งแรกที่จะต้องคำนึงก่อนติดตั้งบล็อก คือ การไปดูหน้างานและขอดูแบบก่อสร้างว่าจะก่อกำแพงในรูปแบบใด เพราะนอกจากกำแพงแล้ว จะต้องมีมุมฉาก ซึ่งใช้บล็อกอีกชนิดหนึ่ง โดยบริษัท VTIA จะต้องทำแบบ 3D เพื่อส่งให้ผู้รับเหมาได้ทราบถึงวิธีการก่อทุกโปรเจ็กต์ เนื่องจากเป็นระบบใหม่ที่มีวิธีการก่อแตกต่างจากอิฐมวลเบาหรืออิฐแดงทั่วไป
“คนที่ก่อจะไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ไม่เหมือนอิฐมวลเบาหรืออิฐแดง ในช่วงแรกทางรศ.ดร.ต่อตระกูลจึงมองว่าเราควรไปช่วยเขาก่อ ในการออกแบบกำแพงที่ต้องก่อ หลังจากนั้นเหมือนอิฐมวลเบา ถ้าคนเข้าใจว่าก่ออย่างไร ก็จะง่ายแล้ว”
ดร.ชโลธร กล่าว
แนะนำนวัตกรรมไปยังผู้รับเหมา – Developer รายเล็กที่กล้าลองระบบใหม่ที่ไม่เหมือนใคร
ในช่วงที่บริษัท VTIA ได้แนะนำนวัตกรรม Lay &Go ออกสู่ตลาดราวเดือนเมษายน 2563 ซึ่งตรงกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศรอบแรก ทำให้บริษัทฯ ได้รับผลกระทบ และทุกอย่างหยุดชะงัก บริษัทฯ จึงเน้นทำตลาดไปกลุ่มผู้รับเหมารายไม่ใหญ่และ Developer รายเล็กๆ เพราะต้องการ Scale up ไปยังผู้รับเหมารายเล็กๆ ก่อน เนื่องจากรศ.ดร.ต่อตระกูลมองว่าเป็นช่วงที่โปรเจ็กต์ต่างๆ ยังไม่ใหญ่ ทำให้กล้าลองระบบใหม่ ๆ เพราะระบบกำแพงนี้ไม่เหมือนใคร ทำให้ช่างก่อต้องเรียนรู้ใหม่ ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนการทำงาน และต้องมีเหล็กเสริม
“จุดที่เราต้องการให้ทางผู้รับเหมาศึกษา คือ ให้ทางผู้รับเหมาเปลี่ยนวิธีการก่อ ตอนนี้เราพยายามคุยกับ Developer ให้เขาขายไอเดียเพื่อให้โปรเจ็กต์แรกเริ่ม และเราให้คนทั่วไปลองมาศึกษาวิธีการก่อนี้ดู หลังจากนั้นเราจะจัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้และวิธีการก่อให้กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้รับเหมา สถาปนิก และ Developer” ดร.ชโลธร กล่าว
VTIA เผยโปรเจ็กต์แรก “คอนโด Low Rise 3 ตึกย่านห้วยขวาง” มูลค่า 40 ล้านบาท
สำหรับงานโปรเจ็กต์แรกของบริษัท VTIA คือ คอนโดมิเนียม Low Rise 3 ตึก ย่านห้วยขวาง พื้นที่กำแพงประมาณ 46,000 ตารางเมตร ใช้บล็อกประมาณ 7-8 แสนก้อน มูลค่า 40 ล้านบาท
ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งต้องการใช้บล็อกในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นอกจากนี้ Developer รายเดียวกัน ต้องการนำบล็อก Lay &Go ไปก่อสร้างตึกสูงเช่นกัน แต่ต้องการดู Reference โปรเจ็กต์คอนโดมิเนียมที่ห้วยขวางก่อน
“เจ้าของ Developer เป็นคนรุ่นใหม่อายุไม่มาก กล้าลอง เขาใช้เคยใช้ระบบบล๊อกมวลเบา หรือ ระบบผนังคอนกรีตมวลเบาสําเร็จรูปชนิดไม่รับแรง
(Wall panel) กำแพงเป็นแผ่นแล้วมาตั้งๆ สิ่งที่เขาเจอปัญหาสำคัญเรื่องเสียง เนื่องจากระบบ Wall panel และ Precast มีปัญหาเรื่องเสียงมาก คอนโดเวลาเปิดทีวีเหมือนอยู่ห้องเดียวกันเลย เนื่องจากรอยต่อระหว่างกำแพง ทำให้เสียงผ่านได้ ด้วยความยืดหดของกำแพงต่างกัน ทำให้เกิดรอยร้าวได้ ขณะที่บล็อก Lay &Go นี้สามารถลดเสียงได้ และก่อสร้างไวเหมือน Precast แต่ Precast ราคากว่าแพง และแทบจะแก้อะไรไม่ได้เลย เพราะเป็นกำแพงปูนหล่อมาเลย จะทุบทำหน้าต่างก็ทำไม่ได้”
“ระบบของเรา เป็น Inter Locking Block ประกอบล่าง คือ ถ้าตั้งแนวพื้นได้ตรง สามารถขึ้นตรงได้เลย ไม่ต้องมาปรับตอนที่ก่อกำแพง ถ้าไม่มีบล็อกทับหลังพิเศษ สามารถย่อได้ที่ความสูง 2.80 เมตร เป็นห้องปกติ ระบบสามารถนำไปใช้ได้ทั้งโครงการบ้าน คอนโด ได้ทั้งหมด แต่ตอนนี้เรามองไปที่งานโครงการ ควรจะให้โปรเจ็กต์ใหญ่ๆ ลองทำออกมาดูก่อนจะได้เห็นภาพ และสามารถทำให้ผู้รับเหมามองว่าระบบนี้ก็เร็วดีเหมือนกัน และไปต่อได้ ตอบโจทย์วงการก่อสร้าง รวมทั้งมีการบริการหลังการขาย โดยส่งทีมงานไปดู และรับประกันโครงสร้าง “ ดร.ชโลธร กล่าว
บล็อก Lay & Go ฉาบเรียบร้อยแล้วราคาถูกกว่า Wall panel และ Precast แถมโอกาสร้าวน้อย
หากเปรียบเทียบราคาของ Wall panel และ Precast มองกำแพงต่อตารางเมตร ถ้าฉาบเรียบร้อยแล้ว ราคาของบล็อก Lay & Go จะถูกกว่า และถ้าเทียบกับกำแพงอิฐแดง ซึ่งต้องใช้ช่างที่มีทักษะสูง ค่าจ้างแรงงานช่างค่อนข้างสูง ถ้าช่างก่อไม่มีความชำนาญจะก่อไม่ตรง ทำให้ใช้ปูนฉาบหนาขึ้นเพื่อให้กำแพงตรง ทำให้เสียค่าปูนฉาบเพิ่ม อีกทั้ง การฉาบปูนฉาบที่หนาขึ้นจะเสี่ยงต่อการร้าว หากมีความหนาไม่เท่ากัน ทำให้เกิดการหดตัวได้ ซึ่งทางผู้รับเหมาะจะแก้ปัญหา โดยใช้โครงไก่คือเหล็กที่เป็นตาข่ายแปะเข้าไปเพื่อยึดหรือเสริม ทำให้ผู้รับเหมามีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
“ระบบของเราต่างกันตรงที่ว่า เราก่อตรงได้ เพราะเป็นการล็อกๆ เข้าหากัน ในการฉาบกำแพง เราทำบล็อกของเราให้เป็น 8 เซนติเมตร มาตรฐานกำแพง 10 เซนติเมตร เพราะฉะนั้นต้องฉาบเข้ากันหมดข้างละ 1 เซนติเมตรทั้งสองข้าง พอเข้ากันทั้งหมด โอกาสร้าวก็จะมีน้อย” ดร.ชโลธร กล่าว
เปิดตัวบล็อก Lay& Go ในงาน ACT FORUM ’20 ให้ผู้รับเหมารู้จักเทคโนโลยีก่อกำแพงแบบใหม่
ดร.ชโลธร กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เลือกเปิดตัวบล็อก Lay& Go อย่างเป็นทางการ ภายในงาน ACT FORUM ’20 Design + Built เพื่อต้องการให้ผู้รับเหมาได้ทราบถึงเทคโนโลยีการก่อกำแพงแบบใหม่ ซึ่งได้การตอบรับอย่างดีตลอดระยะเวลาการจัดงาน 5 วัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งสถาปนิก Developer และ DIY ให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชมบูธอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้มีการพูดคุยกับ Developer ในโครงการบ้านจัดสรรแถวพัทยา รวมทั้งโปรเจ็กต์แปลกๆ เช่น บ้านสุนัข และต่อเติมบ้านบ้าง เนื่องจากระบบสามารถใช้กับโครงการเก่าที่ต้องการทุบทิ้งและสร้างใหม่ได้
“ผมพอใจกับ Feed Back ที่ได้ เพราะ Developer มองว่าเป็นทางออกในการก่อกำแพงที่เขาหาอยู่ แต่ไม่มีใครทำ เหมือน Apple ที่ลูกค้าไม่รู้ว่ามีปัญหา จนกว่าจะมีของแล้วรู้ว่าอันนี้ตอบโจทย์เขาอยู่ ทั้งนี้รศ.ดร.ต่อตระกูลเคยพูดไว้ว่าการก่อกำแพงทำมานานถึง 4,000 ปี วิธีการก็ยังเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เราทำเป็นอะไรที่แปลกใหม่ เพราะเราไม่ได้มองว่า กำแพงเป็นแค่บล็อกแต่มองว่าเป็น Wall Solution ไม่ว่าจะเป็นเอ็นทับหลัง การฉาบ การก่อที่ง่ายขึ้น การเสริมเหล็กเพื่อความแข็งแรง เป็นการมองทั้งระบบไม่ใช่แค่ตัวบล็อก” ดร.ชโลธร กล่าว
ส่งแพคเกจขั้นต่ำ 15 ตรม. เจาะกลุ่มลูกค้า Consumer
นอกจากบล็อก Lay& Go ดร.ชโลธร กล่าวว่า บริษัทฯ ยังมีอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ปูน เหล็กมาครบเหมือนอีเกีย พร้อมทั้งคู่มือในการก่อขึ้นเป็นกำแพงตรงๆ เพื่อให้คนทั่วไปสามารถก่อได้ง่าย โดยในช่วงแรกๆ อาจจะให้ผู้รับเหมาช่วยก่อให้ก่อน เพื่อให้ลูกค้าได้รับทราบถึงวิธีการทำงาน ทั้งนี้เชื่อว่าหากกลุ่มลูกค้าที่เป็น Consumer เห็นเทคโนโลยีและมีความเข้าใจน่าจะเปิดรับใช้มากยิ่งขึ้น เพราะก่อง่าย และก่อเร็ว ปัจจุบันมีจำหน่ายแล้วเป็นแพคเกจขั้นต่ำ 15 ตารางเมตร ในราคาตารางเมตรละ 1,100 บาท หากรวมค่า Overhead อยู่ที่ตารางเมตรละ 1,200 บาท
คาดไทยใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี นำหุ่นยนต์มาช่วยก่อกำแพงแทนคน
ดร.ชโลธร กล่าวว่า บริษัท VTIA เต็มไปด้วยนักวิจัย นำทีมโดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และ ผศ.ดร.ไพจิตร ผาวัน ทุกคนล้วนเป็นนักวิจัยหมด ซึ่งได้พัฒนาให้บล็อก Lay& Go เป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมของบริษัทฯ รวมทั้งมองไปอนาคตข้างหน้าที่ราคาค่าแรงช่างแพงขึ้นและแรงงานหายาก อาจมีการนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยก่อแทนแรงงานคน เนื่องจากบล็อกตัวนี้ออกแบบให้ง่ายขึ้นถึงขั้นให้หุ่นยนต์มาช่วยก่อได้ โดยทางเราได้ร่วมมือกับสถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) ในการพัฒนาหุ่นยนต์ ให้มี Tool ที่พิเศษ และตัว Flipper ที่อาจจะแตกต่างจากหุ่นยนต์ที่หยิบจับชิ้นงานทั่วไป รวมทั้งมีตัวเทปูนเพื่อใช้ในการก่อแบบนี้ และนำหุ่นยนต์ดังกล่าวมาจัดแสดงใน งาน ACT FORUM ’20 Design + Built เพื่อโชว์ถึงเทรนด์ในการก่อสร้างว่า สามารถใช้หุ่นยนต์ก่อได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้คน ซึ่งในอนาคต สามารถทำให้สามารถเทปูนเหลวเข้าไปให้สามารถก่อเป็นกำแพงได้เลย โปรเจ็กต์นี้ต้องมองวงการก่อสร้างประเทศในอนาคต หากแรงงานฝีมือไม่มี หรือแพงมาก เราอาจจะปล่อยหุ่นยนต์ให้เช่า ซึ่งขณะนี้ในสหรัฐอเมริกามีบริการให้เช่าหุ่นยนต์แล้วเดือนละนับแสนบาท
“การนำหุ่นยนต์มาใช้ถือว่าเป็นการปฏิวัติวงการก่อสร้าง เรามองไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆในทวีปยุโรป ที่นำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ เรามองว่าบล็อกของเราสามารถเข้าสู่อนาคต โดยที่บล็อกของเรามีแล้ว ในอนาคตค่าจ้างแรงงานต้องแพงขึ้น โดยเฉพาะแรงงาน เช่น เมียนมา ก็จะต้องกลับประเทศ ถ้าประเทศเค้าเจริญ สำหรับราคาค่าจ้างแรงงานจะสูงขนาดไหน ผมว่าจะต้องมีช่วง Transition อย่างสหรัฐอเมริกาอเมริกา ยุโรป ถ้าในอนาคตค่าแรงเราแพงเรื่อยๆ เหมือนสหรัฐอเมริกาคาดใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี” ดร.ชโลธร กล่าว
เดินหน้าผลิตบ้าน Knockdown ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า ลดเวลาในการสร้างบ้าน
นอกจากการนำหุ่นยนต์มาใช้เพื่อปฏิวัติการก่อสร้างแล้ว ทางบริษัท VTIA และรศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค มองในอนาคตข้างหน้าว่า จะผลิตบ้าน Knockdown ประเภทบ้านพักตากอากาศ หรือบ้านทั่วไปที่สามารถก่อขึ้นมาเองได้
เหมือนที่อีเกียทำเป็นแพคเกจ ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการสร้างบ้าน คาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 5-10 ปี
“ขณะนี้ที่สหรัฐอเมริกามีเยอะ แต่ส่วนใหญ่จะใช้เป็นระบบไม้ ส่วนเยอรมนีใช้ 3D Printing หรือ 3D หุ่นยนต์ที่พิมพ์ออกมาเป็นบ้านเลย หากทำได้จะเป็นการปฏิวัติวงการก่อสร้างครั้งใหญ่ของไทย ถึงเวลานั้น วิศวกร ผู้รับเหมา อาจจะไปทำโปรเจ็กต์ใหญ่ที่ซับซ้อน ผมคิดว่าจะเหมือน FinTech เป็นการ Disrupt ตลาดในอนาคต” ดร.ชโลธร กล่าวทิ้งท้าย