บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านเทคโนโลยี เผยผลการศึกษา และผลสำรวจความคิดเห็น ผู้บริหารระดับสูงด้านการรักษาความปลอดภัยขององค์กร ประจำปี 2562 ของซิสโก้ หรือ “Cisco Asia Pacific CISO Benchmark Study 2019” ของประเทศไทยและประเทศในเอเชียแปซิฟิกจากกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คน ในกลุ่มธุรกิจไอที, อุปโภคบริโภค, กลุ่มการเงินและธนาคาร, กลุ่มพลังงาน, กลุ่มห้างสรรพสินค้าและอื่น ๆ พบว่า ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหา Cybersecurity มากที่สุด 77 % รองลงมาคือ ไทยและออสเตรเลีย 65 %
สำหรับอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา Cybersecurity ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทางเทคโนโลยีและเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำสำหรับการนำมาใช้รักษาความปลอดภัย รวมทั้งขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ปัญหาความเข้ากันได้ของระบบรุ่นเก่าและรุ่นใหม่และข้อจำกัดเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินการดุแลรักษาความปลอดภัยในแต่ละธุรกิจ
วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ประจำประเทศไทย และอินโดจีน กล่าวว่า ปัญหาการป้องกันความปลอดภัยทางเทคโนโลยียังเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและเร่งหาวิธีการป้องกันเพราะหลายๆครั้งรูปแบบการถูกโจมตีทางเทคโนโลยีนั้นมีรูปแบบที่ซับซ้อนและยากที่จะป้องกันทำให้เกิดความสูญเสียเป็นมูลค่ามหาศาล จากข้อมูลการศึกษาและผลแสดงความคิดเห็น ผู้บริหารระดับสูงด้านการรักษาความปลอดภัยขององค์กร ประจำปี 2562 ของซิสโก้ หรือ “Cisco Asia Pacific CISO Benchmark Study 2019” ของประเทศไทยและประเทศในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งดำเนินการเป็นปีที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และดำเนินเป็นปีที่ 2 ในประเทศไทย โดยในปีพ.ศ. 2562 ใช้กลุ่มตัวอย่าง 2,000 คน ในกลุ่มธุรกิจไอที, อุปโภคบริโภค, กลุ่มการเงินและธนาคาร, กลุ่มพลังงาน, กลุ่มห้างสรรพสินค้าและอื่น ๆ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2561 ซึ่งใช้กลุ่มตัวอย่าง 1,200 คน เพื่อให้ข้อมูลครอบคลุมและข้อมูลมากขึ้น
จากการข้อมูลพบว่า ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาการป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์มากที่สุด 77 % รองลงมาคือไทยและออสเตรเลีย 65 % ส่วนค่าเฉลี่ยปัญหาการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ทั่วโลกประมาณ 30 % โดยอุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา Cybersecurity ในระดับโลกหลักๆ คือ ข้อจำกัดการจัดทำงบประมาณของแต่ละองค์กรธุรกิจในการนำมาแก้ปัญหา 35%, ปัญหาความเข้ากันได้ของระบบรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ 27 %, มีเรื่องการบริหารหรืองานด้านอื่น ๆที่สำคัญกว่า 26 %, ขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญและการรับรองคุณภาพของระบบความปลอดภัย 24% และขาดความรู้เกี่ยวกับกระบวนการและเทคโนโลยี 22% เป็นต้น
วัตสัน กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีอุปสรรคสำคัญ 4 ข้อในการปรับใช้เทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงในไทย ได้แก่ การขาดความรู้เกี่ยวกับกระบวนการและเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำสำหรับการรักษาความปลอดภัย 52% , ขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ 37%, ปัญหาความเข้ากันได้ของระบบรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ 32% และข้อจำกัดเรื้องงบประมาณ 30 % ซึ่งสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยส่งผลกระทบทางธุรกิจของแต่ะองค์กรทำให้ประสบปัญหาระบบหยุดทำงานนานขึ้น อีกทั้งต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามารักษาความปลอดภัยระบบขององค์กรธุรกิจให้มีความปลอดภัยมากขึ้นเพราะไม่ต้องการให้ข้อมูลที่มีความสำคัญในองค์กรที่เก็บไว้ถูกจู่โจมหรือถูกละเมิดความปลอดภัยจนข้อมูลรั่วไหลสู่ภายนอก
“ในปี พ.ศ. 2562 นี้องค์กรธุรกิจไทย 29% ประสบปัญหาระบบหยุดทำงานนาน 24 ชั่วโมง หรือมากกว่า เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2561 ที่มีธุรกิจที่ประสบปัญหาเพียง 11% เนื่องจากประเทศไทยนำเข้าและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจึงเพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกเกิดขึ้นเพียง 4% และในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 23% ทั้งนี้หากประเทศไทยต้องการที่จะสร้างระบบการป้องกันการถูกโจมตีทางเทคโนโลยีให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นนั้น ต้องลงทุนงบประมาณการดูแลการป้องกันระบบให้มากขึ้น อาจจะใช้เทคโนโลยีหลากหลายบริษัทที่อยู่ในท้องตลาดที่เชื่อถือได้ มีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันช่วยทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการถูกโจมตีให้น้อยลง ที่สำคัญหากตรวจพบการแพร่เชื้อไวรัสข้อมูลที่มาจากคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานให้รีบทำการแยกคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไว้ต่างหากแล้วนำส่งผู้เชี่ยวชาญเร่งตรวจสอบโดยเร็วที่สุด
ด้าน เคอรี่ ซิงเกิลตัน ผู้อำนวยการฝ่ายไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประจำภูมิภาคอาเซียนของซิสโก้ กล่าวว่า เทคโนโลยีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันมีหลายผู้ผลิตทำให้การเชื่อมต่อย่อมมีช่วงโหว่ให้เกิดการถูกโจมตีทุกรูปแบบ ทั้งจากไวรัส มัลแวร์ ต่าง ๆที่แฝงเข้ามาแล้วตรวจพบยากตามการใช้งานในแต่ละองค์กร ในสถานที่ทำงานนอกออฟฟิศ ในร้านกาแฟ เป็นต้น การป้องกันนั้นก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานในเว็บไซต์ที่ไม่เคยเข้าใช้งานการเปลี่ยนพาสเวิร์ดล็อกอินการใช้งานควรเป็นข้อมูลที่คาดเดายากและควรเปลี่ยนพาสเวิร์ดการเข้าถึงคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องที่ใช้งานให้บ่อยขึ้นสำหรับการใช้งานเพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญโดยเฉพาะข้อมูลทางการเงิน โดยพาสเวิร์ดข้อมูลการเข้าถึง E-Mail จะถูกโจมตีทางไซเบอร์มากที่สุดสูงถึง 70 %
อย่างไรก็ตาม จากผลข้อมูลของ Cisco Asia Pacific CISO Benchmark Study 2019 ยังมีข่าวดีคือองค์กรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเริ่มมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยแม้จะมีราคาที่สูงขึ้นเข้ามาสร้างเครือข่ายดูแลองค์กรสำคัญของตนเองให้ปลอดจากภัยคุกคามมากขึ้นจากปีพ.ศ. 2561 และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการทำงานระหว่างผู้ขายผลิตภัณฑ์ โซลูชั่นต่างกับผู้บริโภคเพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาจากภัยคุกคามให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น