กรุงเทพฯ – 14 เมษายน 2563 : กลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) บริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) ร่วมกับกลุ่มมดงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประดิษฐ์ชุดอุปกรณ์ความดันลบ หรือ Negative Pressure Unit แบบเคลื่อนย้ายได้สามารถติดตั้งได้กับทุกเตียงในโรงพยาบาลและรถพยาบาล ลดการแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 ในอากาศ ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ขณะทำหัตถการ โดยทางกลุ่มได้ส่งมอบแล้วให้กับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จำนวน 2 เครื่อง
ดร. ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) ทีมมดอาสา มจธ. กล่าวว่า อุปกรณ์นี้เริ่มต้นจากไกรพิชิต เมืองวงษ์ ผู้บริหาร บริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) และประธานกลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) และธเนศ นะธิศรี ซึ่งได้รวมกลุ่มนักวิจัยในการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาผลงานต้นแบบ จากนั้นจึงได้เริ่มผลิตเครื่องความดันลบ ซึ่งมีโรงพยาบาลต่างๆ ติดต่อขอเข้ารับการสนับสนุนเป็นจำนวนมากขณะนี้ยังขาดแคลน
สำหรับการทำงานของเครื่องความดันลบนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ
ส่วนที่ 1 Operating Chamber Unit โครงสร้างกล่องทำจากสเตนเลส (Stainless Steel) หรือ เหล็กกล้าไร้สนิม กล่องโดยรอบทำจากแผ่นโพลีคาร์บอเนต สามารถมองเห็นผู้ป่วยด้านในได้ ทำความสะอาดง่ายทั้งจากภายในและภายนอก น้ำหนักน้อยลงยกด้วยคน 2 คนก็สามารถเคลื่อนย้ายได้ ด้านข้าง 2 ด้าน และด้านบนฝั่งศรีษะผู้ป่วย 2 ช่อง ออกแบบให้มีช่องสำหรับยื่นมือเข้าไปด้านในเพื่อรักษาผู้ป่วยได้ทั้งสองด้าน โดยทุกช่องจะมีแผ่นปิด-เปิด เพื่อให้ง่ายต่อการทำงานและการออกแบบที่มีความลาดเอียง 45 องศา ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นผู้ป่วยได้ง่ายขึ้นจากมุมสูงด้วย
อีกทั้งกล่อง Chamber ถูกออกแบบให้มีพื้นที่เพิ่มแนวตั้งที่สูงขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยในเตียงมีพื้นที่เพิ่มขึ้นและไม่อึดอัดมาก หากเทียบกับแบบครึ่งวงกลมและสี่เหลี่ยมที่มีทั่วไปในต่างประเทศ ด้านบนมีช่องสำหรับติดตั้งระบบ Negative Pressure Ventilation Unit ซึ่งเป็นระบบที่ประกอบได้ง่าย และล็อคเข้ากับโครงอะลูมิเนียม
ส่วนที่ 2 Negative Pressure Ventilation Unit with HEPA Filtration and UVC Germicidal Treatment ซึ่งมีหลักการทำงานเหมือนคลีนรูมขนาดเล็ก คือ ใช้พัดลมความเร็วสูงดูดอากาศภายใน Chamber ออก ผ่านการกรองด้วย HEPA Filter เพื่อกรองแบคทีเรีย จากนั้นอากาศจะผ่านการบำบัดฆ่าเชื้อไวรัสด้วยระบบรังสีจากแสง UVC ก่อนจะปล่อยออกไปภายนอก โดยจะบังคับให้อากาศใหม่ที่สะอาดจากด้านนอก ผ่านเข้ามาภายในช่องว่างเล็กๆ ด้วยความเร็วสูง เพื่อหมุนเวียนภายใน Chamber ซึ่งจะทำให้คุณภาพอากาศในห้องที่ผู้ป่วยพักอยู่ปลอดภัยขึ้น และลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อไปยังผู้ป่วยร่วมห้อง รวมถึงแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
ดร. ปริเวท กล่าวว่า ด้วยโครงสร้าง แผ่นหลักมีแค่ 3 ชิ้น ทำให้การผลิตและประกอบเร็วขึ้นโดยไม่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก
ทั้งนี้เครื่องความดันลบดังกล่าวมีต้นทุนในการผลิตเครื่องละ 60,000 บาท หากนำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาหลักแสนหรือหลักล้านบาท ปัจจุบันส่งมอบให้กับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แล้วจำนวน 2 เครื่อง และอยู่ในระหว่างส่งมอบให้กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น จำนวน 1 เครื่อง โรงพยาบาลบางละมุง จังหวัดชลบุรี จำนวน 2 เครื่อง
หากผู้มีจิตศรัทธาสนใจร่วมบริจาคเงินสามารถสมทบทุนได้ทาง บัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี ERIG กองทุนวิจัยพลังงานเพื่อการจัดการภัยพิบัติ โดย ไกรพิชิต เมืองวงษ์ เลขที่บัญชี 678-1-95529-2 หรือต้องการสนับสนุนอุปกรณ์ที่ขาดแคลนเช่น แผ่นโพลิคาร์บอเนต สามารถติดต่อ ได้ที่ดร. ปริเวท วรรณโกวิท เบอร์ 089-866-5958 เฟซบุ๊ก Pariwate Varnakovida หรือ อีเมล pariwate@gmail.com