รัฐยกวิกฤตภัยแล้ง เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ระดมทุกหน่วยงานบูรณาการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน


รัฐยกวิกฤตภัยแล้ง เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ระดมทุกหน่วยงานบูรณาการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

สถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มทวีความรุนแรงตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2562 อย่างต่อเนื่องประเทศไทยอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานกว่าหลายๆปีที่ผ่านมาโดยมีสาเหตุหลักมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Nino) คือลักษณะของกระแสน้ำและกระแสลมจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงกันข้าม ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนน้อยลง และฤดูฝนที่จะมาล่าช้ากว่าปกติ ส่งผลให้น้ำแห้ง ขาดแคลนใช้อุปโภคและบริโภคในทุกๆพื้นที่ ดังนั้นภาครัฐจึงได้ระดมแนวความคิด แนวทางแก้ไขปัญหา แผนการดำเนินงานและงบประมาณในการใช้แก้ไขปัญหาภัยแล้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆร่วมบูรณาการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องให้พื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเร่งด่วนที่สุด

รัฐบาลให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมให้ความช่วยเหลือวิกฤตภัยแล้ง

มณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า เนื่องจากวิกฤตภัยแล้ง เป็นวิกฤตระดับชาติที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมให้ความช่วยเหลือโดย ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่นำสรรพกำลังที่มี ทั้งเครื่องจักรกลเหล็ก ยานพาหนะเพื่อลงพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งทั้งการสูบส่งน้ำ การขุดบ่อน้ำตื้น การขุดบ่อบาดาล การล้างบ่อบาดาลและจัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำไปแจกจ่ายเติมยังถังกลาง ประปาหมู่บ้าน รวมทั้งแจกจ่ายน้ำแก่ประชาชนตามพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมให้ความรู้รณรงค์ในการใช้น้ำอุปโภคบริโภคอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดตามหลัก 3R (Reduce, Reuse and Recycle) มาใช้เพื่อลดการสูญเสียน้ำในกระบวนการผลิต และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยปัจจุบัน ( 6 เม.ย.63) มีจังหวัดประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินด้านภัยแล้งแล้ว 24 จังหวัดรวม 143 อำเภอ 742 ตำบล 4 เทศบาล 6,255 หมู่บ้าน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัยและเพชรบูรณ์ รวม 37 อำเภอ 169 ตำบล 1,211 หมู่บ้าน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสาคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิและศรีสะเกษ รวม 70 อำเภอ 394 ตำบล 2 เทศบาล 3,623 หมู่บ้าน, ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาม กาญจนบุรี สุพรรณบุรีฉะเชิงเทราและปราจีนบุรี รวม 35 อำเภอ 168 ตำบล 1 เทศบาล 1,363 หมู่บ้าน และภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ สงขลา รวม 1 อำเภอ 11 ตำบล 1 เทศบาล 58 หมู่บ้าน ส่วนในพื้นที่อื่นๆที่เหลือของประเทศกำลังอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์และหากพื้นที่ใดประสบปัญหาภัยแล้งทางปภ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมดำเนินการเข้าให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังเพื่อให้ประชาชนผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งในปีพ.ศ.2563 ไปด้วยกัน

แหล่งเก็บน้ำ

กรมชลประทาน เร่งสร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก สำรองใช้เสริมน้ำในอ่างหลัก ลดความเดือดร้อนของประชาชน

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากรายงานปัญหาภัยแล้งของส่วนราชการในสังกัดกรมชลประทานพบว่าภัยแล้งในปี พ.ศ.2563 จะส่งผลรุนแรงตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2563 และอาจจะยาวต่อเนื่องไปจนช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี สอดคล้องกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3-5 % อีกทั้งปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศจะมีปริมาณน้อยหรือเท่าต้นฤดูแล้งปี 2562/2563 ที่ผ่านมา กรมชลประทานจึงวางโครงการเร่งด่วนในงบประมาณปี 63 ตามข้อห่วงใยของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) และนโยบายของเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องหาแหล่งน้ำสำรองและเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บน้ำต้นฤดูฝนปี พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นแหล่งน้ำเสริมอ่างเก็บน้ำหลักในช่วงแล้งปีต่อไป

สำหรับโครงการเร่งด่วนวางไว้เพื่อกักเก็บน้ำต้นทุนในฤดูฝน จำนวน 266 โครงการ งบประมาณรวม 2,705.7 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1,300 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 3.74 แสนไร่ เก็บน้ำได้ 64.84 ล้านลูกบาศก์เมตร ครัวเรือนได้ประโยชน์ 79,624 ครัวเรือน กระจายทั่วประเทศ แบ่งเป็น 1.แก้มลิง วงเงิน 975.4 ล้านบาท 2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกัก วงเงิน 608.6 ล้านบาท ส่วนมากเป็นโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำ 3. โครงการบรรเทา วิกฤตภัยแล้งและเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกัก 859.6 ล้านบาท 4. ขุดลอกคลองวงเงิน 261.9 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นในภาคเหนือรวม 52 โครงการ งบประมาณ 839.9 ล้านบาท, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 108 โครงการ งบประมาณ 1,000 ล้านบาท, ภาคกลาง 58 โครงการ งบประมาณ 387.5 ล้านบาท, ภาคตะวันออก 25 โครงการ งบประมาณ 288.5 ล้านบาท ภาคใต้ 22 โครงการ งบประมาณ 185.9 ล้านบาทและ ในพื้นที่ชายแดนใต้ 1 โครงการ วงเงิน 9 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการขนาดใหญ่ของกรมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่นโครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเมื่อเสร็จจะช่วยลดอุทกภัยในพื้นที่และสามารถเก็บน้ำในลำน้ำได้จำนวนหนึ่ง, โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช, โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี,โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำ และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำภาคตะวันออก แต่ละโครงการที่ได้มีการวางในงบประมาณรายจ่ายแต่ละปีล้วนมาจากแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 20 ปีของประเทศที่นำมาจัดในงบรายปีเพื่อให้ส่งประโยชน์ต่อภาคการเกษตรและคนไทยทั้งประเทศ

แหล่งเก็บน้ำ

กระทรวงอุตฯ พร้อมนำน้ำในขุมเหมืองเก่า ช่วยเกษตรกรสู้วิกฤตภัยแล้ง

กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์

กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้สำรวจปริมาณน้ำทิ้งโรงงาน และแหล่งน้ำในขุมเหมืองที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรมในช่วงวิกฤติภัยแล้งปีพ.ศ. 2563 เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้มีส่วนช่วยเหลือเกษตรกร และภาคส่วนอื่นๆ ในการช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่

จากการสำรวจขุมเหมืองเก่าทั่วประเทศ โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เบื้องต้นพบว่า ในอดีตได้มีการนำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และเป็นน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปา เช่น จังหวัดภูเก็ต ระนอง และพังงา ส่วนในปี พ.ศ.2563 นี้มีแหล่งน้ำในกลุ่มเหมืองแร่ จำนวน 36 แห่ง รวม 105 บ่อเหมือง มีปริมาณน้ำประมาณ 166,019,100 ลูกบาศก์เมตร ที่สามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้ และปัจจุบันได้นำน้ำไปใช้ประโยชน์แล้ว กว่า 50 บ่อเหมือง จากข้อมูลแหล่งน้ำขุมเหมืองของ กพร พบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ มี 13 บ่อเหมือง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา ลำปาง และลำพูน ปริมาณน้ำรวม 129 ล้าน ลูกบาศก์เมตร, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 17 บ่อเหมือง ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ เลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองบัวลำภู และอุบลราชธานี ปริมาณน้ำรวม 11 ล้าน ลูกบาศก์เมตร, ภาคกลาง มี 4 บ่อเหมือง ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ปริมาณน้ำรวม 1.7 ล้าน ลูกบาศก์เมตร, ภาคตะวันออก มี 4 บ่อเหมือง ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ชลบุรี ปราจีนบุรีและสระแก้ว ปริมาณน้ำรวม 8 แสนลุกบาศก์เมตร, ภาคตะวันตก มี 5 บ่อเหมือง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรีและราชบุรี ปริมาณน้ำรวม 8.7 ล้าน ลูกบาศก์เมตรและภาคใต้ มี 6 บ่อเหมือง ได้แก่จังหวัด ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส พังงา และภูเก็ต ปริมาณน้ำรวม 14 ล้าน ลูกบาศก์เมตร รวมแล้วประมาณกว่า 65,392,000 ลูกบาศก์เมตร และได้ตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำขุมเหมือง และได้ประสานจัดส่งข้อมูลปริมาณน้ำขุมเหมืองในเขตพื้นที่ต่างๆ ให้กับ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณานำน้ำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งจัดสรรให้ทั่วถึงซึ่งจะเน้นในพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างหนักก่อนเพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดึงน้ำในขุมเมืองไปใช้เพื่อใช้แก้วิกฤตภัยแล้งที่เกิดได้ทันทีในแต่ละพื้นที่

น้ำทิ้งโรงงาน

กรอ.นำน้ำทิ้งโรงงานที่ผ่านเกณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ยรอบโรงงานกว่า 1,500 ราย

สำหรับการนำน้ำทิ้งจากโรงงานไปใช้ประโยชน์จะดำเนินการได้ ภายหลังจากที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดทำประกาศฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม นำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ซึ่งจากรายงานการสำรวจของ สอจ. 76 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่ามีโรงงานประเภทแปรรูปการเกษตรที่มีน้ำทิ้ง จำนวนทั้งสิ้น 3,103 โรง มีปริมาณน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดให้มีค่ามาตรฐานตามกฎหมายและพร้อมจะช่วยเหลือภาคเกษตรกรรม จำนวนรวม 3,772,417 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม คาดการณ์ในเบื้องต้นว่า น้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงานจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่โดยรอบโรงงานได้จำนวนกว่า 1,500 ราย ซึ่งถ้ารวมกับปริมาณน้ำในกลุ่มเหมืองแร่ ที่มีปริมาณน้ำ 166,019,100 ลูกบาศก์เมตร จะมีปริมาณน้ำรวมกว่า 169 ล้านลูกบาศก์เมตรหากพื้นที่อุตสาหกรรมใดประสบปัญหาภัยแล้งสามารถที่จะแจ้งเข้ามาเพื่อรับความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา แต่ในขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งอย่างชัดเจน เนื่องจากโรงงานที่ใช้น้ำในการผลิตในปริมาณมาก ส่วนใหญ่จะมีบ่อกักเก็บน้ำทิ้งไว้ใช้ประโยชน์ และมีการนำน้ำกลับมาใช้ในการผลิตอีกครั้ง ส่วนโรงงานที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เตรียมแหล่งน้ำสำรองเพียงพอที่จะรับมือกับภัยแล้ง จึงมั่นใจว่าโรงงานจะไม่ได้รับผลกระทบและเกิดปัญหาการแย่งน้ำกับภาคส่วนอื่น แต่หากพบผู้ประกอบการรายใดที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบ หรือน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ กระทรวงอุตสาหกรรมจะออกมาตรการช่วยเหลือตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

น้ำต้นทุนในพื้นที่ EEC

กอนช.กำหนดมาตรการเร่งด่วนให้ปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ EEC ใช้เพียงพอ

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากมีกฎหมายบังคับใช้ ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นการจัดการการใช้ การพัฒนา และการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากร เพื่อให้ 38 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน โดยจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจาก 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ คือ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บท และมาตรการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และมีคณะกรรมการระดับลุ่มน้ำ ที่ให้ตัวแทนประชาชนที่มาจากการคัดเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่มาจากกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นตัวแทนผู้ใช้น้ำจริง เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

สำหรับมาตรการเร่งด่วนเพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มีเพียงพอจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 นั้น เบื้องต้นได้มีการเชื่อมโยงโครงข่ายเติมน้ำใน 3 อ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่ จังหวัดระยอง และ จังหวัดชลบุรี ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง ดำเนินการแบ่งปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกด จังหวัดจันทบุรี ระบายลงคลองวังโตนด และใช้ระบบสูบผันน้ำคลองวังโตนด มาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ ช่วง 1-25 มี.ค.63 รวม 10 ล้านลูกบาศก์เมตร และการสร้างระบบสูบกลับชั่วคราวจากคลองสะพานเพื่อสูบน้ำในกรณีมีฝนตกในพื้นที่ คิดเป็นปริมาณน้ำประมาณ 0.15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน 2. อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง ดำเนินการสูบผันน้ำลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 0.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่มาลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลอีก 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ซ่อมแซมระบบสูบกลับจากแม่น้ำระยอง เพื่อสูบน้ำในกรณีมีฝนตกในพื้นที่ คิดเป็นปริมาณน้ำ 0.10 ล้าน ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในส่วนนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดใช้น้ำจากคลองน้ำหูเพื่อลดการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ในปริมาณวันละ 0.05 ล้านลูกบาศก์เมตรและ3.อ่างเก็บน้ำบางพระจังหวัดชลบุรี สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จังหวัดชลบุรี 3 ล้าน ลูกบาศก์เมตร และการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 (เขื่อนห้วยโสมง) จังหวัดปราจีนบุรี ลงแม่น้ำบางปะกงและสูบต่อไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ อีก 0.18 ล้าน ลูกบาศก์เมตรต่อวัน กรณีมีฝนตกในลุ่มน้ำบางปะกงผลักดันน้ำเค็มลงมาต่ำกว่าจุดสูบน้ำ

นอกจากนี้ยังมีมาตรการเสริม เพื่อรองรับมาตรการหลักอีก 4 มาตรการได้แก่ 1.การเจรจาซื้อน้ำจากแหล่งน้ำเอกชนเช้าในระบบน้ำของจังหวัดชลบุรี และ จังหวัดฉะเชิงเทรา อีก 14 ล้าน ลูกบาศก์เมตร 2.การลดการใช้น้ำจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ 10% 3.การลดการใช้น้ำของโรงไฟฟ้าเอกชนโดยการเดินระบบอยู่ในโหมด Stand By หรือเดินระบบเท่าที่จำเป็น และ 4. ผู้ประกอบการในนิคมอุตสากรรมในพื้นที่ จังหวัดระยอง ลดการใช้น้ำ 10% เพื่อรองรับการใช้น้ำเพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองพัทยา การประปาส่วนภูมิภาคสาขาพัทยา พร้อมทั้งมีแผนติดตั้งระบบสูบน้ำเคลื่อนที่จากอ่างเก็บน้ำห้วยตู้ 1,2 และ อ่างเก็บน้ำมาบฟักทอง 1,2 รวม 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนจะมีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดหน้าแล้งปี พ.ศ.2563 นี้

“ ถึงแม้วิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะเป็นปัญหาที่รุนแรงสักเพียงใด เชื่อว่าหากทุกฝ่ายทั้งชุมชน ภาครัฐ และเอกชน ลุกขึ้นมาร่วมมือ เรียนรู้ ลงมือทำ และแบ่งปันกัน โดยอาศัยองค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมจัดการตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนมีการติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิด จะสามารถช่วยให้ประเทศไทยฝ่าวิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้” สมเกียรติ กล่าว

กรมส่งเสริมการเกษตรจัดตั้งศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตรปี พ.ศ. 2563

อาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ให้หน่วยราชการในสังกัดเร่งติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างเข้มข้นในช่วงเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม 2563 เนื่องจากคาดการณ์ว่าสถานการณ์อาจทวีความรุนแรงขึ้น จากฤดูฝนที่ผ่านมามีฝนตกน้อยกว่า ค่าเฉลี่ยร้อยละ 12 จึงทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติมีน้อย ประกอบกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีเพียงร้อยละ 55 ซึ่งเป็นน้ำใช้การได้เพียงร้อยละ 22 ทำให้พื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ พื้นที่ปลูกไม้ผลนอกเขตชลประทานมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำใน 30 จังหวัด พื้นที่ประมาณ 3.7 แสนไร่ รวมถึงพื้นที่การเกษตรอื่นๆ อาจได้รับผลกระทบให้เกิดความเสียหายเช่นกัน

นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าอาจจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 จึงต้องมีการติดตามเฝ้าระวังในการใช้น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งป้องกันแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดตั้งศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตรปี พ.ศ. 2563 กรมส่งเสริมการเกษตรขึ้น ทั้งในระดับกรม เขต และจังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง การสร้างการรับรู้ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ รวมทั้งการปฏิบัติดูแลรักษาพืชอย่างถูกวิธี การเฝ้าระวังและรวบรวมข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและสรุปผลการรายงาน เพื่อแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save