กรุงเทพฯ – 3 ธันวาคม 2563 : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือ บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอน และทักษะของนิสิตด้านนวัตกรรม การใช้ฐานข้อมูลเพื่อสร้างสรรค์งานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของนวัตกรรมและธรรมาภิบาลที่ดี
สำหรับพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ดังกล๋าวได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานในงานและร่วมลงนามความร่วมมือกับ แจ๊ค มินทร์ อิงค์ธเนศ กรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือ BOL ณ ห้องปรุม 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ปทุมวัน
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาผู้นำแห่งอนาคต การสร้างนวัตกรรมและงานวิจัยคุณภาพ และการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยในการพัฒนาทักษะด้านนวัตกรรมของนิสิต การส่งเสริมนวัตกรรมเชิงรุก เพื่อปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล โดยฐานข้อมูลของ BOL จะเป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อสังคม ทั้งนี้เมื่อนิสิตจบการศึกษาออกไปจะมีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในสาขาที่เรียนรู้ ทำให้ง่ายในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน
สำหรับความร่วมมือของจุฬาฯ กับ BOL ในครั้งนี้ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลา ตั้งใจว่าต้องการให้เป็นมากกว่าความร่วมมือ (MOU) คือ เกิดประโยชน์ขึ้นจริง โดยนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ซี่งจะเป็นการเสริมทักษะนิสิตของเราให้สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ ผ่านการวิเคราะห์ ผ่าน Data Coding นอกจากนิสิตจะมีความรู้ทางทฤษฎีแล้ว สามารถนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้ โดยเบื้องต้นคณะที่เข้าร่วม ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
“วิสัยทัศน์ของจุฬาฯ คือ นวัตกรรมเพื่อสังคม วันนี้มีการขับเคลื่อนสู่โลกของข้อมูลเพื่อมาใช้ประโยชน์มากขึ้น ทางจุฬาฯ ร่วมมือกับ BOL เพราะเชื่อว่าเครื่องมือที่อิงกับข้อมูลที่เรามีอยู่ จะก่อเกิดประโยชน์และสร้างนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป” อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
แจ๊ค มินทร์ อิงค์ธเนศ กรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือBOL กล่าวว่า โลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย เกิดการพลิกผันของธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้องค์กรเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับภาคการศึกษาที่จะต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาทักษะของนิสิตให้สอดคล้องกับทิศทางการศึกษาในโลกอนาคต โดยนิสิตที่จบออกมาอย่างน้อยต้องมีทักษะด้านนวัตกรรม รู้จักการใช้ฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาผลงานใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์การทำงานในยุคดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน
BOL ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะของนิสิตและการส่งเสริมนวัตกรรม จึงได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการสร้างสรรค์งานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่ ๆ และธรรมาภิบาลที่ดี โดยที่ผ่านมา BOL ได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมาแล้ว 10 แห่ง ซึ่งเป็นการให้ Big Data และ Data Analytic ไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษาตามความต้องการของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ถือว่ามีความแตกต่างและเป็นมากกว่าการเซ็นสัญญาความร่วมมือ (MOU) เนื่องจาก BOL จะให้ทางจุฬาฯ ได้นำฐานข้อมูล Big Data และ Data Analytic ไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษา เพี่อเผยแพร่ความรู้ในสังคมไทย โดยให้อาจารย์สอนแบบ Real Case ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทุกวันและทุก ๆ ไตรมาส ให้นักศึกษา หากนักศึกษามีความสนใจในนวัตกรรมด้านใดเป็นพิเศษ BOL พร้อมที่จะทุนในแต่ละปี โดยมิติใหม่ของความร่วมมือ เป็น 2 ทาง คือ มหาวิทยาลัยจะรู้ถึง Supply Size ส่วน BOL จะรู้ในเรื่องของ Demand Size ทำให้ทำงานร่วมกันและเสริมซึ่งกันและกัน
“เรามีข้อมูลการค้า การเงิน Geographic มาทำกับอาจารย์และนักศึกษา ในมิติที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ อาจารย์ก็จะมี Real Case สอนนักศึกษา ส่วนบริษัทก็จะมีผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้นำเงินคืนกลับสู่มหาวิทยาลัย เพื่ออุดหนุนมหาวิทยาลัย ทำให้จุฬาฯ เป็นหนึ่งในศูนย์กลางความรู้” กรรมการและประธานกรรมการบริหาร BOL กล่าว