จุฬาฯ ตีแผ่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 สำคัญระดับชาติ จี้รัฐแก้ไขต่อเนื่อง แนะทุกภาคส่วนเร่งกำจัดแหล่งกำเนิดฝุ่นอย่างจริงจัง


จุฬาฯ ตีแผ่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 สำคัญระดับชาติ จี้รัฐแก้ไขต่อเนื่อง แนะทุกภาคส่วนเร่งกำจัดแหล่งกำเนิดฝุ่นอย่างจริงจัง
Cr ภาพ : JS 100

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนา “ฝ่าวิกฤตรับมือฝุ่น PM 2.5” เพื่อหาทางแก้ปัญหาเร่งด่วนเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไมครอนที่เริ่มทำลายสุขภาพประชาชนและกำลังขยายวงกว้างกระทบกับสุขภาพคนกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยเวทีเสวนาแนะทุกภาคส่วนควรร่วมกันออกมาตรการจัดการแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจังเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ปริมณฑล

ชี้ฝุ่นPM 2.5 สะสมตั้งแต่ช่วงปลายฝนต้นหนาวปีที่แล้ว มาส่งผลวิกฤตในปีนี้

รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงอากาศปิด ทำให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 หรือฝุ่นละอองจิ๋ว เริ่มส่งผลกระทบต่อส่วนรวมทั้งทางด้านสุขภาพ ทางด้านการสัญจร ทัศนวิสัยในการขับขี่รถต่าง ๆ เริ่มลดลงมากขึ้น ซึ่งจริง แล้ว ฝุ่น PM 2.5 นี้มีการสะสมมาตั้งแต่ช่วงปลายฝนต้นหนาวปี พ.ศ. 2561 แต่โชคดีที่ไม่เป็นวิกฤตอย่างช่วงเวลานี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้คนเริ่มทยอยเดินทางออกนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้รถจำนวนมากที่ก่อฝุ่น PM 2.5 การก่อสร้างสาธารณูปโภค สร้างรถไฟฟ้ากว่า 10 เส้นทางของกระทรวงคมนาคม การก่อสร้างของเอกชน และอื่น ๆ เริ่มลดลงตามไปด้วย ทำให้ฝุ่นเริ่มลดลง แต่พอเข้าสู่ช่วงปีใหม่ผู้คนเริ่มทยอยกลับเข้ามาใช้ชีวิต ทำงาน สัญจรในเมืองกรุงเฉกเช่นเดิมทำให้ฝุ่น PM 2.5 เริ่มส่งผลกระทบอีกครั้ง

การเผาไหม้ทุกชนิดที่ไม่สมบูรณ์

ต้นตอฝุ่น PM 2.5 มาจากการเผาไหม้ทุกชนิดที่ไม่สมบูรณ์ ผสมกับอากาศปิด

สำหรับที่มาของฝุ่น PM 2.5 นั้นจากการศึกษาพบว่ามาจาก 2 แหล่งกำเนิดด้วยกัน ได้แก่ 1) แหล่งกำเนิดการเผาไหม้ทุกชนิดที่ไม่สมบูรณ์ เช่น การจราจรขนส่งที่รถยนต์ปล่อยควันเสียออกมา โรงไฟฟ้า ควันที่เกิดจากการหุงต้มอาหารโดยใช้ฟืน และ 2) ปัจจัยจากธรรมชาติ คือช่วงอากาศปิดปลายฝนต้นหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ของทุก ๆ ปี ทำให้ไม่สามารถระบายอากาศลดฝุ่นทางแนวดิ่งและแนวราบได้ อีกทั้งกรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ มีตึกสูง ทำให้ฝุ่นละอองไม่สามารถเคลื่อนตัวไปสู่ที่อื่น ๆ รอบนอกเมืองได้

“ประชาชนที่สูดเข้าปอดจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตั้งแต่ระดับน้อยไปสู่มาก เช่น แสบตา แสบคอ ไอจาม ผื่นคันผิวหนัง ไอเรื้อรัง โรคปอด ความดันสูง ใจสั่น อาจจะลุกลามถึงขั้นเป็นโรคหัวใจ มะเร็งทางเดินหายใจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ การได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM. 2.5 ในปริมาณที่มากอย่างเฉียบพลัน หรือผู้ป่วยเองมีภาวะป่วยสั่งสมมาก่อนแล้วเมื่อได้รับฝุ่น PM 2.5 เข้าไปสั่งสมนาน ๆ ก็จะสำแดงอาการป่วยที่แฝงอย่างอื่นออกมาทำให้อาการยิ่งลุกลาม เพราะเมื่อเทียบกับเส้นผมปกติของมนุษย์ที่มีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 50-70 ไมครอน จะเห็นได้ว่าฝุ่นละเอียด PM 2.5 มีขนาดเล็กกว่าเป็นอย่างน้อย 20 เท่าของเส้นผม ทำให้ฝุ่นละเอียดขนาด PM 2.5 สามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่ายนั่นเอง” รศ.ดร.ศิริมา กล่าว

แนะมาตรการรับมือวิกฤตอย่างทันท่วงที และแก้ปัญหาทั้งระบบ

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาและการป้องกันเรื่องฝุ่น PM 2.5 นั้น รศ.ดร.ศิริมา เสนอว่าควรมีหามาตรการรับมือวิกฤตปัญหาที่จะวนกลับมาในทุก ๆ ปี โดยเฉพาะช่วงเวลาที่จะเกิดฝุ่นอย่างทันท่วงทีและมีมาตรการแก้ปัญหาทั้งระบบ อย่ากระทำเพียงช่วงใดช่วงหนึ่งแล้วหายไป เช่น การแก้ปัญหาลดฝุ่น PM 2.5 ด้วยการฉีดน้ำล้างถนน ที่ทางกทม. กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ ไม่ได้ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้โดยตรง แต่ช่วยขจัดและบรรเทาเรื่องฝุ่นขนาดใหญ่ หรือ PM 10 ไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายขึ้นไปในอากาศ ซึ่งจะช่วยให้ค่า AQI (Air Quality Index) หรือดัชนีคุณภาพอากาศดีขึ้น แต่ถ้าจะให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงได้จริง กทม.จะต้องใช้เครื่องฉีดพ่นละอองน้ำมากถึง 30,000 ตัว หรือเครื่องฉีดพ่นน้ำ 20 เครื่องต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรฉีดพ่นละอองพร้อมกันทั่วทั้ง 50 เขตและฉีดทุก ๆ วันจะลดค่าฝุ่น PM 2.5 ในเขตกรุงเทพฯ ให้เหลือ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานตามเกณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐกำหนด หรือใช้เครื่องบินลำเลียงของทางทหารบรรทุกน้ำบินเทลงทุก ๆ วัน

“จริง ๆ แล้ว ฝุ่น PM มีอยู่ตลอดเวลาในอากาศแต่ไม่สั่งสมและก่อตัวจนเป็นขนาดใหญ่ที่เห็นได้ด้วยสายตาในอากาศที่ขุ่นมัว เมื่อมันรวมตัวกันในปริมาณที่มาก เช่นเดียวกันกับการพยายามที่จะทำฝนเทียมให้ตกลงในพื้นที่วิกฤตนั้น อยากเรียนว่า ปริมาณฝนเทียมที่ตกลงมาเพียงเล็กน้อยไม่สามารถชะล้างฝุ่นควันในอากาศ จะต้องมีปริมาณฝนจำนวนมากอย่างช่วงฤดูฝนเท่านั้นถึงจะชะล้างฝุ่น PM 2.5 ได้เกือบหมด” รศ.ดร.ศิริมา กล่าว

ดังนั้นภาครัฐควรหามาตรการลดแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ของฝุ่นโดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้างโครงการเร่งด่วนต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนนั้นเป็นการปล่อยฝุ่นในระยะสั้น ๆ ที่จะมีฝุ่นออกมาในปริมาณมาก แต่เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จฝุ่นก็จะลดจำนวนลง ซึ่งภาครัฐที่กำกับดูแลต้องใช้มาตรการทางกฎหมายมาบังคับอย่างจริงจัง ควรส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างว่าได้มีเครื่องป้องกันฝุ่น มีผ้าคลุมระหว่างการก่อสร้างซึ่งเป็นแหล่งปล่อยฝุ่นหรือไม่ เข้าไปตรวจสอบแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมว่ามีระบบดักจับฝุ่นที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปล่อยฝุ่นหรือมลพิษ ซึ่งเป็นต้นตอของการเกิดฝุ่น PM 2.5 ไม่ควรปล่อยละเลยปัญหาที่ใกล้ตัวและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนจำนวนมากในสังคม

ปัญหารถติด ทำให้รถยนต์ปล่อยควันเสียออกมา หนึ่งในสาเหตุของวิกฤตฝุ่น PM2.5

ชี้ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องแก้ไขต่อเนื่อง แม้จะต้องใช้เวลา และแก้ปัญหาไม่ได้ 100%

ที่สำคัญควรมีแผนและมาตรการระยะยาวกำหนดป้องกันปัญหาในแต่ละพื้นที่ไม่ให้ฝุ่น PM 2.5 ยากเกินควบคุม โดยร่วมกันบูรณาการทำงานของทุก ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องแก้ไข ใช้เวลา 2-3 ปีไม่สำเร็จก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี ดูตัวอย่างได้จากประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่แก้ปัญหาเรื่องฝุ่นได้สำเร็จแม้จะไม่ 100% แต่ก็ค่อย ๆ เข้าสู่สภาวะอากาศที่ไร้ฝุ่นมลพิษได้ในระดับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง” รศ.ดร.ศิริมา กล่าว

ชี้บังคับกฎหมายจราจรการเดินรถที่ปล่อยควันพิษอย่างจริงจัง

ผศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากสภาวะอากาศที่ปิดในช่วงเปลี่ยนฤดู ประกอบกับการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ ที่มีตึกสูง และการจราจรติดขัด รถยนต์เชื้อเพลิงประเภทดีเซล และรถที่มีอายุมาก รถเหล่านี้มีส่วนร่วมในการสร้างฝุ่น PM 2.5 ให้มีปริมาณมากขึ้นทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กสะสม ไม่สามารถระบายออกไปได้ จนมีความเข้มข้นของ PM 2.5 สูง มาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาอยู่ที่ภาคขนส่ง โดยจะต้องลดปริมาณการเดินทางสู่ท้องถนนช่วงอากาศวิกฤต ลดจำนวนเที่ยว หมั่นตรวจสภาพรถยนต์ เข้มงวดใช้กฎหมายบังคับรถยนต์ที่ปล่อยควันพิษควันดำอย่างจริงจัง ควรมีตัวเลขรายงานจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องแต่ละช่วงเวลาว่ามีรถตรวจจับแล้วไม่ผ่านสภาพจำนวนกี่คัน และแก้ไขไปแล้วจำนวนกี่คัน

“ตัวเลขเหล่านี้ควรเปิดเผยต่อสื่อมวลชนและประชาชนอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความมั่นใจ เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศอย่างในยุโรปและสหรัฐอเมริกาในการพยายามควบคุมดูแลปัญหาฝุ่น PM 2.5 พบว่าในต่างประเทศจะพยายามยกมาตรฐานรถยนต์ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ปล่อยมลพิษน้อยลง เช่น ยุโรปปัจจุบันจะเป็นยูโร 5 หรือ ยูโร 6 ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ที่ ยูโร 4 แต่ถ้าเป็นรถที่วิ่งกันจริง ๆ อยู่ที่ยูโร 3 ดังนั้นฝุ่นที่ออกมาจึงมีจำนวนสูงมาก อย่างไรก็ตาม การยกระดับตรงนี้ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะว่ามีค่าใช้จ่ายและเงินทุนมหาศาล สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่จะเปลี่ยนรถให้ได้มาตรฐานสูงขนาดนั้นอย่างน้อย 10 ปีกว่าจะยกระดับการใช้รถให้เทียบเท่าต่างประเทศได้” ผู้อำนวยการสถาบันขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

สำหรับการเร่งทำโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของภาครัฐที่คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลงได้นั้น โดยส่วนตัวมองว่าเป็นการลงทุนที่ดี แต่ยังไม่ใช่ภาคที่สมบูรณ์ ปัญหาที่ยังมีอยู่ คือการเชื่อมโยงระบบรถไฟฟ้า อีกส่วนหนึ่ง คือระบบโครงข่ายรถเมล์ เป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้ง่าย แต่ข้อเสียคือ ระบบรถเมล์ยังไม่มีความน่าใช้และไม่มีความน่าเชื่อถือที่เพียงพอ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะเข้ามาแก้ปัญหารถเมล์อย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันรถเมล์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เป็นจำนวนมาก เนื่องจากรถส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยมากกว่า 20 ปีและอีกทางหนึ่งคือภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนการเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์ เช่น รถจักรยาน หรือการเดินให้มากขึ้น ซึ่งต้องมีอุปกรณ์ป้องกันด้วย รณรงค์ร่วมกันปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวลดมลพิษ ซึ่งก็ทำมาตลอดแต่ก็ยังกระทำไม่ต่อเนื่องทำให้หลาย ๆ พื้นที่ที่ไม่มีต้นไม้ก็จะเกิดวิกฤตได้ง่ายโดยเฉพาะในพื้นที่ก่อฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นหัวเมืองหลัก ๆ และในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ทั้งระบบร่วมกัน

แนวทางการป้องกันเบื้องต้น -งดออกจากบ้าน เพราะฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว

ส่วนแนวทางการป้องกันเบื้องต้น ผู้คนที่ไม่มีกิจหรือต้องเดินทางไปทำธุระนอกบ้านก็ไม่ควรสัญจรออกไปข้างนอก อีกทั้งไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้งในระยะที่เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 แต่หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านก็ควรใส่หน้ากากป้องกันทุกครั้งหรือหากจะออกกำลังกายนอกบ้านจริง ๆ ควรทาครีมป้องกันแสงแดดที่มีค่าป้องกันสูงแต่ไม่ควรออกกำลังกายนานเกิน 45 นาที เพราะค่า PM 2.5 ที่ได้รับโดยตรงจากการหายใจสูดเข้าไปทางจมูกและทางผิวหนังนั้นอาจจะไม่ส่งกระทบโดยทันทีสำหรับคนที่ร่างกายแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันที่ดีแต่จะสั่งสมและส่งผลในระยะยาวเมื่อคน ๆ นั้นมีร่างกายที่อ่อนแอจากภาวะโรคหวัด และโรคต่าง ๆ ได้ในอนาคต อีกทางหนึ่งก็ควรฟังข่าวสารการประกาศแจ้งเตือนปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากทางภาครัฐโดยไม่ต้องตื่นตระหนกเพราะเชื่อว่าภาครัฐจะมีทางแก้ปัญหา ได้

จับตาโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีการเผาไหม้ รัฐควรตรวจสอบว่ามีระบบดักจับฝุ่นหรือไม่

รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากจะมองว่าโรงไฟฟ้าเป็นผู้ปล่อยฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดวิกฤตในขณะนี้ อาจจะดูกล่าวหาโรงไฟฟ้าให้เป็นผู้ร้ายมากเกินไป เพราะในความเป็นจริงแล้ว โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่อยู่บริเวณรอบ ๆ กรุงเทพฯ และปริมณฑลเกือบ 3,000 เมกะวัตต์นั้น ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ปล่อยมลพิษและฝุ่นต่ำมาก ในการผลิตน้อยหรือผลิตมาก ขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงที่ใช้และปริมาณในการใช้ โดยแต่ละโรงงานแต่ละโรงไฟฟ้ามีตัววัดปริมาณดักจับฝุ่นที่จะส่งค่าต่าง ๆ ออกสู่ภายนอก ซึ่งมีภาครัฐที่กำกับดูแลอยู่แล้ว โรงงานที่ใช้น้ำมันเตาและบอยเลอร์ก็มีแต่ก็ยังมีจำนวนน้อยที่อยู่รอบ ๆ กรุงเทพฯ และแต่ละโรงงานก็จะมีการควบคุมดูแลเรื่องฝุ่นและมลพิษอื่น ๆ ภายใต้มาตรฐานที่ภาครัฐกำหนดอยู่แล้วอย่างใกล้ชิด

“แต่สิ่งที่น่าห่วงมากคือ กลุ่มโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ดำเนินการโดยการเผาไหม้ ตั้งกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ภาคกลาง ภาครัฐควรมีการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่กระจายอยู่จำนวนมากต้องมีการเข้าไปตรวจสอบว่ามีการดักจับฝุ่นด้วยหรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน และไม่มองผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเป็นผู้ร้ายในทุก ๆ เรื่องเพราะโรงไฟฟ้าที่เขามีคุณภาพควบคุมดูแลได้มาตรฐาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็มีอยู่มากมายเช่นกัน ที่สำคัญหากไม่มีความจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่โรงไฟฟ้าหรือพื้นที่วิกฤตฝุ่นก็ไม่ควรเข้าไป และพื้นที่โรงงานควรมีป้ายแสดงการสวมใส่หน้ากากป้องกันทุก ๆ จุดที่เห็นได้ชัดด้วย” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

สำหรับแนวทางการป้องกันและแนะนำสำหรับผู้ทำงานในโรงไฟฟ้าและประชาชนทั่วไปนั้น แน่นอนว่าควรสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งในเวลาทำงานและเวลาออกนอกอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ควรมีการอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหากออกไปอยู่ในพื้นที่ก่อฝุ่นทุกประเภท หากมีอาการแพ้ มีไข้ผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์อย่างเร่งด่วน

ชี้ฝุ่น 2.5 ไมครอนเข้าถึงกระแสเลือด ทำลายเซลล์ -แสดงอาการตามภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จมูกของเราสามารถกรองฝุ่นขนาด 30 ไมครอน ถ้าเมื่อใดฝุ่นมีขนาดเล็กกว่านี้หากผ่านจมูกเข้าไปก็จะไปติดที่คอ และหากเล็กลงไปอยู่ที่ 10ไมครอน ก็จะลงไปสู่หลอดลม ถ้าเล็กลงไปถึง 2.5 ไมครอน จะลงไปถึงหลอดลมและถุงลม และเมื่อถึงถุงลมแล้วก็จะเข้าสู่กระแสเลือดทำลายเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้คนที่ได้รับฝุ่นเข้าไปมีหลากหลายอาการตามภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น หากเพียงแค่ได้รับในปริมาณไม่มากก็จะมีผื่นคันทางผิวหนัง แสบเคืองตา ตาแดง แสบจมูก จาม ไอ เสมหะมากขึ้น ติดหวัดง่ายขึ้น ถ้าเป็นหลอดลมจะไอและหอบ ถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จะมีปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียได้สูงขึ้น รวมถึงมีความดันสูงในคนที่มีแนวโน้มความดันสูง และใจสั่น ถ้ามีโรคหัวใจอยู่แล้ว อาจทำให้หัวใจกำเริบได้

ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัม/ลบม. ส่งผลให้คนอเมริกันเสียชีวิตจากมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 20%

นอกจากนี้ ในเรื่องมะเร็ง จากผลวิจัยของสมาคมมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา ที่วิจัยจากคนจำนวน 1.2 ล้านคน ติดตามเป็นเวลา 26 ปี ดูอาการมะเร็งโดยตัดเรื่องการสูบบุหรี่ออกไป พบว่าทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่เพิ่มขึ้นของ PM 2.5 อัตราการเสียชีวิตมะเร็งปอดในคนอเมริกันเพิ่มขึ้นประมาณ 20% และเมื่อติดตามศึกษาคนในยุโรป พบว่าอัตราการเสียชีวิตเพิ่มอีกประมาณ 1.5 เท่า ส่วนอีกงานวิจัยที่ศึกษาในกลุ่มจำนวน 500,000 คน พบว่าทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่เพิ่มขึ้นของ PM 2.5 มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้นประมาณ 5%

เด็กเล็ก- ผู้สูงอายุ -สตรีตั้งครรภ์ ผู้ป่วยทางเดินหายใจ -คนที่อดนอนต่ำกว่า 6 ชม.เสี่ยงสูง

ในประเทศไทย กลุ่มเสี่ยงที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ และคนที่อดนอนต่ำกว่า 6 ชั่วโมง หากไม่มีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านแนะนำว่าควรอยู่ภายในบ้าน หมั่นล้างจมูกให้บ่อยขึ้น พ่นยาแก้หลอดลม หากมีเครื่องฟอกอากาศช่วยก็จะดี และออกกำลังกายในบ้าน งดกิจกรรมออกกำลังกายกลางแจ้งที่ทำให้หายใจลึกและแรง ส่วนการแต่งกายที่เหมาะสมเมื่อต้องออกนอกบ้าน แนะนำสวมเสื้อผ้าร่มกันลม เพราะเหงื่อจะทำให้ซึมซับมลพิษเข้าไปในร่างกายมากขึ้น

หน้ากากอนามัยใส่กระดาษทิชชู 2 ชั้น กรองฝุ่น PM 2.5 ได้ถึง 91%

งานวิจัยอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใช้หน้ากากอนามัยทับด้วยทิชชู่ 2 ชั้น ประสิทธิภาพ 91%

สำหรับวิธีป้องกันไม่ให้ฝุ่นทุก ๆ ประเภทเข้าสู่ร่างกายของเรา โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย ที่แนบสนิทกับใบหน้าและต้องหมั่นเปลี่ยนบ่อย ๆ ใช้ 2-3 ครั้งก็ควรเปลี่ยน อาจจะไม่ต้องใช้หน้ากาก N 95 ซึ่งเป็นหน้ากากที่ใช้ป้องกันในโรงงาน แต่หากจะสวมใส่ต้องไม่นานและต้องฝึกการหายใจ หากอยู่ในอาคาร ควรพิจารณาจากอาคารนั้นปิดทึบไว้มากน้อยเพียงใด มีเครื่องกรองหรือระบบกรองอากาศร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าเป็นอาคารเปิดโล่งควรสวมใส่เช่นกันตามคำแนะนำจากงานวิจัยของ ศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ และดร.ขนิษฐา พันธุรี จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่แนะนำว่าสิ่งที่สามารถทดแทนหน้ากาก N95 ได้ คือ

  • หน้ากากอนามัยใส่กระดาษทิชชู 2 ชั้น สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ถึง 91%
  • หน้ากากอนามัยใส่ผ้าเช็ดหน้า กรองฝุ่นได้ 50%
  • ผ้าเช็ดหน้าอย่างเดียว กรองฝุ่นได้ 50%
  • หน้ากากอนามัยอย่างเดียว กรองฝุ่นได้ 48%
  • หน้ากากผ้า กรองฝุ่นได้ 12%

ที่มา :  วารสาร Engineering Today  ปีที่ 17 ฉบับที่ 169   มกราคม -กุมภาพันธ์ 2562


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save