พอดีคำ ร่วมกับคณะวิศวฯ มหิดล พัฒนา “จับใจ บอท (Jubjai Bot)” ระบบหุ่นยนต์ AI ช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารายแรกของไทย


พอดีคำ ร่วมกับคณะวิศวฯ มหิดล พัฒนา “จับใจ บอท (Jubjai Bot)” ระบบหุ่นยนต์ AI ช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารายแรกของไทย

บริษัท พอดีคำ ดอทเอไอ จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพสายเฮลท์เทค ร่วมด้วย ดร.ยงยศ แก้วพิทักษ์คุณ Co-Founder ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, และ พณิดา โยมะบุตร นักจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพจิต คิดค้น “จับใจ บอท (Jubjai Bot)” ระบบหุ่นยนต์ AI (Artificial Intelligence) เพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า รายแรกของประเทศไทย ที่สามารถช่วยคัดกรองและประเมินสภาวะซึมเศร้าเบื้องต้น เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มป่วยซึมเศร้าหรือไม่ และหากพบว่ามีอาการซึมเศร้ามากก็ช่วยให้ผู้ใช้ตัดสินใจไปพบแพทย์ได้เร็วมากขึ้น

ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี

ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี นักวิจัยและอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “จับใจ บอท (Jubjai Bot)” เป็น AI คัดกรองภาวะซึมเศร้า ถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคิดที่ต้องการให้วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ วัยทำงานและทุกเพศวัย สามารถใช้งานได้ง่าย สะดวก และลดขั้นตอนใช้งานให้น้อยที่สุด มาเป็นแชทบอท บนสื่อโซเชียล Facebook Messenger โดยได้พัฒนาสร้างรูปแบบการสนทนาให้มีความเป็นกันเองและเข้าใจง่าย ผู้ใช้รู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับจับใจ บอท ปัจจุบันฟังก์ชั่นจับใจ บอท มี 2 ฟังก์ชั่น ได้แก่ 1. ประเมินระดับความซึมเศร้าภายในจิตใจ ผู้ใช้จะพูดคุยตามโปรแกรมบทสนทนาที่เตรียมไว้ ซึ่งออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจะมีทั้งคำถามปลายเปิด มีการเล่นเกมตอบคำถาม และภายหลังจากการพูดคุย จะใช้ระบบ AI ประมวลผลคำตอบทั้งหมด ก่อนจะสรุปเป็นคะแนนระดับความซึมเศร้าในจิตใจและให้คำแนะนำสำหรับแต่ละช่วงระดับคะแนน ซึ่งได้ทำการวิจัยผลที่ได้จากจับใจ บอท ว่ามีความใกล้เคียงกับผลที่ได้จากการประเมินด้วยแบบประเมินสภาวะซึมเศร้ามาตรฐาน ช่วยสร้างความมั่นใจความถูกต้องได้ 2. การพูดคุยเล่น (Chitchat) ผู้ใช้จะสามารถพูดคุยกับ จับใจ บอท ในหัวข้อทั่วไป ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกผ่อนคลาย แก้เหงา และมีเพื่อนพูดคุยในเวลาที่ต้องการได้ โดยในอนาคตมีแผนการที่จะพัฒนาฟังก์ชั่นให้สามารถประเมินหาสภาวะซึมเศร้าจากประวัติพฤติกรรมการสนทนา แจ้งเตือนผู้ใช้งานทราบอาการของโรคซึมเศร้าตั้งแต่แรก (Proactive Alert)

ดร.ยงยศ แก้วพิทักษ์คุณ

ดร.ยงยศ แก้วพิทักษ์คุณ Co-Founder บริษัท พอดีคำ ดอทเอไอ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้ทั้งคนรุ่นใหม่และทุกเพศวัยเข้ามาพูดคุยกับ Jubjai Bot แล้วกว่า 110,000 ราย โดยวิธีใช้งาน ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปใช้งานโดยค้นหาคำว่า จับใจ บอท หรือJubjai Bot ในช่องค้นหาของแอพพลิเคชั่น Facebook หลังจากเข้ามาที่หน้าเพจจับใจ บอทแล้ว ก็สามารถกดปุ่ม “ส่งข้อความ” เพื่อทำการเริ่มคุยได้ทันที

ประโยชน์ของจับใจ บอทคือ เป็นแชทบอทระบบสนทนาอัตโนมัติ สามารถใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา ใช้งานฟรี และมีความเป็นส่วนตัวสูง ทำให้ผู้ใช้สามารถประเมินสภาวะซึมเศร้าได้ด้วยตนเองและเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีจุดเด่น คือเป็นแชทบอทแรกในประเทศไทยที่เน้นไปที่การประเมินสภาวะทางอารมณ์ของผู้ใช้ ควบคู่ไปกับเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งต่างจากแชทบอททั่วไปที่ไม่ได้เน้นเกี่ยวกับจิตใจ

พณิดา โยมะบุตร

ด้านพณิดา โยมะบุตร หนึ่งในทีมวิจัย นักจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคซึมเศร้า เป็นความเจ็บป่วยทางอารมณ์ แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ 1. Major Depressive Disorder คือ โรคซึมเศร้าแบบที่มีอาการรุนแรงต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ขึ้นไป มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างชัดเจน 2. Dysthymia คือ มีความเศร้าไม่รุนแรง แต่มีระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน รบกวนการดำเนินชีวิตพอประมาณ และ3. Bipolar Disorder ในช่วงที่มีช่วงอารมณ์ซึมเศร้าเป็นอาการหลัก ซึ่งอาการเหล่านี้ต้องให้จิตแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย การรักษาโรคซึมเศร้าจะต้องรักษาทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านอารมณ์ ด้านความคิด และด้านร่างกาย (การเสียสมดุลของสารเคมีในสมอง)

การรักษาจะต้องทำให้ครอบคลุมทุกด้าน จะมีการใช้ยาในการรักษาด้วย เพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอาการผิดปกติในการทำงานของสารเคมีในสมอง ส่วนการรักษาทางด้านความคิดและการจัดการอารมณ์ จะใช้การทำจิตบำบัด ใช้การพูดคุยตามหลักการทางจิตวิทยา นอกจากนี้ความเข้าใจ ใส่ใจ และการเป็นผู้ฟังที่ดีของคนรอบข้าง เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผู้ป่วยซึมเศร้าได้
สำหรับบทบาทของนักจิตวิทยาในการดูแลผู้ป่วยซึมเศร้านั้น จะเริ่มตั้งแต่การประเมิน โดยแบบประเมินมาตรฐานทางจิตวิทยาคลินิก และการบำบัดรักษาทางจิตสังคม ใช้การพูดคุยหรือการทำจิตบำบัด เพื่อประคับประคองอารมณ์ ปรับกระบวนการคิด มุมมอง และสร้างทักษะการจัดการกับอารมณ์และปัญหา ซึ่งจับใจ บอทนี้ ถือเป็นเครื่องมือที่นอกจากจะเอื้อให้บุคคลทั่วไปสามารถประเมินภาวะซึมเศร้าของตนเองได้แล้ว ผู้ป่วยที่รับการรักษาอยู่ ยังสามารถใช้แชทบอทนี้ ประเมินความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอารมณ์ตนเอง เพื่อนำไปให้ข้อมูลแก่ผู้รักษาหรือนักจิตวิทยาของตนได้อีกด้วย

ล่าสุดนวัตกรรม “จับใจ บอท (Jubjai Bot) ” สามารถคว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีพ.ศ. 2563 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในเวทีโลก โดยได้รับความชื่นชมจาก 30 ประเทศ ที่เข้าร่วมงานประชุมนานาชาติ Technology Mind & Society ซึ่งจัดโดย American Psychological Association ในรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกด้วย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save