“น้ำ” มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเมื่อพูดถึงพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ อย่างโครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ในระยะยาว การสร้างความมั่นคงในการใช้ทรัพยากรของน้ำในพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ท่ามกลางวิกฤตภัยแล้ง และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นในทุกปี การหาแหล่งน้ำเพิ่มทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินอาจไม่เพียงพอ การลดอัตราการใช้น้ำคาดการณ์ในพื้นที่ EEC จึงเป็นเป้าหมายของ “แผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC” ภายใต้ยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม การบริหารจัดการน้ำ
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงาน กล่าวถึงแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายว่า เป็นรูปแบบทุนวิจัยและการบริหารจัดการงานวิจัยแบบใหม่ที่ออกแบบบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในทุกระดับ เพื่อให้มีข้อมูล เกิดการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างกลไกการใช้น้ำที่เป็นธรรม และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างประหยัด
โดยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์คือ ลดค่าเฉลี่ยปริมาณการใช้น้ำในทุกภาคส่วนทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือนลงร้อยละ 15 และเพิ่มปริมาณน้ำให้เขื่อนหรือแหล่งน้ำต้นทุนให้ได้ประมาณ 85% จากเดิม 65% ภายในระยะเวลาวิจัย 3 ปี และมีการพัฒนาเซ็นเซอร์ รวมถึงการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ขณะนี้ได้นำร่องการดำเนินงานแล้วในพื้นที่โครงการท่อส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) สำนักงานชลประทานที่ 4 จังหวัดกำแพงเพชร และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
EEC ใช้น้ำปีละ 800 ล้านคิว คาดในอนาคตเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 ล้านคิว
รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในฐานะหัวหน้ากลุ่มวิจัยแผนงานการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC กล่าวว่า การศึกษาและวิเคราะห์สมดุลน้ำในพื้นที่ EEC มีนักวิจัยร่วมกันทำงานเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเมื่อการพัฒนา EEC เกิดขึ้นเต็มตัวจำเป็นต้องใช้น้ำในปริมาณที่มาก จึงมีแผนศึกษา วิเคราะห์สมดุลน้ำในพื้นที่ EEC ในปัจจุบันและอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2561-2580) ศึกษาอุปสงค์และอุปทาน ศึกษาการใช้น้ำที่แท้จริงของภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งหาแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อลดการใช้น้ำใน 4 ภาคส่วนหลัก คือ ภาคการเกษตร ภาคอุปโภคบริโภค ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม เน้นการศึกษาใน 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.การประเมินการใช้น้ำ วิเคราะห์สมดุลน้ำในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งหาแนวทางการใช้น้ำต้นทุนทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ร่วมกัน และ2.คาดการณ์การใช้น้ำของภาคส่วนต่างๆ และแนวทางการลดการใช้น้ำด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เช่นการบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ไม่แพง
“ ปัจจุบันใน EEC มีการใช้น้ำเฉพาะภาคอุปโภคบริโภคร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประมาณ 800 ล้าน ลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่ East Water ส่งน้ำให้อยู่เฉลี่ยประมาณ 300-400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ยังขาดอยู่กว่าครึ่ง แนวโน้มคาดว่าในอนาคตความต้องการน้ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จากข้อมูลของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ปริมาณน้ำต้นทุนของภาคตะวันออกมีอยู่ประมาณ 2,539 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ตอนนี้เราใช้กันอยู่ 2,419 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงสูง เพราะต้องอาศัยน้ำจากลุ่มน้ำข้างเคียง โดยเฉพาะฉะเชิงเทรา ซึ่งในปีปกติจะได้รับการผันน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำย่อยคลองวังโตนดประมาณ 597 ล้าน ลบ.ม. แต่ในปีแล้งเช่นปีพ.ศ.2563 นี้ การผันน้ำดังกล่าวมีปริมาณน้อยมาก ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง นอกจากนี้ปริมาณน้ำต้นทุนจะมีความแปรปรวนสูงขึ้นอีกจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจะทำให้ฝนตกลดน้อยลงประมาณ 10 – 30 มิลลิเมตรในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลทำให้น้ำท่าลดลดลง สถานการณ์น้ำที่น้อยลงก็ยิ่งจะมีความรุนแรงขึ้นจึงค่อนข้างน่ากังวล” รศ.ดร.บัญชา กล่าว
เฉพาะชลบุรีเพียงจังหวัดเดียว ใช้น้ำมากเกือบ 200 ล้านคิว
จากผลการศึกษาในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า การใช้น้ำใน 3 จังหวัด มีความแตกต่างกันในด้านโครงสร้าง โดยเฉพาะชลบุรีเพียงจังหวัดเดียว มีการใช้น้ำมากถึงเกือบ 200 ล้าน ลบ.ม.แบ่งเป็นการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ร้อยละ 31 , ภาคเกษตร ร้อยละ 25 และภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 43 แต่ทั้งนี้โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรี ใช้น้ำจาก East Water ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปีพ.ศ. 2561 อยู่ที่ 35 ล้าน ลบ.ม. เทียบกับปีพ.ศ. 2558 อยู่ที่ 83 ล้าน ลบ.ม. จะเห็นว่าโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการพัฒนาบ่อสำรองน้ำของตนเองและมีระบบ 3R คือ มีน้ำใช้เองจากการบำบัดน้ำเสียหมุนเวียนกลับมาใช้ซ้ำใหม่สามารถลดการใช้น้ำหรือประหยัดน้ำได้ร้อยละ 15 – 40 แต่การใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งในเชิงการท่องเที่ยว พาณิชยกรรม และที่อยู่อาศัย ประเภทเกสเฮ้าท์ หรือธุรกิจบ้านเช่า ยังอยู่ในระดับสูง
“ถึงแม้การท่องเที่ยวจะซบเซาแต่การใช้น้ำส่วนนี้กลับลดลงน้อยมากหรือแทบไม่ลดลง จึงมองว่าต้องใช้มาตรการลดการใช้ในภาคอุปโภคบริโภคและบริการอย่างเร่งด่วน ร่วมกับมาตรการทางด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย พร้อมเสนอให้ชลบุรีเป็น Smart and Eco City เป็นเมืองศูนย์กลางเทคโนโลยีบวกความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ประหยัดทรัพยากรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” รศ.ดร.บัญชา กล่าว
ชี้ภาคอุตสาหกรรมในระยองใช้น้ำมากที่สุด มากกว่า 59% ของการใช้น้ำทั้งจังหวัด
ขณะที่จังหวัดระยอง มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน รวมประชากรแฝงแล้ว แต่มีการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมมากที่สุดกว่า 59% ของการใช้น้ำทั้งจังหวัด เนื่องจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกกว่า 60% อยู่ที่นี่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก จากข้อมูลการใช้น้ำของบริษัทจัดการน้ำภาคเอกชน พบว่า มีการใช้น้ำในระบบถึง 175 ล้าน ลบ.ม./ปี ใช้น้ำใต้ดินอีกกว่า 20 ล้าน ลบ.ม./ปี รวมใช้น้ำเฉพาะภาคอุตสาหกรรมประมาณ 203 ล้าน ลบ.ม./ปี ขณะที่ภาคการเกษตร รวมทั้งภาคอุปโภคบริโภคและท่องเที่ยว มีการใช้น้ำน้อยกว่าคือ ร้อยละ 28 และร้อยละ 13 ตามลำดับ
“สาเหตุที่ระยองมีปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างมาก เพราะภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีโรงงานนอกนิคมอุตสาหกรรมอีกกว่า 1,698 แห่ง ทั้งมีโรงงานขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก แม้ว่าในพื้นที่จังหวัดระยองจะมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำประแสร์ และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล แต่ปีนี้ต้องถือว่าวิกฤตที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ซึ่งทั้งสองอ่างน้ำหายไป 100 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณน้ำสำหรับ 3 เดือนหายไป ฉะนั้น ทิศทางในครึ่งปีหลังจึงเสนอว่า จำเป็นต้องมีการผลักดันให้ลดการใช้น้ำโดยด่วน อาจจะไม่ได้ไปช่วยนิคมอุตสาหกรรมหรือโรงงานโดยตรง แต่ต้องให้ความรู้เรื่องเทคนิค เนื่องจากระยองมีแหล่งน้ำสำรองและการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่น้อย จึงต้องเร่งให้ภาคอุตสาหกรรมลดการใช้น้ำผ่านระบบ 3R อย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม โดยการศึกษาจากนี้ไปจะมุ่งเน้นไปที่ระยองให้มากขึ้น” รศ.ดร.บัญชา กล่าว
ฉะเชิงเทราใช้น้ำเพื่อการเกษตรกว่า 85%
ด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา กว่าร้อยละ 85 เป็นการใช้น้ำเพื่อการเกษตร จึงควรลดการใช้น้ำเพื่อการเกษตรลงเนื่องจากปัจจุบันมีการใช้น้ำเกินศักยภาพ เพราะต้องพึ่งพาน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียงคือที่จงหวัดจันทรบุรี ปราจีนบุรี และผันน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะที่มีการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรม เพียงแค่ร้อยละ 11 จะให้ลดการใช้น้ำลงอีกคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
รศ.ดร.บัญชา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้นไม่สำคัญเท่าความแปรปรวน (Climate Variation) ซึ่งจะส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำฝน เช่นในปีนี้ที่สภาพอากาศแปรปรวนอย่างมาก ฉะนั้นภาคส่วนจะต้องปรับตัวอย่างจริงจัง โดยที่นักวิจัยจะนำองค์ความรู้ไปให้กับคนในชุมชน หรือนำผู้เชี่ยวชาญลงไปให้คำแนะนำ แต่เราต้องทำเหมือนเราแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเรามาช่วย
ชี้สมดุลน้ำเปลี่ยนหากโค่นต้นยางพารา หันมาปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น
อีกประเด็นซึ่งเป็นเกิดเป็นข้อขัดแย้งอย่างมากบนพื้นที่ EEC และบริเวณใกล้เคียงคือ ภาคเกษตร เพราะแม้ภาคอุตสาหกรรมจะเป็นธงนำบนพื้นที่ EEC แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิถีชาวสวนคือเสน่ห์ของภูมิภาคตะวันออก อีกทั้งการเป็นมหานครผลไม้โลก ยังอยู่ในยุทธศาสตร์ประเทศ ที่สามารถเชื่อมโยงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
ในเรื่องนี้ ดร.ทรงศักดิ์ ภัทราวุฒิชัย หัวหน้าโครงการ “ศึกษาปริมาณความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” กล่าวว่า เกษตรกรจะต้องรู้ว่า จริงๆ แล้วพืชต้องการน้ำเท่าใด เพราะน้ำเริ่มหายาก แต่การจะไปบอกให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมการรดน้ำที่เคยทำมาคงไม่ได้ ดีที่สุดคือต้องมีข้อมูลไปบอก เบื้องต้นจึงได้ทดลองนำร่องการศึกษาความต้องการน้ำในพืช“ทุเรียน” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจและยังเป็นอีกตัวแปรสำคัญในการกำหนดสมดุลน้ำของคนในภูมิภาคนี้
ทุเรียน 1 ต้น ใช้น้ำมากถึง 200 ลิตรต่อวัน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการขอความร่วมมือจากชาวสวนทุเรียน ใช้พื้นที่ 10 ไร่ทดลองลดการใช้น้ำลงเหลือ 100 ลิตรต่อต้นต่อวัน โดยผลผลิตยังคงคุณภาพและปริมาณเหมือนเดิม
“ ที่น่าเป็นห่วงคือ ขณะนี้เรามีทุเรียนที่ปลูกอยู่นอกเขตชลประทานมากกว่า 300,000 ไร่ และที่ปลูกในเขตชลประทานกว่า 40,000 ไร่ สถานการณ์ดังกล่าวแน่นอนว่า สมดุลน้ำเปลี่ยนแน่หากมีการโค่นต้นยางพาราเปลี่ยนมาปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้นยิ่งส่งผลต่อการใช้น้ำในพื้นที่มากยิ่งขึ้น เพราะยางพาราอาศัยน้ำฝน ขณะที่ทุเรียนใช้น้ำมากถึง 200 ลิตรต่อต้นต่อวัน” ดร.ทรงศักดิ์ กล่าว
นำน้ำทิ้งมาบำบัดใช้อีกครั้ง พร้อมนำเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์ใช้
ด้านภาคอุตสาหกรรม พรรรัตน์ เพชรภักดี ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ในฐานะหัวหน้าโครงการ“การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC” กล่าวว่า หลักการบริหารจัดการน้ำต้องเริ่มต้นที่ตัวของนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานเองก่อน ต้องทราบถึงอุปสงค์และอุปทานในพื้นที่ของตนเอง โดยวิธีการบริหารจัดการจะต้องตั้งโจทย์อยู่บนสถานการณ์ที่วิกฤตที่สุด และเริ่มปรับตัวโดยใช้หลักของ 3R (Reuse Reduce Recycle) โดยเฉพาะการรีไซเคิล โดยนำน้ำทิ้งมาบำบัดใช้อีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาน้ำส่วนนี้ถือเป็นการสูญเสียที่ไม่ได้ประโยชน์ รวมทั้งนำระบบ IoT (Internet of Things) เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็วและแม่นยำในการบริหารจัดการน้ำมากยิ่งขึ้น
“การนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่เป็นสิ่งที่ทุกนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยสามารถทำได้ แต่สิ่งที่เป็นตัวอย่างของนิคมอุตสาหกรรมคือ การติดเซ็นเซอร์เพื่อมอนิเตอร์สถานการณ์ของน้ำดิบภายในนิคมแบบเรียลไทม์ว่าน้ำดิบเข้าเป็นอย่างไร คุณภาพน้ำเป็นอย่างไร เป็นการใส่เทคโนโลยีเข้าไปเพื่อลดต้นทุน ลดการใช้สารเคมี ฯลฯ” พรรรัตน์ กล่าว
เผยซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ หนึ่งในโรงงานต้นแบบ นำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่
ขณะเดียวกันต้องมีการขยายผลไปยังชุมชนโดยรอบด้วย นั่นคือ นิคมฯ ต้องมีองค์ความรู้ด้วย เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำวิธีการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต้องทำอย่างไรบ้าง อย่าง ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ จังหวัดชลบุรี มี บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นหนึ่งในโรงงานต้นแบบของโครงการ เรื่องการกำจัดน้ำทิ้ง ซึ่งนำน้ำทิ้งที่ออกจากระบบน้ำเสียส่วนกลางแล้วนำกลับมาใช้ใหม่
“ฉะนั้นโมเดลของนิคมฯ ไม่ได้ทำเสร็จอยู่แค่ในรั้วของนิคมฯ แต่ต้องทำขยายจากรั้วนิคมไปยังชุมชนโดยรอบ นั่นคือบอกชุมชนให้รู้ว่า น้ำทิ้งออกไปมีคุณค่าแบบไหน เอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง และไปทำโปรเจ็กร่วมกับชุมชน เราต้องสร้างจิตสำนึกร่วมกันว่าเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนต้องร่วมรับผิดชอบเพื่อจะเดินไปด้วยกันและใช้ประโยชน์ร่วมกันให้ได้” พรรรัตน์ กล่าวย้ำ
“เรื่องน้ำ ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับ EEC เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรมการใช้น้ำที่คนส่วนใหญ่ยังคงใช้น้ำกันแบบไม่ประหยัดขณะที่น้ำมีจำกัด จึงอยากให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคปรับตัว ลดการใช้น้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้มากขึ้น และภาครัฐควรหันมาให้ความสำคัญเรื่อง Demand Side หรือ ความต้องการน้ำ มากกว่า Supply Side ซึ่งมองว่าสุดท้ายจะแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด เพราะปัจจุบัน ปัญหาคือไม่มีน้ำให้เก็บ เช่นปีที่แล้งจัด แต่กลับให้สร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ แต่ก็ไม่มีน้ำให้เก็บ” รศ.ดร.บัญชา กล่าวทิ้งท้าย