กรุงเทพฯ: กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP) ร่วมกับ บก.ปอศ. และบีเอสเอ เดินหน้ารณรงค์ส่งเสริมการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเน้นรณรงค์ส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์แท้ พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพรองรับการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์บนสื่อดิจิทัล ด้านบก.ปอศ. เร่งลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ หลังพบจำนวนองค์กรธุรกิจละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เพิ่มมากขึ้นในปี 2562 ย้ำผู้บริหารองค์กรมีหน้าที่ต้องกำกับดูแลการใช้งานซอฟต์แวร์ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง หวังเห็นอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงเร็วสุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน
ชี้ปี’62 ไทยโดนเพ่งเล็งเรื่องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ จัดทำคู่มือจัดซื้อลิขสิทธิ์ภาครัฐ – แก้กม.รองรับ WCT
นุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า อันดับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองต์กรกลุ่มธุรกิจประเทศอาเซียน ประจำปี 2561 ถือว่าไทยยังดีกว่า ประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ในปีพ.ศ.2562 ไทยถูกจับตามอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ด้วยเหตุนี้ภาครัฐต้องการให้ลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลง 1-3% โดยออกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2562 ที่ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานพิจารณากลั่นกรองการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้วยความรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขานรับโดยได้ริเริ่มจัดทำคู่มือการจัดซื้อ/จัดหาซอฟต์แวร์เพื่อเป็นแนวทางให้แก่หน่วยงานภาครัฐในการดำเนินการให้เป็นไปตามมติครม. ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำออกเผยแพร่ได้ในไม่ช้า
พร้อมกันนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ให้มีความทันสมัย ภายใต้ชื่อร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับที่ พ.ศ……คาดว่ากฎหมายน่าจะเสร็จในปีนี้เพื่อให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ( WIPO Copyright Treaty : WCT) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์บนสื่อดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต รวมถึงปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในการแจ้งเตือนการละเมิดลิขสิทธิ์และนำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบ หรือที่เรียกว่า ระบบ Notice and Takedown ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการทั้งหมดนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ IT Base ดีขึ้น ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้าและนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ
“กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้าและนักลงทุน รวมถึงเพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่มุ่งขับเคลื่อนสู่ Thailand 4.0 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นสำคัญ โดยการส่งเสริมการใช้และปกป้องคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างเหมาะสมถือเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะช่วยผลักดันนโยบายดังกล่าว และพร้อมที่จะเดินหน้าผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นต่อไป” นุสรา กล่าว
เผยปี’62 คดีเพิ่ม 18.3% แต่มูลค่าความเสียหายลดลงเกือบ 200 ล้านบาท
พ.ต.อ.คธาธร คำเที่ยง รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์กับองค์กรธุรกิจในปีพ.ศ.2562 ว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 469 คดี เพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ.2561 ที่มีเพียง 395 คดี คิดเป็น 18.3% แต่พบว่ามูลค่าการละเมิดฯ ในปีพ.ศ.2562 มากกว่า 464 ล้านบาท ลดลงจากในปีพ.ศ.2561 ที่มีมูลค่าถึง 661 ล้านบาท ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะบริษัทที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์รายใหญ่ไม่ได้แจ้งเบาะแสมา
สำหรับองค์กรธุรกิจที่ถูกดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต คิดเป็น 48% เช่น การทำชิ้นงาน 3 มิติ ตามด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 17% ออกแบบและตกแต่งภายใน 16% ธุรกิจบริการ ให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรม 10% และ อื่นๆ เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง 9% โดยในปีพ.ศ.2562 ตรวจพบการติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (License) บนคอมพิวเตอร์ จำนวน 2,792 เครื่อง ลดลงจากในปีพ.ศ.2561 ที่มีจำนวน 4,431 เครื่อง อีกทั้งยังพบว่าบางรายเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง แต่มีการติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบนคอมพิวเตอร์ถึง 100 เครื่อง โดย 30% ขององค์กรธุรกิจที่ถูกดำเนินคดีในปีพ.ศ.2562 มีสินทรัพย์มากกว่า 100 ล้านบาท
ประเภทของซอฟต์แวร์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์สูง ได้แก่ ซอฟต์แวร์ออกแบบเขียนแบบที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต, ซอฟต์แวร์ออกแบบเขียนแบบด้านสถาปัตยกรรม, ซอฟต์แวร์ออกแบบเขียนแบบด้านวิศวกรรม และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในสำนักงานนอกจากนี้องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีฯ มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งธุรกิจสำคัญ รวมถึงจังหวัดที่มีพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรม เช่น กรุงเทพฯ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ตามด้วยชลบุรี นนทบุรี ระยอง และสมุทรสาคร
ปี’63 คุมเข้มลิขสิทธิ์ หวังลดอัตราการละเมิดในไทยให้เร็วที่สุด
พ.ต.อ.คธารธร กล่าวว่า ในปีพ.ศ.2563 เจ้าหน้าที่ฯ จะเพิ่มการสื่อสารข้อมูลกับองค์กรธุรกิจในเรื่องความเสี่ยงจากการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายกับองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยให้ได้เร็วที่สุด นับจากปีพ.ศ. 2562 มาจนถึงขณะนี้ มีผู้แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจเข้ามาจำนวนมากกว่า 100 ราย โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่มีการแจ้งเบาะแสเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ฯ อยู่ในระหว่างการตรวจสอบและสืบสวนเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการต่อไป
“ปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเทคนิคจากผู้เสียหายในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ทำให้การตรวจสอบดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น โดย บก.ปอศ. ตั้งเป้าหมายว่าจะเห็นอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงโดยเฉลี่ย มากกว่า 3% ต่อปี และลดลงเร็วสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน” พ.ต.อ.คธารธร กล่าว
10 ปี อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไทยลดลง 10% เฉลี่ยลดลงปีละ 1-3%
ดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บีเอสเอ I พันธมิตรซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) องค์กรที่รณรงค์ส่งเสริมการใช้งานซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวว่า ในปีพ.ศ.2550 อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ที่ 66% ขณะที่ทั่วโลกมีอัตรา 37% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไทยลดลง 10% เฉลี่ยลดลงปีละ 1-3% ซึ่งถือเป็นสัญญาณอัตราการลดที่ดี เมื่อเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีข้อจำกัดในการลด โดยเฉพาะลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บีเอสเอเห็นว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่จะทำให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงได้อย่างรวดเร็ว คือความร่วมมือจากผู้บริหารองค์กรในการกำกับดูแลการใช้งานซอฟต์แวร์ให้เป็นอย่างถูกต้อง การเพิ่มทักษะของเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศในเรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ในระดับสากล รวมถึงการนำเรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การบริหารองค์กร
เตือนองค์กรธุรกิจที่ยังใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย เสี่ยงถูกโจมตีทางไซเบอร์ – ธุรกิจขาดความเชื่อมั่น
วารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้จัดการประจำประเทศไทยของบีเอสเอ I พันธมิตรซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) เผยว่า จากปี 2561 บีเอสเอยังคงสำรวจการใช้งานซอฟต์แวร์ขององค์กรอย่างต่อเนื่อง พบกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยยังมีการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และใช้งานซอฟต์แวร์ไม่ถูกต้องตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ในขณะเดียวกันพบแนวโน้มการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพิ่มสูงขึ้นในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่อาจ Outsource งานให้ SME
เป็นที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยี Cloud, IoT (Internet of Things) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจดิจิทัล หากองค์กรไม่ให้ความสำคัญ Software Asset Management (SAM) และไม่จัดการให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะเกิดความเสี่ยงในการเกิด Cyber Attack ในรูปมัลแวร์และไวรัสได้
“องค์กรธุรกิจที่ใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือใช้ไม่ถูกต้องตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ส่วนใหญ่ยังไม่มีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ หรือมีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่ไม่ดีพอเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล และขาดการบูรณาการเข้ากับกลยุทธ์ด้านการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security) ทำให้องค์กรธุรกิจเหล่านี้มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อาจทำให้ความลับทางการค้าและข้อมูลสำคัญรั่วไหล คู่ค้าหรือนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจด้วย และอาจเลือกลงทุนกับองค์กรธุรกิจที่ใช้งานซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องในประเทศอื่นในอาเซียน” วารุณี กล่าว