กรุงเทพฯ – 15 สิงหาคม 2562 : สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลการติดตามประเมินผลแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2560-2564 ระยะครึ่งแผน เพื่อเผยแพร่ (ร่าง) รายงานการติดตามประเมินผลแผนปฏิบัติการฯ พ.ศ. 2560-2564 ระยะครึ่งแผน รวมทั้งความก้าวหน้าการดำเนินงานการขับเคลื่อนแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2564 ตามเป้าหมายระดับชาติ พร้อมรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ และร่วมเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติในอนาคตต่อไป
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2564 ซึ่งเป็นแผนหลักในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศและเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จำนวน 25 เป้าหมาย โดยผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อน และติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามได้จัดทำแผนปฏิบัติการฯ เพื่อรองรับและขับเคลื่อนแผนแม่บทดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้ถ่ายทอดยุทธศาสตร์ และมาตรการตามแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับนโยบายและทิศทางการพัฒนา ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และระดับชาติ
เบญจมาส โชติทอง หัวหน้าโครงการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ในระยะครึ่งแผน ในปีพ.ศ.2562 โดยภาพรวมพบว่ามี 1 เป้าหมายที่มีความก้าวหน้าในระดับเกินเป้าหมายหรือบรรลุเป้าหมายได้ก่อนเวลาที่กำหนด ได้แก่ เป้าหมาย 12 ประเด็นการควบคุมมลพิษให้อยู่ในระดับที่ไม่เสียหายต่อบทบาทหน้าที่ของระบบนิเวศและต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และมี 13 เป้าหมาย ที่มีระดับบรรลุเป้าหมายได้ภายในเวลาที่กำหนด อาทิ เป้าหมายที่ 5 ประเด็นกฎระเบียบ ข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการแก้ไข เป้าหมายที่ 6 ประเด็นมีการขับเคลื่อนการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพโดยการมีส่วนร่วมในทุกระดับ เป็นต้น และมี 11 เป้าหมายที่อยู่ในระดับมีความก้าวหน้า อาทิ เป้าหมายที่2 เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการผนวกไว้ในหลักสูตรของสถานศึกษาและสถาบันการศึกษาทุกระดับ เป้าหมายที่ 3 เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการผนวกไว้ในนโยบายหรือแผนที่เกี่ยวข้องทุกระดับ เป็นต้น และไม่พบเป้าหมายที่ไม่มีความก้าวหน้าและมีแนวโน้มตรงกันข้ามกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
“จะเห็นได้ว่าการประเมินผลโดยรวมมีความก้าวหน้าอยู่ในระดับ 4 ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการริเริ่มหรือปรับเปลี่ยนกลไกและมาตรการต่าง ๆ และควรให้ความสำคัญกับประเด็นที่มีความก้าวหน้าและเร่งดำเนินการให้กว้างขวางให้มากยิ่งขึ้นในระยะของแผน 2 ปีหลัง (พ.ศ.2563-2564)” เบญจมาศ กล่าว
ยุทธศาสตร์ที่ 2 อนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพมีการดำเนินงานมากที่สุด
วาสิฐี แก้วจุลลา ผู้ช่วยนักวิจัย มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ในภาพรวมหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการดำเนินงานแผนงาน/โครงการที่มีความสอดคล้องตามแผนปฏิบัติการฯ ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2562 ทั้งสิ้น 821 แผนงาน/โครงการ และมีการใช้จ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 4,471 ล้านบาท โดยสรุปยุทธศาสตร์ที่มีหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินงานจากมากไปหาน้อย ได้ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่มีการดำเนินงานมากที่สุด ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 2 อนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีการดำเนินงานแผนงาน/โครงการ คิดเป็นร้อยละ 41.41 ของแผนงาน/โครงการทั้งหมด และมีการใช้จ่ายงบประมาณมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 60.47 ของงบประมาณที่มีการใช้จ่ายทั้งหมด โดยมาตรการที่มีการดำเนินงานมากที่สุด 2 ลำดับแรก ได้แก่ มาตรการอนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชเกษตร ปศุสัตว์ สัตว์น้ำ สัตว์เลี้ยง สายพันธุ์ป่าและพื้นเมือง จุลินทรีย์ รวมถึงชนิดพันธุ์อื่นที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และนิเวศวิทยา และมาตรการลดอัตราการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศเสื่อมโทรมให้สามารถดำรงไว้ซึ่งความสามารถในการให้บริการทางนิเวศ เพื่อรองรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย
เนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นภารกิจโดยตรงของหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากร รวมถึงในหน่วยงานภาครัฐส่วนกลางภายใต้กระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง และภาคส่วนอื่นที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ หรือมีการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานแผนงาน/โครงการที่มีความสอดคล้องตรงกับภารกิจของหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรเช่นเดียวกัน
ยุทธศาสตร์ที่มีการดำเนินงานลำดับที่ 2
ยุทธศาสตร์ที่มีการดำเนินงานเป็นลำดับที่ 2 ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 บูรณาการคุณค่าและการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพโดยการมีส่วนร่วมในทุกระดับ ซึ่งมีการดำเนินงานแผนงาน/โครงการ คิดเป็นร้อยละ 32.64 ของแผนงาน/โครงการทั้งหมด และมีการใช้จ่ายงบประมาณ คิดเป็นร้อยละ 17.25 ของงบประมาณที่มีการใช้จ่ายทั้งหมด โดยมาตรการที่มีการดำเนินงานมากที่สุด 2 ลำดับแรก ได้แก่ มาตรการสร้างความตระหนักและให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และมาตรการการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชุนและภาคส่วนต่าง ๆ ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
เนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์ด้านการเสริมสร้างความตระหนักและให้ความรู้ และการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้สอดคล้องและเป็นไปตามภารกิจโดยตรงของหลายหน่วยงาน เช่น ภาครัฐส่วนกลาง ภาครัฐส่วนภูมิภาค ภาคการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น จึงทำให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานแผนงาน/โครงการที่มีความสอดคล้องตรงกับภารกิจของหน่วยงานมากเป็นลำดับที่ 2
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาองค์ความรู้และระบบฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เป็นมาตรฐานสากลดำเนินงานอันดับที่ 3
ยุทธศาสตร์ที่มีการดำเนินงานเป็นอันดับที่ 3 ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาองค์ความรู้และระบบฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งมีการดำเนินงานแผนงาน/โครงการ คิดเป็นร้อยละ 16.08 ของแผนงาน/โครงการทั้งหมด และมีการใช้จ่ายงบประมาณเป็นลำดับที่ 3คิดเป็นร้อยละ 14.32 ของงบประมาณที่มีการใช้จ่ายทั้งหมด โดยมาตรการที่มีการดำเนินงานมากที่สุด 2 ลำดับแรก ได้แก่ มาตรการพัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นมาตรฐานสากล และมาตรการส่งเสริมและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสนับสนุนให้มีการประยุกต์ใช้ ถ่ายทอด และพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์ด้านการจัดการองค์ความรู้และระบบฐานข้อมูล ทำให้มีหน่วยงานบางภาคส่วนที่มีภารกิจสอดคล้องโดยตรง ส่วนใหญ่เป็นภาครัฐส่วนกลางและภาคการศึกษา ซึ่งการจัดการระบบฐานข้อมูลต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในข้อมูลนั้น ๆ และต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
ในการส่งเสริมให้หน่วยงานมีการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์นี้เพิ่มขึ้น ควรมีมาตรการเพิ่มการสนับสนุนงบประมาณและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการประกาศเป็นนโยบายที่ชัดเจนทั้งระดับประเทศและระดับหน่วยงานด้านการจัดการองค์ความรู้และระบบฐานข้อมูล เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานของบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประเทศดำเนินงานน้อยที่สุด
สำหรับยุทธศาสตร์ที่มีการดำเนินงานน้อยที่สุด ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประเทศ และบริหารจัดการเพื่อเพิ่มพูนและแบ่งปันผลประโยชน์จากความหลายทางชีวภาพ โดยสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมีการดำเนินงานแผนงาน/โครงการ คิดเป็นร้อยละ 9.87 ของแผนงาน/โครงการทั้งหมด และมีการใช้จ่ายงบประมาณน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 7.96 ของงบประมาณที่มีการใช้จ่ายทั้งหมด โดยมาตรการที่มีการดำเนินงานมากที่สุด 2 ลำดับแรก ได้แก่ มาตรการปกป้องคุ้มครองและแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรชีวภาพและทรัพยากรพันธุกรรม เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุดและมาตรการส่งเสริมการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่า
เนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์ที่มีความเฉพาะด้านการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรม และการวิจัยพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ จึงมีความสอดคล้องกับภารกิจของบางหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น ได้แก่ ภาครัฐส่วนกลางและภาคการศึกษา ประกอบกับผลสำเร็จของแผนงาน/โครงการมักจะใช้เวลานานจึงจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ยุทธศาสตร์นี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินแผนงาน/โครงการที่มีความสอดคล้องตรงกับภารกิจของหน่วยงานน้อยที่สุด
การส่งเสริมให้หน่วยงานมีการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์นี้เพิ่มขึ้น ควรมีมาตรการเพิ่มการสนับสนุนงบประมาณและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีจำนวนที่เหมาะสม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถขับเคลื่อนงานได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น รวมทั้งการประกาศเป็นนโยบายที่ชัดเจนทั้งระดับประเทศและระดับหน่วยงานด้านปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประเทศ และบริหารจัดการเพื่อเพิ่มพูนและแบ่งปันผลประโยชน์จากความหลายทางชีวภาพโดยสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว ให้ชุมชนและผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ ได้เห็นคุณค่าและความสำคัญในประเด็นนี้เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานของชุมชนและบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะต่อไป
ศิริพร ศรีอร่าม ผู้ประสานงานองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ IUCN (International Union for Conservation of Nature) ประเทศไทย กล่าวว่า โรงเรียนท้องถิ่นสามารถเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกัน โดยให้โรงเรียนมี Curriculum และ Platform ในการแลกเปลี่ยนว่าเหตุใดโรงเรียนถึงให้ความสนใจในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนในจังหวัดตราด จัดทำกิจกรรมป่าชายเลน เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้และกรณีศึกษา ซึ่งสามารถขยายผลและแบ่งปันความรู้ไปยังโรงเรียนแห่งอื่นๆ ได้
ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ผู้ตรวจราชการ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนะว่า สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 1 เป้าหมายที่ 2 ควรบรรจุความหลากหลายทางชีวภาพในหลักสูตรระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ และนิติศาสตร์ ด้วย ส่วนเป้าหมายที่ 3 งบบูรณาการน่าจะชัดเจนขึ้น ด้านควบคุมมลพิษ ไฟป่า หมอกควัน มีแผนแล้วควรมีคณะกรรมการไปดูแลอย่างไรบ้าง