การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2565 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดย ครม.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้
- เห็นชอบในหลักการของข้อเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป
- มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงแรงงาน กำกับและติดตามให้หน่วยงานในสังกัดที่มีอำนาจและหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป ตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- มอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกันพิจารณาติดตามและปรับปรุงมาตรการการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่เหมาะสมตามสถานการณ์ของราคาพลังงานในตลาดโลก โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ ความพร้อมและความสามารถทางการเงินของภาครัฐภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
- มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรวบรวมข้อเสนอแนวทางหรือมาตรการผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการจากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปที่มีลักษณะมุ่งเป้าของกระทรวงต่าง ๆ เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
แนวทางการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1. มาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย แรงงานและเกษตรกรประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานจากความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป และ 2.มาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะต่อไป เพื่อติดตามและปรับปรุงมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาจากความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ของราคาพลังงานในตลาดโลกและบริบทที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
มาตรการระยะเร่งด่วน
- หลักการ เป็นการให้ความช่วยเหลือประชาชนแบบมุ่งเป้า โดยเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่เกิดขึ้นโดยตรง ได้แก่ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มแรงงานและเกษตรกร ประชาชนทั่วไปรวมถึงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
- ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ ตั้งแต่เดือนเมษายน – สิงหาคม พ.ศ.2565 ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละแนวทางการให้ความช่วยเหลือ
- แนวทางการให้ความช่วยเหลือ – ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการบริหารจัดการราคาเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน และเป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานของสถานประกอบการโดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดเล็ก เพื่อบรรเทาไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (Cost-Push Inflation) ซึ่งจะกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้าง ดังนี้
- ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) มีการกำหนดราคาขายปลีก LPG ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน พ.ศ.2565 ให้อยู่ในอัตรา ดังนี้ เดือนเมษายน พ.ศ.2565 เท่ากับ 333 บาทต่อถัง (ขนาด 15 กิโลกรัม) เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2565 เท่ากับ 348 บาทต่อถัง และเดือนมิถุนายน พ.ศ.2565 เท่ากับ 363 บาทต่อถัง ทั้งนี้ จากการประมาณการแนวโน้มราคา LPG ในตลาดโลกในช่วงดังกล่าว คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 6,380 ล้านบาท ซึ่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเป็นผู้บริหารจัดการ
- ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) ตรึงราคาขายปลีก NGV ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน พ.ศ.2565 เท่ากับ 15.59 บาทต่อ กก. โดยขอความร่วมมือจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (บมจ.ปตท.) ซึ่งจากการประมาณการแนวโน้มราคาก๊าซ NGV ในช่วงดังกล่าว คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,590 ล้านบาท
- ราคาค่าไฟฟ้า โดยการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2565 ทั้งนี้ จากการประมาณการแนวโน้มความต้องการไฟฟ้า ราคาค่าเชื้อเพลิงและอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงดังกล่าว คาดว่าจะทำให้ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 2,000 – 3,500 ล้านบาท โดยในเบื้องต้นจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
- เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลราคาสินค้าและบริการโดยสารเฉพาะสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประชาชนของประชาชน เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นเกินความจำเป็นและความเหมาะสม และในกรณีที่ราคาพลังงานมีแนวโน้มลดลง เห็นควรกำหนดให้มีกลไกในการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการปรับราคาสินค้าและบริการให้เหมาะสมกับต้นทุนที่มีแนวโน้มลดลง พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการมุ่งเน้นการควบคุมและบริหารจัดการต้นทุนภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวควบคู่ไปด้วย
– ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบอาชีพในภาคขนส่ง โดยการบริหารจัดการราคาค่าเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนสำคัญ ดังนี้
- ราคาน้ำมันดีเซล โดยการบริหารราคาน้ำมันดีเซลโดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีสรรพสามิต โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรในเดือนเมษายน พ.ศ.2565 หลังจากนั้นในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน พ.ศ.2565 ในกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศยังคงสูงเกินกว่าราคาที่กำหนดไว้ รัฐจะอุดหนุนราคาส่วนเพิ่ม 50% ทั้งนี้ จากการประมาณการราคาน้ำมันดีเซลในตลาดเอเชียในช่วงเวลาดังกล่าวคาดว่าจะมีราคาเฉลี่ยประมาณ 115 – 135 เหรียญ สรอ. ต่อบาร์เรล คาดว่าภาครัฐจะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการราคาน้ำมันดีเซล รวมประมาณ 33,140 ล้านบาท
- ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยให้ส่วนลดแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง) ที่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนเป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างกับกรมการขนส่งทางบก จำนวนประมาณ 157,000 ราย จำนวน 5 บาทต่อลิตร ไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือน ในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม พ.ศ.2565 ทั้งนี้ จากการประมาณการค่าใช้จ่ายตามแนวทางดังกล่าว จะทำให้ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 120 ล้านบาท โดยในเบื้องต้นจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
- ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) โดยการขอความร่วมมือจาก บมจ.ปตท. สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) ที่ลงทะเบียนภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน จำนวน 17,460 ราย สามารถซื้อก๊าซ NGV ในอัตรา 13.62 บาทต่อ กก. ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน พ.ศ.2565 วงเงินไม่เกิน 10,000 บาท ต่อเดือน ทั้งนี้ จากการประมาณการแนวโน้มราคาก๊าซ NGV ในช่วงดังกล่าวจะทำให้ บมจ.ปตท. จะมีภาระค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 171 ล้านบาท
– การดูแลค่าครองชีพประชาชนผู้มีรายได้น้อย ให้ส่วนลดค่าก๊าซ LPG แก่กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มกำลังซื้อและลดภาระต้นทุนในการประกอบอาชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน พ.ศ.2565 ดังนี้
- กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วไป ให้ส่วนลดสำหรับซื้อก๊าซ LPG เพิ่มเติมอีก จำนวน 55 บาท ต่อ 3 เดือน รวมเป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิประมาณ 3.6 ล้านราย ทั้งนี้ จากการประมาณการค่าใช้จ่าย คาดว่าจะทำให้ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 200 ล้านบาท โดยในเบื้องต้นจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
- กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วไปที่เป็นผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้ลงทะเบียนกับ บมจ. ปตท. โดยการขอความร่วมมือจากบมจ. ปตท. ในการให้ส่วนลดสำหรับซื้อก๊าซ LPG ไม่เกิน 100 บาทต่อรายต่อเดือน ทั้งนี้ คาดว่าตามแนวทางดังกล่าวจะทำให้มีค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 1.65 ล้านบาท
– ยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพรีเมี่ยมเนื่องจากเป็นน้ำมันที่ใช้กับกลุ่มรถยนต์ของผู้ที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อลดภาระการสนับสนุนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจะสามารถบริหารเงินในส่วนนี้สำหรับชดเชยให้กับกลุ่มที่มีความจำเป็นต่อไป
– การสนับสนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงานของประเทศ โดยพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุน ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น ตามมาตรา 6 (2) ของพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ให้แก่ กองทุนฯ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่สถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่กองทุนฯ
- การลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะ โดยมอบหมายกระทรวงคมนาคม พิจารณาความเหมาะสมของการลดอัตราหรืองดการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการต่ออายุทะเบียนรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะในปี พ.ศ.2565 และนำเสนอเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
– การดูแลกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบ โดยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้ประกันตนและลดต้นทุนการผลิตให้แก่นายจ้าง ผ่านกลไกของกองทุนประกันสังคม ดังนี้
- นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยกำหนดให้มีการลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตามมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละ 5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือฝ่ายร้อยละ 1 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับงวดค่าจ้างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม พ.ศ.2565 ทั้งนี้ คาดว่าจะการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้มีวงเงินประมาณ 33,857 ล้านบาท
- ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 โดยกำหนดให้มีการลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตามมาตรา 39 จากเดิม 9% ของฐานค่าจ้าง 4,800 บาท (เดือนละประมาณ 432 บาท) เหลือ 1.90% ของค่าจ้าง 4,800 บาท (เดือนละ 91 บาท) สำหรับงวดค่าจ้างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม พ.ศ.2565
- ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยกำหนดให้มีการลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตามมาตรา 40 จากเดิม 70 – 300 บาทต่อเดือน เป็น 42 – 180 บาทต่อเดือน (แล้วแต่กรณี) จำนวน 6 เดือน สำหรับงวดค่าจ้างเดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม พ.ศ.2565
ในเบื้องต้น การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจะทำให้กองทุนประกันสังคม มีรายรับจากเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ลดลงรวมประมาณ 33,857 ล้านบาทสำหรับมาตรการที่ 1– 2) และประมาณ 1,367 ล้านบาท สำหรับมาตรการที่ 3)
- การดูแลกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาปัจจัยการผลิต โดยการแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพงและปุ๋ยขาค รวมถึงปัญหาอาหารสัตว์ โดยปัจจุบันคณะทำงานของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือดูแลกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาปัจจัยการผลิต ดังนั้น จึงเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ เร่งดำเนินการจัดทำข้อเสนอแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป
ส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะต่อไป เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางการพิจารณาให้ความช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปในลักษณะมุ่งเป้าได้ เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณและธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกันพิจารณาติดตามและปรับปรุงมาตรการการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่เหมาะสมตามสถานการณ์ของราคาพลังงานในตลาดโลก โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจความพร้อมและความสามารถทางการเงินของภาครัฐภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วย
ทั้งนี้ กรณีที่กระทรวงผู้รับผิดชอบพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการลดผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการจากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปที่มีลักษณะมุ่งเป้า เห็นควรให้กระทรวงรับผิดชอบเสนอแนวทางการให้ความช่วยเหลือให้ สศช. รวบรวมก่อนเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการตามข้อเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปจะช่วยลดภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย แรงงานและเกษตรกร ประชาชนทั่วไป และสามารถลดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการในช่วงระยะเวลาของมาตรการ