กรุงเทพฯ –2 ธันวาคม 2563:คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่(ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการ “โรงพยาบาลอัจฉริยะ 5G ขับเคลื่อนด้วย Cloud และ AI” (5G Powered Smart Hospital Enabled with Cloud and AI) เพื่อสร้างแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่ช่วยพัฒนาบริการทางการแพทย์โดยนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ตลอดระยะเวลา 5 ปี ภายใต้ความร่วมมือใน 5 ปีนี้ คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมกันสร้างเทคโนโลยี 5G ที่เหมาะสมและทันสมัยแก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ในโรงพยาบาลศิริราชโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ รวมถึงแบ่งปันความรู้ และร่วมมือกับนักวิจัยและคณาจารย์ทางการแพทย์ของศิริราชในการจัดทำโครงการ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งจะเป็นโอกาสในวงการแพทย์ของประเทศไทยที่จะมีการพัฒนาการรักษา วิจัยโรคต่างๆเพื่อคนไทยในอนาคต
ศ.ดร. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันโรคภัยไข้เจ็บได้วิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็วทั้งในแง่ของความซับซ้อนและการแพร่กระจายที่ยากจะคาดเดาได้ การมีเครื่องมือเทคโนโลยีทางดิจิทัลเข้ามาผสมผสานกับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรคเข้ามาเพื่อช่วยหาทางรักษาป้องกัน จะช่วยลดความเสียหาย การบาดเจ็บล้มตายของผู้ป่วยลงได้อย่างดียิ่ง การมีเทคโนโลยีที่จะส่งผ่านข้อมูลข่าวสารในการพิจารณาวินิจฉัยโรคแต่ละโรคนั้นจะประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นเมื่อมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ดิจิทัลต่างๆเข้ามาช่วยเหลือและส่งผ่านข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมากมาย รวมทั้งมีพื้นที่เก็บข้อมูลที่จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้นำข้อมูลการรักษามาเป็นฐานข้อมูลในการรักษาผู้ป่วย ในการมองภาพพยากรณ์คาดเดาโรคอนาคตได้
สำหรับการลงนามความร่วมมือกับทาง หัวเว่ยในวันนี้จะเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ในการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ของหัวเว่ย มาร่วมมือกับทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยา
ลัยมหิดลในการยกระดับบริการ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์การแพทย์อัจฉริยะที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการผสมผสานโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี 5G, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Big Data และการประมวลผลแบบ Cloud Edge เพื่อเสนอบริการที่ดีกว่าการรักษาแบบเดิมที่มีอยู่ในโรคเฉาพะทาง หรือโรคที่ต้องทำการติดตามและเฝ้าระวังต่อเนื่อง” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในหลายด้าน เช่น การติดตามผู้ป่วย การวิเคราะห์โรคด้วยการใช้เทคโนโลยี AI บน Cloud การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล การจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเหมาะสมถูกคนถูกโรคอย่างรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่าย ลดการสูญเสีย และลดความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงการรักษาช่วยการติดตามผู้ป่วยจากระยะไกลในพื้นที่ห่างไกลจากแพทย์เจ้าหน้าที่ที่ทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคระบาดอุบัติใหม่ เช่น COVID-19 หรือโรคหัวใจ เบาหวานโรคความดันและโรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการพัฒนาบริการด้านการแพทย์อย่างก้าวกระโดด
“อย่างไรก็ตามการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ทางด้านการแพทย์นั้น จำเป็นต้องอาศัยความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ การจัดเก็บและจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ รวมถึงการสร้างความตระหนักการรับรู้แก่ประชาชน เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลด้านการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งล้วนเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของโรงพยาบาลศิริราช ในการก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ชั้นนำและเป็นผู้นำด้านการดูแลรักษาสุขภาพของประเทศไทย” ศ.ดร. นพ. ประสิทธิ์ กล่าว
ด้านอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ทางการแพทย์เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับหัวเว่ย เพราะการเขียนโปรแกรม รูปแบบการจัดเก็บและประมวลผลจะมีความละเอียดรอบคอบรอบเป็นพิเศษเนื่องจากข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวข้องกับชีวิตของคน เช่น โรคติดเชื้อที่ต้องมีข้อมูลที่ละเอียดในการที่จะทำการวินิจฉัยก่อนทำการรักษาและผ่าตัดเฉพาะอย่างทันท่วงทีเพื่อช่วยลดการอัตราการเสียชีวิต ซึ่งหัวเว่ยมีเทคโนโลยี มีบุคคลกรและพันธมิตรทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแพทย์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจะร่วมกันนำเทคโนโลยี 5G ที่พัฒนาขึ้นมาใช้เพื่อมอบคุณภาพการรักษาให้มีความเร็ว มีความเสถียรของเครือข่าย และเพิ่มประสิทธิภาพการอัพโหลดข้อมูลการทำงานในโรงพยาบาลให้ดีขึ้น ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์รับมือสถานการณ์โรคต่างๆมีศักยภาพ
สำหรับประเทศไทยถือได้ว่านำเทคโนโลยี 5G มาใช้ทางการแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นแห่งแรก นอกจากประเทศจีนซึ่งทางหัวเว่ยได้นำ 5G ไปช่วยทำการสร้างเครือข่ายช่วยเหลือทางการแพทย์ก่อนหน้านี้ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี และความร่วมมือในครั้งนี้ในระยะ 5 ปีจะได้เห็นโอกาสการร่วมการคิดค้นและพัฒนารูปแบบ 5G ที่เหมาะสมมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยในประเทศไทยทั้งก่อนการร่วมมือที่จะมีการพูดคุยรูปแบบการดำเนินงาน ระหว่างการดำเนินการ หากมีความเสี่ยง มีข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยจะนำมาประมวลผลและแก้ไขจุดผิดพลาดดังกล่าว รวมทั้งปลายทางในการร่วมมือจะมีการเก็บข้อมูลมาประมวลผลแล้วเพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์ช่วยให้การรักษา การเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยในประเทศไทยครอบคลุมทั่วถึงต่อไป
นอกจากนี้ภายในงาน สรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ได้มอบ โล่รางวัล CommunicAsia 2020 ในสาขา “การทดสอบ 5G ที่มีนวัตกรรมสร้างสรรค์ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก” (Most Innovative 5G Trial in Asia Pacific) จากความสำเร็จในการนำโซลูชันการตรวจวิเคราะห์ COVID-19 ด้วยเทคโนโลยี 5G+Cloud+AI มาใช้ในการวินิจฉัยโรค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำในการตรวจวิเคราะห์ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคให้แก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอีกด้วย