คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ร่วมกับ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดแถลงข่าวและการประชุมปรึกษาหารือ “ก้าวต่อไปของการปฎิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1 : Health Security” เพื่อหาแนวทางดำเนินงานการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข การจัดลำดับนโยบายและประเด็นสำคัญ ความเชื่อมโยงของการปฏิรูปกับแผนงาน บทบาทของ WHO-CCS PHE Program และ EPI (Ending Pandemic through Innovation) ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นปฏิรูปที่สำคัญอย่างต่อเนื่องในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขได้รับมอบหมายและปรับปรุงแผนการปฏิรูปด้านสาธารณสุขให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยกำหนดออกเป็น 6 ด้าน หรือเรียกว่า 6 Big Rock /ประกอบด้วย ด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา กฎหมายและสาธารณสุข
แนวทางการปฏิรูปด้านการสาธารณสุขรวมถึงโรคระบาดระดับชาติ และโรคอุบัติใหม่ ถือเป็นประเด็นเร่งด่วน จึงจัดให้เป็นกิจกรรมปฏิรูปประเทศในกิจกรรมที่ 1 “ก้าวต่อไปของการปฎิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1 : Health Security” ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมามีการดำเนินงานที่ก้าวหน้าสำคัญในหลายด้านและความสำเร็จนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน
สำหรับการจัดประชุมปรึกษาหารือในวันที่ 3-4 สิงหาคม พ.ศ.2565 นี้ เป็นความร่วมมือเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วย คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วางยุทธศาสตร์และวางก้าวต่อไป โดยประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นที่ได้วางกรอบปรึกษาหารือ ได้แก่ 1.การปฏิรูปและสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร 2.การพัฒนา Digital Health/Health Information Systems 3.การสร้างความเข้มแข็งของ NRA (National Regulatory Authority) โดยเฉพาะการจัดให้มีรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรแบบใหม่
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมครั้งนี้จะเกิดการกำหนดแนวทางความร่ามมือด้านสาธารณสุขรอบด้านในระยะยาวอย่างยิ่งยืนเพื่อบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์แก่คนไทยทุกคนในการช่วยเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ ให้ทุกคนได้รับการรักษาทั่วถึง เมื่อป่วยสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐที่ไหนก็ได้ รวมทั้งเข้าถึงยาวัคซีน เวชภัณฑ์ที่จำเป็นในภาวะฉุกเฉิน” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ระบบราชการไทยมีการทำงานที่ต่างคนต่างทำมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องให้ความร่วมมือร่วมกันทำงานขับเคลื่อนขจัดปัญหาและอุปสรรคต่างๆให้หมดไปทุกๆส่วนราชการไทยพร้อมยินดีเสียสละให้ความร่วมมือส่งบุคลากร องค์ความรู้พร้อมทั้งเครื่องมือนวัตกรรมที่มีเข้ามาร่วม เช่น สถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น มีการคิดค้นนวัตกรรมและองค์ความรู้สร้างเครื่องมือป้องกัน ช่วยเหลือ ผู้ประสบปัญหา ผู้ป่วย COVID-19 อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับทาง กระทรวง อว. ที่พร้อมให้การสนับสนุนการนำนวัตกรรมทั้งทางด้านสังคมและเทคโนโลยีช่วยเหลือ สนับสนุนการบริหารจัดการสถานการณ์ COVID-19 เช่นเดียวกัน โดยได้นำแผนงานและกิจกรรมคณะปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1 มาขับเคลื่อนภายใต้โปรแกรมยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม (Ending Pandemics through Innovation) โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS เป็นผู้ประสานงานหน่วยงานและขับเคลื่อนหลัก และสนับสนุนงบประมาณบางส่วนเพื่อร่วมขับเคลื่อน ส่งผลให้เกิดความสำเร็จและการผลักดันเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมในหลายๆ ด้าน เช่น การปฏิรูปการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประเทศ การปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือจากทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริการสุขภาพประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ลดการสูญเสีย ลดการเจ็บป่วยและให้คนไทยเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขที่ดีมีคุณภาพอย่างทั่วถึง ให้ประเทศไทยเกิดความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขในเร็ววัน
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และกำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูล และการพัฒนางานดิจิทัลเพื่อสุขภาพของคนไทยประเทศ ต้องยอมรับว่าระบบดิจิทัลและข้อมูลสุขภาพมีความสำคัญมากในการยกระดับการบริการด้านสุขภาพ เช่น เรื่องการเบิกจ่าย การวินิจฉัย การเชื่อมต่อบริการปฐมภูมิสู่ทุติยภูมิและตติยภูมิ การบริหารจัดการข้อมูล หรือ Big Data เพื่อรองรับสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา จากประเด็นความสำคัญดังกล่าว กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange) ซึ่งระบบนี้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มคุณภาพการบริการแก่ประชาชนได้ในที่สุด ผ่านระบบ Health Link มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมาตรฐานสากลนำไปใช้ในหลายหน่วยงาน และร่วมขับเคลื่อนประเด็นปฏิรูปประเทศเรื่อง Data Repository ให้สามารถเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพร่วมกับ 5 กระทรวง สนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลนำร่องในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 13 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทาง สธ. ในการเชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลสุขภาพ โดยรับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ดำเนินการงานดังกล่าว เกิดเป็นรูปธรรมจากนโยบายและยุทธศาสตร์การที่คนไทยสามารถที่จะเข้าไปดูข้อมูล ประวัติการรักษาพยาบาลได้จากข้อมูลในระบบ คลาวด์ ได้จากทุกๆที่ ในขณะเดียวกับแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำการรักษาผู้ป่วยก็สามารถที่จะเข้าไปดูข้อมูลของผู้ที่เข้ารับการรักษาเพื่อวินิจฉัยโรค ประมวลผลแล้วทำการรักษาโรคต่อไปได้
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในขณะนี้ประชาชนคนไทยตื่นตัวเรื่องสุขภาพเป็นอย่างมากจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ต้องเผชิญ แต่ถือว่าคนไทยและสาธารณสุขไทยมีการรับมือสถานการณ์ได้ดี เห็นได้จากการชื่นชมของนานาประเทศและจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้มีการชื่นชมการทำงานของประเทศไทย ในการรับมือ COVID-19 ทั้งในส่วนของการกำหนดนโบบายที่เข้มแข็ง และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะระบบการบริการประสิทธิภาพของระบบสุขภาพ ปฐมภูมิ โดยเฉพาะระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิซึ่งเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และประเทศไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้บริการสุขภาพ สธ.จึงได้มีแนวทาง นโยบายในการพัฒนา อสม.มาอย่างต่อเนื่อง เช่น นโยบาย 3 หมอ ที่จะยกระดับอสม.ให้เป็นเสมือนหมอคนแรกของทุกคน และสามารถเชื่อมโยงอสม.ของประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีแพลตฟอร์มเดียวใช้งานง่ายร่วมกัน เข้ามาใช้ในการบริการทางการแพทย์ เช่น ระบบ Telemedicine, Application Smart อสม. ซึ่งทางสธ.ไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมด จะต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้และคำแนะนำ ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งสำคัญมากในการพัฒนาด้านสาธารณสุขให้ประเทศเจริญขึ้นไปอีกขั้น
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์ COVID-19 เข้ามาปรับเปลี่ยนระบบสาธารณสุขของไทยอย่างชัดเจน การเชื่อมโยงฐานข้อมูลคนป่วยในระบบปฐมภูมิเป็นเรื่องสำคัญมากต่อระบบสาธารณสุขในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. เพราะเป็นหน่วยเชื่อมต่อการบริการสุขภาพพื้นฐานสู่การบริการระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ หากการเข้ารับการรักษาที่ปฐมภูมิมีปัญหา คน กทม. จำนวนมากจะมารอการรักษาที่โรงพยาบาลจะรอนาน เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ การควบคุมโรคยิ่งทำได้ยาก ซึ่งจากการประชุมแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิครั้งก่อน กทม.ได้ดำเนินการนำไปปรับใช้แล้วในเบื้องต้นในส่วนที่ทำได้ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆ เป็นอย่างดี เช่น การขับเคลื่อน Sandbox Model 2 แห่ง คือ ดุสิตโมเดล ซึ่งเปิดดำเนินการแล้วและราชพิพัฒน์โมเดล กำลังจะเปิดดำเนินการในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2565 โดยให้โรงพยาบาลแม่ข่ายเข้าไปดูแลร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนไว้ใจเข้าระบบปฐมภูมิมากขึ้น
สำหรับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยรักษาผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสพูดคุยผ่านช่องทางดิจิทัลกับแพทย์โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล หรือเข้าไปในชุมชน ส่วนในอนาคตจะขยายโมเดลนี้สู่พื้นที่อื่นๆเพื่อเชื่อมโยงบูรณาการด้านสาธารณสุขของ กทม.ให้เป็นระบบมากขึ้น
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช. ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุและกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง กสทช.ได้จัดตั้งกองทุนการบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation) เรียกโดยย่อว่า USO เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง อันจะเป็นประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม
ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา กสทช. พบการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและบริการด้านสาธารณสุขของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลเข้ามามีบทบาทสำคัญ และเป็นตัวกำหนดในการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพของประชาชนอย่างมาก กสทช. เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดสรรงบประมาณบางส่วน เพื่อสนับสนุนการขยายผลการระบบดิจิทัล Telemedicine ช่วยส่งเสริมการบริการด้านสาธารณสุข ซึ่ง กสทช.ได้เริ่มนำร่องไปแล้ว คือ การจัดสรรงบประมาณร่วมสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อจัดทำคลาวด์สำหรับเขตสุขภาพช่วยให้การเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพของประเทศให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น จากข้อเสนอการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ทั้งในด้านการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ กสทช. พร้อมให้การสนับสนุนทั้งในเชิงนโยบายและงบประมาณให้เกิดการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการสื่อสารเพิ่มประสิทธิภาพการบริการปฐมภูมิด้วยระบบ Telemedicine สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลในหน่วยบริการปฐมภูมิซึ่งเชื่อมกับการพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง ในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประเทศตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนข้อที่ 5 เพื่อให้เกิดรูปธรรม และเริ่มนำร่องในบางเขตก่อนจะช่วยให้ขยายผลงานดังกล่าวไปทั่วประเทศต่อไป